xs
xsm
sm
md
lg

ทำความรู้จัก “ดาวพฤหัส” ดาวเคราะห์ใหญ่สุดแห่งระบบสุริยะ ย้ายสู่จักรราศีสุดท้าย ก่อนครบรอบวงโคจร และโคจรรอบดวงอาทิตย์อีกครั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากกระแส ดาวพฤหัสย้ายราศีจากราศีกุมภ์สู่ราศีมีน ซึ่งเป็นข้อมูลทางโหราศาสตร์ แต่ในด้านดาราศาสตร์นั้น ถือเป็นการโคจรรอบดวงอาทิตย์ตามหลักการวงโคจร จากข้อมูลในปัจจุบันที่เราได้รู้ว่า ดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์ของระบบสุริยะ มีดาวบริวารทั้งหมด 8 ดวง ไล่จากระยะที่ใกล้ที่สุด ได้แก่ ดาวพุธ ศุกร์ โลก อังคาร พฤหัสฯ เสาร์ ยูเรนัส เนปจูน ซึ่งเมื่ออดีตรวมถึง ดาวพลูโต แต่ในปัจจุบันได้ลดสถานะลงไปเป็นดาวเคราะห์แคระแล้ว


ดาวเคราะห์ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น จะมีการโคจรรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งการโคจร 1 รอบของดาวเคราะห์แต่ละดวงจะมีระยะเวลาที่แตกต่างกัน อย่างเช่น “โลก” ของเราที่ใช้เวลาโคจรรอบอาทิตย์ 1 ปี ตาม “สุริยวิถี” แถบสมมติบนท้องฟ้าที่เป็นระนาบวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ที่เป็นศูนย์กลาง และระนาบสุริยวิถีนี้ จะมีกลุ่มดาวฤกษ์ 12 กลุ่ม เป็นฉากหลัง ทำให้ท้องฟ้าในแต่ละเดือนเมื่อมองจากโลกจะมีกลุ่มดาวที่แตกต่างกัน เป็นกลุ่มดาวต่างๆ ตามระนาบวงโคจร


เริ่มตั้งแต่ 1.กลุ่มดาวแกะ (ราศีเมษ) 2.กลุ่มดาววัว (ราศีพฤษภ) 3.กลุ่มดาวคนคู่ (ราศีเมถุน) 4.กลุ่มดาวปู (ราศีกรกฎ) 5.กลุ่มดาวสิงโต (ราศีสิงห์) 6.กลุ่มดาวหญิงสาวพรหมจารี (ราศีกันย์) 7.กลุ่มดาวคันชั่ง (ราศีตุล) 8.กลุ่มดาวแมงป่อง (ราศีพิจิก) 9.กลุ่มดาวคนยิงธนู (ราศีธนู) 10.กลุ่มดาวมกร หรือ แพะทะเล (ราศีมังกร) 11.กลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ (ราศีกุมภ์) และ 12. กลุ่มดาวปลาคู่ (ราศีมีน) กลุ่มดาวฉากหลังสุดท้าย ก่อนที่จะครบวงโคจร และเริ่มต้นการโคจรรอบใหม่อีกครั้งที่กลุ่มดาวแกะ


“ดาวพฤหัส” ก็เช่นกัน หลายๆ คนรู้ว่า ดาวเคราะห์ดวงนี้เป็นดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ และใน 1 รอบการโคจรรอบดวงอาทิตย์นั้น ใช้เวลา 12 ปี จึงให้ในทุกๆ ปี เมื่อมองท้องฟ้าโลก จะเห็นดาวพฤหัสมีพื้นหลังเป็นกลุ่มดาวจักรราศีที่แตกต่างกันออกไป และในปีนี้ ดาวพฤหัสได้โคจรตามระนาบสุริยวิถี มาถึงระนาบที่มีกลุ่มดาวกลุ่มดาวปลาคู่ฉากหลัง ซึ่งกลุ่มดาวนี้ถือได้ว่าเป็นดาวฤกษ์กลุ่มสุดท้าย และอีก 1 ปีต่อจากนี้ ดาวพฤหัสก็จะโคจรสู่จุดที่มีกลุ่มดาวแกะเป็นฉากหลัง นับได้ว่าสิ้นสุดการโคจร 1 รอบ และเริ่มต้นการโคจรรอบดวงอาทิตย์ใหม่อีกครั้ง


ในด้านโหราศาสตร์ ดาวพฤหัสถูกจัดให้เป็นประธานของดาวศุภเคราะห์ พูดง่ายๆ คือหัวหน้าของดวงดาวที่มีความหมายในด้านดี มีเลข 5 เป็นสัญลักษณ์ ในปีนี้ดาวดวงใหญ่นี้ได้เดินทางเข้าสู่ขอบเขตของราศีมีน ซึ่งเป็นภพสุดท้าย ของภพทั้ง 12 ตามข้อมูลภพเรือนชะตา และเมื่อ โคจรผ่านภพนี้ ก็จะเป็นการเริ่มต้นการโคจรตามภพใหม่

การแบ่งเส้นสุริยวิถีออกเป็นจักรราศี มีเริ่มต้นในยุคบาบิโลเนีย ช่วงครึ่งแรกของ 1,000 ปีก่อนคริสตกาล ทำให้คนบนโลกเมื่อครั้งอดีต สามารถใช้ข้อมูลการโคจรของดวงดาวนี้ บันทึกเรื่องราวระบุวัน – เวลาต่างๆ ได้


และในปีสุดท้ายของการโคจรครบรอบของ “ดาวพฤหัส” เรามาทบทวนข้อมูลสำคัญของดาวเคราะห์ดวงใหญ่ดวงนี้กัน

ดาวพฤหัสเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 5 เป็นดาวเคราะห์ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ เป็นดาวเคราะห์ที่มีดาวบริวารมากที่สุดในระบบสุริยะ 67 ดวง โดยดวงจันทร์ดวงใหญ่ที่สุดของดาวพฤหัสคือ “แกนิมีด” เป็นดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ ใหญ่กว่าดาวพุธและดาวพลูโต และหมุนรอบตัวเองด้วยอัตราเร็วสูงที่สุดในระบบสุริยะ รอบหนึ่งใช้เวลาเพียง 9 ชั่วโมง 55 นาที ชื่อละตินของดาวพฤหัส (Jupiter) มาจากเทพเจ้าโรมัน สัญลักษณ์แทนดาวพฤหัสบดี คือ ♃ เป็นสายฟ้าของเทพเจ้าซุส หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ดาวยักษ์


จุดเด่นเมื่อดูผ่านกล้องโทรทรรศน์ คือชั้นเมฆที่ห่อหุ้มดาวพฤหัส เด่นชัดที่สุดคือ จุดแดงใหญ่ ซึ่งเป็นพายุหมุนที่มีขนาดใหญ่กว่าโลก โดยทั่วไปดาวดวงนี้เป็นวัตถุที่สว่างที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ในท้องฟ้า (รองจากดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวศุกร์

แม้จะโคจรใกล้จะครบ 1 รอบวงโคจร และจะเริ่มใหม่ในอีก 1 ปีข้างหน้า ในอนาคตเราก็ยังสามารถเห็นดาวเคราะห์ดวงใหญ่ดวงนี้ได้เหมือนเดิม และยังมีข้อมูลการสำรวจใหม่ๆ ให้ได้รู้เสมอ เพียงแต่หมู่ดาวอันเป็นฉากหลังก็จะเปลี่ยนไปตามวันและเวลา


กำลังโหลดความคิดเห็น