ในวันนี้ "27 เมษายน 2565" สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยข้อมูลว่า เวลาประมาณ 12:16 น. ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกรุงเทพมหานคร ครั้งแรกของปี 2565 หากยืนกลางแดดในวันและเวลาดังกล่าว เงาของร่างกายจะตกอยู่ใต้เท้าพอดี ไม่เฉียงไปด้านใดด้านหนึ่ง ดูเสมือนไร้เงา ทั้งนี้อาจไม่ใช่วันที่ร้อนที่สุด เนื่องจากขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นร่วมด้วย
โดยในทุกๆ ปี ช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคม ดวงอาทิตย์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับประเทศไทย เริ่มจากใต้สุดของประเทศไทย ณ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา จากนั้นดวงอาทิตย์จะโคจรตั้งฉากกับพื้นที่ขึ้นมาทางเหนือเรื่อยๆ จนตั้งฉากกับพื้นที่เหนือสุดของประเทศไทย ณ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565
สำหรับกรุงเทพมหานคร ดวงอาทิตย์จะตั้งฉากเหนือศีรษะพอดีในวันที่ 27 เมษายน 2565 เวลาประมาณ 12:16 น. เมื่อดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับพื้นโลก เงาจะตกอยู่ใต้วัตถุพอดี ไม่มีเงาทอดออกมา ทำให้ดูเสมือนไร้เงา นอกจากนี้ในวันดังกล่าวพื้นโลกจะได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม อุณหภูมิจะสูงที่สุดหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ปริมาณฝน เมฆ อิทธิพลจากมรสุม ความร้อนสะสมในบรรยากาศ ฯลฯ ก็ส่งผลต่ออุณหภูมิได้
ประเทศที่ตั้งอยู่ในแนวละติจูดประมาณ 23.5 องศาเหนือ ลงไปจนถึงแนวละติจูดประมาณ 23.5 องศาใต้ จะเป็นบริเวณที่ดวงอาทิตย์ผ่านใกล้จุดเหนือศีรษะ สามารถสังเกตดวงอาทิตย์ตั้งฉากได้ ซึ่งประเทศไทยตั้งอยู่ระหว่างแนวละติจูด 5-20 องศาเหนือ จึงสามารถสังเกตเห็นดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับพื้นที่ โดยดวงอาทิตย์จะมีคาบการโคจรพาดผ่านแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ทำให้แต่ละจังหวัดของประเทศไทยจึงเห็นดวงอาทิตย์ผ่านเหนือศีรษะไม่พร้อมกัน สำหรับดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับพื้นที่กรุงเทพฯ ครั้งต่อไป จะตรงกับวันที่ 16 สิงหาคม 2565 เวลาประมาณ 12:22 น.
ในแต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏในตำแหน่งต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา ตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นมา ดวงอาทิตย์ค่อย ๆ เคลื่อนจากจุดใต้สุดขึ้นมาทางเหนือ เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนมา ณ ตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลก ดวงอาทิตย์จะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกและตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกพอดี สำหรับประเทศไทย วันดังกล่าวดวงอาทิตย์ขึ้น เวลาประมาณ 06.22 น. และจะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 18.28 น. นับเป็นวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิของประเทศทางซีกโลกเหนือและเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงของประเทศในซีกโลกใต้
ระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณหภูมิต่างกัน รวมถึงระยะเวลากลางวันและกลางคืนก็ต่างกันด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลกนั้นเอง จะสังเกตได้ว่าในฤดูร้อนเวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน ดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า แตกต่างกับฤดูหนาวเวลากลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวัน ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว