xs
xsm
sm
md
lg

บทบาทของวิทยาศาสตร์ ในการวินิจฉัยโรคของบุคคลในประวัติศาสตร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตามปกติเวลาแพทย์ "วินิจฉัยโรค" ที่คนเป็นไข้ ทั้งที่เริ่มป่วย ตลอดไปจนถึงคนไข้ที่ใกล้จะเสียชีวิต แพทย์มักจะถามไถ่อาการต่าง ๆ ที่คนไข้แสดงออกและรู้สึก แล้วตั้งอกตั้งใจฟังคำตอบ เพื่อจะได้รู้ชัดว่า คนไข้คนนั้นสามารถเป็นโรคอะไรได้บ้าง เพราะโรคหลายโรคสามารถทำให้ร่างกายออกอาการได้คล้ายคลึงกัน จากนั้นแพทย์ก็จะใช้วิจารณญาณอย่างหนักพร้อมดูหลักฐานต่าง ๆ ที่บอกข้อมูลสุขภาพ เช่น ปัสสาวะ อุจจาระ เลือด และ ดูภาพถ่ายเอกซเรย์ หรือ MRI เพื่อช่วยให้รู้ว่า คนป่วยกำลังเป็นโรคอะไรกันแน่ แต่ก็มีบางครั้ง ที่คนป่วยบางคนมีจินตนาการไปเองว่าตนกำลังเป็นโรคนี่ นั่น โน่น หรือบรรยายแจกแจงอาการที่ตนรู้สึกได้ไม่หมด เพราะลืมไป ดังนั้น ความยุ่งยากเหล่านี้ จึงอาจทำให้ประสิทธิภาพในการวินิจฉัยโรคที่แพทย์ทำไป จึงอาจจะมีความผิดพลาดและไม่ถูกต้องได้ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก ถ้าคนไข้คนนั้นเป็นบุคคลสำคัญ เพราะเรารู้ดีว่าถ้าแพทย์ลงความเห็นผิดพลาด การรักษาคนไข้ก็จะผิดพลาดไปด้วย จนในที่สุดคนไข้ก็อาจจะเสียชีวิต แล้วประวัติศาสตร์ของชาตินั้นก็จะเปลี่ยนไปในทันที

ทุกวันนี้ โลก (และประเทศไทย) มีบุคคลสำคัญในอดีตหลายคนที่มิได้รับการบันทึกว่า เสียชีวิตไปเพราะโรคอะไร หรือเพราะสาเหตุใด หรือโดยฝีมือใคร และในกรณีที่การเสียชีวิตมีการกล่าวถึงสาเหตุ อนุชนรุ่นหลังก็ไม่สามารถจะมั่นใจได้ว่า มีความถูกต้อง 100% เพราะเทคโนโลยี และองค์ความรู้ของแพทย์ในอดีตไม่ดีเทียบเท่าความรู้ของแพทย์ในสมัยนี้ นอกจากนี้ในบางครั้งผู้เขียนประวัติของคนสำคัญคนนั้น อาจต้องการปกป้องชื่อเสียงของเขา มิให้ด่างพร้อย เพราะถ้าประชาชนรู้ว่า เขาเสียชีวิตด้วยโรคสตรี (syphilis) หรือเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ซึ่งจะทำให้ความศรัทธาของคนทั่วไปที่มีต่อคน ๆ นั้น เสื่อมหรือลดถอยไปมาก ในเมื่อชีวิตของคน ๆ หนึ่งมีความสำคัญมากเช่นนี้ การตายด้วยโรคของเขาก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากเช่นกัน เพราะถ้าเรารู้ชนิดของโรค เราก็จะเข้าใจได้ว่า เหตุใดพฤติกรรมของเขาจึงเป็นดังที่ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้


โดยทั่วไปเราสามารถรู้สาเหตุการเสียชีวิตของบุคคลสำคัญในอดีตได้หลายวิธี เช่น โดยการตรวจสอบเอกสารทางการแพทย์ และจากการอ่านจดหมายโต้ตอบ หรือจากภาพวาดเหมือนจริงของคนนั้น ดังเหตุการณ์ที่เกิดในปี 1972 เมื่อแพทย์ชาวอิตาเลียนคนหนึ่ง ได้เห็นภาพวาดคนเหมือนของนางแบบชื่อ Hendrickje Stoffels ซึ่งเป็นชู้รักของจิตรกรรมชาวดัตช์ชื่อ Rembrandt van Rijn (1606-1669) และได้เห็นเต้านมด้านซ้ายของนาง ใต้บริเวณรักแร้มีก้อนเนื้อสีคล้ำ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เธอกำลังถูกมะเร็งเต้านมคุกคาม และเธอได้เสียชีวิตด้วยโรคนี้ไปในที่สุด

หรือในกรณี จิตรกร Vincent van Gogh ซึ่งแพทย์เคยเข้าใจว่า ก่อนเสียชีวิตได้เสียสติคลุ้มคลั่งจนได้ตัดใบหูของตน ก่อนจะเข้าโรงพยาบาลประสาท และในที่สุดก็ได้ใช้ปืนยิงตัวตาย การอ่านจดหมายทุกฉบับที่ van Gogh เขียนถึง Theo ซึ่งเป็นน้องชาย แสดงให้เห็นว่า van Gogh ป่วยด้วยโรค Meniere ที่ได้ทำให้หูชั้นในของเขามีของเหลวคั่งในปริมาณมาก จนเจ้าตัวรู้สึกปวดหูอย่างรุนแรง และเดินไปไหนมาไหนก็ไม่ได้ เพราะรู้สึกว่าห้องทั้งห้องจะหมุน ความรำคาญที่ช่วยตัวเองไม่ได้ จึงทำให้ van Gogh มีอาการซึมเศร้าและตัดสินใจปลิดชีพของตนเองด้วยกระสุนปืน

ในกรณีของ George Washington ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 1789-1797 (ซึ่งตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) แพทย์ประจำตัวของท่านประธานาธิบดีได้ลงบันทึกว่า ก่อนเสียชีวิต ท่านมีอาการไข้สูง รู้สึกเจ็บคอ จนหายใจติดขัด และได้เสียชีวิตในอีก 24 ชั่วโมงต่อมา การตายอย่างกะทันหัน ได้ทำให้แพทย์ลงความเห็นว่า Washington เสียชีวิตด้วยโรค quinsy (ปัจจุบันเรียกโรค peritonsillar abscess) หรือเป็นฝีในต่อมทอนซิล แต่แพทย์ปัจจุบันคิดว่า สาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริง คือ การได้รับเชื้อไวรัสเข้าร่างกาย ซึ่งมีผลทำให้ฝา กล่องเสียงอักเสบ ลำคอมีอาการโป่งและบวม จนต่อมทอนซิลเป็นพิษ


หรือในกรณีของ กษัตริย์ Herod มหาราช (เมื่อ 73-4 ปีก่อนคริสตกาล) ผู้ทรงปกครองอาณาจักร Judea ในดินแดน Palestine ภายใต้อาณัติของจักรพรรดิโรมัน ซึ่งนักประวัติศาสตร์เชื่อว่า พระองค์ได้ทรงบัญชาให้ทหารฆ่าทารกชายทุกคนในหมู่บ้าน Bethlehem เมื่อ 4 ปีก่อนคริสตกาล (ซึ่งเป็นปีที่พระเยซูทรงประสูติ) และกษัตริย์ Herod ได้สิ้นพระชนม์ ด้วยโรคเส้นพระโลหิตแข็ง ซึ่งทำให้พระหทัยวายในที่สุด แต่แพทย์ชื่อ Jan Hirschmann แห่งมหาวิทยาลัย Washington ในสหรัฐอเมริกา ในที่ประชุมเรื่อง การวิเคราะห์โรคของบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เมือง Baltimore ในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2002 ได้เสนอความเห็นว่า กษัตริย์ Herod ทรงสิ้นพระทัยด้วยโรคไตวายเรื้อรัง เพราะทรงมีปัญหาปวดพระนาภีบ่อย และทรงหายพระทัยถี่เป็นห้วงสั้น ๆ พระอาการเหล่านี้ เมื่อถูกซ้ำเติมด้วยโรค Fournier's gangrene หรือโรค พระคุยหฐาน (องค์ที่ลับ) เป็นหนอง ที่ได้คร่าชีวิตพระองค์

ด้าน Pericles ซึ่งเป็นรัฐบุรุษกรีก (เมื่อ 495-429 ปีก่อนคริสตกาล) ก็ได้รับการบันทึก โดยนักประวัติศาสตร์ชื่อ Thucydides ว่าได้เสียชีวิตด้วยกาฬโรค เมื่อ 430 ปีก่อนคริสตกาล ขณะกรุง Athens มีการระบาดของกาฬโรค จนทำให้ร่างกายของท่านซูบผอม พละกำลังถดถอย และได้เสียชีวิตลงเมื่อมีอายุ 65 ปี แต่ Manolis Papagrigorakis แห่งมหาวิทยาลัย Athens ในประเทศกรีซ ได้รายงานเมื่อปี 2006 ในวารสาร International Journal of Infectious Diseases ว่าจากการศึกษา DNA ของศพชาวกรีกจำนวนมาก แล้วนำมาเปรียบเทียบกับ DNA ของเชื้อกาฬโรค โรคอหิวาต์ โรค anthrax ที่ติดต่อร้ายแรงในสัตว์เลี้ยง วัณโรค โรคฝีดาษวัว (cowpox) การวิเคราะห์ DNA ของศพจำนวนมาก แสดงว่า Pericles น่าจะเสียชีวิตด้วยโรคไข้รากสาดน้อย (typhoid)
สำหรับจักรพรรดิ Alexander มหาราช แห่งอาณาจักร Macedonia (ซึ่งทรงมีพระชนม์ชีพเมื่อ 356-323 ปีก่อนคริสตกาล) นักประวัติศาสตร์หลายคนเชื่อว่าพระองค์ทรงสิ้นพระชนม์ด้วยโรคไข้รากสาดน้อยเช่นกัน แต่เมื่อสุสานที่ฝังพระศพก็ยังไม่มีใครพบ ดังนั้น การวินิจฉัยโรคที่ทำให้พระองค์สิ้นพระชนม์ จึงยังไม่มีการยืนยันโดยแพทย์ปัจจุบัน

ส่วน Christopher Columbus (ปี 1451-1506 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) นั้น ประวัติศาสตร์ได้มีบันทึกว่า ในปี 1504 หลังจากที่ได้เดินทางกลับถึงประเทศสเปนจากทวีปอเมริกาเป็นครั้งที่ 4 Columbus ในวัย 53 ปี มีสุขภาพที่ไม่ดีเลย เพราะป่วยเรื้อรังเป็นโรคเก๊าท์ ตาก็อักเสบจนทำให้อ่านหนังสือไม่ได้ หลังจากที่ได้เดินทางไปเมือง Seville เพื่อขอเข้าเฝ้ากษัตริย์ Ferdinand และพระราชินี Isabella แห่งสเปน แต่ทั้งสองพระองค์ทรงไม่อนุญาต อีกทั้งไม่ประทานยศถาบรรดาศักดิ์ใด ๆ ให้ เพราะในเวลานั้น พระราชินี Isabella เองก็ทรงใกล้จะสิ้นพระชนม์ด้วย เมื่อถึงวันนี้ แพทย์ปัจจุบันคิดว่า Columbus เสียชีวิตด้วยโรคไขข้ออักเสบรุนแรง (Reiter's syndrome) ซึ่งอาจจะได้รับเชื้อจากนกแก้วหางยาวสีสวย macaw ที่ Columbus นำกลับมาเป็นของขวัญจากทวีปอเมริกาใต้


บุคคลสำคัญอีกคนหนึ่ง คือ Vladimir Lenin ซึ่งได้เสียชีวิตในวัย 53 ปี เมื่อวันที่ 21 มกราคม ปี 1924 และแพทย์ที่ทางการรัสเซียแต่งตั้งให้รักษาได้แจ้งว่า อาการเส้นเลือดแข็ง (arteriosclerosis) คือ สาเหตุหลัก แต่ในเวลาเดียวกัน ชาวรัสเซียทั่วไปก็ได้ยินข่าวลือว่า ผู้ให้กำเนิดการปกครองระบบคอมมิวนิสต์คนนี้ เสียชีวิตด้วยโรคผู้หญิง (syphilis) เพราะก่อนจะเสียชีวิต แพทย์ที่รักษาได้เล่าว่า Lenin มีอาการโรค aphasic คือ พูดได้แต่เพียงคำสั้น ๆ ส่วนร่างกายด้านขวามีอาการเป็นอัมพฤกษ์ และมีอาการชักเป็นบางเวลา ซึ่งได้ทำให้ Lenin ระแวงว่า Joseph Stalin ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมืองคนสำคัญได้ลอบวางยาพิษตน การตรวจเลือดของ Lenin พบว่า มีอาการเลือดเป็นพิษจากกระสุนตะกั่วที่อยู่ฝังอยู่ในร่างกายของ Lenin เอง นอกจากนี้แพทย์หลายคนยังได้รายงานอีกว่า Lenin ได้เข้ารับการรักษาโรค syphilis ตั้งแต่ปี 1895 และได้ไปพักฟื้นที่เมือง Gorky การป่วยด้วยโรคหลายชนิดที่มารุมเร้าเช่นนี้ ได้ทำให้การสรุปผลในภาพรวมไม่มีความเป็นเอกภาพ เพราะแพทย์ 19 คน จาก 27 คน เชื่อว่า syphilis มิได้เป็นโรคที่ทำให้ Lenin เสียชีวิต แต่แพทย์อีก 8 คน คิดว่าใช่ ดังนั้นในรายงานสุขภาพชิ้นสุดท้ายของ Lenin จึงมิได้มีการกล่าวถึง เส้นเลือดในสมองของ Lenin ที่ถูก syphilis ทำลายเลย

แต่เมื่อ 10 ปีก่อนนี้เอง ในที่ประชุมเรื่อง การวิเคราะห์โรคที่คร่าชีวิตบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ (Historical Clinicopathological Conference , HCPC) ครั้งที่ 19 ที่เมือง Baltimore รัฐ Maryland ในสหรัฐฯ ที่ประชุมได้มีการถกเถียงเรื่อง ความพยายามของแพทย์ที่ต้องการจะรู้สาเหตุการเสียชีวิตของบุคคลสำคัญว่า เป็นความพยายามของแพทย์ที่จะเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์หรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้น แพทย์บางคนยังอ้างว่า การรู้สาเหตุที่แท้จริงของการตาย อาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียชื่อเสียง จนทำให้บรรดาทายาทของคนเหล่านั้นรับความ “จริง” ไม่ได้ เช่น ผู้ตายได้จากไปด้วยโรค syphilis หรือโรคพิษสุราเรื้อรัง หรือด้วยโรคเรื้อน เป็นต้น

ความจริงเทคนิคการชันสูตรศพ โดยแพทย์ได้เริ่มกระทำเป็นครั้งแรกเมื่อประมาณ 400 ปีก่อนนี้เอง เพื่อตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นในสิ่งที่แพทย์สงสัย ในเวลาต่อมา เมื่อวิทยาศาสตร์ก้าวหน้ามากขึ้น การวิเคราะห์ของแพทย์จึงมีทั้งเหตุผลและหลักฐานที่ดียิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ผลการวินิจฉัยของแพทย์ปัจจุบัน อาจช่วยให้เราได้เห็นสิ่งที่ไม่ปรากฏอยู่ในตัวผู้ตายก็ได้ด้วย เพราะการอ่านผลการชันสูตรศพเป็นการรับรู้งานที่แพทย์คนอื่นทำ โดยตนมิได้ทำเอง จึงมีสิทธิ์ที่จะไม่เห็นด้วยก็ได้ แต่ในเวลาเดียวกันแพทย์ปัจจุบันก็ต้องยอมรับด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนว่า แพทย์ในอนาคตก็อาจไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัยของแพทย์ปัจจุบันได้ เพราะเขามีความรู้ใหม่ที่ถูกต้องกว่า


การขุดพบโครงกระดูกในพระเจ้า Richard ที่ 3 โดย Philippa Langley ซึ่งเป็นนักโบราณคดี และนักเขียนชาวอังกฤษ ผู้มีปณิธานแน่วแน่ว่า จะค้นหาพระศพของพระเจ้า Richard ที่ 3 ในสถานที่ที่เธอสงสัย คือ ใต้ดินของอาคารจอดรถ ณ เมือง Leicester ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของ London เป็นระยะทางไกลประมาณ 100 กิโลเมตร

เพราะบันทึกทางประวัติศาสตร์ได้ระบุว่า พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์ ในการทำสงครามที่เมือง Bosworth และถูกหัวหน้าฝ่ายศัตรู คือ สมเด็จพระเจ้า Henry ที่ 7 (ในเวลาต่อมา) ได้นำศพเปลือยของพระเจ้า Richard ที่ 3 ขึ้นม้า ให้เดินประจานไปตามถนนหนทางในเมือง Leicester ก่อนที่พระเจ้า Henry ที่ 7 จะทรงส่งพระศพให้บาทหลวงนำไปจัดการฝัง และได้ทรงมอบเงิน 10 ปอนด์เป็นค่าทำศพนั้นด้วย ความชั่วร้ายของพระเจ้า Richard ที่ 3 ที่ทำให้คนอังกฤษทุกคนตราตรึงมาจนถึงทุกวันนี้ และได้ชักนำให้ Shakespeare แต่งบทประพันธ์อิงประวัติศาสตร์ เรื่อง Richard ที่ 3 ซึ่งได้อ้างว่า พระองค์เป็นเจ้าชายรูปร่างอัปลักษณ์ เพราะทรงมีพระปฤษฎางค์ (หลัง) ค่อม พระพาหา (แขน) ลีบ

ในส่วนของตำนานที่เป็นพระราชประวัตินั้น พระเจ้า Richard ที่ 3 ได้ทรงอ้างว่า เมื่อพระองค์ประสูติ ทรงมีพระทนต์ (ฟัน) เต็มพระโอษฐ์ (ปาก) และทรงมีพระเกศา (ผม) ยาวถึงพระอังสา (ไหล่) เพราะพระมารดาได้ทรงพระครรภ์นานถึง 2 ปี หลังจากที่ศพของพระเจ้า Richard ที่ 3 ถูกนำไปฝังได้ไม่นาน เมื่อถึงยุคของพระเจ้า Henry ที่ 8 พระศพของ Richard ที่ 3 ก็ถูกขุดขึ้นมาใหม่ แล้วประวัติศาสตร์ก็ได้บันทึกว่า พระศพได้ถูกนำไปโยนทิ้งแม่น้ำ Soar ส่วนโลงพระศพ ซึ่งทำด้วยหินนั้น ได้ถูกดัดแปลงเป็นรางน้ำให้ม้าดื่ม ที่บริเวณนอกร้านขายสุราในเมือง Leicester


ข่าวที่จริงและปลอมมากมายทำนองนี้ ทำให้ David Baldwin แห่งมหาวิทยาลัย Leicester ประกาศไม่เชื่อข่าวชั่วร้ายทั้งหลาย โดยให้เหตุผลว่า ผู้คนในสมัยพระเจ้า Richard ที่ 3 ได้เลิกใช้รางน้ำให้ม้าดื่มเป็นเวลาก่อนนั้นเมื่อหลายร้อยปีแล้ว กระนั้นบรรดานักทัศนาจรที่ไปเยือนเมือง Leicester ทุกวันนี้ก็มักแวะไปดูรางน้ำที่ทำด้วยหินนั้น มากกว่าจะไปดูที่ฝังพระศพของพระเจ้า Richard ที่ 3 โดย Baldwin ได้ให้เหตุผลว่า สถานที่ฝังพระศพของพระเจ้า Richard ที่ 3 น่าจะอยู่ในเมือง Leicester มากกว่า แต่ก็มีนักประวัติศาสตร์หลายคนที่ไม่เห็นด้วย โดยอ้างว่า มีบันทึกในประวัติศาสตร์หลายเล่มที่ได้เขียนว่า พระศพได้ถูกนำไปโยนทิ้งน้ำแล้ว แต่ก็มีนักประวัติศาสตร์หลายคนที่ไม่เชื่อเช่นนั้น และได้เริ่มค้นหาสถานที่ฝังพระศพ เมื่อเดือนสิงหาคม 2012 ณ ที่บริเวณระหว่างสถานที่จอดรถยนต์ในเมือง Leicester กับโบสถ์ Greyfriars เพราะสถานที่นั้นเป็นที่ฝังศพของบรรดาทหารที่เสียชีวิตไปในสงครามเมือง Bosworth ตั้งแต่ปี 1455 และทหารอื่น ๆ ในปี 1540 นอกจากนี้ นักวิจัยก็มีข้อมูลเกี่ยวกับพระเจ้า Richard ที่ 3 ว่า ทรงสิ้นพระชนม์เมื่อทรงมีอายุได้ 32 พรรษา มีพระปฤษฎางค์ (หลัง) โค้งคดงอและพระพักตร์ (ใบหน้า) มีบาดแผลมากมาย นอกจากนี้ ก็จะมีการทดสอบ DNA ของศพที่ต้องสงสัยด้วย โดยจะนำมาเปรียบเทียบกับ DNA ของพระญาติในพระองค์ที่ยังสืบสายพระโลหิตมาจนทุกวันนี้

หลังจากที่ได้ตรวจสอบโครงกระดูกที่ต้องสงสัยอย่างละเอียดและรอบคอบแล้ว Langley ก็ได้พบว่าพระศพของพระเจ้า Richard ที่ 3 ได้ถูกฝังใต้ดินที่ระดับลึก 68 เซนติเมตร และพบว่าพระปิฐิกัณฐกัฐิ (กระดูกสันหลัง) มีความโค้งคดงอจริง ๆ อย่างเห็นได้ชัด การวัดอายุโดยเทคโนโลยีคาร์บอน-14 แสดงว่า ผู้ตายได้เสียชีวิตไปเมื่อประมาณ 500-550 ปีก่อน และที่พระสิรัฐิ (กะโหลกศีรษะ) ส่วนที่เป็นพระพักตร์ (ใบหน้า) มีร่องรอยถูกแทงด้วยง้าวและกริชหลายครั้ง เพราะบรรดาศัตรูมีความแค้นมาก จึงได้ทำร้ายพระองค์ด้วยการจ้วงแทง ทั้ง ๆ ที่ทรงสิ้นพระชนม์แล้ว การวิเคราะห์ DNA ของกระดูกที่พบก็สอดคล้องตรงกับทายาทในพระขนิษฐา Anne of York ตลอดเวลาที่ผ่านมา 17 ชั่วอายุคน


ในภาพรวม สมเด็จพระเจ้า Richard ที่ 3 ทรงมีพระวรกายสูง 173 เซนติเมตร พระปิฐิกัณฐกัฐิ (กระดูกสันหลัง) คดจริง โดยมิได้คดงอตั้งแต่เมื่อประสูติ แต่เริ่มคดงอเมื่อทรงมีพระชนมายุ 10 พรรษา พระพาหา (แขน) ก็มิได้ลีบเหมือนดังที่นักประวัติศาสตร์บางคนเขียน อาการกระดูกสันหลังคด (scoliosis) อาจทำให้พระอังสา (ไหล่) ห่อไปข้างหนึ่ง ความสมบูรณ์ของพระอัฐิ (กระดูก) ได้แสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์ ในขณะที่ทรงมีพระชนม์ชีพ

ในการใช้ CT Scan ตรวจดูบาดแผลที่เกิดจากง้าวและกริช ซึ่งทำให้พระสิรัฐิ (กะโหลกศีรษะ) เป็นรอยบุ๋ม และการจ้วงแทงด้วยกริชที่ฐานกะโหลก นับเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์ และการที่ศัตรูไม่ได้แทงกริชที่พระอุระ เพราะพระองค์ทรงสวมเกราะอยู่

แม้คุณภาพของ DNA ในพระองค์จะเสื่อมไปมากแล้ว แต่อากาศที่เย็น ชื้น และเปียกของเมือง Leicester ก็ยังทำให้ DNA ของพระองค์มีคุณภาพดีพอจะใช้ระบุได้ว่าเป็นพระองค์ตัวจริง แม้วันเวลาจะผ่านไปนานกว่า 500 ปีแล้วก็ตาม
ประวัติศาสตร์ไทยจะมีการวิเคราะห์เรื่องราวต่าง ๆ ในอดีต โดยการใช้เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์บ้างไหม เพื่อช่วยนักประวัติศาสตร์ในการเขียนประวัติศาสตร์บ้าง

อ่านเพิ่มเติมจาก “Finding Richard III: The Official Account of Research by the Retrieval and Reburial Project.” โดย A.J. Carson et.al. ในปี 2018 จัดพิมพ์ Troubador Publishing Ltd.


สุทัศน์ ยกส้าน :ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ"จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์



กำลังโหลดความคิดเห็น