“มหิดล” จับมือพันธมิตร ภายใต้การสนับสนุนจาก “อว.” จัดตั้งศูนย์วิจัย AI “สถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดล” เพื่อยกระดับการวิจัยสู่เครือข่ายระดับชาติ
วันนี้ (2 มี.ค.) มหาวิทยาลัยมหิดล และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว). แถลงข่าวเปิดศูนย์วิจัย AI แห่งใหม่ โดยใช้ชื่อว่า “สถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดล หรือ MU AI Center” เพื่อขับเคลื่อนการค้นคว้า และวิจัยด้านการแพทย์ โดยมุ่งเน้นที่จีโนมิกส์ โปรตีโอมิกส์ พยาธิวิทยา และรังสีวิทยา
สถาบันฯ นี้ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา ซึ่งจะช่วยให้เกิดความร่วมมือด้านการวิจัยแบบ Federated Learning และช่วยให้นักวิจัยสามารถแก้ปัญหาที่ท้าทายที่สุดในโลกบนแพลตฟอร์มที่ทันสมัย ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ในขั้นต้นสถาบันฯ จะสนับสนุนโครงการต่างๆ จาก กลุ่มความเป็นเลิศด้านการวินิจฉัยทางการแพทย์ด้วย AI, ศูนย์ปฏิบัติการด้านชีววิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และแพลตฟอร์มการค้นคว้ายา แบบบูรณาการด้วยปัญญาประดิษฐ์ ด้วยความร่วมมือหว่างคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะเภสัชศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน และวิทยาลัยราชสุดา ตามลำดับ ในระยะเริ่มต้น และจะขยายไปคณะและสถาบันอื่น ๆ ภายในมหาวิทยาลัย
ศาสตราจารย์ ดร. นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า “สถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดล เกิดขึ้นโดยการสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ตามกรอบนโยบายและกฎกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปี 2564 โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ การเป็นสถาบันที่มุ่งเน้นการพัฒนาทางด้านการสร้างนวัตกรรมใหม่ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาด้านเทคโนโลยีของประเทศไทยในยุคไทยแลนด์ 4.0 ส่งเสริมศักยภาพของภาคธุรกิจและเติมเต็มความสมบูรณ์ครบถ้วนและทันสมัยในการดำรงชีวิตของประชาชนโดยการใช้เทคโนโลยี เช่น Smart Digital Technology and Deep Learning, Internet of Things หรือ IoT, Cyber Security เป็นต้น รวมถึงการสร้างประสบการณ์ที่เป็นเลิศแก่ผู้เรียนทุกระดับให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ตลอดเวลาอย่างไร้ขีดจำกัดด้วยศาสตร์ที่ทันสมัย ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต เรียนได้อย่างยืดหยุ่นไม่ว่าจะเป็นการเรียนส่วนบุคคล หรือการเรียนเพื่อรับ Certificate หรือ Micro degree”
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “สถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดล จะเป็นศูนย์รวมของนวัตกรรมและผู้ประกอบการใหม่ที่มีแนวคิดในเรื่องการบูรณาการข้ามศาสตร์ เพื่อสร้างสิ่งที่ดีกว่าแก่ประเทศไทย โดยมหาวิทยาลัยมีความเชื่อมั่นว่าทุกคนมีความสามารถและศักยภาพในการเรียนรู้ทักษะใหม่และก้าวหน้าเติบโตโดยผ่านกระบวนการเรียนการสอน โดยการเรียนรู้แบบไม่จำกัด ไม่เฉพาะในห้องเรียน แต่มีการผสมผสานทั้งการเรียนในชั้นเรียน การเรียนออนไลน์ ระหว่างที่เรียนยังสามารถเก็บเครดิตและใบรับรองเพื่อนำไปใช้ในการศึกษาขั้นสูงต่อไปได้ในอนาคต ทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอก ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหิดล มีความก้าวหน้าและเชี่ยวชาญในการใช้ปัญญาประดิษฐ์ทางด้านการแพทย์และสุขภาพในทุกสาขา ตัวอย่างเช่น การใช้ AI สำหรับการเอกซเรย์ก้อนเนื้อ การใช้ AI เพื่อใช้ในทำนายความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ Covid-19 โดยใช้ข้อมูลจากระดับประชากร และ ระดับเซลล์เดี่ยว การใช้ AI เพื่อใช้ในทำนายความเสี่ยง และการดำเนินโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และโรคมะเร็ง และการใช้ AI เพื่อวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก เป็นต้น โดยคาดว่าจะสามารถผลิตมหาบัณฑิต ที่มีศักยภาพที่พร้อมจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ และเราได้มองไกลไปถึงการสร้างผู้นำที่สามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยและสังคมโลก”
สำหรับการดำเนินงานของสถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดล ในปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมา มีการดำเนินกิจกรรมผ่านโครงการย่อยไปแล้วหลายส่วน ตั้งแต่การออกแบบและติดตั้งระบบปัญญาประดิษฐ์และโครงสร้างพื้นฐานขั้นสูง ที่รวมถึงฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่จำเป็นทั้งหมด การส่งเสริมให้เกิดโครงการวิจัยแบบบูรณาการกับหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยและคู่ความร่วมมือภายนอก ทั้งมหาวิทยาลัยภายในประเทศ และมหาวิทยาลัยชั้นนำจากต่างประเทศอีกหลายแห่ง และการจัดอบรมให้ความรู้การใช้ AI ด้วยระบบ NVIDIA DGX A100 และแพลตฟอร์ม Clara Imaging และ MONAI (Medical Open Network for AI และ FLARE) สำหรับการเรียนรู้ปัญญาประดิษฐ์แบบสหพันธ เพื่อคิดค้นและเร่งการสร้างแบบจำลอง AI เพื่อการใช้งานจริง ซึ่งสถาบันฯ เตรียมเปิดใช้งาน อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 2 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป