เมื่อใกล้จะถึงวันเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกผู้ว่าฯ สมาชิกผู้แทนราษฎร ผู้บริหารพรรค อธิการบดีมหาวิทยาลัย ตลอดจนถึงหัวหน้าชั้น ประธานบริษัท ตัวแทนชมรม และผู้อำนวยการ ฯลฯ ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบของการเลือกมักจะรู้สึกกังวลใจในเรื่องการซื้อ-ขายเสียง การใส่ไคล้ การนับโกง การใช้บัตรปลอม การนอนหลับทับสิทธิ์ การมีตั๋วช้าง ฯลฯ ปัจจัยลบเหล่านี้ได้ผลักดันให้หลายคนพยายามแสวงหาวิธีกำจัดความไม่ชอบมาพากลให้หมดสิ้น เพื่อจะได้ผลตามคำกล่าวที่ว่า“เสียงประชาชนคือ เสียงสวรรค์” ที่แสดงความต้องการของคนส่วนใหญ่ในสังคมนั้น
แต่ปัญหาที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าบรรดาปัจจัยลบดังที่กล่าวมาแล้ว ก็คือ การมีกติกาหรือเกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสินผลการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกติกาที่ยังไม่ประเสริฐสมบูรณ์ เพราะเกณฑ์ที่เรานิยมใช้กัน คือ การให้คนที่ได้คะแนนมากที่สุดเป็นผู้ชนะ แต่เกณฑ์ดังกล่าวจะใช้ได้ดีที่สุด ถ้ามีคนสมัครเข้ารับการคัดเลือกเพียง 2 คน เพราะถ้ามีคนสมัครตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป และกติกากำหนดให้คนเลือก สามารถลงคะแนนเลือกได้เพียงคนเดียวแล้ว ความยุ่งยากต่างๆ ก็จะเกิดตามมาในทันที
ดังการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2000 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมี George W. Bush เป็นตัวแทนของพรรค Republican ที่ลงแข่งขันกับ Albert A. Gore ซึ่งเป็นตัวแทนของพรรค Democrat หลังการนับคะแนนทั้งประเทศ ผลปรากฏว่า คนทั้งสองได้คะแนนก้ำกึ่งกัน ในส่วนของpopular vote (นับจากจำนวนคนที่ลงคะแนนให้โดยตรง)Gore จะเป็นผู้ชนะ แต่ถ้านับจากelectoral vote (คือ นับจากจำนวนผู้ชนะในรัฐทั้งหมด) Bush ก็จะชนะ และผลการตัดสินขั้นสุดท้ายซึ่งขึ้นกับคะแนน electoral vote ในรัฐ Florida ผลปรากฏว่า ตกเป็นของBush ผลนี้จึงทำให้Bush ได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 54 ของสหรัฐฯ
แต่เมื่อนักคณิตศาสตร์การเลือกตั้งมาวิเคราะห์สถานการณ์ก็ได้พบว่า การที่ Bush ชนะ Gore เพียง 600 คะแนนนั้น เกิดจากการที่มีคนสมัครเข้ารับการเลือกตั้งจำนวนมากกว่า 3 คน และคนที่ได้คะแนนมากเป็นที่3 คือ Ralph Nader ซึ่งเป็นตัวแทนของพรรคGreen ซึ่งได้คะแนนเสียง95,000
การสำรวจความคิดเห็นของคนที่ลงคะแนนเลือก Nader แสดงให้เห็นว่า ถ้าให้เลือกระหว่าง Bush กับ Gore คนเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเลือกGore และนั่นก็หมายความว่า ถ้ามีคนสมัครเพียง 2 คน Gore ก็จะได้รับเลือก เพราะเมื่อไม่มีNader แฟนคลับส่วนใหญ่ของNader ก็จะทุ่มคะแนนไปที่Gore ซึ่งจะทำให้Gore ชนะ และได้เป็นประธานาธิบดีของประเทศแทนBush อย่างแน่นอน
ปัญหาที่ยังค้างคาใจทุกคนอยู่จนวันนี้ คือ Nader สมควรลงสมัครในครั้งนั้นหรือไม่ เพราะการลงสมัครของเขาทำให้Bush ได้เป็นประธานาธิบดี แต่ถ้าNader ไม่ลงGore ก็จะได้เป็นประธานาธิบดี
คำตอบ คือ Nader ตัดสินใจถูกต้องแล้วที่ได้ลงสมัคร เพราะในวิถีประชาธิปไตย คนทุกคนมีสิทธิสมัครเข้ารับการเลือกตั้ง และสิ่งที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อเมริกันควรทำ คือ จัดให้มีการลงคะแนนใหม่ และนับคะแนนใหม่ โดยใช้หลักการที่เป็นการตัดสินใจซึ่งเน้นความต้องการ และความไม่ต้องการของผู้สมัครในประเด็นต่าง ๆ ให้มากที่สุด
ตามปกติคนทั่วไปอาจจะคิดว่า เวลาใครจะตัดสินใจทำอะไร เช่น เลือกเพื่อน เลือกคู่ครอง เลือกอาชีพ เลือกผู้แทน เลือกกินนี่ นั่น โน่น หรือเลือกทำนโยบายต่าง ๆ นักคณิตศาสตร์คงจะมีสมการ หรือสูตรสำเร็จที่จะช่วยให้ทุกคนสามารถตัดสินใจได้ดี นับตั้งแต่อดีตตราบจนปัจจุบันมาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง แม้ว่าความต้องการนั้นได้ดำเนินมาเป็นเวลานานร่วม370 ปีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์
ในปี 1654 (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง) Blaise Pascal กับ Pierre de Fermat สองนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศสผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง ได้เสนอทฤษฎีของความเป็นไปได้ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ต้องใช้ในทฤษฎีการตัดสินใจ (Decision Theory) ให้นักคณิตศาสตร์ นักการเมือง นักเศรษฐศาสตร์ นักสังคมศาสตร์ และนักการพนัน ฯลฯ ที่สนใจเรื่องนี้ ได้ใช้ในการตัดสินใจต่างๆ เนื้อหาที่ปรากฏในจดหมายโต้ตอบระหว่างปราชญ์ทั้งสอง ได้ทำให้เกิดวิทยาการเรื่องศาสตร์ของการตัดสินใจ (Decision Sciences) ที่ปัจจุบันกำลังมีความสำคัญมากในการวางแผนทุกเรื่อง
ทฤษฎีการตัดสินใจของ Pascal กับ Fermat ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า คนที่จะตัดสินใจ ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ตนเองหรือสังคมให้มากที่สุด ดังนั้นเวลาจะตัดสินใจ คน ๆ นั้น จึงต้องนำตัวเลือกทั้งหมดมาชั่งน้ำหนัก ไม่ว่าจะเป็นด้านบวกและด้านลบ แล้วให้คะแนนความเห็นในทุกประเด็น จากนั้นก็คาดหวังต่อว่า สิ่งที่ตนเลือกและที่คนอื่น ๆ เลือก จะทำให้ได้ตัวแทนที่สามารถอำนวยประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้มากที่สุด
แต่ในความเป็นจริง เรามักไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งนั้น สิ่งนี้ หรือคนที่เราจะเลือก ครบทุกเรื่อง เราจึงจำเป็นต้องลงคะแนนเลือกไป อย่างไม่มั่นใจและคาดหวังว่า การไม่รู้ข้อมูลบางประเด็นจะไม่นำมาซึ่งความหายนะ จนทำให้การตัดสินใจของคนในสังคมเป็นการตัดสินใจที่ผิดอย่างมหันต์
นอกจากจะไม่มีวันจะรู้ข้อมูลอย่างสมบูรณ์แล้ว กติกาของการได้มาซึ่งตัวแทนก็เป็นปัจจัยที่สำคัญมาก เพราะถ้ากติกาเปลี่ยน
ผลของการเลือกตั้งก็จะเปลี่ยนตาม
ตัวอย่าง สมมติมีการให้สมาชิกเลือกซื้อเครื่องดื่มสำหรับงานปาร์ตี้ โดยมีตัวเลือก3 ตัว เป็นน้ำอัดลม กาแฟ และเบียร์
แล้วให้สมาชิกทั้ง15 คน เลือกตามลำดับความชอบเป็นอันดับ 1, 2 , 3
ผลปรากฏว่า มีคน6 คน ชอบน้ำอัดลม กาแฟ และเบียร์ตามลำดับ สมาชิก5 คน ชอบเบียร์มากที่สุด ตามมาด้วยกาแฟ และน้ำอัดลม ส่วนอีก4 คนที่เหลือชอบกาแฟมากที่สุด ชอบน้ำอัดลมเป็นอันดับสอง และเบียร์เป็นอันดับสุดท้าย
คำถามที่ต้องขบคิด คือ เครื่องดื่มชนิดใดควรเป็นเครื่องดื่มสำหรับงานปาร์ตี้นั้น และด้วยเหตุผลใด ในการวิเคราะห์เรื่องนี้ถ้าเราทำตารางความชอบ ก็จะได้ว่ามี
สมมติให้ใช้กติกาว่า คนจัดงานปาร์ตี้ควรเลือกเครื่องดื่มที่มีคนชอบมากที่สุด ดังนั้นตามเกณฑ์นี้ เครื่องดื่มที่ชนะ คือ น้ำอัดลม เพราะมีคนชอบมากที่สุดถึง 6 คน
แต่เมื่อดูจากตารางความชอบก็จะเห็นอีกว่า เบียร์เป็นเครื่องดื่มที่คนจำนวนมากชอบเป็นลำดับสุดท้าย และกาแฟก็มีคนชอบมากเป็นลำดับ 2 ดังนั้นจึงอาจนำความชอบระหว่างกาแฟกับน้ำอัดลมมาพิจารณาอีกรอบหนึ่ง เพื่อหาตัวเลือกที่ชนะ และก็จะพบว่าคนที่ชอบน้ำอัดลมมากกว่ากาแฟมี6 คน แต่คนที่ชอบกาแฟมากกว่าน้ำอัดลม มีทั้งหมด 5+4=9 คน ดังนั้นกาแฟจึงสมควรเป็นเครื่องดื่มในงาน ด้วยคะแนน 9:6
หรือถ้าพิจารณากรณีเฉพาะระหว่างกาแฟกับเบียร์ ก็จะเห็นว่า คนที่ชอบกาแฟมากกว่าเบียร์มี6+4=10 คน ในขณะที่คนชอบเบียร์มากกว่ากาแฟมีเพียง5 คน ดังนั้นกาแฟจึงสมควรได้รับเลือก เพราะมีคนชอบมากกว่าในอัตราส่วน10:5
บทเรียนที่ได้จากตัวอย่างเหล่านี้ คือ ผลลัพธ์ของการเลือกเกิดจากการกำหนดรูปแบบการลงคะแนน และความพึงพอใจของผู้ลงคะแนน เราจึงสามารถเห็นได้ชัดว่า ถ้ากติกาเปลี่ยน ผลที่ได้ก็จะเปลี่ยนตาม
ความวุ่นวายทั้งหลายที่กล่าวมานี้ เกิดจากการที่เราไม่ได้พิจารณาความเห็นด้านลบของผู้เลือกที่มีต่อผู้สมัคร เช่น ในกรณีที่มีผู้สมัครรับการคัดเลือกเพียงสองคน คือA กับB คนที่ชอบA มากกว่าB ก็ลงคะแนนAB ส่วนคนที่ชอบ B มากกว่า A ก็ลงคะแนนเป็น BA เพราะคะแนนของคนทั้งสองหักล้างกัน คะแนนส่วนที่เหลือก็จะเป็นของคนชนะ นี่เป็นหลักของความสมมาตรแบบสะท้อน (reflectional symmetry)
แต่ในกรณีที่มีคนสมัคร 3 คน คือ A , B และ C การลงคะแนนที่เป็นABC , BCA และ CAB ก็จะหักล้างกันหมด ตามหลักสมมาตรแบบหมุน(rotational symmetry)
เมื่อกติกาการเลือกตั้งในปัจจุบัน ไม่ได้พิจารณาสมมาตรแบบสะท้อน (เพราะนับคะแนนจากคนที่ได้รับเลือกเป็นอันดับหนึ่งเท่านั้น) นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผลการคัดเลือกแตกต่างกัน ดังในกรณีที่ตัวเลือกมี3 ตัว เพราะเราไม่ได้พิจารณาสมมาตรแบบหมุนนั่นเอง
ในการหาทางออกสำหรับเรื่องนี้ Jean-Charles de Borda ซึ่งเป็นนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ในศตวรรษที่18 จึงได้เสนอวิธีนับคะแนนแบบBorda เมื่อปี1770 เพื่อใช้สำหรับการคัดเลือกคนที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกของสมาคม Academy of Sciences ในประเทศฝรั่งเศส โดยกำหนดคะแนนให้แตกต่างกัน สำหรับคนที่คนเลือกชอบไม่เท่ากัน เช่น ถ้ามีผู้สมัครx คน ก็ให้คนที่ได้อันดับหนึ่งได้ x คะแนน และคนที่ได้อันดับ2 , 3 , 4 , … ได้คะแนนลดหลั่นลงไปเป็น x-1 , x-2 , x-3 ตามลำดับ แล้วในที่สุดก็ให้คนที่ได้คะแนนรวมมากที่สุดเป็นผู้ชนะ
วิธีนี้จึงเป็นวิธีการที่ซับซ้อนขึ้น แต่ไม่สามารถใช้ได้ดี ถ้าผู้สมัครมีมากถึง31 คน เพราะตามปกติคนที่ลงคะแนน
มักจะไม่มีข้อมูลที่สมบูรณ์ของผู้สมัครทั้ง 31 คน ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่า การลงคะแนนจะใช้ประสบการณ์ที่หูของคนเลือกได้ยินข่าวมา และตาของคนเลือกที่เห็นภาพของคนนั้นจากที่ไกล เมื่อไม่มีข้อมูลจะช่วยในการตัดสินใจ คนเลือกบางคนก็อาจไม่ลงคะแนนให้ผู้สมัครคนใดเลยก็ได้ วิธีนี้จึงดีกว่าวิธีการนับ popular vote เพราะได้พิจารณาความนิยมและความไม่นิยมแล้ว
ในการเลือกแบบBorda ถ้าใช้ตัวอย่างที่เป็นการเลือกเครื่องดื่ม (น้ำอัดลม กาแฟ และเบียร์) เพราะมีตัวเลือก3 ตัว ดังนั้นคะแนนของเครื่องดื่มที่มีคนชอบมากที่สุดจึงเท่ากับ 3 ถ้าชอบเป็นที่2 คะแนนก็เท่ากับ2 และถ้าชอบน้อยที่สุดก็ได้1 คะแนน ในที่นี้มีคน6 คนที่ชอบน้ำอัดลม กาแฟ และเบียร์ มี5 คนชอบเบียร์ กาแฟ และน้ำอัดลม และอีก4 คนที่ชอบกาแฟ น้ำอัดลม และเบียร์
ดังนั้น คะแนนสำหรับน้ำอัดลมจึงเป็น (6x3)+(5x1)+(4x2) = 31 คะแนนสำหรับกาแฟ (6x2)+(5x2)+(4x3) = 34 และ คะแนนสำหรับเบียร์ (6x1)+(5x3)+(4x2) = 29
การเลือกแบบBorda จึงทำให้กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับเลือก ในหนังสือเรื่อง Majority Judgment: Measuring, Ranking, and Electing ที่Michel Balinski และRida Laraki เรียบเรียง และจัดพิมพ์โดยMIT Press เมื่อปี 2010 ผู้ประพันธ์ทั้งสองได้เสนอให้สังคมทุกระดับ (ทั้งใหญ่ระดับประเทศและเล็กระดับห้องเรียน) ได้พิจารณาเรื่องการลงคะแนนเลือกตัวแทนว่า จะมีวิธีใดที่ทำให้ได้ตัวเลือกที่เที่ยงธรรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นความต้องการของบุคคลส่วนใหญ่ในสังคมนั้น เพราะการเลือกตั้งเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากของการปกครองระบบประชาธิปไตย ในตัวอย่างที่Balinski และLaraki นำเสนอ เขาได้กำหนดการให้คะแนนผู้สมัคร โดยระบุคุณภาพเชิงบรรยายที่แบ่งละเอียดเป็นระดับดีเด่น ดีมาก ดี พอใช้ มีปัญหาบ้าง และรับไม่ได้เลย รวม6 ระดับ แทนการให้คะแนนเป็นตัวเลข เพราะการใช้คำในการบรรยายคุณภาพของคน สามารถสื่อความหมายได้ดีกว่าการใช้ตัวเลข
ดังนั้นกติกาที่คนทั้งสองเสนอจึงเหมาะสำหรับการประเมินคุณภาพของกาแฟ การแข่งขันกระโดดน้ำ การแข่งขันเต้นรำ การแข่งสเก็ตลีลา ฯลฯ เพราะคนที่ให้คะแนนล้วนมีมาตรฐานอยู่ในใจแล้ว แต่คนทั่วไปมักจะตัดสินคุณภาพของคนที่เข้าแข่งขัน อย่างไม่มีมาตรฐานมาก
ตัวอย่างที่นำเสนอในหนังสือ คือ กรณีสมมติที่มีกรรมการ5 คน ซึ่งต้องลงคะแนนให้ผู้เข้าแข่งขัน 2 คน คือ A กับ B ดังนี้
และถ้าเราเปลี่ยนคำบรรยายเป็นตัวเลข 6 , 5 , 4 , 3 , 2 , 1 จากดีเด่น จนถึงขั้นรับไม่ได้เลยตามลำดับ เราก็จะเห็นว่าA ได้10 คะแนน (6+1+1+1+1=10) และเฉลี่ยได้2 คะแนน คือ อยู่ในระดับมีปัญหา และB ได้1+2+2+2+2=9 คะแนน โดยเฉลี่ย=1.8 จึงอยู่ในระดับเกือบมีปัญหา ดังนั้น A จึงดีกว่า B เล็กน้อย
แม้ว่ากรรมการ4 ใน5 คนจะชอบB มากกว่าA และคะแนนมัธยฐานของB คือ“มีปัญหาบ้าง” ในขณะที่คะแนนมัธยฐานของ
A คือ“รับไม่ได้”
ตารางคะแนนนี้แสดงว่า A ได้คะแนนมัธยฐาน“พอใช้” และB ได้คะแนนมัธยฐานเท่ากับ “ดี” B จึงดูดีกว่า A แม้ว่าในการเปรียบเทียบระหว่าง A กับ B กรรมการ4 คน ชอบA มากกว่าB และA ได้คะแนนเฉลี่ย (6+6+3+2+2)/5=3.8 คือ เกือบดีมาก และB ได้คะแนนเฉลี่ย (5+5+4+1+1)/5=3.2 จึงอยู่ในระดับดีกว่า“พอใช้” เล็กน้อยA จึงสมควรได้รับการคัดเลือกมากกว่าB
แต่ถ้ากรรมการถูกกติกาบังคับให้ลงคะแนนเพียง 2 ตัวเลือก คือ รับหรือไม่รับเท่านั้น ในการลงคะแนนแบบแรกA ก็จะได้1 คะแนน และB ได้ 4 คะแนน ดังนั้นB ก็จะชนะด้วยคะแนน4 ต่อ1
ตัวอย่างดังที่ยกมานี้ แสดงให้เห็นว่า ถ้าคิดค่าเฉลี่ย ค่ามัธยฐาน และคะแนนนิยม ผลการตัดสินจะไม่ได้ตัวเลือกที่เป็นคนเดียวกัน แม้ตัวอย่างที่ยกมาให้ดูจะมีคนลงสมัครเพียง2 คน เพราะถ้ามีคนสมัครจำนวนมากกว่า2 คน เกณฑ์ต่าง ๆ
นี้ก็สามารถนำไปใช้ได้เช่นกัน
เมื่อเกณฑ์หรือกติกามีได้หลายรูปแบบBalinski และLaraki จึงได้เสนอว่าการเลือกคนที่ได้คะแนนมัธยฐานมากที่สุด น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะผู้ลงคะแนนมีโอกาสได้แสดงออกซึ่งความเห็นที่มีหลายระดับ จึงดีกว่าการใช้คะแนนเฉลี่ยเชิงเลขคณิตและวิธีนี้ยังทำให้อิทธิพลจากภายนอกที่จะเข้ามามีอำนาจในการเลือกลดน้อยลง
ยกตัวอย่างในกรณีแรกถ้ากรรมการสองท่านที่ให้คะแนนว่า “มีปัญหาบ้าง” เปลี่ยนระดับคะแนนเป็น“พอใช้” B ก็จะได้คะแนนเฉลี่ยเป็น2.2 คือ ดีกว่าขั้น“มีปัญหาบ้าง” เล็กน้อย จากเดิมที่เป็น1.8 ก็ดีขึ้นเล็กน้อย ประเด็นนี้จึงอาจนำมาซึ่งการลงคะแนนแบบสมคบคิด คือ ฮั้วกัน ซึ่งก็จะทำให้การคัดเลือกไม่ตรงไปตรงมาอีก
Balinski และLaraki มิได้เป็นบุคคลสองคนแรกที่เสนอให้ใช้คะแนนมัธยฐานในการเลือกผู้แทน แต่ทั้งคู่เป็นทีมแรกที่เสนอทางออกในการตัดสิน ในกรณีที่คะแนนมัธยฐานของการคัดเลือกมีค่าเท่ากัน และให้ความสำคัญในการเลือกผู้แทน โดยการจัดเกรดแสดงคุณภาพของผู้สมัครแทนการจัดอันดับ 1 ดังที่นิยมทำกันในการเลือกตั้งทั่วไป
นอกจากกติกา และกฎเกณฑ์จะเป็นตัวกำหนดผลการตัดสินใจของคนหมู่มากแล้ว ปัจจัยหลักที่มีบทบาทมากในการทำให้เราตัดสินใจก็มีอีกหลายสาเหตุ เช่น อคติ ความเชื่อเก่าๆ ที่ได้จากประสบการณ์เดิม ๆ อิทธิพลของคนใกล้ชิดหรือคนรัก
ความคาดหวังที่ผิด ๆ การโฆษณาชวนเชื่อ จนทำให้คนเลือกหลงลมปากและไปต่อไม่เป็น จึงลงคะแนนตามคำบอกเล่าของคนใกล้ชิด และสุดท้ายก็คือ การซื้อสิทธิ์ขายเสียง สาเหตุเหล่านี้จึงทำให้เราไม่เคยได้ผู้แทนในดวงใจเลย แม้เราจะใช้เหตุผลมากสักปานใด แต่คนอื่นที่มีจำนวนมากกว่าก็ใช้เหตุผลของเขาเช่นกัน จึงได้ทำให้เรารู้สึกงง เพราะไม่เข้าใจว่า เขาลงคะแนนเลือกมาได้ด้วยเหตุผลใด
ในการตอบข้อสงสัยนี้ นักพฤติกรรมศาสตร์ได้ให้เหตุผลว่า การเลือกที่ย้อนแย้งกับเหตุผล (ตามความเข้าใจของเรา) นั้น เกิดจากการที่สมองไม่มีเวลาเพียงพอที่จะหาเหตุผลมาช่วยในการตัดสินใจ ดังนั้นจึงอาจใช้อารมณ์ที่มี ณ เวลานั้นในการเลือก เช่น ถ้ามีอารมณ์โกรธ ก็อาจจะเลือกคนที่สามารถเข้าไปจัดการเรื่องราวต่างๆ ให้เป็นระเบียบ ถ้ามีอารมณ์เกลียดก็จะไม่เลือกคนที่แหกกฎ หรือถ้ามีอารมณ์กลัว ก็จะไม่เลือกคนที่จะมาแก้แค้น เป็นต้น
ความคิดเห็นของสังคมรอบข้างก็มีบทบาทมากในการกำหนดตัวเลือกของคนในกลุ่ม เช่น ในกรณีที่ผู้เลือกไม่มีข้อมูลอะไรมากเกี่ยวกับคน ๆ หนึ่ง เขาก็อาจจะลงคะแนนเลือกตามผู้ใหญ่ หรือผู้ที่ตนเคารพ เช่น นิสิตอาจจะเลือกตามความเห็นของอาจารย์ และลูกจ้างก็อาจจะเลือกตามนาย การโฆษณาโน้มน้าวและสร้างความเชื่อถือหรือการใส่ไคล้ จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนเราจะเลือกหรือจะไม่เลือกอะไร และสำหรับคนที่ต้องตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ บ่อยมาก เช่น ผู้พิพากษาหรือผู้จัดการบริษัท นักพฤติกรรมศาสตร์ได้สำรวจพบว่า คนประเภทนี้มักมีอาการเหนื่อยล้า หลังจากที่ต้องตัดสินใจมาก ๆ จึงได้รายงานในProceedings of the National Academy of Sciences, DOI:10.1073/pnas.1018033108 ว่า เช่น ผู้พิพากษา มักให้จำเลยได้รับการประกันตัวในช่วงเวลาเช้ามากกว่าในช่วงเวลาบ่าย (ซึ่งเป็นเวลาที่ท่านรู้สึกเหนื่อยล้ามากแล้ว)
ความรู้ทางจิตวิทยาจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะช่วยให้เราตัดสินใจได้ดีหรือไม่ดี เช่น ในสังคมที่คนยากจนมาก คนเรามักจะเลือกอะไรก็ตามที่ให้ผลตอบแทนเร็ว มากกว่าการเลือกที่ให้ผลตอบแทนมากซึ่งต้องใช้เวลาคอยค่อนข้างนาน ทำนอง“สิบเบี้ยใกล้มือ” จะดีที่สุด
เมื่อปัจจัยที่ทำให้คนเลือกมีมากสาเหตุเช่นนี้ และปัจจัยเหล่านี้บ้างก็ขึ้นกับสถานที่และเวลา ดังนั้นคำถามที่ดูง่ายว่า“ทำอย่างไรจึงจะตัดสินใจเลือก...ได้ดีขึ้น” จึงเป็นคำถามที่ตอบยากมาก จนไม่มีใครรู้ว่า คำตอบที่ดีที่สุดนั้น มีหรือไม่มี และถ้ามี จะมีเมื่อใด และโดยใคร
อ่านเพิ่มเติม “How not to be wrong” โดยJohn Ioannidis ในNew Scientist ฉบับวันที่22 พฤศจิกายน2014
ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์