xs
xsm
sm
md
lg

วว. หารือเอกชน มุ่งพัฒนารับรองความปลอดภัย รถโดยสารพลังงานแบตเตอรี่ EV – Bus

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง (ศทร.) ร่วมหารือกับ กลุ่มบริษัท โชคนำชัย และบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด เจ้าของแบรนด์มินิบัสอลูมิเนียม “SakunC หรือ สกุลฎ์ซี” สัญชาติไทย ในกรอบพัฒนาการทดสอบและรับรอ ความปลอดภัยรถโดยสารพลังงานแบตเตอรี่ (EV -Bus) ที่จะมีการออกแบบและผลิตใช้งานในประเทศไทย

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. โดย ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง กลุ่มบริษัท โชคนำชัย และบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด เจ้าของแบรนด์มินิบัสอลูมิเนียม “SakunC หรือ สกุลฎ์ซี” สัญชาติไทย ได้ร่วมหารือในกรอบประเด็นเรื่อง การพัฒนาการทดสอบและรับรองความปลอดภัยรถโดยสารพลังงานแบตเตอรี่ (EV - Bus) ที่จะมีการออกแบบและผลิต ใช้งานในประเทศไทย ซึ่งจำเป็นต้องมีการทดสอบ โครงสร้างหลักของรถ เช่น คัสซี ตัวถัง ระบบรองรับน้ำหนัก ห้องโดยสาร ฯลฯ รวมทั้งชุดแผงแบตเตอรี่ (Battery Pack) ซึ่งติดตั้งในตัวรถ เพื่อให้บริษัทฯ มีความมั่นใจว่า ได้นำเสนอรถโดยสารพลังงานแบตเตอรี่ Aluminum Bus สัญชาติไทย ที่มีน้ำหนักเบา ประหยัดน้ำมัน แข็งแรงทนทาน มีคุณภาพสูงและมีความปลอดภัยสูงสุดแก่ผู้ใช้บริการในประเทศไทย “


“วว. มีห้องปฏิบัติการทดสอบและพัฒนา เทคโนโลยีขนส่งทางรางและยานยนต์ขนส่ง ภายใต้ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง ซึ่งมีทักษะประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการบริการทดสอบด้านยานยนต์แก่อุตสาหกรรมและผู้ประกอบการไทยและต่างชาติมาอย่างยาวนาน พร้อมทั้งมีห้องปฏิบัติการ ทดสอบยานยนต์ที่ทันสมัยและมีความยืดหยุ่นสูง สามารถให้การสนับสนุนการพัฒนาวิธีการให้สอดคล้องกับการออกแบบและหลักวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์หรืออุตสาหกรรมต่างๆ จึงสามารถสนับสนุนงานทดสอบรับรองความปลอดภัยของรถโดยสารพลังงานแบตเตอรี่ (EV - Bus) ได้เป็นอย่างดี”  .... ผู้ว่าการ วว. กล่าว


ดร.อาณัติ หาทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบ มาตรฐานระบบขนส่งทางราง วว. กล่าวเพิ่มเติมว่า การทดสอบสมรรถนะของชุดแผงแบตเตอรี่ (Battery Pack) ที่ติดตั้งในตัวรถโดยสารทั้ง 2 ขนาด คือ ความยาว 7 เมตร และ12 เมตร จะดำเนินการตามมาตรฐาน UNECE R100 ซึ่งมีรายการทดสอบทั้งสิ้น 15 รายการ อาทิเช่น การป้องกันการสัมผัสโดยตรงและทางอ้อม (Protection Against Direct Contact and Indirect Contact) ความต้านทานการแยกอิสระทางไฟฟ้า (Isolation Resistance) ความปลอดภัยในการใช้งาน (Functional Safety) และการทดสอบชุดกักเก็บพลังงานอัดประจุซ้ำ (Rechargeable Energy Storage System) ที่ประกอบไปด้วย การสั่นสะเทือน (Vibration) การต้านทานการเปลี่ยนอุณหภูมิ แบบฉับพลันและแบบคาบ (Thermal Shock and Cycling) การชน หรือการกระแทก (Mechanical Impact) การทนไฟ (Fire Resistance) เป็นต้น โดย วว. สามารถดำเนินการ เตรียมการทดสอบได้ทั้งหมดทุกรายการ


นอกจากนั้นจากการหารือครั้งนี้ ทางบริษัทฯ ยังคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดแก่ผู้ใช้บริการในประเทศไทย โดยต้องการให้ วว. พัฒนาการทดสอบเพื่อยืนยัน ความปลอดภัยของรถโดยสารพลังงานแบตเตอรี่ทั้งคัน ในสภาพการใช้งานจริง ซึ่งจะเป็นการทดสอบ การประกอบหรือการเชื่อมต่อ (Integration Test) ชุดแผงแบตเตอรี่ (Battery Pack) เข้ากับโครงสร้างของรถโดยสารพลังงานแบตเตอรี่ โดยมีการออกแบบเป็นพิเศษ ให้มีความปลอดภัยต่อการชน การพลิกคว่ำ น้ำท่วมขัง ฯลฯ ซึ่งเป็นการทดสอบ ขั้นสูงกว่ามาตรฐานกำหนดที่ต้องพัฒนาวิธีการขึ้นเองตามการออกแบบและหลักวิศวกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สอดคล้อง กับสภาพการใช้งานและสภาวะถนนและบรรยากาศในประเทศไทย ซึ่งต้องอาศัยการบูรณาการองค์ความรู้และทักษะความเชี่ยวชาญในหลากหลายด้าน (Multi - Disciplinary)


ทั้งนี้ กลุ่มบริษัท โชคนำชัย ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับ วว. เป็นระยะเวลา 3 ปี (2563-2566) ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศไทย ให้เกิดการพัฒนาชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ที่สามารถออกแบบ ผลิต ทดสอบ และรับรองคุณภาพตามมาตรฐานสากล ลดการนำเข้าและส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยมีขอบข่ายความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้

1. สร้างความร่วมมือในด้านการพัฒนามาตรฐาน การทดสอบ และการรับรองผลิตภัณฑ์ของชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ยานพาหนะการขนส่งสมัยใหม่ ทั้งทางบก ทางราง และทางน้ำ

2. สร้างความร่วมมือในด้านการออกแบบแล ะการจำลองสภาวะทางวิศวกรรมของชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ยานพาหนะการขนส่งสมัยใหม่ทั้งทางบก ทางราง และทางน้ำ ให้เหมาะสมกับความต้องการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. สนับสนุนการพัฒนาการทวนสอบ การทดสอบ และการรับรองผลิตภัณฑ์ของชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ยานพาหนะการขนส่งสมัยใหม่ทั้งทางบก ทางราง และทางน้ำ ในประเทศ

4. สนับสนุนให้เกิดการผลิตชิ้นส่วนในอุตสาหกรรม ขนส่งและโลจิสติกส์ที่ได้คุณภาพตามมาตรฐานสากล
5. พัฒนาและสนับสนุนอุตสาหกรรม ในด้านการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ยานพาหนะการขนส่งสมัยใหม่ ทั้งทางบก ทางราง และทางน้ำ

6. บูรณาการการทํางานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมขนส่งในการส่งเสริมและพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น