xs
xsm
sm
md
lg

อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ม.อุบลฯ โชว์ “โรงงานต้นแบบแห่งแรกของภาคอีสาน” แปรรูปผลิตผลทางการเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์ ชู 2 ผลงานเด่น “ไส้กรอกรมควันสูตรพิเศษ” - “ผลิตภัณฑ์ปลาส้มทรงเครื่อง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โชว์ “โรงงานต้นแบบแห่งแรกของภาคอีสาน” ที่สามารถให้บริการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์ด้านอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง ได้อย่างครบวงจรภายใต้มาตรฐาน GMP และ HACCP ชู 2 ผลงานเด่น “ไส้กรอกรมควันสูตรพิเศษ” กับ “ผลิตภัณฑ์ปลาส้มทรงเครื่อง” พัฒนาอาหารท้องถิ่นอีสานสู่อาหารพร้อมทาน

เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2565 น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผอ.กลุ่มอุทยานวิทยาศาสตร์ภายใต้กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(กปว.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ลงพื้นที่เยี่ยมโรงงานต้นแบบอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พร้อมชมผลงานการยกระดับการวิจัยและพัฒนาของผู้ประกอบการ ด้วยเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐาน วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (RD Facility Boost Up Platform) ผลงานไส้กรอกรมควันสูตรพิเศษของคุณวิธาร พิมพาและผลิตภัณฑ์ปลาส้มทรงเครื่องของคุณวิลาสินี จันทรุกขา โดยทั้งสองโครงการดังกล่าวได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยบางส่วนผ่านโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจท้องถิ่นในภูมิภาคด้วยองค์ความรู้ภูมิปัญญาและนวัตกรรม ภายใต้แผนงานอุทยานวิทยาศาสตร์ จากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งกำกับดูแลโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.)

น.ส.ทิพวัลย์ เปิดเผยว่า โรงงานต้นแบบอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ถูกสร้างขี้นเพื่อใช้แปรรูปผลิตผลทางการเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์ด้านอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง ประกอบด้วย 3 โรงงานได้แก่ 1. โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ประเภทเนื้อสัตว์ เปิดให้บริการเมื่อต้นปี 2564 2. โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ประเภทผักและผลไม้ พร้อมเปิดให้ บริการประมาณเดือน พ.ค.2565 และ 3. โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ประเภท สมุนไพรและเครื่องสำอาง อยู่ระหว่างการขอรับงบประมาณ โดยโรงงานทั้งสามได้รับการออกแบบและจัดวางเครื่องจักรให้สามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์ได้อย่างหลากหลายภายใต้มาตรฐาน GMP และ HACCP สามารถให้บริการวิจัย พัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ และการผลิตระดับกึ่งอุตสาหกรรม ตลอดจนให้บริการฝึกอบรมแก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และเอสเอ็มอีทั่วไปได้อย่างกว้างขวาง มีทั้งส่วนโรงงานผลิต ส่วนห้องแล็บ ส่วนวิจัยพัฒนา และส่วนห้องเย็นเก็บผลิตภัณฑ์ มีเครื่องจักรครบถ้วนกว่า 250 รายการ สามารถให้บริการ ผลิตผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายเช่นหมูยอ ไส้กรอก กุนเชียง ผลิตภัณฑ์รมควัน ผลิตภัณฑ์แดดเดียว ผลิตภัณฑ์ประเภทปิ้ง ย่าง ทอด นึ่ง เป็นต้น ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการมาใช้งานพื้นที่แล้วกว่า 200 ราย

ด้าน รศ.ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ ผอ.โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้ข้อมูลว่าโรงงานต้นแบบของมหาวิทยาลัย เป็นเสมือนโรงงานกลางที่เกษตรกร สตาร์ตอัพ และเอสเอ็มอี สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกัน และเป็นสถานที่สร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตผลทางการเกษตร ผ่านการแปรรูปที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานรวมถึงสามารถต่อยอดจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยได้ด้วย ซึ่งจะเป็นการผลักดันให้พื้นที่ภาคอีสานตอนล่างเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศได้ต่อไป เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของ ผศ.ดร.ชุตินันท์ประสิทธ์ภูริปรีชา อธิการบดีที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีพัฒนาคุณภาพชีวิตและนวัตกรรมเพื่อยกระดับเศรษฐกิจของพื้นที่ และที่สำคัญ นี่คือโรงงานต้นแบบแห่งแรกของภาคอีสานที่สามารถให้บริการได้อย่างครบวงจร

“ผลงานเด่นจากโครงการยกระดับการวิจัยและพัฒนาของผู้ประกอบการด้วยเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐาน วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (RD Facility Boost Up Platform) ที่น่าสนใจ เช่น ผลิตภัณฑ์ปลาส้มทรงเครื่องของคุณวิลาสินี จันทรุกขา ซึ่งมีแนวคิดในการนําปลาส้ม อันเป็นอาหารท้องถิ่นอีสานมาพัฒนาเป็นอาหารพร้อมทาน เช่น ปลาส้มทรงเครื่องสมุนไพร น้ำพริกปลาส้มฟู เป็นต้น โดยผู้ประกอบการใช้กลไกการสนับสนุนจากโครงการในการวิจัยและพัฒนาสูตร ตลอดจนพัฒนากระบวนการผลิตที่โรงงานต้นแบบจนแน่ใจว่าสามารถผลิตได้จริง จึงนําไปทดสอบตลาดและพบว่ามีการตอบสนองที่ดี สามารถจําหน่ายได้อย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันผู้ประกอบการได้นำสูตร และกระบวนการผลิตที่ได้จากโครงการไปผลิตเองเพื่อจําหน่ายที่หน้าร้านอย่างต่อเนื่อง สามารถสร้างรายได้ เพิ่มให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการได้อย่างชัดเจน” ดร.ชวลิต กล่าวและว่าอีกผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจคือ ไส้กรอกรมควันสูตรพิเศษของคุณวิธาร พิมพา ที่ผลิตไส้กรอกสูตรพิเศษ และใช้เทคนิคการรมควันเพื่อสร้างความแตกต่างให้แก่ผลิตภัณฑ์ โดยผลิตภัณฑ์เป็นที่ต้องการของตลาดและปัจจุบันยังมีการผลิตที่โรงงานต้นแบบเพื่อวางจําหน่ายที่หน้าร้าน ซึ่งได้ขยายให้มีถึง 2 สาขาแล้ว ดังนั้นจะเห็นว่าโรงงงานต้นแบบฯ ช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เป็นสินค้าที่เป็นไปตามความต้องการของตลาดได้ ตลอดจนสามารถผลิตสินค้าได้จริงและมีมาตรฐาน สร้างรายได้เพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกอบการได้จริงอีกด้วย














กำลังโหลดความคิดเห็น