xs
xsm
sm
md
lg

NIA หนุน “เครื่องตีฮ่อม” ผลิตผงฮ่อมธรรมชาติ สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น จ.จังหวัดแพร่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติNIA สนับสนุน “เครื่องตีฮ่อมเพื่อผลิตผงฮ่อมจากธรรมชาติ”ภายใต้โครงการนวัตกรรมแบบเปิด ด้านเศรษฐกิจ ภูมิภาคภาคเหนือ เพื่อสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์เสื้อหม้อฮ่อมแท้
ของจังหวัดแพร่


"ผ้าหม้อฮ่อม" เป็นผ้าพื้นเมืองที่เกิดจากการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของ "ชาวไทพวน"หมู่บ้านทุ่งโฮ้ง ตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมและเป็นสินค้าอัตลักษณ์ท้องถิ่นประจำจังหวัดแพร่ ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือการย้อมสีฮ่อมด้วยวิธีธรรมชาติ จึงได้รับความนิยมจากคนต่างถิ่น และนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก แต่เป็นที่น่าเสียดายเมื่อพบว่าปัจจุบันผ้าหม้อฮ่อมที่ย้อมสีด้วยใบฮ่อมธรรมชาติแท้ๆ นั้นมีจำนวนลดลงอย่างมาก โดยในพื้นที่ตำบลทุ้งโฮ้ง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายผ้าหม้อฮ่อมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีจำนวนร้านขายผ้าหม้อฮ่อมสองฝั่งถนนมากกว่า 100 ร้าน แต่มีเพียง 3 – 5 ร้านเท่านั้น ที่ใช้น้ำหมักจากใบฮ่อมธรรมชาติล้วนๆ ในการย้อมสี (ข้อมูลการสำรวจโดย บจก. ดับเบิ้ล ดา เวลเนส, 2563)


ทั้งนี้เนื่องจากกระบวนการผลิตสีย้อมจากใบฮ่อมนั้น มีขั้นตอนที่ยุ่งยากและใช้ระยะเวลานาน ต้องใช้แรงงานประมาณ 5 คน เพื่อเปลี่ยนรอบในกระบวนการตีใบฮ่อมในน้ำ ด้วยด้ามไม้ตระกร้อในถังหมักจนกลายเป็นฮ่อมเปียกติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน 4 – 5 ชั่วโมง ต้องใช้แรงงานที่มีประสบการณ์เพื่อให้ได้สีฮ่อมที่สม่ำเสมอ และฮ่อมเปียกมีอายุการเก็บรักษาสั้นเพียง 3 เดือน ไม่เพียงพอต่อการใช้ย้อมสีผ้าหม้อฮ่อมตลอดทั้งปี ผู้ผลิตจึงหันมาใช้สีย้อมจากสารเคมีแทนสีจากธรรมชาติ ซึ่งสวนทางกับความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันที่หันมาให้ความสนใจในการเลือกใช้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


จากปัญหาดังกล่าว บริษัท ดับเบิ้ล ดา เวลเนส จำกัด จึงได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ - แพร่ เฉลิมพระเกียรติ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนาต้นแบบ “เครื่องตีฮ่อมเพื่อผลิตผงฮ่อมจากธรรมชาติ” โดยออกแบบเครื่องตีฮ่อมเป็นถังแนวตั้ง ขนาด 200 ลิตร ตรงกลางมีสกรูและใบพัดลักษณะกวนแบบหมุนรอบแกน (axial impeller) สำหรับตีฮ่อม และขนาดการกวนผสมได้ 70 – 150 ลิตร ส่วนด้านล่างตัวถังและบริเวณรอบตัวถัง มีการการเติมออกซิเจนเข้าสู่ระบบ เมื่อเติมน้ำลงไปในถังของเหลวจะไหลเวียนขึ้นสู่ด้านบน จะทำให้ออกซิเจนเกิดการกระจายตัวอย่างทั่วถึง และเข้าทำปฏิกิริยาออกซิเดชั่นกับสารประกอบอินดอกซิล (Indoxyl) ซึ่งเป็นสารประกอบที่ก่อให้เกิดสีน้ำเงินในใบฮ่อม จะถูกออกซิไดส์กลายเป็นอินดิโกบูล (Indigo blue) อย่างสมบูรณ์ ที่เป็นสีน้ำเงินซึ่งมีคุณสมบัติไม่ละลายในน้ำและสามารถติดกับเส้นใยได้อย่างดี


การใช้เครื่องตีฮ่อมจะช่วยลดระยะเวลาในการตีฮ่อมมากกว่า 40 นาที ลดจำนวนแรงงานคนได้ 2 เท่า นอกจากนี้ ยังได้ปริมาณฮ่อมเปียกเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 และที่สำคัญคุณภาพของสีฮ่อมที่ได้จากกระบวนการมีความสม่ำเสมอ โดยบริษัทได้นำฮ่อมเปียกไปทำแห้งด้วยกระบวนทำแห้งแบบพ่นฝอย (spray dryer) ทำให้สามารถยืดอายุการเก็บรักษาได้นานถึง 3 ปี ทำให้มีสีย้อมจากฮ่อมธรรมชาติใช้ได้ตลอดทั้งปี และยังสามารถเพิ่มมูลค่าของผงฮ่อมที่ได้ นอกจากนำไปทำสีย้อมผ้าจำหน่ายในราคา 200 บาทต่อกิโลกรัม และนำไปเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางซึ่งมีลักษณะของผงฮ่อมที่ละเอียดกว่า จำหน่ายในราคา 700 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งช่วยส่งเสริมการสร้างรายได้ให้กับชุมชนผู้ปลูกฮ่อม รวมไปถึงชุมชนผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากหม้อฮ่อมได้มากกว่า 5 ล้านบาท อีกทั้งยังเป็นการช่วยสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์เสื้อหม้อฮ่อมแท้ของจังหวัดแพร่ต่อไป


โครงการเครื่องตีฮ่อมเพื่อการผลิตผงฮ่อมธรรมชาติ ได้รับการสนับสนุนภายใต้ โครงการนวัตกรรมแบบเปิด ด้านเศรษฐกิจ ภูมิภาค: ภาคเหนือ


กำลังโหลดความคิดเห็น