xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อแพทย์วิจัยยาโดยใช้คนเป็นหนูตะเภา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปี 1891 (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระปิยะมหาราช) เป็นปีที่สถาบัน Robert Koch-Institute ในประเทศเยอรมนี ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อการวิจัยด้านจุลชีววิทยา (Koch ได้รับรางวัลโนเบล สาขาแพทยศาสตร์ ประจำปี 1905 จากผลงานการพบเชื้อโรคร้ายแรงหลายชนิด เช่น วัณโรค อหิวาต์ และโรค anthrax ซึ่งเป็นโรคระบาดในสัตว์เลี้ยง


ตลอดเวลาร่วม 100 ปีที่ผ่านไป โลกไม่ได้ข่าวอัปมงคลใด ๆ เกี่ยวกับสถาบันเลย จนกระทั่งถึงปี 2001 เมื่อสถาบัน Max Planck กับองค์กร Deutsche Forschungsgemeinschaft (DFG) ซึ่งเป็นหน่วยงานให้ทุนวิจัยของประเทศได้ยุบรวมกัน และนักวิจัยท่านหนึ่งได้ศึกษาประวัติความเป็นมาและการทำงานของสถาบันวิจัยต่าง ๆ ในช่วงปี 1933-1945 ซึ่งเป็นเวลาที่ประเทศเยอรมนีกำลังตกอยู่ภายใต้การปกครองของพรรคนาซี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้วิเคราะห์ผลงานของสถาบัน Koch และพบว่า ในช่วงเวลา 42 ปีแรก สถาบัน Koch มีผู้อำนวยการหนึ่งคน และนักวิจัยอาวุโส 6 คน ทุกคนไม่มีใครมีเชื้อชาติยิวหรือสัญชาติยิวเลย ครั้นเมื่อพรรคนาซีเริ่มเรืองอำนาจในปี 1933 และได้เข้าปกครองประเทศ ทิศทางการวิจัยและบุคลากรของสถาบันก็เริ่มเปลี่ยนตามนโยบายของท่านผู้นำ Adolf Hitler โดยในเบื้องต้นสถาบันได้ออกคำสั่งปลดนักวิชาการ 3 คน ซึ่งมีเชื้อชาติยิว คือ Claus Schilling , Gerhard Rose และ Eugen Haagen


ในอดีต Claus Schilling เคยทำงานเป็นแพทย์ที่โรงพยาบาลในประเทศ Togo (ซึ่งอยู่ในทวีปแอฟริกา ระหว่างประเทศ Ghana กับ Benin และมีเมืองหลวงชื่อ Lomé) ความสนใจส่วนตัวของ Schilling คือ การสังเคราะห์ยาต่อสู้โรคมาลาเรีย

ในการทดสอบประสิทธิภาพของยานั้น Schilling ใช้นักโทษในค่ายกักกัน Dachau ประมาณ 1,200 คน เป็นหนูตะเภา (Dachau เป็นสถานที่กักขังนักโทษการเมืองที่กองทหารนาซีกล่าวหาว่าเป็นภัยต่อระบบการปกครอง ตั้งอยู่ในแคว้น Bavaria ของเยอรมนี) ที่นั่นมีนักโทษการเมืองประมาณ 2 แสนคน และหนูทดลองเหล่านี้ได้รับเชื้อมาลาเรียเป็น ๆ เข้าร่างกาย ซึ่งจะทำให้ป่วย แล้ว Schilling ก็ได้สังเคราะห์ยา เพื่อใช้ทดลองรักษา ผลปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 300-400 คน

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติในปี 1945 กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรได้บุกจับตัว Schilling เพื่อส่งศาลทหาร ซึ่งได้ตัดสินประหารชีวิต ขณะ Schilling ถูกนำตัวไปยิงเป้า เขาได้ขอให้ศาลนำผลงานของตนออกเผยแพร่ แต่ศาลปฏิเสธ

เมื่อ Schilling ถูกปลดจากตำแหน่ง หัวหน้ากลุ่มวิจัยคนต่อไปคือ Gerhard Rose ซึ่งเคยเป็นแพทย์ทำงานในประเทศจีน และสนใจเรื่องยาที่ใช้รักษาโรคไข้รากสาด (typhus) ในการทดสอบประสิทธิภาพของยา Rose ได้ใช้นักโทษจากค่ายกักกันหลายแห่งในประเทศเยอรมนีเป็นหนูตะเภา และมีผลทำให้คนนับพันต้องเสียชีวิต เมื่อสงครามโลกยุติ ศาลทหารที่เมือง Nuremberg ได้ตัดสินจำคุก Rose ตลอดชีวิต แต่ Rose ได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระในปี 1955 อีก 7 ปีต่อมา เขาก็ได้รับเลือกเป็นสมาชิกของสมาคม Max Planck อันเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ

ด้าน Eugen Haagen เป็นนักไวรัสวิทยาที่สนใจเรื่องยารักษาโรคไข้เหลือง (yellow fever) และไข้รากสาด และได้ใช้นักโทษจากค่ายกักกันที่ตั้งอยู่ในแคว้น Alsace เป็นหนูทดลอง เมื่อสงครามโลกยุติ ศาลทหารที่เมือง Nuremberg ได้พิจารณาและตัดสินข้อกล่าวหาว่า Haagen เป็นฆาตกรที่ได้ทดลองทำให้คนป่วยเป็นโรคไข้เหลืองอย่างจงใจ และศาลก็ได้พบว่า Haagen ผิดจริง แม้เขาจะได้รับอนุญาตจากหน่วยสืบราชการลับของนาซีให้ใช้คนเป็นหนูทดลองอย่างไม่จำกัดจำนวนก็ตาม Haagen จึงถูกขัง แต่ได้รับการปลดปล่อยตัวเป็นอิสระในเวลาต่อมาอีกไม่นาน และได้เดินทางไปรับตำแหน่งศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัย Tübingen เพื่อทำวิจัยด้วยทุนของ DFG ในปี 1957

ในความเป็นจริง เหตุการณ์ที่แพทย์ใช้คนเป็นหนูทดลองนี้ เป็นเรื่องที่สังคมวิชาการได้กระทำกันเป็นเวลาก่อนนี้นานแล้ว แต่มักไม่มีใครพูดถึง เพราะสังคมยกย่องและนับถือแพทย์มากว่าเป็นคนที่มีจริยธรรมและศีลธรรม ดังจะเห็นได้จากเวลาเกิดโรคระบาดทีไร แพทย์จะพยายามหายามารักษา และหาวัคซีนมาป้องกัน โดยทำการวิจัย ซึ่งต้องใช้เงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาล แต่แพทย์บางคน ได้ใช้โอกาสนี้ในการทดลองยาหรือวัคซีนที่ตนศรัทธาหรือที่ตนผลิตเองกับคนไข้ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของการล้มป่วย และศึกษาผลกระทบของยาและวัคซีนที่ใช้

ในอดีตแพทย์มักไม่บอกคนไข้ที่ตนใช้เป็นหนูทดลองว่ากำลังทำวิจัยเรื่องอะไร การไม่มีข้อมูลใด ๆ ทำให้คนไข้มักเข้าใจว่า ตนกำลังได้รับการรักษาอย่างเต็มที่ ดังนั้นเวลาคนไข้เสียชีวิต จึงไม่มีใครเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ในปัจจุบัน ทุกประเทศมีกฎหมายควบคุมการวิจัยที่ใช้มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตทดลองแล้ว

แต่ก็เป็นเรื่องปกติเหมือนกฎหมายทั่วไป ที่ผู้ใช้กฎหมายและผู้ที่อยู่ใต้กฎหมายมีการหลบเลี่ยง โดยอาศัยการตีความ ดังนั้นการละเมิดกฎหมายนี้ และการตรวจจับคนที่กระทำผิดด้านจริยธรรมของการวิจัยในประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งมักขาดมาตรการที่เข้มแข็ง และขาดบทลงโทษที่เหมาะสม จึงทำให้มีการประพฤติผิดจริยธรรมในหมู่นักวิจัย ทั้งในโรงพยาบาล สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า และศูนย์บริการด้านจิตบำบัดมากมาย โดยคนที่เป็นหนูตะเภาอาจจะไม่รู้ตัวเลยว่า ตนกำลังเป็นสัตว์ทดลอง และอาจไม่เข้าใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตัวเองทั้งในระยะยาว และระยะสั้นก็เป็นได้

ไม่เพียงแต่ในประเทศเยอรมนีเท่านั้น ที่มีตัวอย่างฉาวโฉ่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศมีฆาตกรในชุดกาวน์สีขาวเดินเพ่นพ่านที่ไป-มาในโรงพยาบาล เพื่อหาเหยื่อไปทดลองยา ในประเทศอังกฤษก็เช่นกัน เมื่อปี 1967 Maurice Henry Pappworth ได้เรียบเรียงหนังสือชื่อ Human Guinea Pigs ซึ่งได้กล่าวถึงการทำวิจัยของแพทย์บางคน ที่ได้ทดลองยากับคนไข้ จนทำให้หลายคนต้องเสียชีวิต เหมือนดังที่ทหารนาซีเคยทรมานเชลยศึกในสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะแพทย์เหล่านั้นไม่ได้ให้ความสำคัญต่อชีวิตของคนมาก และไม่ยินดีที่จะอธิบายให้บรรดาหนูทดลองทั้งหลายฟังเกี่ยวกับยาที่บริโภคเข้าไป เพราะคิดว่าหนูทดลองเป็นคนโง่ จนมิอาจจะเข้าใจอะไร ๆ ได้เลย หรืออาจจะเข้าใจผิดไปก็ได้

แต่เมื่อศาลยุติธรรมที่เมือง Nuremberg ได้ตัดสินให้แพทย์ต้องอธิบายให้บรรดา “หนู” เข้าใจและยินยอมก่อนจะลงมือ “รักษา” Pappworth จึงได้ติดตามอ่านงานวิจัยของแพทย์อังกฤษที่ได้ทำไปในช่วงเวลานั้น และพบว่ามีการรักษาที่ผิดจริยธรรมเป็นจำนวนมาก Pappworth จึงเขียนจดหมายถึงบรรดาบรรณาธิการของวารสารต่าง ๆ และบอกว่าได้ “เห็น” การวิจัยที่ผิดจริยธรรมหลายชิ้น แต่กองบรรณาธิการได้ปฏิเสธที่จะเผยแพร่ข้อสังเกตของ Pappworth ซึ่งอาจเป็นเพราะกองบรรณาธิการมีบุคคลที่ Pappworth พาดพิงถึงก็เป็นได้

เมื่อถูกปิดกั้น Pappworth จึงเรียบเรียงหนังสือชื่อ Human Guinea Pigs ออกเผยแพร่ โดยได้อ้างถึงกรณีตัวอย่างกว่า 200 กรณี ที่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการของอังกฤษและอเมริกา หนังสือของ Pappworth ได้ทำให้สังคมตกใจ และผิดหวังในตัวแพทย์ ซึ่งได้เคยกล่าวคำสาบานว่า จะพิทักษ์รักษา และไม่ทำร้ายชีวิตใครผู้ใด โดยหนังสือได้กล่าวถึงการทดลองที่ใช้ทารก ซึ่งมีความบกพร่องทางด้านสติปัญญา เพื่อทดสอบว่า ถ้าร่างกายทารกเหล่านั้นขาดออกซิเจน จะแสดงอาการเช่นไร และแพทย์ที่สนใจเรื่องนี้ก็ได้คำตอบว่า ทารกจะร้องไห้อย่างรุนแรง (นี่เป็นการทรมานเด็ก)


Pappworth ยังได้พบอีกว่า แพทย์บางคนต้องการจะรู้ว่าเวลาคนปกติได้รับเชื้อโรคตัวเป็น ๆ เข้าร่างกาย จะรู้สึกหรือมีอาการอย่างไร จึงได้ทดลองฉีดเชื้อมาลาเรียเป็น ๆ หรือแบคทีเรียที่ทำให้คนเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเข้าร่างกาย บางคนก็ได้รับเชื้อโปลิโอหรือเซลล์มะเร็งตับเข้าร่างกาย โดยที่เจ้าตัวไม่รู้ตัว หรือในกรณีเด็กที่เป็นโรคเบาหวาน นักวิจัยบางคนได้ทดลองไม่ให้เด็กได้รับฮอร์โมน insulin ซึ่งจะทำให้ร่างกายเด็กแสดงอาการโคม่า (coma) และหลังจากที่เด็กเสียชีวิต แพทย์ก็ได้นำตับและไตของเด็กไปวิเคราะห์ เพื่อเขียนบทความวิจัยออกมา แล้วอ้างว่าเป็นผลงานที่สร้างองค์ความรู้ใหม่ แต่แท้จริงแล้ว ก็เพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการของผู้วิจัยมากกว่า

เมื่อ Pappworth เปิดโปงการวิจัยที่ผิดจริยธรรมเช่นนี้ สำนักพิมพ์ต่าง ๆ จึงปฏิเสธการจัดพิมพ์หนังสือของเขา เพราะกลัวการฟ้องร้อง ด้วยมีการพาดพิงถึงคนหลายคน

ในประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีการวิจัยที่ใช้คนศึกษาอาการของคนที่เป็นโรค syphilis ในระยะต่าง ๆ เวลาไม่ได้รับยา penicillin เพื่อรักษา หนังสือของ Pappworth จึงทำให้ทุกคนในวงการตื่นตัวเรื่องการวิจัยที่ละเมิดจริยธรรมมากว่า จำเป็นต้องได้รับการควบคุมให้เป็นไปตามทำนองคลองธรรม


สำหรับการวิจัยเรื่องวิธีรักษาโรค syphilis ที่กระทำ ณ เมือง Tuskegee ในรัฐ Alabama โดยใช้ชาวอเมริกันที่มีเชื้อสายแอฟริกันเป็นหนูตะเภา ก็เป็นการวิจัยหนึ่งที่ผิดจริยธรรมอย่างรุนแรง เพราะแพทย์ผู้วิจัยต้องการดูผลกระทบด้านสุขภาพและจิตใจของคนที่ป่วยเป็นโรคซิฟิลิส โดยใช้คน 399 คน เป็นหนูทดลอง

ในการวิจัยนี้แพทย์มิได้บอกคนที่ได้เชื้อซิฟิลิสเข้าร่างกายอะไรเลย ไม่ได้ให้ความรู้เรื่องวิธีป้องกันโรค และวิธีรักษาใด ๆ แต่กลับบอก “หนูตะเภา” ว่า เลือดในร่างกายของเขาไม่ดี จึงต้องเข้ารับการรักษา โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ และแพทย์ยังขัดขวางไม่ให้หนูตะเภาทั้งหลายเข้ารับการรักษาจากองค์กรภายนอกด้วย ทั้ง ๆ ที่ในเวลานั้น โลกรู้จักยา penicillin แล้ว แต่แพทย์ก็ห้ามมิให้คนไข้รับยา

โครงการ Tuskegee จึงเป็นโครงการวิจัยโรคซิฟิลิสที่หลอกผู้คนให้เข้ารับการ “รักษา” แต่ไม่บอกจุดประสงค์ที่แท้จริงของงานวิจัย โดยใช้คนที่มีฐานะทางสังคมค่อนข้างต่ำ คือ ยากจน และค่อนข้างไร้การศึกษา ตลอดระยะเวลาที่วิจัย นักวิจัยได้ขัดขวางผู้ถูกวิจัยไม่ให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถบรรลุจุดประสงค์ของตนได้

เมื่อโครงการ Tuskegee ถูกเปิดเผย สังคมทั่วไปมีความเห็นในภาพรวมว่า การวิจัยนี้เป็นการใช้วิทยาศาสตร์เพื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องมีการจำกัดขอบเขตการให้อำนาจแก่นักวิจัย เพื่อจะได้ถูกต้องตามหลักจริยธรรม


ผลที่ตามมาคือ ในวันที่ 16 พฤษภาคม ปี 1997 ประธานาธิบดี Bill Clinton ของสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศขอโทษอย่างเป็นทางการต่อผู้ถูกทดลองในโครงการ Tuskegee ที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะการวิจัยนี้ ได้กระทำไปโดยใช้คนผิวสี เป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทางสังคมของผู้คน ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง จนทำให้คนทั่วไปและทั่วโลกรู้สึกไม่ไว้วางใจนักวิจัยอีกต่อไป หรือไม่เชื่อในความสุจริตใจของนักวิจัย โดยได้เน้นให้เห็นว่า นักวิจัยจำต้องมีศีลธรรมและมีจริยธรรมเวลาวิจัย เช่น ไม่ล่อหลอกผู้อื่นมาเป็นตัวทดลอง โดยอ้างว่าเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางวิทยาศาสตร์

ที่ประเทศ Guatemala ในทวีปอเมริกาใต้ เมื่อ 73 ปีก่อน ก็มีคณะแพทย์ชาวอเมริกัน ซึ่งได้ศึกษาผลกระทบของโรค syphilis ที่มีต่อทหาร นักโทษการเมือง คนบ้า โสเภณี และทารก โดยนักวิจัยได้มอบเงินเล็กน้อยให้แก่คนเหล่านี้ เพื่อให้ไปเที่ยว จนติดโรคกลับมา แล้วเข้ารับการรักษา เพราะคนเหล่านี้มีฐานะยากจน ทำให้คนมีอาการ syphilis รุนแรงในระดับต่าง ๆ กัน เช่น อาจมีเลือดไหลเวลาปัสสาวะ ยิ่งไปกว่านั้น คนป่วยเหล่านี้อาจแพร่เชื้อสู่ภรรยา ลูก และคนใกล้เคียงก็ได้ด้วย จนทำให้มีอาการพิการในที่สุด เมื่อโครงการวิจัยนี้ได้รับการเปิดโปงในปี 2010 ว่ามีคนที่เกี่ยวข้อง 1,308 คน ทางรัฐบาล Guatemala ได้ประกาศฟ้องรัฐบาลอเมริกัน โดยเรียกค่าเสียหายและให้ประธานาธิบดี Barack Obama ออกคำแถลงการณ์ขอโทษ รวมทั้งให้ประณามการวิจัยนี้ด้วย ซึ่ง Obama ก็ได้ทำตามคำขอร้องนั้น

เพราะเหตุว่ามนุษย์ต้องเผชิญโรคร้ายแรงหลายชนิดตลอดเวลา ทั้งโรคที่ได้มีมาเป็นเวลานานแล้ว และยังไม่สูญพันธุ์ ตลอดจนถึงโรคที่จะอุบัติใหม่ซึ่งอาจจะร้ายแรงกว่าโรคในอดีตมาก เพราะเชื้อต่าง ๆ ได้กลายพันธุ์ไปแล้ว ดังนั้นการวิจัยยาที่ใช้รักษาหรือการค้นหาวัคซีนที่ใช้ป้องกันโรค จึงเป็นการทำวิจัยที่จะต้องมีอย่างต่อเนื่อง ให้นักวิจัยต้องทำงานอย่างมีจริยธรรมและคุณธรรม โดยไม่ให้คนที่ถูกทดลองต้องประสบภาวะพิการหรือตาย เพื่อให้ได้องค์ความรู้ใหม่ที่สะอาดและปราศจากมลทินใด ๆ ซึ่งอาจทำได้โดยใช้สัตว์ทดลอง เช่น ลิง ที่มีสรีระและ DNA คล้ายคนมาก แต่ก็ต้องเป็นการวิจัยที่ควรระวังในประเด็นเรื่อง การทารุณสัตว์ เช่นกัน

ทางออกสำหรับเรื่องนี้ คือ ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Machine Learning ผนวกกับองค์ความรู้ขั้นสูงด้านชีววิทยาโมเลกุล เพื่อคัดเลือกยา และสังเคราะห์ยาโดยใช้สารประกอบที่เหมาะสม แล้วศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพื่อต่อสู้กับสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วที่รู้จักปรับตัว และปลอมตัวได้อย่างรวดเร็ว จนมนุษย์เราตั้งตัวไม่ทัน

นี่จึงเป็นสงครามชีวิตที่ไม่มีวันสิ้นสุด

อ่านเพิ่มเติมจาก First, Do Harm โดย Matthew Walter ในวารสาร Nature ฉบับที่ 482 ประจำวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ปี 2012


สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น