สตรีสำคัญอีกคนหนึ่งที่ได้มีบทบาทในการเปลี่ยนสังคมสุขภาพของโลกมาก คือ Florence Nightingaleซึ่งได้รับฉายาว่า Lady of the Lamp ในสมัยที่เกิดสงคราม Crimea (ปี 1853-1856) แม้จะเสียชีวิตไปนานกว่า 112 ปีแล้วก็ตาม อีกทั้งชื่อเสียงก็ได้เปลี่ยนจากการได้รับฉายาว่าเป็นเทพธิดาผู้ไร้มลทินใด ๆ มาเป็นคุณระเบียบจัด จนหลายคนในวงการพยาบาลปัจจุบันคิดว่ารูปแบบการฝึกพยาบาลที่เธอได้กำหนดขึ้นนั้น มันล้าสมัยไปหมดแล้ว ดังนั้นเธอจึงไม่สมควรจะได้รับการยกย่องมากอีกต่อไป ถึงกระนั้นก็ตาม คนทั้งโลกก็ยังยอมรับในความมุ่งมั่นของเธอที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้นว่า เธอ คือ สตรีผู้บุกเบิกอาชีพพยาบาล และเป็นผู้ที่มีความสามารถหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถิติศาสตร์ (เธอเป็นคนให้กำเนิดแผนภูมิขนมพาย (pie chart) ที่ใช้แสดงสถิติคนป่วย และคนที่เสียชีวิตในโรงพยาบาล) จนได้พบว่า ความสะอาดของสถานพยาบาลและบุคลากร คือ พื้นฐานสำคัญที่ทำให้คนไข้มีสุขภาพดีและหายป่วยในเร็ววัน นอกจากนี้เธอก็ยังเป็นนักปฏิรูประบบสุขภาพของกองทัพอังกฤษด้วย โดยได้สนับสนุนการออกกฎหมาย เพื่อป้องกันและต่อสู้โรคระบาด รวมทั้งการปฏิรูปกฎหมายที่ดินในประเทศอินเดียด้วย
เมื่อเธอได้อ่านอัตชีวประวัติของเธอ ที่มักเขียนในทำนองว่าเธอเป็นนักบุญ ซึ่งเป็นการยกย่องที่ไม่สบอารมณ์ของเธอทีเดียวนัก ตามปกติเธอเป็นคนที่มีจิตใจเข้มแข็ง เชื่อมั่นในตนเอง ไม่ยินยอมใคร ถ้ารู้ว่าตนคิดถูก เป็นคนทำงานอย่างจริงจัง และมักมีความคิดที่ล้ำยุค ดังนั้นความพยายามของเธอที่จะปฏิรูปวิทยาการพยาบาลในประเทศอังกฤษ จึงได้รับการต่อต้านจากบรรดาคนที่มีอำนาจในสมัยนั้น (ซึ่งเป็นผู้ชาย) จนทำให้เธอเข้าใจความไม่เท่าเทียมทางเพศระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายว่า ในเวลานั้นสังคมอังกฤษไม่เคยยอมรับความสามารถระดับพิเศษของผู้หญิงเลย และมักนิยมให้ผู้หญิงนั่งนิ่ง ๆ ไม่ให้พูดจาหรือออกความเห็นใด ๆ แต่ชอบให้แต่งตัวสวย ๆ ไปวัน ๆ Nightingale ได้ออกมาต่อต้านและต่อสู้กับความคิดทำนองนี้มาก โดยไม่คำนึงว่าคนที่เธอต่อต้านนั้น จะเป็นพ่อหรือแม่ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่หลักสูตรการฝึกและทำงานของพยาบาลที่โรงพยาบาล Scutari ได้ถูกลดความเข้มงวดลง เมื่อ Nightingale ต้องเดินทางกลับประเทศอังกฤษ เพื่อเข้ารับหน้าที่ผู้บริหารโรงพยาบาล ที่ London บทบาทใหม่ทำให้เธอต้องลดภาระเฝ้าดูคนไข้อย่างใกล้ชิด ในเวลาต่อมาเมื่อได้เห็นความไร้สมรรถภาพของผู้บริหารชาย เธอก็ยิ่งรู้สึกเบื่อและคับแค้นใจมาก ในที่สุดก็ได้ล้มป่วยเป็นโรค brucellosis ที่แพทย์สันนิษฐานว่า คงติดมาจากสัตว์ และโรคนี้ได้ทำให้เธอต้องนั่งรถเข็น และนอนติดเตียงไปจนตลอดชีวิต
กระนั้นเธอก็ไม่ยอมแพ้ ที่จะยืนหยัดและต่อสู้เพื่อปฏิรูปสังคมสุขภาพของประเทศอังกฤษและของโลก แม้โลกจะได้จารึกว่า เธอคือผู้ให้กำเนิดวิทยาการพยาบาล แต่เธอก็ยังไม่พอใจในวิธีการฝึกพยาบาลตามที่เธอคิดนัก ในบั้นปลายของชีวิต เธอได้เน้นให้ทุกคนตระหนักในความสำคัญของการรักษาความสะอาด การมีที่อยู่อาศัยที่ถูกสุขลักษณะ การบริโภคอาหารและน้ำที่สะอาด เพื่อต่อสู้และป้องกันโรคระบาดต่างๆ
ในขณะที่ Marie Curie ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในห้องปฏิบัติการเคมี Katherine Johnson ชอบใช้เวลาอยู่กับคอมพิวเตอร์ Florence Nightingale สนใจคนป่วย Jane Goodall กลับใช้ชีวิตที่นานประมาณ 50 ปีอยู่กับลิงชิมแปนซีในป่าของประเทศ Tanzania ซึ่งการศึกษาวิถีชีวิตของลิงชิมแปนซีของเธอ ได้ทำให้มนุษย์เราเข้าใจธรรมชาติของลิงชิมแปนซี ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีพฤติกรรมและจิตสำนึกใกล้เคียงมนุษย์มากที่สุด
Jane Goodall เล่าว่า เมื่อเธอเดินทางถึงป่าสงวน Gombe Stream Game Reserve ในประเทศ Tanzania เป็นครั้งแรก ในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1960 นั้น เธอตั้งใจจะศึกษาพฤติกรรมของลิงชิมแปนซี และได้พบว่าลิงที่ไม่มีหาง (ape) ชนิดนี้ มีพฤติกรรมหลายอย่างเหมือนมนุษย์ เช่น ในบางเวลาจะเดินสองขา รู้จักสร้างอุปกรณ์ช่วยในการหาอาหาร มีภาษาของมันเอง มีสติปัญญาสูงพอประมาณ (เช่น ถ้ามีคนแขวนกล้วยไว้ในที่สูง จนมันมิสามารถเอื้อมมือไปหยิบกินได้ และในบริเวณนั้นมีกล่องหลายใบ มันจะนำกล่องมาวางเรียงซ้อนกัน จนถึงระดับที่สูงพอให้มันสามารถขึ้นไปยืนหยิบกล้วยกินได้) ไม่ชอบเล่นน้ำ ลิงตัวผู้มีฮาเร็ม เป็นสัตว์ที่ชอบย้ายถิ่นอาศัย ชอบสร้างรังบนต้นไม้สูงเพื่อจะได้ปลอดภัยจากเสือ ชอบนอนพักผ่อนวันละ 12 ชั่วโมง เป็นสัตว์ที่รักสันติ ไม่ชอบต่อสู้กับสัตว์อื่น โปรดปรานการกินผลไม้สุก นอกจากนี้สังคมชิมแปนซีไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะใด ๆ และเวลาญาติของมันตาย มันจะแสดงอารมณ์โศกเศร้าเหมือนคน
Jane Goodall เป็นสตรีชาวอังกฤษ ณ วันนี้ เธอมีอายุ 89 ปีแล้ว ในวัยเด็กเคยใฝ่ฝันจะเป็นคนที่สามารถสนทนากับสัตว์ทุกชนิดได้เหมือนแพทย์ชื่อ Dr. Doolittle ในนวนิยายของ William Price เมื่อครอบครัวไม่มีเงินจะส่งเสียเธอไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย Jane จึงเลือกเรียนวิชาเลขานุการ เมื่ออายุ 21 ปี เธอได้พบกับนักมานุษยวิทยาดึกดำบรรพ์ผู้มีชื่อเสียงมาก ชื่อ Louis Leakey ซึ่งได้แนะนำให้เธอศึกษาธรรมชาติของลิงชิมแปนซี เพราะโลกยังไม่มีนักชีววิทยาคนใดเคยศึกษาลิงชนิดนี้อย่างจริงจังเลย
ป่าอย่างไร และมีพฤติกรรมในสังคมลิงรูปแบบใด ครั้นเมื่อเธอได้เห็นว่า มันรู้จักสร้างอุปกรณ์เพื่อใช้หาอาหาร เช่น ใช้กิ่งไม้ขนาดเล็กแหย่รังมด เพื่อให้ฝูงมดหนีออกมาให้มันจับกิน การสังเกตเห็นนี้ทำให้ Jane ตกตะลึงมาก เพราะในเวลานั้นคนทั้งโลกคิดว่า มนุษย์เป็นสัตว์ชนิดเดียวเท่านั้นที่รู้จักใช้อุปกรณ์ การติดตามดูพฤติกรรมของมันอย่างใกล้ชิด ทำให้เธอรู้ว่ามันรู้จักแบ่งอาหารที่หามาได้กับเพื่อนลิงของมัน แต่สิ่งที่ทำให้เธอตกตะลึงยิ่งกว่านั้น คือ การที่ลิงชิมแปนซีมีพฤติกรรมด้านมืดที่น่ากลัว เช่น ในบางเวลามันจะทำสงครามและเข่นฆ่ากัน เวลาเห็นลิงที่เป็นศัตรูเดินล่วงล้ำเข้ามาในอาณาเขตที่มันอาศัย นอกจากนี้เธอก็ยังได้เห็นลิงตัวเมียบางตัวฆ่าลูกลิงที่เกิดใหม่ของลิงตัวเมียอื่น เพื่อกำจัดการได้ขึ้นเป็นหัวหน้าฝูงของลูกลิงตัวนั้น และให้ลูกของตัวมันเองได้เป็นหัวหน้าแทน
สำหรับปริศนาความแตกต่างระหว่างจิตใจของมนุษย์กับลิงนั้น Jane ได้พบว่า ลิงเรียนภาษามือได้ และคำนวณโจทย์คณิตศาสตร์ง่าย ๆ ก็ได้ (แต่คงไม่มีวันเก่งเหมือน Albert Einstein) ส่วนประเด็นการดำรงชีพของลิงในป่า Jane มีความเห็นว่า การตัดไม้ทำลายป่าโดยมนุษย์ในบริเวณลุ่มแม่น้ำ Congo กำลังสร้างปัญหาสำคัญให้ลิง เพราะการสูญเสียสถานอาศัยไปมาก จะทำให้ลิงสูญพันธุ์เร็ว นอกจากนี้ลิงชิมแปนซีก็ยังมีปัญหาเรื่องการถูกชาวป่าล่าเนื้อไปกินเป็นอาหาร และอาจล้มตายด้วยโรคระบาดนานาชนิดเหมือนคนด้วย
ณ วันนี้ที่ประเทศ Tanzania มีสถาบันวิจัยชื่อ Jane Goodall Institute ซึ่งมีโครงการ TACARE (“Take Care”) ที่มีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ ช่วยยกฐานะและความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่ยากจนให้ดีขึ้น โดยมอบให้คนที่อาศัยอยู่ในป่าช่วยดูแลป่าและสัตว์ป่า ไม่ให้บุคคลภายนอกลอบเข้ามาตัดไม้ไปมากจนเกินความจำเป็น หรือฆ่าสัตว์อย่างขนานใหญ่ เพราะป่าสงวน Gombe มีขนาดเล็ก ดังนั้นจึงต้องได้รับการปกปักษ์รักษามิให้เสียหายมาก สถาบัน Jane Goodall Institute ยังมีโครงการ Reducing Emissions from Deforestation and Forest Degradation (REDD) ด้วย ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งจะปกป้องและอนุรักษ์ป่าอย่างยั่งยืน โดยได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลนอร์เวย์ กับบริษัท Google Earth เพื่อให้ชาวป่าได้ใช้ Android smartphone กับเทคโนโลยีอื่น ๆ ในการเก็บข้อมูลคาร์บอนของป่า และติดตามดูสภาพของป่าในเวลาจริงด้วย
ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผลงานของ Jane Goodall ได้ทำให้โลกเห็นความละม้ายคล้ายคลึงทางจิตใจและความคิดระหว่างมนุษย์กับลิงชิมแปนซีมาก งานวิจัยของเธอยังได้ช่วยเปิดทางให้มนุษย์ยอมรับว่า สัตว์ชนิดอื่น เป็นสิ่งมีชีวิตที่ได้เกิดมาร่วมโลกใบเดียวกับมนุษย์ด้วย ดังนั้นมนุษย์จึงต้องพยายามอนุรักษ์สัตว์และป่าให้เป็นไปอย่างดีและยั่งยืน เพื่ออนาคตของอนุชนในภายภาคหน้า
นับตั้งแต่ยุคของ Galileo (1564-1642) เมื่อ 400 ปีก่อน ที่นักดาราศาสตร์ได้เริ่มใช้กล้องโทรทรรศน์สำรวจเอกภพที่มีดาวเคราะห์และดาวฤกษ์จำนวนมาก ซึ่งดาวเหล่านี้เป็นดาวที่ตาสามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่โลกปัจจุบันมีนักดาราศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งที่กำลังพยายามค้นหาดาวและสสารที่ตามองไม่เห็น และสตรีซึ่งเป็นผู้บุกเบิกการค้นหาเรื่องนี้ คือ Vera Rubin
Vera Cooper Rubin เกิดเมื่อค.ศ. 1928 ที่เมือง Philadelphia ในประเทศสหรัฐอเมริกา บิดามีอาชีพเป็นวิศวกรไฟฟา มารดาทำงานที่บริษัท Bell Telephone Company เมื่ออายุ 10 ปี ครอบครัวได้อพยพไปทำงานที่กรุง Washington, D.C.
Vera รู้สึกสนใจและรักดาราศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก เมื่อบิดาเห็นว่าเธอชอบใช้เวลาดูดาวในท้องฟ้ามาก เขาจึงสร้างกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กให้เธอใช้ดูดาวที่บ้าน เพื่อให้เห็นชัดขึ้น และมักนำเธอไปร่วมฟังการบรรยายของนักดาราศาสตร์เนือง ๆ โดยนั่งเป็นเพื่อนเธอตลอดเวลาที่ฟังคำบรรยายนั้น เพราะเธอเป็นเพียงเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง จึงไม่สมควรจะอยู่ท่ามกลางผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ชายทั้งหมด
Vera บอกว่า การที่เธอเลือกอาชีพเป็นนักดาราศาสตร์เพราะได้รับแรงสนับสนุนจากทุกคนในครอบครัว แต่ไม่ได้รับแรงกระตุ้นจากครูที่สอนเธอเท่าที่ควร เพราะครูวิทยาศาสตร์มักสนใจเด็กผู้ชายมากกว่า ด้านครูแนะแนวก็มักบอกเธอว่าชีวิตของเธอจะก้าวหน้าอย่างแน่นอน ถ้าไม่คิดจะเป็นนักดาราศาสตร์
เมื่ออายุ 16 ปี เธอรู้สึกชอบอ่านตำราดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์มาก และมักพักผ่อนคลายอารมณ์ด้วยการทำงานศิลปะและปั่นจักรยาน เธอมีเพื่อนชายไม่กี่คน เพราะชอบผู้ชายที่ฉลาดและเข้าใจเธอ เธอมีความรู้สึกตลอดเวลาว่าเธอมีนิสัยแตกต่างจากเด็กผู้หญิงทั่วไป ตรงที่เธอสนใจดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ “ผิดปกติ” สำหรับเด็กผู้หญิงในสมัยนั้น
ถึงปี 1965 Rubin วัย 37 ปี ก็ได้เป็นสตรีคนแรกที่ได้รับอนุญาตให้ใช้กล้องดูดาวขนาด 200 นิ้ว (ซึ่งใหญ่ที่สุดในโลกในเวลานั้น) ที่ภูเขา Palomar ในรัฐ California โดยเธอได้เสนอโครงการวิจัยจะวัดความเร็วของบรรดาดาวฤกษ์ซึ่งอยู่ ณ ตำแหน่งต่าง ๆ ในกาแล็กซี Andromeda M31 อันเป็นกาแล็กซีที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด (2.2 ล้านปีแสง) และสว่างสุกใสที่สุดด้วย
เกียรติประวัติในการได้เป็นสตรีคนแรก ซึ่งทำงานที่หอดูดาว Palomar ในเวลานั้น นับเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาสำหรับคนทั่วไป เพราะหอดูดาวมีแต่ผู้ชาย จึงทำให้สถานที่ทำงานของเธอเป็นเสมือน “วัด” แม้แต่ห้องน้ำก็มีป้ายปักที่หน้าห้องว่า “MEN” จน Vera Rubin ต้องขอห้องขนาดเล็กจากผู้อำนวยการหอดูดาวมาเป็นห้องน้ำสำหรับเธอ แต่ก็ไม่ได้เขียนป้ายว่า “WOMEN” ขณะทำงานที่นั่น เธอเป็นคนกำหนดทิศทางการวางตัวของกล้อง ระยะเวลาที่ถ่ายภาพ โดยเธอต้องระบุด้วยว่าต้องการใช้อุปกรณ์ใดอีกบ้างในการบันทึกภาพต่าง ๆ อย่างละเอียด
ตามปกติในการวิจัยดาราศาสตร์ทั่วไป ที่มีดาวความเร็วต่ำ ทฤษฎีที่นักดาราศาสตร์ต้องนำมาใช้ในการอธิบายการเคลื่อนที่ คือ ทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของ Newton ซึ่งแถลงว่า สสารทุกชนิดดึงดูดกันด้วยแรงโน้มถ่วง โดยแรงระหว่างมวลสองก้อนจะแปรผกผันกับระยะทางระหว่างมวลทั้งสองนั้นยกกำลังสอง และแปรตรงกับผลคูณระหว่างมวลทั้งสอง การใช้สูตรนี้กับระบบที่มีดวงอาทิตย์กับดาวเคราะห์ทำให้ได้สูตร GM = (V^2)r เมื่อ G คือ ค่าคงตัวโน้มถ่วงสากล M คือ มวลของดวงอาทิตย์ V คือความเร็วของดาวเคราะห์ และ r คือ ระยะทางจากดวงอาทิตย์ถึงดาวเคราะห์
เพราะ M ในกรณีของดวงอาทิตย์มีค่าคงตัว คือ “ไม่เปลี่ยนแปลง” และ G เป็น ค่าคงตัวโน้มถ่วงสากล จากสูตรเราจะเห็นได้ว่าเมื่อ r เพิ่ม V จะลด และถ้า r ลด V ก็จะเพิ่ม ทฤษฎีนี้จึงสามารถอธิบายได้ว่า เหตุใดดาวพุธที่โคจรอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ (ระยะ r น้อย) จึงมีความเร็วมาก ในขณะที่ดาวเคราะห์แคระพลูโต ซึ่งอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์มาก (ระยะ r มาก) จึงมีความเร็วน้อย
เมื่อเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา Vera ต้องการจะไปเรียนที่ Swarthmore College ซึ่งอยู่ในรัฐ Pennsylvania แต่อาจารย์ที่สอบสัมภาษณ์เธอคิดว่า เธอน่าจะเรียนวิชาวาดภาพดาวมากกว่า เมื่อถูกดูแคลน เธอจึงย้ายไปสมัครเรียนต่อที่ Vassar College ที่เมือง Poughkeepsie ในรัฐ New York แทน เพราะที่นั่นเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวในสหรัฐฯ ที่อนุญาตให้ผู้หญิงเรียนดาราศาสตร์ในระดับปริญญาตรีได้ นอกจากเหตุผลนี้แล้ว เธอยังรู้อีกว่า Vassar college เป็นวิทยาลัยที่เคยมีนักดาราศาสตร์สตรีที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งชื่อ Maria Mitchell เป็นอาจารย์สอน (ในปี 1847 Mitchell วัย 29 ปี ได้พบดาวหาง Mitchell โดยการใช้กล้องโทรทรรศน์ที่บิดาของเธอสร้างให้ และผลงานนี้ทำให้เธอได้รับเลือกเป็นสมาชิกของสมาคม American Academy of Arts and Sciences)
แต่ครอบครัว Cooper มีฐานะไม่สู้ดีนัก ดังนั้น Vera จึงต้องหาทุนเรียนที่ Vassar College และพบว่าเธอเป็นนิสิตที่ลงทะเบียนเรียนเพียงคนเดียว ดังนั้นการเรียนการสอนจึงเป็นไปในลักษณะตัวต่อตัวกับอาจารย์ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะเธอได้รับความสนใจจากอาจารย์อย่างเต็มที่
ในปี 1948 Vera สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และได้เข้าพิธีสมรสกับ Robert Rubin ซึ่งเป็นนักเคมีเชิงฟิสิกส์ ที่กำลังเรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัย Cornell ด้วยเหตุนี้ Vera Rubin จึงต้องติดตามสามีไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย Cornell ซึ่งที่นั่นมีนักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น Philip Morrison, Richard Feynman (รางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี 1965) และ Hans Bethe (รางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี 1967) เป็นคนสอน เธอสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทในปี 1951 ด้วยวิทยานิพนธ์เรื่อง ลักษณะการเคลื่อนที่ของกลุ่มกาแล็กซีที่มีสมาชิก ซึ่งประกอบด้วย 109 กาแล็กซี เมื่อเธอนำผลงานนี้ไปเสนอในที่ประชุมครั้งที่ 84 ของสมาคม American Astronomical Society (AAS) ก็พบว่า ไม่มีใครให้ความสนใจ เธอคิดว่าคงเป็นเพราะข้อมูลของเธอยังไม่สมบูรณ์ จึงรู้สึกท้อแท้ แต่สามียังให้กำลังใจสู้ต่อ โดยบอกเธอว่าการเรียนจบระดับปริญญาโททางดาราศาสตร์มิได้หมายความว่า เธอได้เป็นนักดาราศาสตร์แล้ว เธอจึงมุ่งมั่นจะเรียนต่อระดับปริญญาเอก
จากนั้น Rubin ได้ย้ายไปอยู่ที่ Washington, D.C. ตามสามี และเข้าเรียนดาราศาสตร์ต่อที่มหาวิทยาลัย Georgetown ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่พัก และได้พบ George Gamow ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ผู้มีบทบาทมาก ในการพัฒนาทฤษฎี Big Bang และ Gamow ได้แนะนำให้เธอศึกษากาแล็กซีต่าง ๆ ว่ามีรูปทรงเช่นไร เพราะในเวลานั้นเธอมีลูก 2 คน จึงต้องขอร้องให้บิดามารดามาช่วยดูแลลูกยามที่เธอต้องไปเรียน และได้ขอร้องให้สามีขับรถไปส่งเธอที่มหาวิทยาลัย เพื่อจะได้เข้าฟังการบรรยายทันเวลา จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก เมื่อมีอายุ 26 ปี และเริ่มอาชีพอาจารย์ที่ Montgomery County Community College โดยขอรับเงินเดือนเพียง 2 ใน 3 เพราะเธอต้องใช้เวลา 1 ใน 3 ในการขับรถไปรับลูก ๆ ที่โรงเรียน อีก 2 ปีต่อมาก็ได้งานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย Georgetown
ในปี 1963 เธอได้ทุนวิจัยไปฝึกงานกับสองสามีภรรยาชื่อ Margaret Burbridge และ Geoffrey Burbridge แห่งมหาวิทยาลัย California ที่ San Diego เป็นเวลา 1 ปี และตั้งใจจะใช้กล้องโทรทรรศน์ ความยาว 82 นิ้ว ที่หอดูดาว McDonald Observatory ในรัฐ Texas เพื่อวัดความเร็วในการหมุนรอบตัวเองของกาแล็กซีเป็นครั้งแรก
หลังจากนั้นก็ได้ไปสมัครงานที่ Carnegie Institute of Washington ในตำแหน่งอาจารย์ที่ภาควิชา Terrestrial Magnetism ขณะถูกสัมภาษณ์ แทนที่หัวหน้าภาควิชาจะถามด้วยคำถามวิชาการ เขากลับยื่นแผ่นฟิล์มแสดงภาพสเปกตรัมของแสงจากดาวฤกษ์ แล้วขอให้เธอวัดความเร็วในการเคลื่อนที่ของดาวดวงนั้น ซึ่งเธอก็ทำได้ จึงได้เข้าทำงานกับ W. Kent Ford ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ที่เชี่ยวชาญในการออกแบบอุปกรณ์ Image Tube Spectrograph ที่สามารถถ่ายภาพดาวได้ดี และเร็วกว่าอุปกรณ์ spectrograph ธรรมดา ความสามารถของ Ford ในการออกแบบเครื่องมือ และ ความสามารถของ Rubin ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้ทำให้คนทั้งสองมีผลงานตีพิมพ์ร่วมกันหลายชิ้น
ในกาแล็กซีซึ่งประกอบด้วยดาวฤกษ์จำนวนนับแสนล้านดวง กำลังโคจรรอบจุดศูนย์กลางของกาแล็กซี จากความรู้ในเวลานั้นทำให้นักดาราศาสตร์ทุกคนคาดหวังว่า ดาวฤกษ์ที่อยู่ตรงบริเวณขอบ ๆ ของกาแล็กซีจะต้องมีความเร็วน้อย และดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้จุดศูนย์กลางของกาแล็กซีจะมีความเร็วมาก แต่การวัดความเร็วของดาวฤกษ์ต่าง ๆ โดย Vera Rubin กลับแสดงให้เห็นว่า ดาวฤกษ์ที่อยู่ในบริเวณกลาง ๆ ของกาแล็กซี มีความเร็วมากพอ ๆ กับดาวฤกษ์ที่อยู่ตรงบริเวณขอบ นี่จึงเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น ซึ่งถ้าเป็นจริง ก็จะนำมาซึ่งการปฏิรูปความรู้ดาราศาสตร์อย่างมโหฬาร เพราะนั่นหมายความว่า กฎแรงโน้มถ่วงของ Newton ยังไม่สมบูรณ์คือ ผิด หรืออีกคำอธิบายหนึ่งที่เป็นไปได้ คือ เอกภพมีสสารอีกในปริมาณมากที่ตาเปล่ามองไม่เห็น
ในความเป็นจริง Jan Oort นักดาราศาสตร์ชาวเนเธอร์แลนด์ เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้เคยพบว่า แสงจากกาแล็กซี NGC 3115 ที่ส่งมายังโลกมีความยาวคลื่นไม่สอดคล้องกับมวลของดาวทั้งหมดที่มีอยู่ในกาแล็กซีนั้น แต่ Oort มิได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า เอกภพมีสสารมืด (dark matter)
ลุถึงปี 1933 เมื่อ Fritz Zwicky กับ Sinclair Smith ศึกษาธรรมชาติของกระจุกกาแล็กซี ซึ่งประกอบด้วยกาแล็กซีจำนวนมากมาย และพบว่าบางกาแล็กซีมีความเร็วมาก จนไม่น่าจะอยู่กันเป็นกระจุกได้ คือ น่าจะกระเด็นหลุดออกมา เพราะแรงดึงดูดโน้มถ่วงที่กระทำต่อมัน มีไม่มากพอ ยกเว้นในกรณีที่กระจุกกาแล็กซีนั้น มีมวลลึกลับที่ยังไม่มีใครเห็น ได้ดึงดูดมันเอาไว้ ข้อเสนอของ Zwicky กับ Smith ไม่ได้รับความสนใจ เพราะในเวลานั้นไม่มีใครเคยเห็นมวลลึกลับที่คนทั้งสองกล่าวถึงเลย
Vera Rubin เองก็เชื่อว่า กฎของ Newton ยังไม่สมบูรณ์ และสมควรจะได้รับการแก้ไข แต่นักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ ส่วนใหญ่ยังยืนกรานในความถูกต้องของกฎแรงโน้มถ่วง ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ ดังนั้น Vera จึงคิดว่า กาแล็กซี Andromeda จะต้องมีสสารมืดแอบแฝงอยู่ภายใน และเป็นสสารที่อาจประกอบด้วยอนุภาคชนิดใหม่ที่นักฟิสิกส์ยังไม่รู้จักเลย ก็เป็นได้
ลุถึงวันนี้ ปัญหานี้ยังเป็นประเด็นร้อนที่มีความสำคัญต่ออนาคตของเอกภพมาก เพราะการศึกษาในเวลาต่อมา ได้แสดงให้เห็นว่า ไม่เพียงแต่ในกาแล็กซี Andromeda เท่านั้นที่มีสสารมืด กาแล็กซีอื่น ๆ ก็มีสสารมืดเช่นกัน ดังนั้น Vera Rubin จึงคิดว่า ผลงานที่สำคัญที่สุดในชีวิต เธอ คือ การพิสูจน์ได้ว่า เอกภพมีสสารมืด
ในปี 1981 เธอเป็นนักดาราศาสตร์สตรีคนที่สอง (หลัง Margaret Burbridge) ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของ National Academy of Sciences ถึงปีค.ศ. 1993 ประธานาธิบดี Bill Clinton ได้มอบเหรียญ National Medal of Science ที่มีศักดิ์ศรีด้านวิทยาศาสตร์สูงสุดให้แก่เธอ
ในปี 1996 เธอได้รับเหรียญทองจากสมาคม Royal Astronomical Society เธอซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์หญิงคนที่สองต่อจาก Caroline Herschel (ผู้เป็นน้องสาวของ William Herschel ผู้พบดาวยูเรนัส) ที่ได้รับเมื่อปี 1828 จากการพบดาวหาง 8 ดวง
เธอได้รับปริญญา Doctor of Science จากมหาวิทยาลัย Harvard และ Yale และได้รับเลือกเป็นสมาชิกของ Pontifical Academy of Sciences แห่งกรุง Vatican ด้วย เธอแต่งหนังสือชื่อ Bright Galaxies: Dark Matter ซึ่งจัดพิมพ์โดย American Institute of Physics Press ในปี 1996 และดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งมีชื่อว่า 5276 Rubin
คำแนะนำของเธอที่มีต่อนักวิทยาศาสตร์สตรีรุ่นหลัง คือ “จงทำในสิ่งที่ชอบ”
ณ วันนี้นักดาราศาสตร์ได้ตรวจพบว่า 96% ของมวลเอกภพ เป็นสสารมืดและพลังงานมืด ซึ่งองค์ความรู้นี้ได้รับการยืนยันเป็นครั้งแรก โดยสตรีชื่อ Vera Rubin
แม้โลกจะมีนักวิทยาศาสตร์สตรีที่ประสบความสำเร็จมากหลายคน แต่ในภาพรวมจำนวนก็ยังมีน้อย เพราะความจริงที่ปรากฏ คือ เด็กหญิงส่วนใหญ่มักไม่เลือกอาชีพนักวิทยาศาสตร์ (แต่ก็ชอบเป็นหมอ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาล ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ประยุกต์) ทั้ง ๆ ที่เด็กหญิงสามารถเรียนวิทยาศาสตร์ได้ดีในระดับมัธยมศึกษา แต่เมื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย จำนวนนิสิตหญิงในคณะวิทยาศาสตร์ได้ลดลงมาก โดยเฉพาะในกลุ่มที่เรียนฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ แต่จะมีมากในกลุ่มที่เรียนชีววิทยา เคมี และวิทยาศาสตร์การอาหาร นอกจากนี้จำนวนศาสตราจารย์หญิงในคณะวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยก็มีปรากฏว่าจำนวนน้อยเช่นกัน เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนศาสตราจารย์ผู้ชาย ทั้ง ๆ ที่ผู้หญิงมีความคิดสร้างสรรค์ มีสมองและความสามารถในการสื่อสารวิชาการไม่แพ้ผู้ชาย แล้วเหตุใดผู้หญิงจึงไม่นิยมเรียนวิทยาศาสตร์ และมีอาชีพเป็นนักวิทยาศาสตร์
ในการตอบคำถามเหล่านี้ เราอาจจะตอบได้ว่าเกิดจากหลายสาเหตุ ซึ่งถ้าพูดในเชิงเศรษฐศาสตร์ ก็จะมีสาเหตุจากการลงทุนและการได้ผลตอบแทน ซึ่งต้องผ่านการประเมินปัจจัย และสภาพแวดล้อมทุกอย่าง เพราะการลงทุนใดก็ตาม ที่มีการแข่งขันกันสูงในตลาดแรงงาน จะทำให้สตรีหลายคนมีปัญหาในการจัดชีวิตส่วนตัวให้สอดคล้องกับชีวิตอาชีพ โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์ทั้งชายและหญิงที่เพิ่งจบการศึกษาใหม่ ๆ ทุกคนต้องทุ่มเทชีวิตให้กับการทำงานวิจัย เพื่อตีพิมพ์ผลงานวิชาการ และหาทุนวิจัยยิ่งกว่าเรื่องอื่นใด ดังนั้นการมีครอบครัวของนักวิทยาศาสตร์หญิงในทันทีที่จบการศึกษา จึงประสบอุปสรรคมากยิ่งกว่านักวิทยาศาสตร์ชาย ที่ไม่ต้องรับภาระการดูแลครอบครัวเต็ม ๆ หรือรับภาระตั้งครรภ์และเลี้ยงดูลูก ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อวันเวลาผ่านไปนาน ๆ ถ้าผู้หญิงคิดจะตั้งครรภ์เมื่อมีอายุเกิน 40 ปี เธอก็จะเสียโอกาสการได้เป็นแม่ไปอย่างถาวร ด้วยเหตุนี้สตรีหลายคนจึงพยายามจะมีลูกตั้งแต่ในวัยสาว ซึ่งทำให้เธอทำงานวิทยาศาสตร์ให้ดีได้ อย่างยากลำบากมาก
นอกจากเหตุผลดังกล่าวนี้แล้ว ตามปกติผู้หญิงมีอุปนิสัยไม่ชอบย้ายสถานที่ทำงานบ่อย เช่น จากสถานที่เกิด หรือสถานที่คุ้นเคยไปทำงานที่อื่น ดังนั้นจึงมีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงานน้อยกว่าผู้ชายที่สามารถไปได้ทุกที่ เพราะสังคมมักคิดว่าหน้าที่หลักของผู้หญิง คือ การดูแลบ้านช่องและครอบครัว ผู้หญิงจึงให้ความสำคัญกับงานด้านครอบครัวมากกว่างานอาชีพ และเมื่อเธอให้ความสำคัญกับอาชีพน้อย ความก้าวหน้าทางงานอาชีพของเธอจึงน้อยตามไปด้วย หรือเวลาสามีได้รับงานที่ต่างจังหวัด เธอก็มักจะต้องติดตามสามีไป แต่เวลาเธอได้งานที่ต่างจังหวัด สามีอาจจะไม่จำเป็นต้องย้ายตามเธอไป เหล่านี้คือ เหตุผลที่ทำให้เราพบว่า นักวิทยาศาสตร์สตรีที่ประสบความสำเร็จสูงประมาณ 80% เป็นคนโสด ตัวเลขนี้ จึงแสดงเหตุการณ์ที่น่าเสียดาย เพราะคนที่เป็นผู้หญิงไม่ควรต้องเลือกทางเดินชีวิตอย่างหนึ่งอย่างใด ระหว่างการมีครอบครัวกับการมีอาชีพ
เพื่อลดความไม่เท่าเทียมทางเพศ องค์การ European Commission’s Gender Equality Initiatives จึงเห็นความจำเป็นที่ต้องให้โลกได้เห็นบทบาทของสตรีที่ประสบความสำเร็จสูงมากขึ้น เพื่อจะได้เป็นแรงจูงใจให้กับสตรีคนอื่น ๆ ทั้งนี้เพราะเธอก็เป็นมนุษย์เหมือนผู้ชาย และถ้าเป็นไปได้ในภายภาคหน้า (เมื่อไรก็ไม่รู้) ถ้าสังคมเปลี่ยนวิธีคิด นักวิทยาศาสตร์ชายก็อาจจะออกมาบ่นว่า “โลกมีนักวิทยาศาสตร์ชายจำนวนน้อยเกินไป เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนนักวิทยาศาสตร์หญิง”
อ่านเพิ่มเติม Women in Science , Engineering and Technology : Three Decades of UK Initiatives โดย Alison Phipps จัดพิมพ์โดย
สุทัศน์ ยกส้าน :ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ"จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์