จากกระแสข่าว “มะนาว” ในตลาดปรับสูงขึ้นต่อเนื่องจากปัญหาภัยแล้งและอากาศที่แปรปรวน ทำให้ในช่วงนี้ต้นมะนาวออกลูกน้อยกว่าปกติ ทำให้ทางกระทรวงพาณิชย์ได้มีการแนะนำประชาชนใช้ “มะม่วง – มะขามเปียก” แทนมะนาวในการปรุงอาหารรสเปรี้ยว ลดต้นทุนในการซื้อมะนาวในช่วงนี้ ซึ่งทำให้เกิดคำวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียลเป็นอย่างมาก ในการให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหาในครั้งนี้
มะนาว - มะม่วง - มะขามเปียก ผัก - ผลไม้ทั้ง 3 ชนิดนี้ จะมีรสเปรี้ยวที่คล้ายๆ กัน แต่รสสัมผัสนั้นกลับมีความแตกต่างกัน ซึ่งในบางเมนูอาหารไม่สามารถนำมาทดแทนกันได้ แต่ในเรื่องคุณประโยชน์ล้วนแล้วมีเหมือนกัน เช่นเดียวกับผัก - ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวทั้งหลาย คุณสมบัติที่คุ้นเคยกันดีคืออุดมด้วย “วิตามินซี” โดยทั้ง 3 ชนิด มีวิตามินซีที่สูงเหมือนกัน ซึ่งเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจำเป็นต้องใช้วิตามินซีช่วยในการทำงาน และวิตามินชนิดนี้ ยังเป็นวิตามินที่ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ได้ มะนาว มะม่วง มะขามเปียก จึงเป็นเครื่องปรุงที่สำคัญในการเสริมวิตามินซีให้กับร่างกาย
นอกจากนั้น ทั้ง 3 ชนิด ยังมีประโยชน์อีกมากมาย อาทิ
มะนาว : ถือเป็นพืชที่ดีต่อสุขภาพอย่างแท้จริง เพราะมะนาวมีส่วนช่วยในรักษาโรคและอาการต่าง ๆ ได้มากมาย ช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ ช่วยแก้อาเจียนอันเนื่องมาจากความผิดปกติของธาตุในร่างกาย รักษาอาการลมเงียบ รักษาอาการตาแดง ช่วยบรรเทาอาการไข้
มะม่วง : ผลไม้โปรดของใครหลายคน ที่สามารถกินได้ทั้งผลดิบและผลสุก ผลไม้ชนิดนี้ให้พลังงานสูง มี วิตามินเอ วิตามินซี โพแทสเซียม เส้นใยอาหารสูง อุดมไปด้วยสารพอลิฟีนอล ที่ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ
มะขามเปียก : หนึ่งในวัตถุดิบสำคัญในการประกอบอาหารไทยหลายอย่าง ที่มีสรรพคุณช่วยขับเสมหะ ลดอาการไอ มีฤทธิ์ช่วยในการขับถ่าย สาร AHA ที่ช่วยผลัดเซลล์ผิวนี้พบในมะขามสูงมาก คนสมัยก่อนจึงนิยมนำมะขามมาขัดผิว และปัจจุบันก็ยังมีความนิยมใช้ในการดูแลผิว
แม้จะไม่สามารถทดแทนในเรื่องรสชาติ เปรี้ยว ที่มีเอกลักษณ์ของแต่ละชนิดได้ แต่ มะนาว มะม่วง มะขามเปียก ก็นับได้ว่าเป็นผัก – ผลไม้ ที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนไทยมาอย่างยาวนาน และหวังว่างานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรมในอนาคต จะสามารถมีส่วนช่วยให้ “ต้นมะนาว” สามารถออกลูกได้ตลอดทั้งปี โดยไม่ต้องกังวลเรื่องสภาพอากาศและสภาพแวดล้อม