โครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ดำเนินงานโดย วว. ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม ส่งเสริมเศรษฐกิจระดับชุมชนท้องถิ่นให้สามารถมีความเข้มแข็ง เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันพึ่งพาตนเองได้
ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า โครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ดำเนินงานโดย วว. ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ในกรอบวงเงิน 35.69 ล้านบาท โดยให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดซึ่งให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 ตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คกง.) เสนอ
โครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาและยกระดับประเทศให้เป็นประเทศรายได้สูง มีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง โดยการส่งเสริมเศรษฐกิจระดับชุมชนท้องถิ่นให้สามารถมีความเข้มแข็ง เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันพึ่งพาตนเองได้ ผ่านการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและพฤติกรรม และการสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยการพัฒนาส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นและวิสาหกิจชุมชน ให้สามารถผลิตสร้างสรรค์นวัตกรรมชุมชน ให้มีความรู้สามารถพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับคุณภาพมาตรฐานให้กับสินค้า สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า และขยายโอกาสเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันตามเป้าหมาย โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการในเดือนพฤษภาคม-ธันวาคม 2565 มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรจำนวน 4,200 ราย ดำเนินการในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ชุมพร ปทุมธานี พังงา เพชรบูรณ์ สกลนคร สมุทรสงคราม และอุดรธานี
โครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จะก่อให้เกิดการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตร เช่น ข้าว กล้วยหอม พืชผัก ไม้ผล และสมุนไพรตลอดห่วงโซ่คุณค่า ด้วยการผลิตพืชนอกฤดูกาล การเพิ่มคุณภาพของผลผลิต (เพิ่มขนาด รักษาคุณภาพสดได้นานขึ้น) การเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการของผลผลิต รวมถึงการแปรรูปสินค้าเกษตรจากโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งพัฒนาขึ้นในระดับภูมิภาค โดยจะนำการถ่ายทอดเทคโนโลยีการสกัดสารสำคัญ มาตรฐานการผลิตเครื่องสำอาง และยา ให้แก่เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการที่อยู่ในท้องถิ่น
นอกจากนี้ยังจะก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์แปรรูปจากวัตถุดิบท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ เกิดเป็นสินค้าที่มีคุณภาพจากภูมิปัญญาของนักวิทยาศาสตร์ชาวไทย ก่อให้เกิดสินค้าเกษตรและสินค้าแปรรูปหมุนเวียนสู่ตลาด ก่อให้เกิดกระตุ้นการบริโภคของประชาชนภายในประเทศ ด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมจากวัตถุดิบท้องถิ่น เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศที่เข้มแข็ง และยั่งยืน อีกทั้งสามารถกระตุ้นการลงทุนของเกษตรกรเมื่อได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี แล้วเมื่อนำไปใช้จะเกิดการจัดหาปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งที่ดิน แรงงาน และการบริหารจัดการ เช่น ปุ๋ย การบริหารศัตรูพืช การให้น้ำ รวมถึงการเก็บเกี่ยว หลังการเก็บเกี่ยว บรรจุภัณฑ์ และการขนส่ง ส่วนผู้ประกอบการแปรรูปจะเกิดการลงทุนทั้งวัตถุดิบทางการเกษตร สารเคมี อุปกรณ์สำหรับจัดเก็บ การจ้างแรงงาน ค่าใช้จ่ายในการเตรียมวัตถุดิบเบื้องต้น บรรจุภัณฑ์ การสร้างแบรนด์ การตลาด และการโฆษณา