xs
xsm
sm
md
lg

ภูมิปัญญาและอารมณ์ของสัตว์ "ปลาและหมู"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตั้งแต่ไหนแต่ไร เรามนุษย์ได้เชื่อมาโดยตลอดว่า มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษที่มีความสามารถวิเศษสูงยิ่งกว่าสัตว์อื่น ๆ เช่น มีภาษาใช้ สามารถแต่งเพลง และวาดภาพได้ มีเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ รู้วิธีคำนวณ รวมถึงรู้จักรักษาตัวเองในยามเจ็บไข้ได้ป่วย และรู้วิธีปกป้องคนอื่น ๆ ไม่ให้เป็นโรคก็ได้ด้วย ฯลฯ แต่ในส่วนของความเก่งกาจด้านลบนั้นก็มีมาก เช่น รู้จักปล้น โกงกิน ล่อหลอก คอรัปชันและฆ่าชิงทรัพย์ ตลอดจนถึงการเข้าทำสงครามเพื่อล้างเผ่าพันธุ์ด้วย แต่การศึกษาธรรมชาติของสัตว์โดยนักชีววิทยาทำให้เรารู้ว่า สัตว์หลายชนิดก็มีวิธีคิด จิตใจ ความสามารถในการเรียนรู้ และรู้จักการถ่ายทอดความสามารถ ด้านการทำธุรกิจ การฉ้อโกง การทรยศหักหลัง ฯลฯ ได้เหมือนคน

การได้เรียนรู้วิธีอ่านจิตใจสัตว์ ทำให้นักชีววิทยารู้ว่าสัตว์ก็มีจิตสำนึกเหมือนคน ในปี 1998 Redouan Bshary ซึ่งเป็นนักชีววิทยาด้านพฤติกรรมศาสตร์ของสัตว์ ได้พบว่า ปลาบางสปีชีส์ ก็เฉลียวฉลาดเหมือนคน โดยเขาได้พบองค์ความรู้นี้ ขณะดำน้ำลงไปศึกษาธรรมชาติของปลากรูเปอร์ (grouper) ซึ่งอาศัยอยู่ในทะเลแดง (Red Sea) ของประเทศอียิปต์ และพบว่า ขณะปลาสายพันธุ์นี้ว่ายน้ำ ทันที่มันเห็นปลาไหล moray (ซึ่งเป็นสัตว์ในตระกูล Muraenidae) เพราะปลาทั้งสองชนิดนี้ต่างก็เป็นนักล่าตัวยง ดังนั้น

Bshary จึงคิดว่าเขาคงได้เห็นมวยทะเลสดที่เข้มข้นดุเดือดเลือดพล่าน จนคนที่เห็นไม่ต้องการให้มันทั้งสองได้พบหน้ากันเลย แต่เขากลับพบว่า ปลาทั้งสองชนิดนี้มิได้ต่อสู้กันแต่กลัยร่วมมือหาเหยื่อด้วยกัน

โดยในเบื้องต้น ปลา grouper จะผงกศีรษะเป็นการส่งสัญญาณบอกปลาไหล moray ให้มาช่วยกันหาอาหาร จากนั้นจึงว่ายน้ำเข้าไปเคียงข้าง แล้วปลาไหลก็จะแหวกว่ายไปตามรอยแยกเล็ก ๆ ระหว่างก้อนหินที่อยู่ใต้ทะเล การมีขนาดตัวที่ใหญ่ทำให้ปลาตัวเล็ก ๆ ที่แอบซ่อนอยู่ตามซอกรู้สึกตกใจกลัว จึงพากันว่ายน้ำหนีออกมาให้ปลา grouper จับกินเป็นอาหารได้อย่างสะดวกสบาย ซึ่งถ้าปลา grouper ต้องอยู่โดดเดี่ยวลำพัง มันจะแทรกตัวเข้าไปในซอกหินไม่ได้เลย และนั่นก็หมายความว่า วันนั้นมันอาจจะไม่ได้กินอะไรเลย

ความสนใจเรื่องพฤติกรรมของปลาที่ Bshary ได้ทุ่มเทไปนั้น เกิดจากการได้รับคำแนะนำของ Hans Fricke ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ที่ Max Planck Institute ที่ได้เสนอให้ Bshary ไปเฝ้าดูพฤติกรรมของฝูงปลาที่ชอบแหวกว่ายอยู่ตามปะการังใต้น้ำ


Bshary รู้สึกแปลกใจเป็นล้นพ้น ที่ได้เห็นพฤติกรรมร่วมมือกันหาอาหารระหว่างสัตว์ต่างสายพันธุ์นี้ และการได้เห็นพฤติกรรมด้านสังคมของปลาในการร่วมมือกันหาอาหารระหว่างสัตว์ต่างสปีชีส์นี้ ได้ทำให้ Bshary หันมาสนใจศึกษาวิทยาการด้านนี้ทันที และเพื่อให้การทำวิจัยใต้น้ำของเขาเป็นไปอย่างปลอดภัย Bshary ได้ลงทุนไปเรียนวิชาดำน้ำแบบ scuba ซึ่งเป็นการดำน้ำที่มีเครื่องช่วยหายใจ และได้เดินทางไปศึกษาพฤติกรรมของปลาในทะเลอียิปต์ กับปลาที่ดำรงชีวิตอยู่ในทะเลปะการังของประเทศออสเตรเลีย

ผลที่ได้จากการศึกษาครั้งนั้น คือ ได้ทำให้โลกรู้ว่า ปลามีสติปัญญาและจิตสำนึกมากพอประมาณ คือ หาได้เป็นสัตว์โง่ซื่อบื้อดังที่ใคร ๆ คิดไม่ ปลาจึงเป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่มีความฉลาดเฉลียวเหมือนลิงและเอป (ape) ซึ่งเป็นสัตว์สังคม และพฤติกรรมร่วมมือกันนี้ ได้ทำให้เหล่าไพรเมตมีวิวัฒนาการด้านสรีระ เช่น ทำให้สมองมีขนาดใหญ่ขึ้นและอายุยืนนานขึ้น ในส่วนของปลานั้น ความร่วมมือกันก็ได้ทำให้ปลามีวิวัฒนาการในการดำรงชีวิตเช่นกัน

ปัจจุบัน R. Bshary ทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัย Neuchâtel ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เขาเกิดที่เมือง Starnberg ในประเทศเยอรมนี และเป็นคนที่สนใจพฤติกรรมของปลาในด้านความร่วมมือกัน การพึ่งพาอาศัยกัน การแข่งขันกัน และการใช้สติปัญญาแบบ Machiavellianism ซึ่งหมายถึงการประสพความสำเร็จทางการเมืองของสิ่งมีชีวิตในสังคม เขาจึงเป็นนักนิเวศวิทยาเชิงวิวัฒนาการ หลังจากที่ได้สำเร็จการศึกษาวิชานี้ที่มหาวิทยาลัย Munich แล้ว เขาได้ไปทำปริญญาเอกที่สถาบัน Max Planck Institute ณ เมือง
Starnberg
จากนั้นได้ไปศึกษาภาคสนามในทะเลที่ประเทศ Côte d'Ivoire ซึ่งตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกาตะวันตก เพื่อศึกษาพฤติกรรมสัตว์ต่าง ๆ เวลาถูกศัตรูคุกคามชีวิต เช่น ได้ศึกษาดูลิงชิมแปนซีเวลาเห็นเสือ และพบว่ามันจะหนีด้วยการกระโจนจากยอดไม้หนึ่งไปยังอีกยอดไม้หนึ่ง แต่เพราะเสือในป่านั้นมีให้เห็นเป็นจำนวนไม่มาก ดังนั้น Bshary จึงได้เอาหนังเสือมาหุ้มตัว ซึ่งได้ทำให้ฝูงลิงคิดว่า เขาเป็นเสือจริงๆ และ Bshary ก็ได้พบว่า แทนที่ลิงจะวิ่งหนีแบบตัวใคร ตัวมัน เวลาเข้าตาจน มันจะผนึกกำลังกับสู้เสือ เพื่อความอยู่รอด


โดยเฉพาะ ปลาเทศบาล wrasse ( หรือ ปลานกขุนทอง) ที่มีลวดลายตามตัวเป็นสีสดใส และชอบตอดกินปรสิตที่เกาะติดอยู่ตามตัวของปลาชนิดอื่น เพราะการดูแลสุขภาพและอนามัยเป็นเรื่องใหญ่สำหรับสัตว์ทุกชนิด แต่เวลาผิวหรือขนของสัตว์ได้กลายแหล่งอาศัยของปรสิตที่คอยกัดกินเลือด มันจะมี อาการคันตามตัวมาก ยิ่งเมื่อปรสิตนั้นชอบเกาะอยู่ในที่ ๆ สัตว์เจ้าบ้านเอื้อมไปกำจัดมันไม่ได้ สัตว์นั้นจึงต้องอาศัยสัตว์สายพันธุ์อื่นมาช่วยในการกำจัด

ในทะเลหรือมหาสมุทร สัตว์ที่เป็นขวัญใจของปลาอื่น ๆ ได้แก่ ปลาเทศบาล (วงศ์ Labriformes, Class Actinopterygii และ Family Labridae) ที่มีลำตัวแบน มีฟันปลายแหลมคม ปลาสายพันธุ์นี้ส่วนใหญ่ชอบว่ายน้ำอย่างเป็นอิสระ ยกเว้นเวลาจะผสมพันธุ์ มันจึงจะมารวมกลุ่มกัน ก่อนจะเริ่มให้บริการทำความสะอาด มันจะแสดงลีลาแหวกว่ายไปมา จน “ปลาลูกค้า” พอใจและไว้ใจ แล้วมันจึงเริ่มทำความสะอาด ถ้าผลงานที่ทำดี มันก็จะมีปลาตัวอื่น ๆ ที่เฝ้าดู มาเข้าแถวรับบริการมากมาย ผลก็คือมันได้อาหารและปลาอื่น ๆ ก็จะได้สุขอนามัยที่ดี และตามปกติปลาเทศบาลมักจะมีสถานที่บรให้บริการแก่ “ลูกค้า” ของมันเอง
เวลาเฝ้าดู“ปลาลูกค้า” Bshary จะสวมชุดดำน้ำ ถือกระดานชนวนที่หุ้มด้วยพลาสติก มีดินสอ กับนาฬิกาจับเวลา และได้พบว่า ในบางเวลาปลาเทศบาลจะใช้วิธีเอาเปรียบปลาลูกค้า คือ แทนที่จะเลือกกินปรสิตเพียงอย่างเดียว มันกลับกินเยื่อเมือก (mucus) ที่ปกคุลมผิวปลาด้วย เพราะเยื่อเมือกมีอาหารเสริมที่จำเป็นต่อสุขภาพของมัน และการกัดกินเยื่อเมือกนี้ทุกครั้งจะทำให้ปลาลูกค้าเจ็บจนกระตุก ให้ Bshary เห็น ดังนั้นเขาจึงสามารถบอกได้ว่า การให้บริการทำความสะอาดของปลาเทศบาลในครั้งนั้นดีหรือไม่ดีเพียงใด

ทฤษฎีการตลาดที่คนเราใช้ในการทำธุรกิจระบุว่า ถ้ามีลูกค้าที่มาคอยรับบริการเป็นจำนวนมาก ปลาเทศบาลจะมีความสุข และจะเสี่ยงกัดกินเนื้อเยื่อเมือกบ่อยครั้งขึ้น ก็เหมือนกับช่างซ่อมรถยนต์ที่อู่ซึ่งให้บริการซ่อมรถอย่างลวก ๆ เวลาไม่มีอู่คู่แข่ง และ Bshary ก็ได้พบเช่นกันว่า เวลามีปลาเทศบาลหลายตัว ปลาลูกค้าจะเลือกใช้บริการของปลาเทศบาลตามคุณภาพการบริการที่มันเห็น


นอกจากเหตุการณ์นี้แล้ว Bshary ยังได้เห็นพฤติกรรมสังคมอีกรูปแบบหนึ่งที่ยังไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน เช่น ได้เห็นปลาลูกค้าตัวที่ไม่พอใจการบริการ มันจะลงโทษปลาเทศบาล โดยการไล่ตอดจิก ซึ่งการถูกทำร้ายนี้จะทำให้ปลาเทศบาลลดการโกงกินลง และ Bshary ยังได้เห็นปลาเทศบาลชอบให้บริการแก่ปลา grouper ที่มีขนาดใหญ่มากกว่าปลาที่มีขนาดเล็ก ซึ่งเป็นปลาที่ไม่สามารถว่ายน้ำไปหาอาหารได้ในสถานที่ไกลมาก จึงต้องพึ่งพาบริการของปลาเทศบาลตัวนั้น นอกจากนี้เขาก็ยังเห็นอีกว่า ปลาเทศบาลจะบริการโกงน้อยครั้งลง เวลามีปลาลูกค้าตัวอื่น ๆ มาเฝ้าดูเทคนิคการให้บริการของมัน และเวลาปลาเทศบาลกินเยื่อเมือกอย่างรุนแรง จนปลาลูกค้าเจ็บ มันจะปลอบประโลมปลาลูกค้า โดยการใช้ครีบของมันลูบไล้ไปตามตัวของปลาลูกค้า วิธีการเหล่านี้เป็นไปตามเทคนิคที่ Niccolò Machiavelli ได้เขียนบรรยายไว้ในหนังสือเรื่อง The Prince ทุกประการ

ในอนาคต Bshary ได้ตั้งใจจะจับปลาที่ชอบอาศัยอยู่ตามปะการังมาเลี้ยงในถังน้ำในห้องปฏิบัติการ แล้วจะปล่อยกลับลงน้ำ หลังจากที่เวลาได้ผ่านไประยะหนึ่ง เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมัน ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมือนเดิม และดูความชอบของปลาเทศบาลในการเลือกกินระหว่างปรสิตกับเยื่อเมือก ซึ่งเป็นอาหารที่ปลาเทศบาลไม่ชอบกับชอบว่า ถ้าไม่มีเยื่อเมือกให้เลือกเลย ปลาเทศบาลจะให้บริการที่มีคุณภาพระดับใด

เพราะการทดลองเรื่องนี้ ต้องใช้เวลาและความอดทนมาก ในการปรับตัวของปลาจากทะเลมาอยู่ในถังน้ำ แต่ถ้าทำได้ ก็แสดงว่า อะไรที่เกิดขึ้นในทะเล นักชีววิทยาก็สามารถจัดการให้มันเกิดขึ้นได้เช่นกัน ในห้องปฏิบัติการ

ข้อสังเกตประการสุดท้าย คือ เวลาปลาเทศบาลมาทำงานให้บริการเป็นคู่ (ตัวผู้กับตัวเมีย) การฉ้อโกงมักไม่เกิดขึ้นบ่อยเท่ากับเวลาที่มันทำงานแบบโดดเดี่ยว และนี่อาจจะเป็นเพราะเวลาตัวเมียลดคุณภาพการให้บริการ มันก็จะถูกตัวผู้ไล่กัดทันที
พฤติกรรมของสัตว์อีกด้านหนึ่งที่นักชีววิทยาให้ความสนใจ คือ เวลาสมาชิกในฝูงตัวหนึ่งล้มตาย สมาชิกที่เหลือจะแสดงพฤติกรรมอย่างไร สัตว์เข้าใจความหมาย

ในอดีตเมื่อ 15 ปีก่อน นักชีววิทยาได้พบว่า ปลาโลมาจมูกขวดที่อาศัยอยู่ในทะเลด้านตะวันตกของประเทศกรีซ ได้แสดงพฤติกรรมที่แตกต่างกัน เวลาเห็นเพื่อนของมันตาย ขึ้นกับว่าเพื่อนมันตัวนั้นตายอย่างกระทันหัน หรือล้มป่วยเป็นเวลานานแล้วจึงตาย

ทั้ง ๆ ที่นักชีววิทยามีความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมนี้ในสัตว์สังคม เช่น ชิมแปนซีและช้างเป็นอย่างดีว่า เวลาสมาชิกในฝูงตาย มันจะแสดงอาการโศกเศร้าเป็นทุกข์ แต่งานศึกษาเรื่องนี้ในกรณีสัตว์น้ำยังไม่มีให้เห็นมาก เพราะเวลาปลาตายในทะเล มักไม่มีใครเห็น


ในปี 2007 Joan Gonzalvo แห่งสถาบัน Tethys Research Institute ที่เมือง Milan ในประเทศอิตาลี ได้เคยสังเกตเห็นปลาโลมาจมูกขวด (Tursiops truncates) ที่อาศัยอยู่ในอ่าว Amviakikos และได้เห็นเหตุการณ์ที่แม่โลมาต้องสูญเสียลูกโลมาน้อยที่เพิ่งคลอดออกมาดูโลกได้ไม่นานว่า เมื่อเห็นลูกตาย แม่ก็จะคาบศพลูกน้อยชูขึ้นเหนือผิวน้ำ เสมือนจะพยายามช่วยให้ลูกได้หายใจอีก มันยกตัวลูกขึ้นสูงครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นเวลานานถึง 2 วัน โดยไม่ได้ผละห่างจากศพของลูกเลย และพร้อมกันนั้นก็ส่งเสียงเรียกลูกด้วย

แต่ลูกของมันถูกโลมาตัวใหญ่กัดจนบาดเจ็บสาหัส มันจึงต้องตายอย่างไม่มีทางเลือก กระนั้นแม่โลมาก็ยังทำ “ใจ” รับการสูญเสียไม่ได้ พฤติกรรมการฆ่าตัวอ่อนนี้ก็เป็นพฤติกรรมด้านมืดของโลมาเหมือนสัตว์อื่น ๆ อีกหลายชนิด เช่น ลิง สิงโต และมังกรโคโมโด

อีกหนึ่งปีต่อมา Gonzalvo ได้พบฝูงปลาโลมาอีกฝูงหนึ่งที่กำลังว่ายน้ำห้อมล้อมลูกปลาที่มีอายุ 2-3 เดือน ซึ่งกำลังมีปัญหาในการว่ายน้ำ เพราะได้บริโภคโลหะหนักหรือยาฆ่าแมลงเข้าไป ปลาทั้งกลุ่มดูมีอาการเครียดจัด เพราะต่างก็ว่ายน้ำอย่างสะเปะสะปะ และได้พยายามช่วยลูกปลาตัวนั้นให้ลอยตัวขึ้น แต่ลูกปลาก็จมตัวลงทุกครั้งไป และได้ตายไปในอีกหนึ่งชั่วโมงต่อมา
จากประสบการณ์ที่ Gonzalvo ที่เคยเห็นว่า แม่ปลาจะว่ายน้ำเคียงคู่ซากศพลูกต่อไป แต่ในกรณีนี้ เขากลับพบว่า แม่ปลาได้ปล่อยให้ลูกปลาจมน้ำเฉยเลย แล้วปลาทั้งฝูงก็ได้ว่ายน้ำออกไปจากบริเวณนั้นทันที Gonzalvo ได้อธิบายเรื่องนี้ว่า ฝูงปลาได้พยายามช่วยแล้ว อีกทั้งได้อยู่เคียงข้างและให้กำลังใจแก่ลูกปลา ครั้นเมื่อลูกปลาตาย ฝูงปลาก็ตระหนักว่า ได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แล้ว และเมื่อลูกปลาต้องตาย ปลาทั้งฝูงก็ทำใจได้


ด้าน Ingrid Visser แห่งหน่วยวิจัยวาฬ orca ที่เมือง Tutukaka ในประเทศ New Zealand ก็ได้รายงานว่า เคยเห็นปลาโลมาจมูกขวด และวาฬ orca แสดงอารมณ์เศร้าเสียใจเวลาลูกมันตาย โดยการประคองนำศพลูกเป็นเวลานานก่อนปล่อยทิ้งในทะเล ยิ่งเมื่อเขารู้ว่าทั้งโลมาและวาฬมีสมองซึ่งมีเซลล์ประสาทชื่อ Von Economo ที่ทำหน้าที่ควบคุมอาการเศร้าในคน ดังนั้น สัตว์น้ำทั้งสองชนิดนี้ จึงสามารถแสดงอาการโศกเศร้าได้เหมือนคน

Visser ยังได้เห็นเหตุการณ์วาฬตายเพราะเกยตื้นว่าในเวลาฝูงปลาเห็นเพื่อนเกยตื้นและเสียชีวิต ในเวลาต่อมา ถ้าฝูงปลาว่ายน้ำผ่านบริเวณที่เกิดเหตุ มันจะหยุดว่าย เสมือนยอมรับว่าเพื่อนวาฬของมันได้จากไปแล้วจริง ๆ และถ้าใครพยายามไล่ให้พวกมันให้ว่ายน้ำผ่านบริเวณนั้นไป มันจะพยายามขัดขวาง และจะได้ไม่กลับไปยังที่เกิดเหตุอีก เสมือนหนึ่งว่าที่ตรงนั้นมีเหตุการณ์ที่ทำให้มันต้องเสียใจ

นักชีววิทยาได้พบว่า สัตว์หลายชนิดมักแสดงพฤติกรรมแปลก ๆ เวลามีอารมณ์โศกเศร้าและเสียใจ เช่น ช้างแอฟริกัน เวลาเห็นซากศพสมาชิกในฝูง มันจะแสดงอาการว้าวุ่นผิดปกติทันที และถ้าซากนั้นเหลือแต่กองกระดูก มันจะจ้องมองที่กะโหลกและงาเป็นเวลานาน ด้านลิงชิมแปนซีก็จะนั่งใกล้ศพของสมาชิกในฝูงที่เพิ่งตาย เสมือนว่าจะคอยช่วยเหลือให้ฟื้น แต่หลังจากนั้นมันจะไม่เดินผ่านบริเวณที่เพื่อนล้มตายอีกเลย และถ้าลูกลิงตาย แม่ลิงในบางครั้งก็จะอุ้มซากของลูกน้อยไว้กับตัวเป็นเวลาหลายวัน หรือนานเป็นสัปดาห์ นักชีววิทยายังได้รายงานการเห็นลิงใช้ใบหญ้าทำความสะอาดฟันของลิงที่ตายไป หรือเวลาลิงตัวเมียตกหน้าผา จนกะโหลกศีรษะแตก ลิงตัวผู้ซึ่งเป็นคู่ของมันจะพยายามลูบไล้ที่หัวเพื่อรักษาแผลเป็นเวลานาน จนกระทั่งตัวเมียทนพิษบาดแผลไม่ได้ และหมดลมหายใจไปในที่สุด

เหล่านี้คือตัวอย่างของสัตว์ที่ไม่ประเสริฐเช่นคน แต่สามารถแสดงอารมณ์โศกเศร้าและอาลัยอาวรณ์ได้เหมือนคน


หมู peccary (Pecari tajacu) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมอีกชนิดหนึ่งที่มักแสดงอารมณ์อาลัยอาวรอย่างผูกพันกับสมาชิกในฝูงที่ต้องตายจากไปอย่างค่อนข้างมาก

หมูชนิดนี้มีพบในทวีปอเมริกาเหนือและมีรูปร่างคล้ายหมูป่ามาก อีกทั้งชอบอาศัยอยู่กันเป็นฝูง มันจึงเป็นสัตว์สังคม
ในปี 2017 Dante de Kort ซึ่งเป็นเด็กชายวัย 8 ขวบ ได้สังเกตเห็นฝูงหมู peccary 5 ตัว ออกมาหาอาหารกินในบริเวณป่าหลังบ้านของเขาในรัฐ Arizona และเห็นหมูตัวหนึ่งมีทีท่าว่าไม่สบาย ซึ่งก็เป็นจริง เพราะในวันต่อมา หมูตัวเมียตัวนั้นก็เสียชีวิต และ Dante ก็ได้เห็นสมาชิกของฝูงหมูที่เหลือมาเฝ้าดูซากหมูที่ตายไป เพราะซากมีกลิ่นแรง ดังนั้น Dante จึงนำซากไปฝังบนเนินที่อยู่ไกลจากบ้าน แล้วติดตั้งกล้องบันทึกภาพ (video) ของเหตุการณ์ในบริเวณนั้น ถ้ามีสัตว์อื่นใดเดินเข้ามาใกล้ เพื่อนำไปทำเป็นรายงานเสนอต่อครูที่โรงเรียน

ตลอดเวลาสองสัปดาห์ต่อมา Dante ได้นำภาพที่บันทึกไว้ทั้งหมด (100 ม้วน) ไปเสนอที่โรงเรียนในงานวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้ทำให้ Mariana Altrichter รู้สึกประทับใจมาก เพราะเธอเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยเฉพาะหมู peccary เธอจึงติดต่อ Dante เพื่อนำผลงานไปตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Ethology,doi.org/eg7x โดยมีชื่อของ Dante เป็นชื่อแรก
รายงานวิจัยได้แสดงให้เห็นว่า หลังจากที่สมาชิกตัวหนึ่งของฝูงหมูเสียชีวิต สมาชิกตัวอื่น ๆ จะแวะมาเยี่ยมศพบ่อย บางครั้งก็มาเดี่ยว แต่บางครั้งก็มาคู่ โดยจะมายืนใกล้ ๆ ศพ แล้วใช้จมูกดันศพ เสมือนจะให้เพื่อนของมันได้ลุกขึ้นมาเดินอีก บางตัวก็มาซุกตัวนอนใกล้ ๆ พฤติกรรมเหล่านี้ ล้วนแสดงให้เห็นว่า หมู peccary มีความอาวรณ์ต่อเพื่อนที่จากไป และได้กลับมาเยี่ยมศพเพื่อนทุกวัน

จนเวลาผ่านไป 10 วัน เมื่อฝูงหมาป่า coyote ได้กลิ่นศพ จึงเดินเข้ามาใกล้ และถูกฝูงหมู peccary ตะเพิดไล่ แต่เมื่อตกเวลากลางคืน ฝูงหมาป่า coyote ก็ได้หวนกลับมาอีก และกินซากหมู peccary ตัวนั้นจนหมด

พฤติกรรมของหมู peccary ต่อญาติที่ตายไป จึงเหมือนกับพฤติกรรมของช้าง ลิงชิมแปนซี โลมา และสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ แต่การแสดงออกของหมู peccary ที่พยายามดันซาก หรือใช้ปากงับร่างของเพื่อนนั้น อาจเป็นการแสดงความพยายามที่จะทำให้เพื่อนฟื้นก็ได้ หรือแสดงความเป็นเจ้าของศพ โดยการไล่ตะเพิดฝูงหมาป่า coyote และเวลามันซุกตัวนอนเคียงข้างศพเป็นเวลานานถึงสัปดาห์ โดยไม่ทอดทิ้งให้ศพอยู่อย่างโดดเดี่ยว มันได้แสดงความอาลัย ความสลดใจ และความเศร้าโศกต่อการตายจากไปของเพื่อนมัน


ในส่วนของความเข้าใจที่แท้จริงของสัตว์ว่ารู้สึกอย่างไรนั้น ยังเป็นเรื่องที่ลึกลับอยู่ต่อไป เพราะเรายังไม่เข้าใจจิตใจของสัตว์เหล่านี้อย่างลึกซึ้ง จนกว่าเราจะรู้ภาษาของมัน

กระนั้นโลกก็มีบุคคลหนึ่งที่ได้บุกเบิกวิทยาการด้านการแปลภาษาสัตว์ เขาชื่อ Peter Mahler ซึ่งได้เคยศึกษาพบว่า นกกระจอกที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นต่าง ๆ ของรัฐ California ร้องเพลงด้วยสำเนียงเสียงที่แตกต่างกัน และลิงแอฟริกันจะส่งเสียงร้องเตือนภัยด้วยสำเนียงเสียงที่ไม่เหมือนกัน ขึ้นกับว่ามันเห็นงู เสือ หรือเหยี่ยว การบันทึกเสียงสูงต่ำที่เป็นจังหวะ และดังมากน้อยหลากหลายรูปแบบนี้ ทำให้ Mahler รู้ว่าสัตว์ต่าง ๆ สื่อสารกันอย่างไร

Peter Mahler เกิดเมื่อปี 1928 (ปัจจุบันเขาเสียชีวิตไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2014) ได้เริ่มศึกษาเสียงของสัตว์ในป่าสงวนใน Scotland หลังจากที่ได้พบว่านก finch (Fringilla coelebs) ที่อาศัยอยู่ในหุบเขาต่างกัน จะส่งเสียงร้องเพลงไม่เหมือนกัน เขาได้ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่องนี้ เพื่อนำเสนอต่อมหาวิทยาลัย Cambridge ในปี 1954

โดยได้แสดงว่า นก finch สายพันธุ์นี้จะส่งเสียงร้องที่ไม่เหมือนกันเลย เวลามีสัตว์ต่างชนิดกันมาคุกคาม นี่เป็นการพบองค์ความรู้ใหม่ที่ไม่มีใครเคยรู้มาก่อน

จากนั้นเขาก็ได้เดินทางไปทำงานเป็นนักวิจัยที่มหาวิทยาลัย California วิทยาเขต Berkeley ในเวลานั้นการศึกษาวิชา ethology ที่ว่าด้วยพฤติกรรมของสัตว์ในสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติกำลังเป็นที่นิยมมาก เพราะมี Konrad Lorenz, Nikolaas Tinbergen และ Karl von Frisch เป็นผู้บุกเบิก และคนทั้งสามได้รับรางวัลโนเบล สาขาสรีรวิทยาประจำปี 1973
Mahler ได้สอนให้นิสิตมีจินตนาการว่า เวลาสัตว์กำลังถูกคุกคามชีวิต มันจะรู้สึกเช่นไร มันจะหาวิธีเอาตัวรอดได้อย่างไร โดยการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือจากเพื่อน หรือจากญาติอย่างไร และได้ผลอย่างไร และได้พบว่า เวลาหาคู่ นก finch จะส่งเสียงนุ่มและเบาเหมือนเสียงกระซิบ แต่เวลาถูกนกอื่นล่วงล้ำอาณาเขต เสียงของมันจะดังก้องกังวานเป็นต้น
ในการศึกษาเรื่องนี้ Mahler ได้ใช้เทคโนโลยีล่าสุดเพื่อบันทึก วิเคราะห์ และสาธิตเสียงของสัตว์ให้ทุกคนได้ยิน “การสนทนา” ระหว่างสัตว์ แล้วเขียนรายงาน


Mahler ได้ศึกษาภาษาของสัตว์หลายชนิด เช่น นก แมลงวัน แมงมุม tarantula ปลาไหลไฟฟ้า ตุ๊กแก ค้างคาว ปลา หนูทะเลทราย สุนัข ฯลฯ และได้ส่งนิสิตไปลงพื้นที่ในประเทศต่าง ๆ เช่น Kenya เพื่อศึกษาภาษาลิง vervet ที่นกอินทรีชอบล่ากินมัน ไปเกาะ Borneo เพื่อศึกษาภาษาลิงอุรังอุตัง และไปประเทศญี่ปุ่นเพื่อศึกษาภาษาลิงกัง (macaque) เป็นต้น ตัว Mahler เองได้ไป Uganda และ Tanzania เพื่อศึกษาภาษาลิงชิมแปนซีกับ Jane Goodall เพราะเขาคาดหวังจะเข้าใจที่มาของภาษาคน ว่ามาจากธรรมชาติในตัวคนเอง หรือมาจากสิ่งแวดล้อม

เรื่องนี้น่าสนใจ ถ้าเรารู้ แต่ก็คงจะไม่วันสมบูรณ์ เพราะมีคนบางคนที่ไม่ว่าจะพูดอย่างไร และพูดเมื่อไร เขาก็ไม่เข้าใจอะไรทั้งนั้นอยู่นั่นเอง
 
อ่านเพิ่มเติมจาก Mindreading animals: The debate over what animals know about other minds. โดย Robert W. Lurz จัดพิมพ์โดย MIT Press ปี 2011


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน: ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์
กำลังโหลดความคิดเห็น