xs
xsm
sm
md
lg

จริงหรือไม่ ที่การปฏิรูปคริสต์ศาสนาได้ชี้นำให้เกิดการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ (ตอนแรก)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อ องค์สันตะปาปา Leo ที่ 10 แห่งกรุงวาติกัน ทรงประสงค์จะต่อเติมมหาวิหาร St. Peter’s ในปี 1517 พระองค์ทรงดำริจะหาเงินมาใช้ในการก่อสร้าง ด้วยการขายเอกสาร indulgence (ใบบุญ) ให้คนที่ซื้อสามารถนำไปใช้ไถ่บาปได้ โดยอ้างว่า พระผู้เป็นเจ้าจะทรงประทานอภัยโทษและล้างบาปให้คนทุกคนที่ซื้อ indulgence ไป ให้เป็นผู้ปราศจากมลทินใด ๆ ณ วินาทีแรกที่เงินของเขาตกถึงก้นหีบในท้องพระคลัง วิธีหาเงินในลักษณะนี้ได้ทำให้นักบวชชื่อ Martin Luther รู้สึกโกรธเคืองมาก เพราะกำลังเห็นว่า ศาสนจักรนิกายโรมันคาทอลิกกำลังทำธุรกิจเพื่อเอื้อความบริสุทธิ์ให้แก่เศรษฐีและคนร่ำรวยทุกคน ให้ปลอดบาปด้วยการได้ครอบครอง indulgence และให้คนที่ยากจนตกนรกเพียงสถานเดียว เพราะไม่มีเงินจะซื้อใบบุญไปไถ่บาปใดๆ

ดังนั้นเมื่อถึงวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ.1517 (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2) "Martin Luther" จึงได้ออกมาประท้วงเรื่องนี้ โดยการประกาศท้าทายอำนาจของคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งเป็นรัฐที่ทรงอำนาจมากที่สุดในแผ่นดิน ณ เวลานั้น ด้วยการเรียกร้องให้สถาบันศาสนาปรับเปลี่ยนประเพณีปฏิบัติต่าง ๆ ที่ Luther มีความเห็นว่ายังไม่ถูกต้อง ยังไม่เหมาะสม และยังไม่เป็นธรรม รวมถึงให้มีการปราบปรามการคอรัปชันในสำนักวาติกันด้วย ในใบประกาศที่ Luther นำไปตอกด้วยตะปูติดที่ประตูโบสถ์แห่งเมือง Wittenberg ในประเทศเยอรมนีนั้น เขาได้เสนอประเด็นการพิจารณาเพื่อให้ชาวเมืองได้อภิปราย รวมทั้งสิ้น 95 ประเด็น และชักชวนให้ชาวเมืองเสนอทางออกของปัญหาด้วย เพราะเหตุว่าชาวเมืองส่วนใหญ่ในเวลานั้น มีความรู้สึกว่าชาวคริสต์ทุกคนกำลังถูกสถาบันสำนักวาติกันเอาเปรียบ โดยการให้เสียภาษีค่อนข้างมาก เพื่อนำเงินไปทำนุบำรุงสถาบันศาสนาที่มีเงินสะสมมากอยู่แล้ว


การเรียกร้องของ Lutherในครั้งนั้น ได้ทำให้สถาบันศาสนาภายใต้การนำขององค์สันตะปาปาได้รับความกระทบกระเทือนมาก จนทำให้เกิดการต่อต้านผู้มีอำนาจทางศาสนาไปทั่วประเทศ และมีการชักนำให้มีการปฏิรูปคริสต์ศาสนาในหลายประเทศทั่วทวีปยุโรปด้วย ความแตกแยกที่เกิดขึ้นนี้ได้ทำให้คริสต์ศาสนาหลายนิกายถือกำเนิด และการวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของสถาบันศาสนาที่ Luther เป็นผู้เริ่มดำเนินการในครั้งนั้น ก็ยังดำเนินมาตราบจนวันนี้

ประเด็นแรกที่ Luther ได้เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง คือ ความต้องการให้มีการเขียนคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาเยอรมันแทนภาษาละติน เพื่อให้ชาวเยอรมันทุกคนสามารถอ่านและเข้าใจคำสอนทุกเรื่องได้ด้วยตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องให้บาทหลวงมาแปลความหมายหรือถ่ายทอดให้ฟัง เพราะ Luther มีความประสงค์จะให้คนทั่วไปสามารถเข้าใจพระทัยของพระเจ้าได้โดยตรง ข้อเสนอนี้จึงเท่ากับการเสนอให้ลดบทบาทและความสำคัญของนักบวชและบาทหลวงลง

สำหรับความเชื่อเรื่องการล้างบาปหรือการแก้กรรมโดยการซื้อใบบุญนั้น ก็มีต้นกำเนิดมาจากการที่สังคมในเวลานั้นมีความเชื่อว่า นักบุญและนักบวชคือบุคคลที่ได้บำเพ็ญบุญบารมีไว้มาก และได้สะสมบุญบารมีในปริมาณมากเกินพอ ที่จะช่วยให้ตนได้ขึ้นสวรรค์ได้แล้ว จึงควรมอบบุญ “ส่วนเกิน” ให้องค์สันตะปาปานำไป “ช่วย” คนทั่วไปที่ทำบาปบ้าง โดยการซื้อใบบุญ การชี้นำเช่นนี้ได้ทำให้คริสต์ศาสนิกชนจำนวนมากหลงเชื่อ และเมื่อสถาบันคริสตจักรได้ออกมาประกาศรับเงินล้างบาปอย่างไม่มีขีดจำกัด ผลที่ตามมาก็คือสถาบันศาสนามีเงินเก็บสะสมมากมหาศาล ในขณะที่ชาวบ้านทั่วไปแทบไม่มีเงิน เพื่อใช้ในการดำรงชีพเลย

เมื่อ 7 ปีก่อน Luther ได้เดินทางไปเยือนกรุงโรม และรู้สึกตกใจมาก เมื่อได้เห็นบรรดานักบวชและบาทหลวงที่นั่นต่างใช้ชีวิตอย่างหรูหราและฟุ่มเฟือย ยิ่งเมื่อ Luther ได้ยินคำสอนของบาทหลวงว่า ใครที่บริจาคเงินมาก จะไม่มีวันตกนรก และใครที่ไม่มีเงินสำหรับล้างบาปเลย ก็จะต้องตกนรกอย่างนิจนิรันดร์ Luther จึงได้ออกมาแสดงการไม่เห็นด้วยกับการเทศน์เช่นนั้น เขาจึงถูกห้ามไม่ให้เข้าไปสวดมนต์ในโบสถ์นั้นอีกเลย เพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นคนบาปหนา Luther รู้สึกผิดหวังมากที่ศาสนจักรได้ส่งเสริมความเชื่อและสนับสนุนการทำศาสนพาณิชย์ ด้วยการหลอกเอาเงิน แล้วสัญญาว่า เมื่อคนนั้นตาย เขาก็จะได้ขึ้นสวรรค์


ด้านบาทหลวง Johann Tetzel แห่งเมือง Wittenberg ซึ่งเป็นตัวแทนขององค์สันตะปาปาจากวาติกัน เมื่อได้เห็น Luther ออกมากล่าววาจาต่อต้านองค์สันตะปาปาอย่างไม่ยำเกรงเลย จึงสั่งให้ฝูงชนเผาเอกสารคำสอนทุกชิ้นที่ Luther เขียน และได้กล่าวประณาม Luther ว่าเป็นไอ้หมาขี้เรื้อนที่โง่เหมือนควาย ศิษย์ของ Luther จึงพากันออกมาแสดงการแก้แค้นแทนอาจารย์ด้วยการเผาเอกสารทุกชิ้นที่ Tetzel เขียน เป็นการเอาคืน

เมื่อห้าศตวรรษก่อนที่ Luther จะเกิด ขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่ใครก็ตาม ถ้าออกมาต่อต้านคริสตจักร ก็จะถูกสันตะปาปาทรงบัญชาให้จับตัวคน ๆ นั้นไปฆ่าหรือไปทรมาน เพื่อให้ประชาชนทุกคนในสังคมนั้นได้เห็นว่าการกระทำที่ทำให้คนถูกลงโทษหนัก จะมีผลทำให้ชาวบ้านทุกคนรู้สึกกลัวจนลนลาน และจะไม่กล้าออกมาต่อต้านอีก ดังเหตุการณ์ที่เกิดในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 14 ที่มีชาวอังกฤษคนหนึ่งชื่อ John Wyclif ได้แปลคัมภีร์ไบเบิลที่เขียนเป็นภาษาละตินมาเป็นภาษาอังกฤษ เขาจึงถูกสังคมประณามว่าเป็นทาสของซาตาน และถูกขับอัปเปหิออกจากเมือง นอกจากนี้ก็ยังถูกประณามว่าเป็นคนนอกรีต ที่จะไม่มีบาทหลวงคนใดมาประกอบพิธีทางศาสนาให้เวลาตาย หรือในกรณี John Hus แห่งกรุง Prague ในประเทศเชโกสโลวาเกีย ก็เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ได้ประกาศสนับสนุนการปฏิรูปสถาบันศาสนา และถูกไม้แหลมเสียบทางทวารอย่างทารุณ จนเสียชีวิต

ในเบื้องต้น Luther ไม่เคยคิดไปไกลว่าวาติกันจะต้องปฏิรูปคริสต์ศาสนาอย่างขนานใหญ่ เขาต้องการเพียงให้สถาบันศาสนาเปลี่ยนวิธีสอนและวิธีปฏิบัติบางวิธีเท่านั้นเอง ด้านองค์สันตะปาปา Leo ที่ 10 เอง ก็ทรงไม่สนพระทัยเรื่องความคิดเห็นของMartin Luther และทรงคิดว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างบาทหลวง Telzel กับ Luther ที่เมือง Wittenberg เป็นเพียงการทะเลาะวิวาทบาดหมางแบบทั่ว ๆ ไป ระหว่างบาทหลวงสององค์เท่านั้นเอง แต่เมื่อความขัดแย้งดังกล่าวไม่มีทีท่าว่าจะยุติ ในปี 1518 สำนักวาติกันจึงส่งหมายศาลแจ้ง Martin Luther ให้ไปรายงานตัวที่ศาลศาสนาในกรุงโรม แต่เจ้าชาย Frederick ผู้ชาญฉลาด แห่งมหาวิทยาลัย Wittenberg ซึ่งเป็นศิษย์ของ Luther ทรงประกาศไม่เห็นด้วยกับการให้พระอาจารย์ไปรายงานตัว โดยอ้างว่า Luther เป็นชาวเยอรมัน ดังนั้นจึงเป็นการไม่สมควรที่จะถูกตัดสินคดีความโดยศาลอิตาลี ผลที่ตามมา คือ Luther ไม่ได้ถูกศาลดำเนินการสอบสวนใด ๆ เป็นเวลานานถึง 2 ปี แต่ในช่วงเวลานั้น Luther ก็ได้ขึ้นโต้วาทีกับ Johann von der Ecken ซึ่งเป็นตัวแทนขององค์สันตะปาปา ที่มหาวิทยาลัย Leipzig ความดุเดือดรุนแรงของการ “วิวาท” ครั้งนั้นได้ทำให้ Luther มีบาทหลวง Philip Melancthon กับบาทหลวง Eramus แห่งนคร Rotterdam มาสนับสนุน หลังการโต้วาทีบาทหลวง Ecken ได้รีบเดินทางกลับโรม เพื่อถวายรายงานต่อองค์สันตะปาปาว่า พระองค์ทรงถูก Luther ดูหมิ่นและจาบจ้วงอย่างรุนแรง โดย Ecken ได้กล่าวเปรียบเทียบ Luther ว่า เป็นหมูบ้าที่กำลังคลั่งอาละวาดอยู่ในสวนองุ่น

ในปี 1520 Luther ได้เริ่มหาพรรคพวก โดยได้เขียนจดหมายถึงบรรดาขุนนางชั้นสูงในประเทศเยอรมนี เพื่อเสนอข้อคิดเห็นและรายงานความจริงต่าง ๆ ให้เหล่าขุนนางได้รับรู้ แต่ Luther กลับได้รับหมายจากศาลศาสนาที่โรมอีก พร้อมข้อกล่าวหาใหม่ว่า Luther ได้กระทำบาปที่ร้ายแรงถึง 41 เรื่อง ทันทีที่อ่านหมายศาลจบ Luther ก็เผาเอกสารทิ้งทันที การกระทำที่เป็น “กบฏ” เช่นนี้ ทำให้ Luther ได้พบว่า ตนกำลังได้รับการสนับสนุนจากประชาชนชาวเยอรมันมากขึ้น ๆ ตลอดเวลา
ในปีต่อมา องค์จักรพรรดิ Charles ที่ 5 แห่งประเทศเยอรมนี ได้ทรงบัญชาให้เจ้าหน้าที่ของรัฐฯ เผาหนังสือทุกเล่มที่ Luther เขียน เป็นการเอาใจองค์สันตะปาปาที่วาติกัน และพระองค์ทรงบัญชาให้ทหารนำตัว Luther ไปกักขังในปราสาทที่เมือง Wartburg เพื่อมิให้ Luther ออกมาปลุกปั่นยุยงฝูงชน

เมื่อ Luther ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จึงได้เดินทางไปประชุมเรื่องแนวทางการปฏิรูปคริสต์ศาสนาร่วมกับบาทหลวง Ulrich Zwingli และนักเทววิทยาชาวเยอรมันที่มีชื่อเสียงหลายคนและ Luther ก็ยังยืนยันความเชื่อของตนที่ขัดแย้งกับคำสอนของศาสนจักรแห่งโรมหลายเรื่อง ในเวลาต่อมาบรรดาบุคคลที่สนับสนุนความคิดของ Luther จึงได้ชื่อว่าเป็นคริสต์ศาสนิกชนนิกายใหม่ คือ นิกาย Protestant ซึ่งมี Luther เป็นผู้ให้กำเนิด และนิกายเริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้น เพราะคำสอนได้ถูกนำไปเผยแพร่อย่างกว้างขวางในบรรดาประเทศที่ตั้งอยู่ทางเหนือของทวีปยุโรป ศาสนิกชนของนิกายใหม่นี้ใช้คัมภีร์ไบเบิลเป็นสื่อในการสนทนาระหว่างพระเจ้ากับคนทั่วไป แทนที่จะมีบาทหลวงหรือสันตะปาปาเป็น messenger เพราะภาษาที่เขียนในไบเบิลเป็นภาษาเยอรมัน ดังนั้นคนเยอรมันที่อ่านหนังสือออกก็จะรู้และเข้าใจในทันทีว่า พระเจ้าทรงประสงค์สิ่งใด โดยไม่จำเป็นต้องถามบาทหลวง คริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์จึงทำให้คนมีความเท่าเทียมกัน และเป็นสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตยมาก


ดังนั้นในความเห็นของนักประวัติศาสตร์ปัจจุบัน การออกมาสนับสนุนให้มีการปฏิรูปคริสต์ศาสนาโดย Luther จึงเป็นการกระทำที่มีนัยยะมากกว่าการชักจูงฝูงชนให้

ดังในปี 1534 เมื่อสมเด็จพระเจ้า Henry ที่ 8 แห่งอังกฤษทรงทราบเหตุการณ์ความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นทั่วประเทศเยอรมนี พระองค์เองก็กำลังทรงไม่พอพระทัยองค์สันตะปาปาซึ่งทรงไม่ยอมรับให้พระองค์ทรงหย่าขาดจากพระราชินี Catherine แห่ง Aragon นอกจากจะไม่ยินยอมให้หย่าแล้ว องค์สันตะปาปาก็ยังปฏิเสธไม่ยอมรับการอภิเษกสมรสครั้งใหม่ระหว่างพระองค์กับ Ann Boleyn ด้วย ดังนั้นสมเด็จพระเจ้า Henry ที่ 8 จึงทรงฉวยวโรกาสนี้ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางศาสนากับโรมอย่างสิ้นเชิง และทรงจัดตั้งคริสต์ศาสนานิกาย Church of England ขึ้น โดยมีพระองค์ทรงเป็นพระประมุขในทันที

Martin Luther เกิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ปี 1483 (รัชสมัยพระบรมไตรโลกนาถ) ที่เมือง Eisleben ในประเทศเยอรมนี ในเบื้องต้นบิดามีอาชีพเป็นชาวนา และได้เปลี่ยนไปเป็นชาวเหมือง แต่ในที่สุดก็เป็นช่างหล่อโลหะ ส่วนมารดาเป็นลูกสาวชาวนา ในวัยเด็ก Luther ได้รับการศึกษาในโรงเรียนที่เคร่งครัดในประเพณีทางศาสนามาก เมื่ออายุ 18 ปี ได้ไปเรียนที่มหาวิทยาลัย Erfurt อีก 4 ปีต่อมาก็สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท แล้วตั้งใจจะศึกษาวิชากฎหมาย ตามความประสงค์ของบิดา

แต่ชีวิตก็เปลี่ยนอีก เพราะวันหนึ่งในเดือนกรกฎาคมปี 1505 ขณะ Luther เดินไปเรียนที่มหาวิทยาลัย ณ เวลานั้นฝนกำลังตกหนักและฟ้ากำลังคะนอง ได้มีเหตุการณ์ฟ้าผ่าต้นไม้ที่ Luther กำลังยืนหลบฝนอยู่ ทำให้รู้สึกกลัวตายมาก จึงสวดมนต์ภาวนาขอให้นักบุญ St. Anne มาช่วย และได้สัญญากับนักบุญว่า ถ้ารอดชีวิต จะบวชถวาย

แม้ในช่วงเวลานั้น กาฬโรคกำลังระบาดหนักทั่วยุโรป และมหันตภัยนี้ได้ทำให้ผู้คนจำนวนมากล้มตายไปทุกวัน เมื่อ Luther ได้เห็นคนตายเกลื่อนกลาด เขากลับไม่รู้สึกขยาดกลัวเลย เพราะจิตใจมุ่งคิดแต่เรื่องเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลังความตายมากกว่า ยิ่งเมื่อรู้ว่าคนร่ำรวยทุกคนจะได้ขึ้นสวรรค์ เพราะมีเงินซื้อใบบุญ และคนจนทุกคนจะตกนรก เพราะไม่มีใบบุญจะไถ่บาป Luther ก็ยิ่งรู้สึกกังวล

ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามคำมั่นสัญญาที่ตนได้ให้ไว้ต่อนักบุญ St. Anne เมื่อมีอายุครบ 24 ปี Luther จึงออกบวชเต็มรูปแบบ และถูกส่งตัวไปเป็นอาจารย์สอนวิชาศาสนา ตรรกวิทยากับฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัย Wittenberg อีก 5 ปีต่อมาก็ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขาเทววิทยา

แม้ภาระงานสอนในมหาวิทยาลัยและงานเทศน์ในโบสถ์จะเป็นงานหนัก แต่จิตใจของ Luther ก็ยังครุ่นคิดเรื่องนรกกับสวรรค์ จนคิดได้ว่า คนธรรมดาไม่ว่าจะเป็นใคร หรือมีอำนาจมากเพียงใด ก็ไม่ควรเจรจาต่อรองกับพระเจ้า เพื่อให้ตนได้ขึ้นสวรรค์ หรือไม่ให้ตนตกนรก และเมื่อ Luther วิเคราะห์ระบบที่ใช้ในพิธีสำนึกบาป ก็พบว่าในบางเวลาคนทั่วไปก็อาจจะไม่สามารถสารภาพบาป เพื่อทูลขอพระเจ้าให้ทรงยกโทษทั้งหมด เพราะตนจำบาปที่ทำไปแล้วไม่ได้ หรือบางครั้งก็ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าได้ทำบาปอะไรไปแล้วบ้าง และบางคนกว่าจะรู้ตัว ก็ได้ตายไปปรากฏอยู่เบื้องพระพักตร์ของพระเจ้าให้ทรงตัดสินบาปแล้ว

Luther รู้สึกกังวลกับปัญหานี้มาก เมื่อประจักษ์ว่าตนเองไม่สามารถหาคำตอบสำหรับเรื่องนี้จากใครใดได้ นอกจากในคัมภีร์ไบเบิล ดังนั้นเมื่อ Luther ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนวิชาศาสนาในปี 1513-1516 เขาก็คิดได้ว่า วิญญาณของทุกคนจะไม่ตกนรก ถ้าได้รับพระเมตตาจากพระเจ้า และพระองค์ได้ทรงโปรดให้พระบุตรในพระองค์ (คือ พระเยซู) ทรงลงมาไถ่บาปให้มนุษย์ทุกคน ด้วยการถูกนำไปตรึงบนไม้กางเขน การไถ่บาปที่แท้จริงจึงไม่ใช่ด้วยการซื้อใบบุญ


ในสมัยนั้น คริสต์ศาสนิกชนส่วนใหญ่มีความเชื่อว่า องค์สันตะปาปาทรงสามารถประทานอภัยโทษและไถ่บาปให้ใคร ๆ ก็ได้ แต่ในเวลาต่อมาความเชื่อนี้ได้รับการปรับเปลี่ยนเป็นว่า ในเรื่องบทลงโทษพระเจ้าก็สามารถยกเว้นได้ ถ้าผู้รับโทษคนนั้นได้จ่ายเงินซื้อ indulgence และนี่ก็คือชนวนสำคัญที่ได้ชักนำให้ Luther ออกมาเคลื่อนไหวให้มีการปฏิรูปคริสตจักร ยิ่งเมื่อ Luther ได้สืบทราบว่า อาร์คบิชอบ Albrecht แห่งเมือง Mainz และเมือง Magdeburg หลังจากที่ได้รับเงิน indulgence แล้ว แทนที่จะนำเงินส่งที่ไปวาติกัน เพื่อใช้ในการต่อเติมมหาวิหาร St.Peter’s คนทั้งสองกลับนำครึ่งหนึ่งของเงินที่ได้ไปปลดเปลื้องหนี้ที่ใช้ซื้อตำแหน่งอาร์คบิชอบ การใช้เงินซื้อยศฐาบันดาศักดิ์ทางศาสนาอย่างไร้สำนึกบาปนี้ได้ทำให้ Luther ตระหนักในความเหลวแหลกและการแพร่ระบาดของการคอรัปชันในเวลานั้นมาก จึงตัดสินใจออกมาประท้วงเมื่อปี 1517 โดยอ้างว่า ถ้าสันตะปาปาทรงอภัยบาปให้ใครคนหนึ่งคนใดได้ พระองค์ก็ทรงอภัยบาปให้คนทุกคนได้ด้วย และไม่ควรเรียกเก็บเงินค่าตอบแทนใด ๆ Luther ยังไม่เห็นด้วยกับความคิดที่ว่า ปริมาณบุญที่นักบุญคนหนึ่งทำจะมีค่ามหาศาลจนหาที่สุดมิได้ การต่อต้านของ Luther จึงเป็นการโจมตีสันตะปาปาโดยตรงว่าพระองค์ทรงมีพระดำริผิดในหลายเรื่อง และทรงสอนคริสตธรรมบางเรื่องก็ผิดด้วย การกล่าวหาเช่นนี้ได้ทำให้ Luther เป็นคนนอกรีตอย่างสมบูรณ์ในสายตาของวาติกัน

ในเวลาต่อมาการประท้วงของ Luther ได้ทำให้เกิดผลกระทบ คือ การปฏิรูปศาสนาได้เกิดขึ้นทั่วยุโรป เช่น ได้ทำให้เกิดคริสต์ศาสนานิกาย Lutheranism ด้านนักบวช John Calvin ที่ Geneva ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ก็ได้จัดตั้งนิกาย Calvinism ส่วน John Knox ชาวสก็อต ก็ได้นำความคิดของ Calvin ไปเผยแพร่ในสก็อตแลนด์ และจัดตั้งคริสต์ศาสนานิกาย Presbyterian พระเจ้า Henry ที่ 8 แห่งอังกฤษทรงประกาศแต่งตั้ง Thomas Cranmer เป็นอาร์คบิชอปแห่ง Canterbury และทรงสถาปนาพระองค์เองเป็นประมุขของนิกาย Anglicanism เมื่อปี 1534 และที่ Zurich ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ Conrad Grebel ได้ประกาศตั้งนิกาย Anabaptism เป็นต้น

เมื่อวงการคริสตจักรมีความระส่ำระส่ายเช่นนี้ นิกายโรมันคาทอลิกจึงจัดให้มีการปฏิรูป โดยยกเลิกการรวบอำนาจให้อยู่ที่ศูนย์กลาง และได้ปรับปรุงการสอนความเชื่อบางประการ อีกทั้งยังได้ต่อสู้ทางความคิดกับฝ่าย Protestant เป็นเวลานาน จนกระทั่งถึงปี 1648 ฝ่าย Protestant และฝ่าย Catholic จึงได้ตกลงกันยอมรับว่า ทั้งสองนิกายจำเป็นต้องอยู่ในโลกร่วมกัน อย่างที่ไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะสามารถหนีจากกัน หรือกำจัดกันได้

ด้าน Luther หลังจากที่ได้จุดประกายให้มีการปฏิวัติทางศาสนาแล้ว ก็ได้ตัดสินใจไปตั้งรกรากอย่างถาวรที่เมือง Wittenberg ในปี 1525 และได้สมรสกับ Catherine von Bora ซึ่งเป็นชี และต้องทำงานหนัก ด้วยการพยายามแปลคัมภีร์ไบเบิลจากภาษาละตินเป็นภาษาเยอรมัน ตั้งแต่ต้นจนจบอย่างสมบูรณ์ในปี 1529

Luther เสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1546 สิริอายุ 63 ปีที่เมือง Eisleben ซึ่งเป็นเมืองที่ตนเคยใช้ชีวิตในวัยเด็ก เพราะชอบอากาศหนาวของที่นั่น ในบั้นปลายชีวิต Luther มีสุขภาพไม่สู้ดีนัก และได้ทำหน้าที่พิธีสวดมนต์นำในโบสถ์เป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ แต่สวดไม่จบ ก็จำเป็นต้องหยุด เพราะรู้สึกเหนื่อยอ่อนมาก บาทหลวงองค์ที่มาเยี่ยมเป็นครั้งสุดท้ายได้ถาม Luther ก่อนจะสิ้นใจว่า “ยังเชื่อในทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้เทศน์ไปหรือไม่” ซึ่ง Luther ก็ตอบ “Jawohl”

ศพของ Luther ถูกนำกลับไปเมือง Wittenberg โดยมีขุนนาง ทหาร และชาวบ้านมาตั้งแถวต้อนรับและส่งตลอดเส้นทาง เพื่อนำไปฝังในโบสถ์ที่นั่น อันเป็นสถานที่ ที่เมื่อ 29 ปีก่อนเขาได้นำประกาศประท้วงวาติกันไปตอกตะปูติดที่ประตูโบสถ์ ของเมือง Wittenberg


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์
กำลังโหลดความคิดเห็น