xs
xsm
sm
md
lg

ชู แผนวิจัยสนับสนุนการจัดตั้งเขตพัฒนาพิเศษ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 3 ภูมิภาค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สกสว. จัดประชุม “การวิเคราะห์และสังเคราะห์แผนงบประมาณด้าน ววน. เชิงพื้นที่ในภูมิภาค เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งเขตพัฒนาพิเศษ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ในทุกมิติ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดประชุม แผนงาน “การวิเคราะห์และสังเคราะห์แผนงบประมาณด้าน ววน. เชิงพื้นที่ในภูมิภาค เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งเขตพัฒนาพิเศษ เพื่อนำเสนอผลการวิเคราะห์ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการจัดตั้งเขตพัฒนาพิเศษ และแนวทางการจัดทำแผนที่นําทางแผนงานและโครงการที่สนับสนุนการจัดตั้งเขตพัฒนาพิเศษ รวมถึงการเชื่อมโยงของการจัดตั้งเขตพัฒนาพิเศษระยะที่ 1 และ 2 ในด้านผลประโยชน์และแผน ของ รศ.ดร.ภูพงษ์ พงษ์เจริญ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ในฐานะหัวหน้าโครงการ การวิเคราะห์และสังเคราะห์แผนงบประมาณด้าน ววน. เชิงพื้นที่ในภูมิภาค เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งเขตพัฒนาพิเศษ (ระยะที่ 2)

โอกาสนี้ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สกสว. มีพันธกิจสำคัญในการจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) จัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ตลอดจนออกแบบกลไกสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ให้เกิดการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ดังนั้นข้อค้นพบจากนำเสนอของนักวิจัย ถือเป็นต้นทุนสำคัญ ที่สามารถนำมาบูรณาการในการกำหนดทิศทางแผน ด้าน ววน. และ การจัดสรรงบประมาณที่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ ในประเด็นต่างๆ ที่อยากมุ่งเน้น ทั้งในมิติเศรษฐกิจ การเกษตร อุตสาหกรรม การบริการและการท่องเที่ยว รวมถึงมิติทางสังคมและวัฒนธรรม โครงข่ายโลจิสติกส์ ขณะเดียวกัน ข้อค้นพบดังกล่าว ยังสามารถนำไปใช้สื่อสารสร้างการตระหนักรู้และสร้างการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ให้เกิดการบูรณาการจัดตั้งเขตพัฒนาพิเศษ ด้านต่าง ๆ ต่อไป

ด้าน ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. กล่าวว่า นอกจากข้อค้นพบสำคัญของ รศ.ดร.ภูพงษ์ แล้ว ยังมีชุดข้อมูลที่ได้จากโครงการย่อย ประกอบด้วย โครงการย่อยที่ 1 การวิเคราะห์และจัดทำแนวทางการพัฒนาศักยภาพ เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งเขตพัฒนาพิเศษภาคเหนือตอนล่าง 2 (จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดพิจิตร จังหวัดอุทัยธานี) โดย ดร.บุญทรัพย์ พานิชการ คณะโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยนเรศวร โครงการย่อยที่ 2 การวิเคราะห์และจัดทำแนวทางการพัฒนาศักยภาพ เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (จังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองคาย จังหวัดเลยจังหวัดหนองบัวลำภู และจังหวัดบึงกาฬ) โดย ผศ.ดร.ประกอบศิริ ภักดีพินิจ คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

รวมถึงโครงการย่อยที่ 3 การวิเคราะห์และจัดทำแนวทางการพัฒนาศักยภาพ เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 โดย ผศ.ดร.ประจวบ จันทร์หมื่น มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ และ โครงการย่อยที่ 4 การวิเคราะห์และจัดทำแนวทางการพัฒนาศักยภาพ เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งเขตพัฒนาพิเศษภาคใต้ (จังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุง จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง) โดย ดร.นราวดี บัวขวัญ วิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ที่ สกสว. สามารถนำมาเชื่อมโยงการจัดทำแผน ววน. เพื่อใช้เป็นแผนที่นำทางในการพัฒนาพื้นที่ เช่น ศักยภาพพื้นฐานด้านเศรษฐกิจกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ในปี 2562 โดยพิจารณาจากจำนวนผลิตภัณฑ์มวลรวมรายภาค (Gross Regional Product: GRP) และพิจารณาแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า GRP มวลรวมรายภาคมีมูลค่า 316,341 ล้านบาท และจังหวัดกําแพงเพชรเป็นจังหวัดที่มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมสูงที่สุดอยู่ที่ 119,599 ล้านบาท ตามมาด้วยจังหวัดนครสวรรค์อยู่ที่ 117,685 ล้านบาท จังหวัดพิจิตร 50,440 ล้านบาท และจังหวัดอุทัยธานีมีมูลค่าต่ำที่สุดของจังหวัดในกลุ่มฯ อยู่ที่ 28,617 ล้านบาท

เช่นกับข้อมูลศักยภาพพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ พบว่า ปี 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด 21,261,245 คน และรายได้การท่องเที่ยว 207,402 ล้านบาท จังหวัดที่มีรายได้การท่องเที่ยวมากที่สุดคือ กระบี่ 112,055.50 ล้านบาท รองลงมาคือ สงขลา 66,365.52 ล้านบาท นครศรีธรรมราช 15,996.00 ล้านบาท ตรัง 9,561.35 ล้านบาท และพัทลุง 3,423.81 ล้านบาท ตามลำดับ โดยจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวมากที่สุดคือ สงขลา 7,503,461 คน กระบี่ 6,759,836 คน นครศรีธรรมราช 3,808,253 คน พัทลุง 1,626,132คน และตรัง 1,563,563 คน

อย่างไรก็ดี ข้อมูลเหล่านี้ สามารถนำมากำหนดเป็นจุดมุ่งเน้นสำคัญในการพัฒนา และการลงทุนด้านต่าง ๆ ที่รวมถึงการลงทุนด้านการวิจัยในพื้นที่ เพื่อยกระดับการพัฒนาต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น