xs
xsm
sm
md
lg

Enrico Fermi "โจทย์" และ "คำเฉลย"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



Edward Teller ซึ่งเป็นบิดาผู้ให้กำเนิด ระเบิดไฮโดรเจนของสหรัฐ ได้เคยให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวว่า ในบรรดานักฟิสิกส์ที่ร่วมกันสร้างระเบิดปรมาณูในโครงการ Manhattan เพื่อใช้ยุติสงครามโลกครั้งที่สองนั้น Enrico Fermi เป็นบุคคลเดียวเท่านั้นที่เขายกย่องมากที่สุด เพราะมีความฉลาดเฉลียวและเก่งด้านการทดลองมากระดับอัจฉริยะ ซึ่งถ้าคิดจะเปรียบเทียบระหว่างบรรดานักฟิสิกส์ชาวอิตาเลียนด้วยกัน Fermi ก็จะเป็นรองแต่ Galileo Galilei เท่านั้น หรือถ้าเปรียบให้นักฟิสิกส์เป็นคริสต์ศาสนิกชน Fermi ก็จะเป็นเสมือนองค์สันตะปาปา แห่งกรุงวาติกัน

Enrico Fermi เกิดเมื่อวันที่ 29 กันยายน ค.ศ.1901 ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ในครอบครัวที่ยากจน เพราะบิดาเป็นเพียงเจ้าหน้าที่กรมรถไฟ แต่ Fermi เรียนหนังสือเก่งมากตั้งแต่เด็ก เพราะสามารถจับใจความสำคัญ และเข้าใจเนื้อหา รวมทั้งมีวิธีคิดแก้ปัญหาฟิสิกส์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว อย่างที่ไม่มีใครสามารถทำได้เหมือน เมื่ออายุ 17 ปี Enrico Fermi ได้ไปเรียนฟิสิกส์ที่ Reale Scuola Normale ในเมือง Pisa และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก เมื่ออายุ 21 ปี ด้วยการเขียนบทความ เรื่อง ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป จนได้รับคำชื่นชมจากนักคณิตศาสตร์ชื่อดัง คือ Tullio Levi-Civita

จากนั้นก็ได้ทุนไปวิจัยฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัย Göttingen ในประเทศเยอรมนี เพราะที่นั่น คือ นครเม็กกะในการวิจัยฟิสิกส์ควอนตัมของโลก เพราะมี Max Born , Werner Heisenberg และWolfgang Pauli (รางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี 1954 , 1932 และ 1945 ตามลำดับ) เป็นนักวิจัยประจำมหาวิทยาลัย


ในระยะแรกของการทำงานวิจัย Fermi ชอบตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานในวารสารอิตาเลียน เพื่อให้คนในประเทศได้รู้จักตน แต่การทำเช่นนั้นไม่เปิดโอกาสให้ได้มีโอกาสไปทำงานในต่างประเทศ ดังนั้นจึงเปลี่ยนไปเขียนบทความลงเผยแพร่ในวารสารภาษาอังกฤษแทน และหวังว่านักฟิสิกส์ชาวอังกฤษหรืออเมริกันจะเชื้อเชิญตนไปทำงานในต่างประเทศบ้าง

ในปี 1926 Fermi ได้พบสถิติรูปแบบใหม่ที่ต้องใช้ในการอธิบายสมบัติกายภาพของอิเล็กตรอน ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักการห้ามซ้อนกันของ Pauli สถิตินี้ มีชื่อเรียกว่าสถิติแบบ Fermi-Dirac (เพราะพบโดย Paul Dirac ในเวลาไล่เลี่ยกัน) และใช้กับอนุภาคควอนตัม ที่มี spin เท่ากับ 1/2 , 3/2 , 5/2 … ซึ่งเรียกอนุภาค fermion (ตามชื่อของ Fermi) ผลงานนี้ทำให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ฟิสิกส์ แห่งมหาวิทยาลัย Rome ตั้งแต่มีอายุได้เพียง 26 ปี จึงนับเป็นศาสตราจารย์ฟิสิกส์ที่มีอายุน้อยที่สุดในประเทศอิตาลีในเวลานั้น

ครั้นเมื่อ Fermi ศึกษานิวเคลียสของธาตุกัมมันตรังสี เวลาปล่อยรังสีบีต้าออกมา เพราะรังสีนี้เกิดจากเหตุการณ์ ที่นิวตรอนได้เปลี่ยนไปเป็นโปรตอน อิเล็กตรอน และอนุภาคแอนตินิวทริโนชนิดอิเล็กตรอน โดยใช้อันตรกิริยาแบบนิวเคลียร์อย่างอ่อน (Weak Nuclear Interaction) Fermi จึงเสนอทฤษฎีกำเนิดรังสีบีต้า และผลงานนี้ก็ทำให้ได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ประจำปี 1938

แต่ความสำเร็จนี้มิได้ทำให้ Fermi มีความสุขมาก เพราะในเวลานั้น ท่านผู้นำAdolf Hitler แห่งเยอรมนี กับ Benito Mussolini แห่งอิตาลี กำลังเรืองอำนาจ และจอมเผด็จการทั้งสองมีนโยบาย จะกำจัดชาวยิวให้สิ้นโลก Laura Fermi ซึ่งเป็นภรรยาของ Fermi และมีเชื้อชาติยิว จึงตกเป็นเป้าสังหารโดยทหารนาซีในทันที เมื่อรู้ว่าชีวิตของภรรยาเริ่มไม่ปลอดภัย Fermi จึงตัดสินใจอพยพลี้ภัยไปอเมริกา โดยฉวยโอกาสไป หลังจากที่ได้เดินทางไปรับรางวัลโนเบลที่ประเทศสวีเดน แล้วจะไม่หวนกลับไปอิตาลีอีก แต่จะเลยไปอเมริกา เพื่อเข้าทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย Columbia ใน New York 


ในปี 1938 เมื่อ Otto Hahn กับ Fritz Strassmann ได้พบปรากฏการณ์ "fission" ซึ่งจะเกิดเวลานิวเคลียสของยูเรเนียม-235 ได้รับอนุภาคนิวตรอนที่มีความเร็วต่ำเข้าไป แล้วแบ่งแยกตัวเอง เหตุการณ์นี้ทำให้ทุกคนรู้ว่า นี่เป็นองค์ความรู้ใหม่ที่จะนำไปสู่การสร้างระเบิดปรมาณูได้ เพราะถ้ามีปฏิกิริยาลูกโซ่เกิดขึ้น โดยใช้ยูเรเนียม-235 ที่มีมวลเหมาะสม ซึ่งเรียกมวลวิกฤต (critical mass)

Fermi ได้รับมอบให้ทำงานวิจัยเรื่องนี้จาก Robert Oppenheimer เพราะเป็นคนพิเศษที่มีความสามารถสูงทั้งทางทฤษฎีและทางการทดลอง (พูดง่าย ๆ คือ เก่งรอบด้าน) จึงได้จัดตั้งหน่วยวิจัยที่มีชื่อว่า F. division (F มาจากชื่อ Fermi) และในที่สุด Fermi ก็ได้ออกแบบสร้างเตาปฏิกรณ์ปรมาณูเตาแรกของโลกที่สามารถเปลี่ยนพลังงานนิวเคลียร์ไปเป็นพลังงานความร้อนโดยกระบวนการ fission ได้ และเตาปฏิกรณ์เตาแรกของโลก ก็ได้เริ่มทำงานเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ปี 1942 วันนี้จึงเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เพราะเป็นวันที่แสดงว่าโลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคปรมาณูแล้วจากนั้นอีก 3 ปี สหรัฐอเมริกาก็มีระเบิดปรมาณูใช้

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ Fermi ได้กลับไปเป็นอาจารย์ต่อที่ Enrico Fermi Institute แห่งมหาวิทยาลัย Chicago และได้ฝึกฝนนักฟิสิกส์ จนได้รับรางวัลโนเบลหลายคน เช่น

Tsung-Dao Lee และ Chen Ning Yang ปี 1957 ซึ่งได้เสนอทฤษฎีที่แถลงว่า ในอันตรกิริยานิวเคลียร์อย่างอ่อน กฎการอนุรักษ์ parity (ซ้าย-ขวา) จะไม่เป็นจริง

Emilio Segrè กับ Owen Chamberlain ปี 1959 จากการพบอนุภาค antiproton
James Cronin ปี 1980 จากการได้พบเป็นคนแรกว่า ในธรรมชาติมีสสารมากกว่าปฏิสสาร ซึ่งเรียกเหตุการณ์นี้ว่า charge-parity violation
Jack Steinberger ปี 1988 จากการพบอนุภาค neutrino ชนิด muon (muon neutrino) ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของอนุภาค neutrino ทั้งหมดที่มีในธรรมชาติ (อีก 2 ชนิด คือ electron neutrino กับ tau neutrino)

เมื่ออายุ 53 ปี Fermi ได้ทราบว่า ตนกำลังป่วยเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารขั้นสุดท้าย และเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ปี 1954 สิริอายุได้ 53 ปี


แม้จะจากไปนานร่วม 70 ปีแล้วก็ตาม แต่นักฟิสิกส์ทุกคนก็ยังตระหนักในความยิ่งใหญ่และสำคัญของผลงานที่ Fermi ได้สร้างไว้ เช่น ได้รู้ว่า fermium เป็นชื่อของธาตุที่ 100 ซึ่งมีสัญลักษณ์เป็น Fm ความยาว fermi เป็นหน่วยวัดระยะทาง 10-15 เมตร กล้องโทรทรรศน์อวกาศ Fermi ที่ใช้รับรังสีแกมมาจากดาวฤกษ์ และกาแล็กซี อีกทั้งยังรู้จัก Fermi gas , Fermi energy , Fermi momentum , Fermi surface , Fermi coupling , Fermi transition , Fermi temperature รวมถึงรู้จักห้องปฏิบัติการ Fermi ที่เมือง Batavia ใกล้นคร Chicago และคนธรรมดาทั่วไปก็อาจจะรู้จัก Fermi problem กับ Fermi solution

ซึ่งเป็นโจทย์ที่มีเอกลักษณ์โดยเฉพาะว่า ใครก็ตามที่เห็นโจทย์ประเภทนี้เป็นครั้งแรกในชีวิต จะรู้สึกเสมือนว่าโจทย์มิได้ให้ข้อมูลประกอบการพิจารณาอย่างเพียงพอ ดังนั้นจึงไม่รู้ว่าจะหาคำตอบได้จากที่ใด แต่ถ้าเขาได้แตกแยกโจทย์ที่ได้มาออกเป็นโจทย์ย่อย ๆ หลายโจทย์แล้วใช้ความรู้ทั่วไปช่วย และใช้สัญชาตญาณ หรือตำรา ก็จะได้คำตอบอย่างหยาบ ๆ ซึ้งเป็นคำตอบที่อาจเป็นไปได้ และผลลัพธ์ที่ได้ก็อาจจะใกล้เคียงคำตอบจริงมาก และถ้าคำตอบหยาบ ๆ ใช้เวลานานเพียงไม่กี่วินาที คำตอบจริงก็อาจใช้เวลานานเป็นวัน หรือสัปดาห์ นี่เป็นโจทย์ที่คนในวงการฟิสิกส์เรียกว่า โจทย์ Fermi และเรียกการหาคำตอบว่า เป็นการตอบแบบ Fermi (หรือ Fermi problem กับ Fermi solution)

ดังนั้น วิธีการหาคำตอบแบบ Fermi ก็คือ การคำนวณอย่างหยาบ ๆ บนแผ่นกระดาษขนาดเล็ก (back of the envelope) แต่ได้คำตอบ “ที่ดีพอประมาณ” วิธีการหาคำตอบแบบ Fermi จึงนอกจากจะประหยัดทั้งเงินและเวลาแล้ว ยังทำให้เราซาบซึ้งในพลังของวิชาคณิตศาสตร์ด้วย เช่น ให้เวลา 11.5 วัน มีค่านานประมาณ 106 วินาที และเวลา 32 ปี นานประมาณ 109 วินาที ซึ่ง 106 และ 109 เป็นตัวเลขที่ใช้ในการคำนวณได้รวดเร็ว
ตัวอย่างโจทย์ Fermi และวิธีการหาคำตอบแบบ Fermi

1. จงหาจำนวนใบที่มีในต้นไม้ต้นหนึ่ง
วิธีคิด ให้ต้นไม้เป็นทรงกลม มีรัศมี = r
พื้นที่ผิวของทรงกลม = 4πr^2
ให้ใบไม้หนึ่งใบเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีด้านยาว = d
ดังนั้น พื้นที่ของใบไม้ = d2
จำนวนใบไม้ที่มีในต้นไม้หนึ่งต้นจึง = 4πr^2∕d^2
จากนั้นใช้ความรู้สามัญว่า ถ้าต้นไม้เป็นทรงกลมที่มีรัศมี 1.2 เมตร และใบไม้มีความยาวด้านละ 2 เซนติเมตร จำนวนใบไม้ก็จะมีมากตั้งแต่ 104-105 เมตร คือ ระดับหมื่นถึงแสนใบ
นี่เป็นคำตอบโดยประมาณ

2. จงคำนวณรายได้ของร้านซูปเปอร์มาร์เก็ต ใน 1 สัปดาห์
วิธีทำ คือ สมมติให้จุดจ่ายเงินในร้านนั้นมี n1 จุด และแต่ละจุดบริการลูกค้าได้ n2 คน/ชั่วโมง สมมติให้ลูกค้าแต่ละคนซื้อของมูลค่าโดยเฉลี่ย N บาท ถ้าร้านซูเปอร์มาร์เก็ตเปิด n3 ชั่วโมง/วัน และเปิดสัปดาห์ละ 7 วัน
เราก็จะได้ว่า รายได้ทั้งหมด R = 7n1n2n3N บาท
คราวนี้แทนค่า ถ้า n1 = 10 , n2 = 10 , n3 = 14 และ N = 500
ตัวเลขรายได้ของร้านนั้น = 5 ล้านบาท/สัปดาห์

3. จงหาว่าเซลล์ในร่างกายคนมีมากเพียงใด
สมมติให้คนมีรูปร่างเป็นทรงกระบอก ที่มีรัศมี r และสูง h
โดยที่ r = 15 เซนติเมตร และ h = 170 เซนติเมตร
ดังนั้นปริมาณของคน V = πr^2 h = 0.11 ลูกบาศก์เมตร
สมมติให้เซลล์ 1 เซลล์ มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 10 ไมครอน = 10-5 เมตร
ดังนั้น จำนวนเซลล์ในร่างกายคน = 10-1/(10-5)3
= 1014 เซลล์

4. จงคำนวณหาอัตราการเจริญวัยของเด็กตั้งแต่เกิด จนกระทั่งอายุ 18 ปี
ถ้า h0 กับ h18 คือ ความสูงของเด็กตั้งแต่เกิดกับความสูงเมื่ออายุ 18 ปี ตามลำดับ เราก็จะได้ว่า ความเร็วในการยืดตัว = (h18-h0)/18 เมตร/ปี
= (1.5-0.5)/18 = (1/18) เมตร/ปี
= 10-8 กิโลเมตร/ชั่วโมง
คือ เร็วพอ ๆ กับการเจริญเติบโตขนของคน

5. จะต้องใช้ทรายที่เมล็ดในการบรรจุภาชนะที่มีขนาดใหญ่เท่าโลก
ให้โลกมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว D = 104 กิโลเมตร
เม็ดทรายมีเส้นผ่านศูนย์กลาง d = 1 มิลลิเมตร
ดังนั้น จำนวนเม็ดทรายที่ต้องใช้จึงเท่ากับ = (D/d)3
= (104.103/10-3)3
= 1030 เม็ด

6. จงคำนวณโดยประมาณว่า ระยะทางระหว่าง 2 อารยธรรมต่างดาว ว่ามีค่าเท่าใด
สมมติกาแล็กซีที่เราอยู่เป็นรูปทรงกระบอกที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 105 ปีแสง (light-year, LY) และหนาประมาณ 104 ปีแสง
ดังนั้น จึงมีปริมาตร = π(105)2/104 ลูกบาศก์ปีแสง
และถ้ามีอารยธรรมต่างดาวในกาแล็กซี = 10 อารยธรรม
เราก็จะได้ระยะทางระหว่างอารยธรรมต่างดาว = (〖10〗^14∕10)^(1/3)
= 20,000 ปีแสง
เหล่านี้เป็นโจทย์ Fermi ที่ต้องอาศัยวิธีแก้แบบ Fermi อย่างง่าย ๆ


แต่ตำนานที่เกี่ยวข้องกับ Fermi ยังมีมากกว่านั้น ดังที่ได้มีการบันทึกความเป็นมาของการแก้ปัญหาแบบ Fermi ว่า เมื่อเวลาเช้าของวันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ.1945 ซึ่งเป็นเวลาที่กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ได้กำหนดให้มีการทดสอบการทำงานของระเบิดปรมาณูเป็นครั้งแรกในทะเลทราย ณ ตำแหน่งที่อยู่ห่างจากเมือง Alamogordo ในรัฐ New Mexico ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นระยะทาง 100 กิโลเมตร

หลังจากที่การระเบิดได้ผ่านไป 40 วินาที ผลปรากฎว่าคลื่นกระแทกได้เดินทางถึงคณะนักวิทยาศาสตร์ที่เฝ้ายืนสังเกตผลการประดิษฐ์ระเบิดอย่างแทบหยุดหายใจ และหนึ่งในบรรดาผู้เฝ้าดูเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้น คือ Enrico Fermi แต่ก่อนจะมีการจุดชนวนระเบิดเล็กน้อย Fermi ได้ฉีกกระดาษแผ่นหนึ่งเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยและถือเศษกระดาษเหล่านั้นในอุ้งมือ ดังนั้นเมื่อคลื่นกระแทกเดินทางถึงตัวเขา ลมแรงจากคลื่นได้พัดพาเศษกระดาษจากมือไปตก ณ ตำแหน่งที่อยู่ห่างจากตัว Fermi เป็นระยะทางประมาณ 2.3 เมตร

หลังจากที่ได้คำนวณพลังงานของระเบิด โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที Fermi ก็ได้ออกคำแถลงการณ์ว่า ระเบิดปรมาณูมีความรุนแรงเทียบเท่าดินระเบิดที่หนัก 10,000 ตัน อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่อยู่ ณ สถานที่ใกล้เคียงได้บันทึกความเร็วของลมและความดันอากาศในเวลานั้น การคำนวณที่ใช้เวลานานหลายสัปดาห์ได้ยืนยันความถูกต้องของผลคำนวณที่ Fermi ได้ใกล้เคียงกัน
นี่คือโจทย์ Fermi ที่ได้เป็นตำนานเล่าขานกันมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะโจทย์แบบนี้มีเอกลักษณ์ว่า ผู้ถูกถาม มักไม่มีแนวคิดแม้แต่น้อยว่าตนจะหาคำตอบได้อย่างไร เพราะรู้สึกว่าโจทย์ได้ให้ข้อมูลมาไม่เพียงพอ หรือไม่ได้ให้มาเลย แต่ถ้าแบ่งแยกโจทย์ใหญ่ออกเป็นโจทย์ย่อย แล้วใช้สามัญสำนึก หรือข้อมูลที่มีอยู่แล้วในตำราต่าง ๆ ก็สามารถหาคำตอบที่ใกล้เคียงคำตอบจริงได้เสมอ เช่น มีคนถามให้คำนวณรัศมีของโลก โดยไม่ให้ดูจาก google หรือตำราใด ๆ แต่ถ้าคนตอบรู้ว่า เวลาที่ New York (NY)กับที่ Los Angeles (LA) นั้น แตกต่างกัน 3 ชั่วโมง และระยะทางระหว่างเมืองทั้งสองเท่ากับ 5,000 กิโลเมตร เขาก็จะรู้รัศมีของโลกได้

เพราะเวลา 3 ชั่วโมง = 1/8 ของ 1 วัน และเวลา 1 วัน เป็นเวลาที่โลกหมุนรอบตัวเองได้ 1 รอบ ดังนั้นเส้นรอบวงจึงต้องมีค่าเป็น 8 เท่าของระยะทางระหว่าง LA กับ NY คือ 40,000 กิโลเมตร ซึ่งเท่ากับ 2πr เมื่อ r คือรัศมีของโลก ดังนั้น r = 40,000 / 2π = 6,368 กิโลเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับค่าจริง 6,371 กิโลเมตร มาก เพราะผิดพลาดไม่เกิน 0.05%

แม้วิธีนี้จะใช้งานได้ดี แต่นักฟิสิกส์ก็มิได้ใช้ชีวิตทำงาน ด้วยการวัดระยะทางระหว่างตำแหน่งต่าง ๆ บนโลก แต่มักจะสนใจเรื่องอะตอมและโมเลกุลมากกว่า ดังนั้นการตอบโจทย์ฟิสิกส์ จึงต้องมีข้อมูลพื้นฐานของค่าความเร็วแสง ขนาดของอะตอม ค่าคงตัวของ Planck และของ Boltzmann รวมถึงจำนวน Avogadro ด้วย ก็อาจจะเพียงพอให้ตอบคำถามได้ว่าเราจำเป็นต้องใช้เซลล์แสงอาทิตย์กี่มากน้อย จึงจะได้พลังงานไฟฟ้าที่ต้องการ หรือเราจะต้องโฟกัสแสงเลเซอร์ไปที่จรวดนำวิถีนานเพียงไร ระเบิดที่ติดมากับจรวดจึงจะระเบิด การพิจารณากำลังของแสงเลเซอร์ 1 ล้าน วัตต์ อุณหภูมิการระเบิด รูปแบบการเลี้ยวเบนของแสงที่เกิดขึ้น ระยะทางและเส้นผ่านศูนย์กลางของจานที่ใช้โฟกัสแสงเลเซอร์ก็จะให้ข้อมูลว่า เวลาที่ต้องใช้ คือ นานประมาณ 10 นาที ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะจรวดมีความเร็วสูงมาก นอกจากนี้พลังงานแสงที่ถูกดูดกลืนโดยจรวดก็อาจจะไม่สูงมาก เพราะศัตรูก็ต้องพยายามสร้างจรวดไม่ให้สะท้อนคลื่นใด ๆ ที่มาตกกระทบมัน ด้วยเหตุนี้ตัวเลข 10 นาที จึงเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก โครงการ Star Wars ของประธานาธิบดี Ronald Reagan จึงเป็นไปไม่ได้

ความพยายามที่จะตอบคำถาม Fermi จึงเป็นเรื่องที่มิใช่ใคร ๆ ก็สามารถทำได้ แม้แต่นักฟิสิกส์เอง เพราะคนแก้ปัญหาต้องมีข้อมูลพื้นฐานหลายด้านที่คนธรรมดาทั่วไปไม่สามารถจะร่วงรู้ได้ และคนที่ชอบแก้ปัญหาแบบนี้ ก็ต้องรู้ว่าตนต้องมีความคิดสร้างสรรค์และมีประสบการณ์ แต่ถ้าทำได้ ก็จะทำให้รู้สึกมีความมั่นใจในตัวเองมากว่า สามารถที่รู้ค่าของสิ่งที่ถูกถามได้อย่างหยาบ ๆ โดยไม่ต้องหาคำตอบที่แม่นตรง ซึ่งต้องโดยใช้เวลาที่นานมากเลย

อ่านเพิ่มเติมจาก : The Fermi Solution โดย Hans Christian Von Baeyer จัดพิมพ์โดย Random House , New York ปี 1993


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น