สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ แสดงผลงานวิจัยในเวที “Research Expo Talk” สินค้าจากภูมิปัญญาของชาวบ้าน"นวัตกรรมเสื่อลำแพน" หลังนักวิจัยถ่ายทอดองค์ความรู้พัฒนากระบวนการผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการชุมชน ให้ผลิตภัณฑ์มีความทนทาน สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างมหาศาล พร้อมรองรับกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มีมากขึ้น
วันนี้ (26 พ.ย.) นิสิต นักศึกษาและประชาชนต่างทยอย เข้าชมผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและส่วนที่เกี่ยวข้องมาจัดแสดงภายในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021) ที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำมาจัดแสดง โดยหนึ่งผลงานวิจัยที่นำเสนอในเวที “Research Expo Talk” เป็นนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่นำนวัตกรรมเสื่อลำแพน ไปถ่ายทอดองค์ความรู้พัฒนากระบวนการผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการชุมชน ให้ผลิตภัณฑ์มีความทนทาน ปราศจากเชื้อรา ป้องกันมอด ปลวก พัฒนาสีสันลวดลายที่สวยงาม จนสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างมหาศาล
เสื่อลำแพน เป็นสินค้าจากภูมิปัญญาของชาวบ้าน อำเภอประจันตคาม อำเภอปราจีนบุรี ที่ทำขายตกทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ตายาย จนถึงปัจจุบัน ซึ่งในอดีตใช้เป็นหลังคากันแดดกันฝน เมื่อเวลาเทียมเกวียน และดัดแปลงมาใช้เป็นผนัง ฝ้าเพดาน ถือได้ว่าเป็นสินค้าที่มีเรื่องราวเล่าขานถึงที่มาสร้างความภาคภูมิใจให้กับชุมชน ในปัจจุบันกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มีมากขึ้นเสื่อลำแพนจึงเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุนีย์ หทัยวสีวงศ์ อาจารย์ประภาควิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี หัวหน้าโครงการวิจัย เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ทำวิจัย ทางผู้วิจัยนำเทคโนโลยีไปช่วยพัฒนาสินค้าเสื่อลำแพนให้สามารถมูลค่า รวมถึงช่วยพัฒนาคุณภาพ กระบวนการผลิตให้เกิดสินค้าใหม่ ๆ ที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้จริง
กระบวนการที่นำมาใช้เริ่มตั้งแต่การจักเส้นตอกให้มีขนาดและคุณภาพสม่ำเสมอ ด้วยเครื่องจักเส้นตอก การเพิ่มคุณสมบัติเส้นตอกด้านการป้องกันเชื้อรา การตกแต่งเส้นตอกด้านการสะท้อนน้ำเพื่อเพิ่มมูลค่าให้เส้นตอก และผลิตภัณฑ์การให้ลวดลายด้วยการสานเป็นแบบของอัตลักษณ์ท้องถิ่น และผสมผสานลวดลายสมัยใหม่
ด้วยเทคโนโลยีการอัดแผ่นเสื่อเพื่อประโยชน์การใช้งานทางสถาปัตยกรรม รวมไปถึงการนำเศษตอกมาแปรรูปให้เกิดมูลค่าเพิ่มโดยไม่ต้องเผาทิ้ง ผลผลิตที่เกิดจากการสร้างอัตลักษณ์และลวดลายสานใหม่ คือการเพิ่มคุณสมบัติเส้นตอก แผ่นอัดเสื่อลำแผน ต้นแบบรีสอร์จากเสื่อลำแผน และต้นแบบผลิตภัณฑ์จากเศษไผ่ในกระบวนการ
จากที่ทีมวิจัยได้ลงไปช่วยกลุ่มวิสาหกิจชุมชน พบว่าสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นถึง 10 % จากเดิมสานเสื่อลำแพนลายสองขนาด 120 X 240 เมตร มีรายได้แผ่นละ 120 บาท คิดเป็นตารางเมตรละ 60 บาท เสื่อลำแพนลวดลายใหม่ราคาตารางเมตรละ 500-700 บาท ทั้งนี้ก็ยังขึ้นอยู่กับความละเอียดของลายที่สาน ในอนาคตนักวิจัยจะมีการขยายผล การสร้างงานไปยังพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงสร้างเยาวชนรุ่นใหม่เข้ามาสืบสานงานได้เพิ่มขึ้นและพร้อมรองรับการว่างงานจากสถานการณ์โควิด-19 ได้อีกด้วย