xs
xsm
sm
md
lg

การพัฒนา "ยาจีนพื้นบ้าน"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



Pliny ปราชญ์โรมัน ได้เคยกล่าวไว้ตั้งแต่ค.ศ.77 ว่า ธรรมชาติได้สรรค์สร้างยาให้มนุษย์และสัตว์ที่เจ็บป่วยสามารถนำไปใช้ได้ โดยให้ยามีอยู่ในทุกหนแห่ง ทั้งในป่า บนภูเขาและในทะเล ทั้งที่เป็นพืชและสัตว์ เราคงเคยเห็นแมวหรือสุนัขกินหญ้า กรวดหรือดิน แล้วสำรอกสิ่งที่กินเข้าไปออกมา เหตุการณ์นี้ได้ทำให้นักชีววิทยารู้ว่า เวลาสัตว์เจ็บไข้ มันมีวิธีรักษาตนเอง โดยการบริโภคพืชหรือดินเป็นยา เพื่อรักษาตัวมันเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาสัตวแพทย์ ไม่เพียงแต่แมว หมาเท่านั้น งู (anaconda) นกแก้วหางยาวสีสวยสดใส (macaw) เพนกวิน อูฐแคระ (guanaco) ที่อาศัยอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ ละมั่ง (impala) ขนสีน้ำตาลแดงในทวีปแอฟริกา ก็ใช้วิธีกินพืชที่เป็นยาเช่นกัน เพื่อดูแลชีวิตของมันเอง แม้ว่าเราจะไม่เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยการสังเกตดูลักษณะภายนอกก็ตาม แต่นักชีววิทยาได้พบว่า ถ้าได้ตรวจดูเลือด จะพบว่ามีแบคทีเรียและไวรัส ที่ทำให้สุขภาพของมันไม่สมบูรณ์ สัตว์จึงต้องกินยาเองอย่างสม่ำเสมอ

นักชีววิทยายังได้พบอีกว่า เวลาสัตว์ป่าบางชนิดถูกนำมาเลี้ยงในกรง สุขภาพสัตว์นั้นจะถดถอย แม้สภาพแวดล้อมที่มันอยู่จะดีก็ตาม การที่สัตว์เลี้ยงในกรงมีสุขภาพสู้สัตว์ป่าไม่ได้ เพราะสัตว์ป่าได้บริโภคยา โดยการกินพืชป่า ที่ไม่มีให้กินในกรง ในปี 1987 M. Huffman จากมหาวิทยาลัย Kyoto ในประเทศญี่ปุ่น ได้เห็นลิงชิมแปนซีที่อาศัยอยู่บนภูเขา Mahale ในประเทศ Tanzania เวลามีพยาธิในกระเพาะ มันจะเคี้ยวผลของต้น Veronica ที่ขึ้นอย่างอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่นั้นเป็นอาหาร เพราะผลไม้ชนิดนี้ มีสาร terpene ที่สามารถฆ่าปรสิตในกระเพาะได้ แต่ไม่รุนแรงจนฆ่าลิงได้ ชาวบ้านนิยมเรียกพืชชนิดนี้ว่า ต้นฆ่าแพะ เพราะเวลาแพะกินผลไม้เข้าไป แพะจะตาย ข้อมูลนี้จึงแสดงให้เห็นว่า เวลาสัตว์กินพืช มิใช่เพื่อเป็นอาหารเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อเป็นยารักษาตัวด้วย

นอกจากจะกินพืชแล้ว สัตว์ยังกินดินด้วย (geophagy) ทั้งนี้เพราะในดินมีแร่ธาตุหลายชนิด ในบางพื้นที่แม้จะมีพืชปกคลุมอย่างอุดมสมบูรณ์ สัตว์ก็ยังกินดินโป่ง เพราะดินนี้มีแร่ธาตุที่ร่างกายมันต้องการ (คนบ้านนอกที่ยากจนมาก ก็กินดิน) เพราะดินช่วยถอนพิษที่มีในตัวมัน ดังการทดลองในปี 1999 ที่ James Gilardi แห่งมหาวิทยาลัย California ที่ Davis ได้ทดลองให้นกแก้ว macaw กินเมล็ดพืชที่มีสารพิษ strychnine แล้วกินดินตาม ผลปรากฏว่า นกแก้วปลอดภัย แต่เวลาให้นกแก้วกิน strychnine เพียงอย่างเดียว อีกหนึ่งชั่วโมงต่อมา เขาได้ตรวจวัดปริมาณ strychnine ในเลือดนก ก็พบว่า มีปริมาณมากกว่าพวกที่กินทั้ง strychnine และดินด้วยถึง 60%


ในปี 1972 Richard Wrangham ซึ่งเป็นนักชีววิทยาในสังกัดที่ป่าสงวน Gombe Stream Reserve ในประเทศ Tanzania ได้เห็นลิงชิมแปนซีกินใบ Aspilia อย่างระมัดระวัง โดยเลือกกินทีละใบ แล้วกลืน เขาได้เห็นลิงบางตัวทำจมูกย่น คงเพราะใบมีรสไม่อร่อย ในเวลาต่อมาก็ได้พบว่า ลิงที่กินใบพืชมีสุขภาพดีขึ้น เพราะบางส่วนของใบได้ถูกย่อยไปในกะเพาะ และใบส่วนที่เหลือถูกขับออกมากับมูลที่มันถ่าย อีก 18 ปีต่อมา คือ ในปี 1990 Wrangham ได้สังเกตเห็นลิงชิมแปนซีกินใบพืชที่แตกต่างกัน 19 สายพันธุ์ นอกเหนือจากใบต้น Aspilia ข้อสังเกตนี้ได้แสดงให้เห็นว่า ต้นไม้มีสารเคมีที่แตกต่างกันอย่างน้อย 19 ประเภท ที่สามารถรักษาโรคของลิงชิมแปนซีได้

ด้านคนโบราณเวลาเจ็บป่วย ก็มักอาศัยหมอ (ผี) ซึ่งมักอ้างว่ามีความสามารถอ้อนวอนเทพยดาให้ประทานยามาให้ได้ ซึ่งยาเหล่านี้ ส่วนใหญ่อาจจะได้มาจากการสังเกตดูสัตว์ที่พยายามรักษาตัวมันเอง และนี่ก็คือที่มาของยาพื้นบ้านหลังจากเวลา 2,000 ปีได้ผ่านไป แม้โลกจะก้าวหน้าไปมากด้วยวิทยาการและเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่บุคลากรแพทย์ เภสัชกร นักวิทยาศาสตร์ก็ยังค้นหาตัวยาที่มาจากธรรมชาติได้ไม่หมด และคงจะพยายามทำเช่นนี้ต่อไปอีกเป็นเวลานานแสนนาน

การศึกษาประวัติความเป็นมาของยาต่าง ๆ ทำให้นักประวัติเภสัชศาสตร์รู้ว่าความพยายามของมนุษย์ในการค้นหายานานาชนิดมารักษาโรคนั้น ได้มีส่วนผลักดันให้โลกมีอารยธรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่น ในปี 1492 เมื่อ Christopher Columbus ออกเดินทางด้วยขบวนเรือ 3 ลำจากประเทศสเปน เพื่อไปค้นหาเครื่องเทศจากอินเดียและจีนมาใช้ในการปรุงอาหารและรักษาโรค ด้าน Hernando Cortes หลังจากที่ได้พิชิตกองทัพของชาว Aztec จนอาณาจักรล่มสลาย ตามพระราชประสงค์ในกษัตริย์สเปนแห่งแคว้น Castile ในปี 1505 แล้ว ในเวลาต่อมา พระองค์ได้ทรงโปรดให้แพทย์หลวงชื่อ Francisco Hernandez เดินทางไปศึกษา จดบันทึก และนำตัวยาทุกชนิดที่หมอพื้นเมืองชาว Aztec ใช้ในการรักษาคนไข้กลับมาสเปน เพื่อเขียนเป็นตำรา ในปี 1762 Jean Baptiste Christophe Fusée Aublet ซึ่งเป็นเภสัชกรชาวฝรั่งเศส ก็ได้รับพระบรมราชโองการจากกษัตริย์ Francis ที่ 1 แห่งฝรั่งเศสให้เดินทางไปค้นหายาที่ชาวป่าในทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำ Amazon ใช้ ประสบการณ์ที่ Aublet ได้จากชาวป่าเป็นเวลานานถึง 2 ปี ได้ช่วยให้เขาสามารถเรียบเรียงตำราเรื่องความสำคัญของพืชป่า ต่อวิถีการดำเนินชีวิตของชาวป่าได้ นักชีววิทยาหลายคนได้ยอมรับว่า Aublet คือบิดาของวิชา ethnobotany (พฤกษศาสตร์พื้นบ้าน)


นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตเมื่อเกือบ 500 ปีก่อน แต่ในความเป็นจริง มนุษย์ได้ใช้พืชเป็นยาสมุนไพรมาก่อนนั้นเป็นเวลานานแล้ว เพราะนักโบราณคดีได้เคยพบว่าที่ถ้ำ Shanidar ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศอิรัก มีโครงกระดูกของมนุษย์ Neanderthal ฝังรวมอยู่กับพืชป่าที่ขึ้นในบริเวณนั้นถึง 7 ชนิด การวัดอายุของกระดูกโดยใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์คาร์บอน-14 แสดงให้เห็นว่า เจ้าของโครงกระดูกเคยมีชีวิตอยู่เมื่อ 50,000 ปีก่อน และเมื่อ 1512 ปีก่อนคริสตกาล ที่พระราชินี Hatshepsut แห่งอาณาจักรอียิปต์โบราณทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับฟาโรห์ Thutmose ที่ 2 ครั้นเมื่อองค์ฟาโรห์สวรรคต พระนางได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นฟาโรห์องค์ใหม่แทนในอีก 17 ปีต่อมา และทรงส่งราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับกษัตริย์แห่งอาณาจักร Punt ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของอียิปต์ โดยทรงโปรดให้เจ้าชาย Nehasi เป็นหัวหน้าของคณะทูตสัมพันธไมตรี เมื่อเจ้าชายเสด็จกลับ พระองค์ทรงนำสิ่งมีค่า เช่น ทองคำ งาช้าง ลิงบาบูน และสุนัข มาถวาย แต่สิ่งที่นับว่ามีค่ามากที่สุด คือ ต้น myrrh (มดยอบ) จำนวน 31 ต้น ซึ่งพระนางทรงโปรดให้นำไปปลูกที่วิหาร Hatshepsut ในเมือง Thebes และทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้ราชศิลปินบันทึกเหตุการณ์ปลูกต้นมดยอบเป็นภาพนูนต่ำบนผนังของวิหาร ทั้งนี้เพราะคนอียิปต์ในสมัยนั้นถือกันว่า มดยอบเป็นพืชที่มีคุณค่ามาก ดังจะเห็นได้จากการที่แพทย์ในสมัยนั้น นิยมใช้มดยอบเป็นทั้งยาตกแต่งบาดแผล และเป็นสารหอมที่ให้กลิ่นหอมสดชื่นไปทั่วอาคาร แม้แต่ Hippocrates ซึ่งเป็นบิดาแห่งการแพทย์ ก็เคยเอ่ยถึงมดยอบว่า สามารถใช้รักษาโรคหอบหืด และโรคปอดอักเสบได้ ในคัมภีร์ไบเบิลของคริสต์ศาสนาก็ได้

กล่าวถึงมดยอบและกำยาน (frankincense) ว่า เป็นของขวัญที่ปราชญ์ 3 คน นำไปถวายทารกเยซูกับพระบิดา และพระมารดา คือ Joseph กับ Mary ที่หมู่บ้าน Bethleham เมื่อ 2,000 ปีก่อน เพื่อให้โรงนาซึ่งเป็นสถานที่ที่พระเยซูประสูติ มีกลิ่นหอมอบอวล และตั้งใจจะให้ทารกเยซูใช้เป็นยาด้วย คัมภีร์ไบเบิลยังได้กล่าวถึง Mary Magdalene ว่า ได้นำมดยอบไปทาที่แผลของพระเยซู ซึ่งถูกตรึงอยู่บนไม้กางเขน เพื่อบรรเทาอาการปวดเจ็บของพระองค์ด้วย

ในเอเชียก็มีการใช้พืชเป็นยารักษาโรคมาเป็นเวลานานเช่นกัน จีนเป็นประเทศหนึ่งที่หมอจีนได้ใช้ยาพื้นบ้านในการรักษาคนไข้มาเป็นเวลานานกว่า 2,000 ปี นับตั้งแต่รัชสมัยของจักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้ (Huangdi) คือเมื่อ 475-211 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แคว้นต่าง ๆ ของจีนยังเป็นรัฐอิสระ และมักทำสงครามแย่งชิงดินแดนกันตลอดเวลา ดังนั้นจีนจึงไม่ได้รวมตัวกันเป็นปึกแผ่น ในเวลานั้นแพทย์จีนใช้ตำรายาชื่อ Huangdi's Internal Classic ซึ่งมีข้อมูลยายอดนิยมเป็นจำนวนมาก ตำราจึงมีความสำคัญมากจนนักศึกษาแพทย์จีนทุกคนต้องอ่านตำรานี้เป็นความรู้พื้นฐาน ก่อนจะศึกษายาจีนในระดับลึก ในเวลาต่อมาซึ่งเป็นยุคของราชวงศ์ Han (คือ ตั้งแต่ 206 ปีก่อนคริสตกาลจนถึงค.ศ.220) จีนได้มีตำรายาพื้นบ้านเพิ่มอีกสองเล่ม คือ Classic of Materia Medica ซึ่งเรียบเรียงโดยแพทย์ชื่อ Shennong ซึ่งได้กล่าวถึงคุณสมบัติของสมุนไพร แร่ และอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ที่สามารถนำมาใช้เป็นยาได้ และมีตำราชื่อ Treatise on Cold Damage and Miscellaneous Disorders ของ Zhang Zhang-jing ซึ่งได้บรรยายอาการไข้ที่เกิดจากโรคต่าง ๆ ตลอดจนวิธีรักษาด้วย


ลุถึงยุคของราชวงศ์ Jin (ค.ศ.266-420) แพทย์จีนชื่อ Huangfu Mi ได้แต่งตำรา Classic of Acupuncture and Moxibustion ซึ่งว่าด้วยวิธีการฝังเข็มและการรมยา ด้านแพทย์ Wang Shuhe ก็ได้เรียบเรียงตำรา Pulse Classic ซึ่งอธิบายเทคนิคการฝังเข็ม และวิธีใช้สมุนไพร เพื่อรักษาโรคต่างๆ อย่างละเอียด เมื่อถึงยุคของราชวงศ์ Tang (ค.ศ.618-907) ในปี 659 รัฐบาลจีนได้ประกาศ ให้บรรดาแพทย์จีนใช้ตำรา Newly Revised Materia Medica แทนตำราของ Shennong

ในสมัยของราชวงศ์ Ming (ค.ศ.1368-1644) แพทย์ Li Shizhen ได้เรียบเรียงตำรา The Compendium of Materia Medica เพื่อเผยแพร่ในปี 1578 ตำรานี้ได้แสดงวิธีรักษาโรคนานาชนิดโดยใช้สมุนไพร และอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของสัตว์อย่างละเอียด

ช่วงปี 1644-1911 ซึ่งเป็นยุคของราชวงศ์ Qing ได้มีมิชชันนารีนิกายโปรเตสแตนต์กลุ่มหนึ่งซึ่งได้เดินทางถึงจีนในปี 1807 และนำความรู้ด้านแพทยศาสตร์ของโลกตะวันตกมาเผยแพร่ เมื่อจีนพ่ายแพ้ในการทำสงครามฝิ่นทั้งสองครั้ง คือ ในปี 1839-1842 กับปี 1856-1860 ความเชื่อมั่นและศรัทธาในเทคโนโลยีรวมถึ'วิทยาศาสตร์การแพทย์แผนตะวันตกก็ได้เพิ่มสูงขึ้นมาก จนถึงปี 1911 ซึ่งเป็นเวลาที่ราชวงศ์ Qing ล่มสลาย และจีนได้กลายเป็นประเทศสาธารณรัฐ รัฐบาลจีนจึงประกาศให้แพทย์จีนรักษาคนไข้ตามแผนตะวันตก แทนวิธีการรักษาแผนจีน

ความจริงการแพทย์แผนจีนโบราณ (Traditional Chinese medicine , TCM) ได้เกิดขึ้นครั้งแรกที่หุบเขา Huanghe และในเวลานั้นคนจีนมีความรู้เกี่ยวกับร่างกายในระดับพื้น ๆ อีกทั้งไม่เข้าใจหน้าที่ของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนั้นจึงไม่ได้เน้นการศึกษาเรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยเฉพาะ ในเวลาต่อมาความรู้ทางการแพทย์ของจีนได้พัฒนามากขึ้น จนสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 สาขา คือ สาขาสรีรศาสตร์ สาขาพยาธิวิทยา สาขาอายุรเวช สาขาเวชศาสตร์ และสาขาปฏิกิริยาที่ยาจีนมีต่อมนุษย์ วิทยาการทั้ง 5 สาขานี้ ได้ค่อย ๆ พัฒนาจนกลายมาเป็น TCM ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีหลายวิธีที่แตกต่างกันไปตามอาการโรค เช่น ใช้วิธีรักษาด้วยยาสมุนไพร (herbology) การฝังเข็ม (acupuncture) , moxibustion เป็นการใช้ความร้อนลนที่จุดฝังเข็ม , การกดจุด (acupressure) การบำบัดความปวดด้วยการนวด (massage therapy) การฝึกหายใจเพื่อเพิ่มพลังให้ร่างกาย (physical and breathing exercises) การรักษาโรคผิวหนัง (cutaneous scraping therapy) และ จี้กง (qi gong) โดยใช้สมุนไพรเป็นยารักษา ซึ่งได้ผลดี และนั่นก็คือเหตุผลที่ทำให้สมุนไพรจีนได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย


เมื่อเป็นเช่นนี้ ทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับสมุนไพรของจีน จึงเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่ง นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและจะมีต่อไปในอนาคต และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนจีนคิดว่า TCM ควรได้รับการเผยแพร่และยกย่องให้เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก แต่ก่อนจะทำเช่นนั้นได้ นักวิชาการจีนจะต้องแปลภาษาจีนเป็นภาษาต่าง ๆ หรือถอดความให้เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย และทันสมัย เพื่อให้คนต่างชาติทุกคนเข้าใจ

ในเบื้องต้น เราต้องเข้าใจก่อนว่าสมุนไพรจีนคืออะไร บางคนคิดว่าเป็นเปลือกไม้ ราก โคน หน่อ หัวของต้นไม้ แต่ในความเป็นจริง สมุนไพรจีนยังหมายถึงผลผลิตจากสัตว์ด้วย เช่น หนังวัว หนังหมู ไข่มุก ตุ๊กแก เปลือกหอย ดินขาว กรดกำมะถัน ฯลฯ ด้วย นั่นคือสมุนไพรจีน (di dao) เป็นสิ่งที่สามารถใช้รักษาโรคได้ คำว่า di dao แปลว่า สิ่งที่มาจากดิน เพราะถ้าดินดี และภูมิอากาศดี สมุนไพรที่ได้ก็จะดีด้วย

ในปี 1967 ท่านประธาน Mao Zedong ได้ริเริ่มโครงการ 523 ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลจีนใช้ต่อสู้โรคมาลาเรีย (ชื่อโครงการมาจากตัวเลขของวันที่ 23 เดือนพฤษภาคม) โดยมีนักวิทยาศาสตร์จีนเข้าร่วมในโครงการกว่า 500 คน เพื่อค้นหายาพื้นบ้านที่ใช้ต่อสู้มาลาเรีย ซึ่งได้ทำลายชีวิตคนจีนไปนับล้านคนทุกปี และเภสัชกรหญิง Tu Youyou แห่ง China Academy of Traditional Chinese Medicine ได้พบว่า สารที่สกัดได้จากต้น artemisinin (หรือ จิงฮาวซู) สามารถใช้รักษามาลาเรียได้ผลดีมาก ผลงานนี้ทำให้ Tu ได้รับครึ่งหนึ่งของรางวัลโนเบลสาขาแพทยศาสตร์ ประจำปี 2015 การที่โลกปัจจุบันยอมรับยาพื้นบ้านจีนในลักษณะนี้ ทำให้ผู้คนมีความเชื่อมั่นในคุณภาพ และประสิทธิภาพของยาจีน มากขึ้น

กระนั้นคนชาติอื่นก็ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับยาจีนในอีกหลายประเด็น เพราะวิธีการรักษาที่แพทย์ใช้ยาจีน ตามปกติจะใช้หลายวิธีร่วมกัน เช่น ใช้สมุนไพร ฝังเข็ม การกดจุดบนร่างกาย นวด (หรือจี้กง) ซึ่งวิธีเหล่านี้จะควบคุมการเคลื่อนไหวของอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย และจังหวะการหายใจเข้า-ออกของปอด บทบาทของการใช้สมุนไพรรักษาโรค จึงสามารถเทียบเคียงได้กับบทบาทของเทคโนโลยีเภสัชกรรมที่แพทย์ตะวันตกใช้


โดยทั่วไปเวลาคนไข้ไปหาหมอจีน หมอจะขอดูลิ้น สีหน้า และลักษณะผิวพรรณก่อน แล้วให้คนไข้เปล่งเสียงพูด เพื่อดูว่าคนไข้มีปัญหาในการหายใจหรือไม่ หรืออาจให้คนไข้กระแอม เพื่อดูว่าในลำคอมีเสมหะหรือไม่ แพทย์อาจสูดดมกลิ่นตัวคนไข้ เพราะเชื่อว่ากลิ่นตัวสามารถบอกระดับของสุขภาพของเจ้าของได้ แล้วอาจจะถามความรู้สึกว่า ร้อนหรือเย็น มีเหงื่อออกตามตัวมากหรือไม่ มีปัสสาวะและอุจจาระตามปกติหรือไม่ และอาจจะถามว่ารู้สึกกระหายน้ำบ่อยหรือไม่

คำตอบทั้งหมดของคนไข้จะช่วยแพทย์แผนจีนในการวิเคราะห์หาสาเหตุ แล้วแพทย์จะพยายามหาชุดยามาให้คนไข้กิน เพื่อจะได้บรรเทาอาการไข้ที่คนไข้กำลังเป็นในการรักษาแบบจีน แพทย์จีนเชื่อว่าในคนปกติ ร่างกายต้องอยู่ในสภาพสมดุล นั่นคือ แพทย์ต้องพยายามให้พลังแห่งชีวิต (qi) และความสมดุล (yin-yang) ในตัวคนไข้มีค่าคงตัว ซึ่งถ้ามี คน ๆ นั้นก็จะมีสุขภาพดี

เพราะจีนเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ดังนั้น อิทธิพลทางความคิดของแพทย์จีน จึงมีต่อบรรดาแพทย์ในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน และแม้แต่ไทยเอง ในปี 2004 จีนได้เชิญตัวแทนจากบรรดาประเทศในเอเชีย 20 ประเทศให้มาประชุมกันที่ปักกิ่ง เพื่อประมวลและรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับยาสมุนไพรจีน (TCM) ให้เป็นระบบเป็นครั้งแรก ทั้งนี้เพราะวิธีการรักษาที่มีอยู่ในปัจจุบันมีความหลากหลาย ที่แตกต่างกัน ทั้งในด้านปริมาณการใช้รักษาและคุณภาพของยาจีนในแต่ละประเทศ บรรดาแพทย์แผนจีนที่มาประชุมได้ใช้เวลาถกเถียงกันเป็นเวลานานเช่นว่า ตำแหน่งฝังเข็มที่ตำราจีนบอกนั้น มีชื่อว่าอะไร และตั้งอยู่ที่ใดในร่างกาย รวมถึงให้ทุกคนรู้ว่าแพทย์แผนจีนในแต่ละชาติใช้ยาจีนอะไรบ้าง

ในที่สุดที่ประชุมก็ได้ข้อตกลงกันว่า มียาจีนทั้งหมด 3,106 ชื่อ ที่จะต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้คนทั่วไปได้รับรู้ด้วย ต่อมาอีกหนึ่งปีองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ได้ประกาศยอมรับการประมวลองค์ความรู้ เรื่องการจัดแบ่งชนิดของเชื้อโรคและปัญหาสุขภาพที่เกิดจากโรค (ICD) International Statistical Classification of Diseases and Related Health Problems ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่องค์การ WHO ได้กล่าวถึงรายละเอียดต่าง ๆ ที่แพทย์แผนจีนรู้และยึดปฏิบัติ เอกสารนี้ได้ช่วยให้แพทย์แผนจีนสามารถวิเคราะห์หาสาเหตุของโรค อีกทั้งช่วยบริษัทประกันสุขภาพให้สามารถคิดค่าประกันและค่าเสียหายได้ดีขึ้น และช่วยให้นักระบาดวิทยาสามารถวางแผนการวิจัยต่อไปในอนาคตได้ เพราะข้อมูลได้ช่วยให้เจ้าหน้าที่สุขภาพสามารถแปลสถิติการเสียชีวิตของคนไข้ได้ถูกต้องยิ่งขึ้น


ตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมานี้ ผู้นำจีนได้พยายามผลักดันและส่งเสริมยาพื้นบ้าน (TCM) ของจีนให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติมากขึ้นว่าเป็นยาคุณภาพ จึงสมควรเป็นที่ต้องการของคนไข้ทั่วโลก ดังนั้น รัฐบาลจีนจึงดำริจะให้จีนเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อให้ชาวต่างชาติจำนวนล้านเดินทางมาจีน เพื่อรับประสบการณ์ TCM โดยตรง และในกรณีที่ไม่สะดวกจะเดินทางมา จีนได้จัดตั้งศูนย์ TCM ขึ้น ที่เมืองสำคัญต่าง ๆ ในโลกประมาณ 30 แห่ง เช่น ที่ Barcelona ในสเปน , Budapest ในฮังการี และ Dubai ที่ United Arab Emirates เพื่อโฆษณาและขายสินค้า TCM และให้โลกรู้ว่า TCM เป็นยาสากลที่มีราคาถูกกว่ายาตะวันตกมาก อีกทั้งเป็นตัวยาที่สามารถหาได้ง่ายและได้มากกว่าด้วย

การ “โฆษณา” ในลักษณะนี้ ได้ทำให้แพทย์หลายคน ซึ่งได้รับการฝึกสอนตามแบบแผนแพทย์ตะวันตกรู้สึกกังวล เพราะเชื่อว่า วิธีการและยา TCM ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศจีน เป็นกระบวนการที่ไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์มาก เพราะไร้การสนับสนุนจากการทดลองภาคสนามอย่างกว้างขวาง ดังนั้น การใช้ยาจีนบางตัว จึงอาจนำมาซึ่งภัยอันตราย จนทำให้คนไข้เสียชีวิตได้ สถิติในปี 2018 ยังแสดงให้เห็นอีกว่า องค์การอาหารและยาของจีนได้รับรายงานการร้องเรียนเรื่องผลกระทบในทางลบในการใช้ TCM เป็นจำนวนกว่า 230,000 เรื่อง


เมื่อตัวเลขการร้องเรียนมีมากเช่นนี้ บรรดาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในโลกตะวันตก จึงตั้งประเด็นสงสัยว่า เหตุใดองค์การอนามัยโลกจึงสนับสนุน TCM ที่กำลังทำให้คนจำนวนมากล้มป่วย ความบกพร่องคงเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น หลักการรักษาด้วยยา TCM นั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความคิดที่ว่า qi พลังแห่งชีวิต สามารถเลื่อนไหลไปได้ในร่างกายคนตามเส้นทางที่เรียกว่า meridian ซึ่งมีบทบาทมากในการทำให้คนมีสุขภาพดี ในกรณีการรักษาที่ใช้วิธีฝังเข็ม แพทย์แผนจีนมักใช้เข็มจำนวนมาก ปักลงที่ผิวหนังตรงบริเวณ meridian เพื่อเปลี่ยนทิศทางการไหลของพลังแห่งชีวิต ซึ่งคาดว่าจะนำมาของสุขภาพที่ดี การจัดการทั้งหลายนี้ เมื่อมีความไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นวิธีการรักษา ตำแหน่งการฝังเข็ม หรือการใช้สมุนไพรก็เพื่อให้พลัง และความสมดุลของ yin และ yang ในร่างกายคนไข้อยู่ในสมดุล

และเมื่อเทคโนโลยีการรักษาแบบจีนที่ใช้ TCM เป็นไปในแนวนี้ แพทย์แผนตะวันตกจึงไม่รู้สึกศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ของ TCM มาก ด้านแพทย์แผนจีนก็ไม่เลื่อมใสในประสิทธิภาพของการรักษาแบบตะวันตกเช่นกัน เพราะแพทย์แผนตะวันตกพยายามหาสาเหตุของการเป็นโรคก่อน และมักใช้คนไข้จำนวนมากเป็นหนูทดลองเพื่อหาประสิทธิภาพของยา จนกระทั่งได้ผลชัดเจนแล้ว จึงอนุมัติให้ใช้ยารักษาคนไข้ได้


แต่ในมุมมองของแพทย์แผนจีน วิธีคิดแบบตะวันตก เป็นการมองโลกในแง่ที่ง่ายจนเกินไป เพราะสุขภาพของคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน การเหมารวมข้อมูลจากคนจำนวนมากว่าสามารถใช้ได้ดีกับคน ๆ หนึ่ง จึงเป็นเรื่องที่ใครก็ไม่ควรทำ ด้วยเหตุนี้วิธีการรักษาที่ดีแพทย์จีนจึงยืนยันว่าต้องใช้วิธีการผสมผสานตัวยาหลายขนาน ไม่ใช้ตัวยาเพียงตัวเดียว

เมื่อจุดยืนของทั้งสองฝ่ายแตกต่างกันมากเช่นนี้ คนกลางซึ่งได้แก่ องค์การ National Institutes of Health (NIH) ของสหรัฐจึงได้จัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาเพื่อไกล่เกลี่ยวิธีการปฏิบัติที่ขัดแย้งกัน โดยให้แพทย์แผนจีนใช้วิธีหาประสิทธิภาพในการรักษาด้วยการทดสอบทางคลินิกมากขึ้น นั่นคือ ทำวิธี TCM ให้ “ทันสมัย”ขึ้น

ในหนังสือ ICD ที่ทาง WHO ตั้งใจจะให้เป็นเอกสารมาตรฐาน ได้มีการพูดถึงวิธีการที่แพทย์ทุกคนใช้ในการวิเคราะห์และวินิจฉัยโรค รวมถึงสาเหตุของโรคต่าง ๆ ด้วย เพื่อให้แพทย์หาวิธีรักษา ตัวอย่างเช่น คนไข้ที่แพทย์แผนตะวันตกคิดว่าเป็นเบาหวาน ก็อาจเข้ารับการรักษาโดยการฝังเข็มและทายาสมุนไพร ในบทสุดท้ายของเอกสาร ICD มีการใช้ศัพท์ผสมระหว่าง TCM กับศัพท์แพทย์ตะวันตกมากมาย เช่น Spleen Qi Deficiency (คือ อาการพร่อง Qi ในม้าม) และ Liver Qi stagnates (อาการเฉื่อยชาของตับ) เป็นต้น


อย่างไรก็ตามในภาพรวม แพทย์แผนตะวันตกยังไม่พบสิ่งที่เรียกว่า qi หรือ meridian ในร่างกายคน แต่ปัจจุบัน TCM มีสมุนไพรตัวอย่างหนึ่งที่ได้รับการพิสูจน์ว่าได้ผล นั่นคือ สมุนไพร artemisinin หรือ จิงฮาวซู แต่สำหรับตัวยาอื่น ๆ ที่ยังไม่ประสบความสำเร็จมากเท่า artemisinin ยังต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ เพราะข้อมูลที่ได้ยังมีน้อยและคุณภาพยายังไม่สูงมาก ดังนั้นหลักฐานที่มีจึงนับว่าไม่มากพอจะสรุปได้ว่า TCM สามารถทำงานได้ดี

โครงการ TCM ของจีน ได้ถือกำเนิดเพราะประธาน Mao Zedong ต้องการให้คนจีนจำนวนมากที่ยากจนได้มีโอกาสใช้ยา TCM ที่จีนผลิตเอง ทั้ง ๆ ที่ Mao เองก็ไม่เชื่อในประสิทธิภาพของ TCM มาก แต่ประธานาธิบดีจีนคนปัจจุบัน คือ Xi Jinping ศรัทธา TCM มาก ดังนั้นในปี 2016 Xi จึงได้กำหนดให้การพัฒนา TCM เป็นนโยบายของชาติภายในปี 2020 และให้การผลิต TCM เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ภายในปี 2030 ด้วยการส่งเสริมให้ประเทศมีธุรกิจการท่องเที่ยวเชิง TCM โดยให้ผู้คนเข้ารับการรักษาด้วยวิธี TCM สำหรับนักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย ซึ่งชอบหลั่งไหลเข้ามณฑล Hainan เพื่อเข้ารับการรักษา โดยแพทย์ TCM และรัฐบาลจีนได้วางแผนจะตั้งศูนย์ TCM แบบเดียวกันนี้ ภายในประเทศจีนอีก 30 แห่ง ในปี 2025 ด้วย

เมื่อโครงการ Belt and Road ถือกำเนิด จีนได้กำหนดให้เส้นทางสายนี้มีศูนย์กลางการบริการและศูนย์กลางการศึกษา TCM ตลอดเส้นทางไปจนถึง Malaysia , Kazakhstan , Hungary และ United Arab Emirates และในปี 2022 รัฐบาลจีนก็ได้พบว่าเงินเข้าประเทศจากการขาย TCM มีเพิ่มขึ้นมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา


พัฒนาการของ TCM ขั้นต่อไป คือ การศึกษาทุกแง่มุมของปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวยา เชื้อโรค และยีน (gene) ต่าง ๆ ในตัวคน เพราะอาการป่วย และการรักษาให้หาย มิได้เกิดจากยีน 1-2 ตัว แต่มาจากยีนหลายตัวในร่างกาย รวมถึงการกลายพันธ์ของเชื้อโรคอย่างรวดเร็ว และคุณภาพของตัวยาที่ขึ้นกับสถานที่ปลูก เวลาเก็บเกี่ยว น้ำ และปุ๋ยที่ให้ต้นพืช/สัตว์ ผลการวิเคราะห์ในภาพรวมโดย Big Data จะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมาก เพราะไม่เน้นองค์ประกอบหนึ่งใดของสมุนไพรเพียงอย่างเดียว ในขณะที่การรักษาแบบตะวันตกจะเน้นการหาตัวยาที่เป็นโมเลกุลมารวมกัน การรักษาแบบ TCM จึงเป็นการรักษาแบบ synergetic ที่ทุกปัจจัยทำงานร่วมกัน เพื่อให้รู้ชัดว่าเหตุใดยาจึงทำงานได้กับใคร และไม่ได้กับใคร เพราะเหตุใด

อ่านเพิ่มเติมจาก “A critical examination of the main premises of Traditional Chinese Medicine” โดย M. Eigenschink et. al. ใน Wiener Klinische Wochenschrift ฉบับที่ 132 หน้า 260-273 doi: 10.1007/s00508-020-01625-w. ปี 2020


สุทัศน์ ยกส้าน :ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ"จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น