xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) จิ๋วแต่แจ๋ว! “น้ำผึ้งชันโรง - เสม็ดขาว” สรรพคุณทางยาระดับโลก ผลงานต่อยอดงานวิจัยฟื้นฟูป่าชายเลนทะเลสาบสงขลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากโครงการวิจัยฟื้นฟูป่าชายเลนบริเวณที่ลุ่มน้ำ “ทะเลสาบสงขลา” ที่ได้ทำให้หนึ่งในพื้นที่ที่มีความหลากหลายของระบบนิเวศของประเทศไทย กลับมามีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง จนสามารถต่อยอดให้ชุมชนโดยรอบได้พัฒนาเป็นชุมชนนวัตกรรม ด้วยการเพาะเลี้ยง “ชันโรง” ผึ้งขนาดเล็กที่สุดในโลก ที่สามารถผลิตน้ำหวานที่มีสรรพคุณทางยาระดับโลก ยกระดับอาชีพเสริมที่มั่นคง สร้างรายได้ตลอดปีให้ชุมชน

ผศ.ดร.นุกูล ชิ้นฟัก
ผศ.ดร.นุกูล ชิ้นฟัก ผู้ช่วยคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ หัวหน้าโครงการศูนย์วิจัยชุมชน ต.ชะแล้ สร้างอาหารปลอดภัย ต.ชะแล้ อ.สิงหนคร จ.สงขลา เล่าว่า ในช่วงแรกนั้นทางโครงการวิจัยมีจุดมุ่งหมายในการฟื้นฟูป่าชายเลนบริเวณที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ในโครงการ “การจัดการความรู้ข้อเสนอเชิงนโยบายสู่การปฏิบัติในการฟื้นฟูการปลูกป่าชายเลนในบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาแบบประชารัฐ” ที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสามารถฟื้นฟูระบบนิเวศน์โดยรอบกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง พร้อมกับได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนในพื้นที่โดยรอบ ทำให้คนในชุมชนสามารถใช้พื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์นี้ในการสร้างอาชีพ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “การเลี้ยงชันโรง”

ผศ.ดร.ปกรณ์ ลิ้มโยธิน
จากงานวิจัยฟื้นฟูป่าชายเลน สู่การสร้างอาชีพ “เลี้ยงชันโรง” สร้างรายได้งามแก่ชุมชน

มหาวิทยาลัยหาดใหญ่มีองค์ความรู้ด้านการเลี้ยงผึ้งชันโรงอยู่แล้ว และเมื่อได้มีการนำมาถ่ายทอดแก่เกษตรกร โดยสอนให้ตั้งแต่การเริ่มต้นเลี้ยง การเก็บผลผลิต การสร้างผลิตภัณฑ์ และเมื่อผนวกกับความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่โดยรอบทะเลสาบสงขลา จึงยิ่งทำให้อาชีพนี้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น เนื่องจากสามารถเลี้ยงได้ภายในบริเวณสวน มีการลงทุนน้อย และด้วยสรรพคุณของน้ำผึ้งชันโรงที่ได้มีการวิจัยจากหลายๆ ประเทศ ว่ามีสรรพคุณทางยาที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย จึงทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก การเลี้ยงชันโรงจึงสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในชุมชน และทำให้ชุมชนได้พัฒนาเป็นชุมชนนวัตกรรม ในการบูรณาการการเลี้ยงชันโรงในพื้นที่สวนของตนเอง


“การเลี้ยงชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว ทำให้เกิดการใช้พื้นที่ว่างภายในบริเวณสวน ให้เกิดประโยชน์ที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับพื้นที่โดยรอบทะเลสาบสงขลามีความอุดมสมบูรณ์ ของพรรณไม้ดอกไม้นานาชนิดที่ได้รับการฟื้นฟู ทำให้ชันโรงสามารถเก็บน้ำหวานและเกสรดอกไม้ได้อย่างเต็มที่ ยิ่งทำให้คุณภาพของน้ำหวานที่ได้นี้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น จนเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก ในการเป็นน้ำตาลทางเลือกเพื่อสุขภาพ บางฤดูการผลิตไม่พอขาย” ..... ผศ.ดร.นุกูล กล่าวเสริม

น้ำผึ้งชันโรง / ดอกและใบเสม็ดขาว
น้ำผึ้งชันโรง สรรพคุณทางยาระดับโลก

ผศ.ดร.ปกรณ์ ลิ้มโยธิน คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ผู้อำนวยการแผนโครงการฯ กล่าวว่า น้ำผึ้งชันโรงนั้นมีลักษณะเด่นคือ เป็นน้ำผึ้งที่มีน้ำตาลในปริมาณที่น้อย เพราะพฤติกรรมของชันโรงคือจะเก็บน้ำตาลจากเกสรดอกไม้ 20 % และเกสรดอกไม้ 80 % น้ำผึ้งชันโรงจึงมีเกสรจากดอกไม้ผสมอยู่ในปริมาณที่มาก และมีความหอมและรสชาติที่แตกต่างจากน้ำผึ้งทั่วๆ ไป ทำให้มีราคาที่ค่อนข้างสูงในท้องตลาด และชันโรงยังมีความพิเศษกว่าผึ้งชนิดอื่นๆ คือจะมีการนำยางจากต้นไม้ชนิดต่างๆ มาต่อเติมสร้างรัง ทำให้น้ำผึ้งมีสรรพคุณทางยาจากพันธุ์ไม้ที่ชันโรงไปเก็บมาสร้างรังผสมอยู่ในน้ำผึ้งอีกด้วย อีกทั้งในชุมชนยังได้มีการทำการเกษตรอินทรีย์ไม่ใช้สารเคมี ผึ้งชันโรงของกลุ่มชุมชน ต.ชะแล้ อ.สิงหนคร จึงมีความพิเศษยิ่งขึ้นไปอีก ทำให้ปัจจุบันมีราคาซื้อขายอยู่ที่ 2 บาทต่อ 1 มิลลิลิตร และในอนาคตมีแนวโน้มราคาจะสูงขึ้นอีก ซึ่ง ชันโรง 2 - 3 รังให้ผลผลิตน้ำผึ้งประมาณ 1 กิโลกรัม สร้างรายได้หลักแสนถึงหลักล้านบาทต่อปีให้กับคนในชุมชน


ในเรื่องของสรรพคุณนั้น ประโยชน์ของน้ำผึ้งชันโรงมีการวิจัยในหลายๆ ประเทศ รวมถึงงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลา พบว่า ชันที่ชันโรงผลิตในการสร้างรังเป็นสารธรรมชาติในกลุ่ม “ฟลาโวนอยด์” (Flavonoids) ซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระที่สูงมาก สามารถต้านเชื้อโรค เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ชะลอความเสื่อมของร่างกาย ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราและจุลินทรีย์ต่างๆ จึงได้มีการนำมาใช้ผลิตเป็นยารักษาการอักเสบและผลิตภัณฑ์บำรุงร่างกายในหลายๆ ประเทศ


“น้ำผึ้งชันโรงของ ต.ชะแล้ อ.สิงหนคร มีความพิเศษคือ ในพื้นที่ป่าชายเลนโดยรอบเป็นแหล่งของ “ต้นเสม็ดขาว” ซึ่งใบเสม็ดขาวนั้นจะมีน้ำมัน ที่เรียกกันว่า “น้ำมันเขียว” มีฤทธิ์ร้อนและสรรพคุณทางยาแก้อักเสบ ขับลมขับเหงื่อ ถือเป็นพืชสมุนไพรของคนในพื้นที่ทะเลสาบสงขลามาตั้งแต่โบราณ และเมื่อชันโรงไปเก็บเกสรและน้ำมันจากของต้นเสม็ดขาว น้ำผึ้งที่ได้จึงมีสรรพคุณทางยาจากต้นเมล็ดขาวผสมอยู่ด้วย” .... คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.หาดใหญ่ กล่าวเสริม


โครงการการจัดการความรู้ข้อเสนอเชิงนโยบายสู่การปฏิบัติในการฟื้นฟูการปลูกป่าชายเลนในบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาแบบประชารัฐ จึงนับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จทั้งในเรื่องการฟื้นฟูระบบนิเวศและการสร้างอาชีพที่ยั่งยืนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างรายได้มั่นคงและพัฒนาชุนชนในพื้นที่โดยรอบทะเลสาบสงขลา ให้กลายเป็นชุมชนนวัตกรรมได้อย่างสมบูรณ์แบบ





กำลังโหลดความคิดเห็น