xs
xsm
sm
md
lg

ม.มหิดล คิดค้นและพัฒนา AI ฟังเสียงยุงลาย วางแผนป้องกันไข้เลือดออกเพื่อมวลมนุษยชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัจจุบันโรคไข้เลือดออกได้กลายเป็นโรคประจำถิ่นที่ขยายขอบเขตพื้นที่การแพร่ระบาดออกไปในวงกว้าง ไม่เพียงแต่ในพื้นที่เขตร้อน แต่ยังพบได้ในทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่เป็นแอ่ง หรือมีน้ำขัง ซึ่งกลายเป็นแหล่งแพร่พันธุ์ของยุงลายที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก แม้แต่พื้นที่เขตหนาว เช่น ในแถบยุโรป ก็ยังพบความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลกระทบต่อโลกทำให้ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

เมื่อเร็วๆ นี้ Mahidol-Bremen Medical Informatics Research Unit (MIRU) คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล สร้างสรรค์และพัฒนาเซนเซอร์ตรวจจับยุงด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก German Academic Exchange Service (DAAD) และ The Hanse-Wissenschaftskolleg Institute for Advanced Study in Germany สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการวางแผนจัดการทางสาธารณสุขรณรงค์กำจัดยุงลายเพื่อมวลมนุษยชาติ

Professor Dr.Peter Fereed Haddawy รองคณบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัย คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT)
มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้อำนวยการ Mahidol-Bremen Medical Informatics Research Unit (MIRU) นักวิทยาศาสตร์สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ อันดับ 1 ของประเทศไทย จากการจัดอันดับของ Research.Com ผู้นำทีมวิจัยด้านเทคนิคในการสร้างสรรค์และพัฒนาเซนเซอร์ตรวจจับยุงด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) กล่าวว่า คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล มีนโยบายสนับสนุนงานวิจัยเพื่อสุขภาวะ และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนและมวลมนุษยชาติ โดยบูรณาการด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มานานกว่าหนึ่งทศวรรษ

จากโจทย์ที่ได้รับในครั้งนี้ ทีมวิจัยได้นำเอาเซนเซอร์ที่สามารถตรวจจับและคัดแยกเสียงที่แตกต่างกันของยุงลายในแต่ละประเภท ด้วยเทคนิค Machine Learning จากตัวอย่างที่ได้จากห้องปฏิบัติการเพาะพันธุ์และวิจัยยุงลายของภาควิชากีฏวิทยาการแพทย์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

ในเบื้องต้นทีมวิจัยสามารถสร้างสรรค์และพัฒนาเซนเซอร์ตรวจจับยุงด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบได้แล้ว และคาดว่าเมื่อหากพัฒนาแล้วเสร็จ และผ่านการทดสอบ ทั้งทางเทคนิค และทางภาคสนามแล้ว จะได้อุปกรณ์เซนเซอร์ระบบ IoT ที่สามารถเชื่อมต่อได้หลากหลายแพลตฟอร์มในขณะเดียวกัน เพียงติดตั้งและปล่อยให้เซนเซอร์ทำงานแบบอัตโนมัติ โดยมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า และสะดวกกว่าการใช้เครื่องดักยุงแบบเดิม ซึ่งจะใช้ติดตั้งและตรวจจับตามแหล่งระบาดของยุงลายในพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ของประเทศไทย เพื่อการวางแผนรณรงค์กำจัดยุงลาย และป้องกันไม่เกิดการระบาดซ้ำ และจะขยายผลเพื่อการวางแผนรณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออกในระดับโลกต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงสารนาถ ล้อพูลศรี นิยม หัวหน้าภาควิชาสุขวิทยาเขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะฯ นอกจากมีบทบาทโดดเด่นในเรื่องการวิจัยโรคมาลาเรียในระดับแนวหน้าของโลกแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการวิจัยโรคเขตร้อนอื่นๆ รวมทั้งโรคไข้เลือดออก โดยในการสร้างสรรค์และพัฒนาเซนเซอร์ตรวจจับยุงด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในส่วนของคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล มีความพร้อมทั้งทางด้านบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไข้เลือดออก ผู้เชี่ยวชาญด้านกีฏวิทยา และห้องปฏิบัติการเพาะพันธุ์และวิจัยยุงลายที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค จึงมั่นใจได้ว่าจะสามารถส่งเสริมและสนับสนุนนวัตกรรมดังกล่าวให้สามารถบรรลุผลจนถึงปลายน้ำได้อย่างแน่นอน

ซึ่งอุบัติการณ์ของการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกที่ผ่านมา แม้จะพบว่าในช่วงวิกฤติ COVID-19 มีอัตราการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกที่อาจลดลงไปบ้างจากการเคลื่อนย้ายของประชากรที่ลดลง แต่ก็ยังคงไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะโรคไข้เลือดออกกลับมาได้เสมอ แม้ในไข่ยุงลายที่แห้งแล้ว ยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานนับปี โดยสามารถเติบโตเป็นลูกน้ำเมื่อได้สัมผัสน้ำอีกครั้ง ประชาชนจึงควรระวังอย่างยิ่งไม่ให้โดนยุงกัด ซึ่งยุงลายที่เป็นพาหะของเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue) ก่อให้เกิดโรคไข้เลือดออก คือ ยุงตัวเมียที่ต้องออกหากินและดูดเลือดคนเพื่อเป็นอาหาร และเจริญพันธุ์ โดยการตัดวงจรชีวิตยุงลายสามารถทำได้โดยช่วยกันป้องกันสิ่งแวดล้อมรอบตัวไม่ให้กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

 

Professor Dr.Peter Fereed Haddawy รองคณบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัย คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้อำนวยการ Mahidol-Bremen Medical Informatics Research Unit (MIRU) นักวิทยาศาสตร์สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ อันดับ 1 ของประเทศไทย จากการจัดอันดับของ Research.Com ผู้นำทีมวิจัยด้านเทคนิคในการสร้างสรรค์และพัฒนาเซนเซอร์ตรวจจับยุงด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)

รองศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงสารนาถ ล้อพูลศรี นิยม หัวหน้าภาควิชาสุขวิทยาเขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
กำลังโหลดความคิดเห็น