xs
xsm
sm
md
lg

ภูมิหลังของยาน Lucy ที่กำลังไปศึกษากลุ่มดาวเคราะห์น้อยแห่งสงคราม Troy

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นักศึกษายุโรปส่วนใหญ่ มักจะได้อ่านตำนานเรื่องสงครามกรุงทรอย (Trojan War) และรู้สึกซาบซึ้งในวีรกรรม ศีลธรรม คุณธรรมและความรักชาติของเหล่าตัวละครในวรรณกรรม Iliad กับ Odyssey ของกวีตาบอด ชื่อ Homer ซึ่งได้ขับร้องโคลงกลอนเกี่ยวกับสงครามนี้ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 1,250 ปีก่อนคริสต์กาล ให้ขุนนางชั้นสูงในราชสำนักกรีกฟัง จนทำให้วรรณคดีเรื่องนี้ มีบทบาทสำคัญมากในการสร้างและพัฒนาอารยธรรมกรีกและโรมันในเวลาต่อมา หลังจากที่อารยธรรม Mycenean ได้ล่มสลายไป เพราะ Homer ได้บรรยายพฤติกรรมและจิตสำนึกของนายทหาร แม่ทัพ และกษัตริย์ ได้อย่างสมจริง จนทำให้แม้แต่องค์จักรพรรดิ Alexander มหาราช ก็ทรงเข้าพระทัยว่า พระองค์คือเจ้าชาย Achilles ผู้เป็นพระราชบุตรในกษัตริย์ Priam แห่งกรุงทรอย ซึ่งได้ทรงกลับพระชาติมาประสูติใหม่

สงครามทรอยได้อุบัติขึ้นเมื่อเจ้าชาย Paris ทรงลอบลักพาตัวพระนาง Helen ผู้ทรงเป็นพระมเหสีในกษัตริย์ Menelaus แห่งอาณาจักรกรีกไป เหตุการณ์นี้ทำให้แม่ทัพ Agamemnon ชักชวนพันธมิตร ให้นำขบวนเรือนับพันลำ มุ่งหน้ามาโจมตีกรุงทรอย เพื่อนำพระนาง Helen ผู้เลอโฉมกลับคืนกรีก (สำนวน The face that launched a thousand ships มาจากเหตุการณ์นี้) หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้สู้รบกันนาน 10 ปี กรุงทรอยก็ยังยืนหยัดอยู่ได้ ฝ่ายกรีกจึงใช้กลอุบายสร้างม้าไม้ให้ทหารของตนเข้าไปหลบซ่อนอยู่ภายใน แล้วกองทัพกรีกก็ได้หลบหายไป ทำให้ทหารฝ่ายทรอยเข้าใจว่า กองทัพกรีกได้ถอยทัพกลับไปแล้ว จึงลากม้าไม้เข้าเมือง ตกดึกทหารกรีกได้ออกจากม้าไม้ และไล่สังหารทหารกับชาวเมืองทรอยไปเป็นจำนวนมาก จนกรุงทรอยแตกในที่สุด


ความสนุกสนานของเนื้อหาและความประทับใจในบุคลิกภาพของตัวละคร เช่น Achilles , Hector และกษัตริย์ Priam ฯลฯ ได้ชักนำให้นักดาราศาสตร์ในอดีตนำชื่อตัวละครเหล่านี้ไปตั้งเป็นชื่อของดาวเคราะห์น้อยต่าง ๆ ที่พบ เช่น 588 Achilles , 243 Ida , 11351 Leucus และ 3548 Eusybates เป็นต้น (ตัวเลขหน้าชื่อดาวแสดงลำดับการพบดาวเคราะห์น้อยดวงนั้น)

ครั้นเมื่อถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นักดาราศาสตร์ก็ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ที่มีสมรรถภาพสูงส่องดูดาวพฤหัสบดี และเห็นดาวเคราะห์น้อย 2 กลุ่มที่มีสมาชิกจำนวนหมื่น กำลังโคจรอยู่ในวงโคจรเดียวกับดาวพฤหัสบดี โดยกลุ่มหนึ่งนำหน้าและอีกกลุ่มหนึ่งตามหลัง และมีเส้นรัศมีจากดวงอาทิตย์ถึงกลุ่มดาวเคราะห์น้อยทั้งสอง ทำมุม 60 องศากับเส้นรัศมีที่ลากจากดวงอาทิตย์ถึงดาวพฤหัสบดี จินตนาการและความคลั่งไคล้ในมหากาพย์ของ Homer ทำให้นักดาราศาสตร์กำหนดให้กลุ่มดาวแรกเป็นกลุ่มดาวในค่ายกรีก (Greek camp) และกลุ่มดาวหลังเป็นกลุ่มดาวในค่ายทรอย (Trojan camp)

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมานี้ องค์การ NASA ได้ยิงจรวดนำยานอวกาศ Lucy ทะยานขึ้นจากแหลม Canaveral ในรัฐ Florida ของประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเดินทางไปสำรวจดาวเคราะห์น้อย 7 ดวง อันได้แก่ 617 Patroclus , Menoetius ในค่ายทรอย และ 21900 Orus , 11351 Leucus , 3548 Eurybates , Queta กับ 15094 Polymele ในค่ายกรีก รวมถึงดาวเคราะห์น้อย Donaldjohanson ที่อยู่กลางทางด้วย และคาดว่าจะใช้เวลาสำรวจทั้งหมดนาน 12 ปี โดย NASA จะบังคับให้ยาน Lucy โคจรผ่านดาว 52246 Donaldjohanson ในปี 2025 ก่อน แล้วให้ไปถึงค่ายกรีกในปี 2027-2028 จากนั้นให้วกกลับไปผ่านค่ายทรอยในปี 2033 ต่อจากนั้นถ้า NASA ยังมีงบประมาณเหลือ และยาน Lucy อยู่ในสภาพสมบูรณ์ NASA ก็จะบังคับให้ยาน Lucy กลับไปเยือนดาวเคราะห์น้อยดวงอื่น ๆ ในค่ายกรีกอีกคำรบหนึ่ง



ประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า นักดาราศาสตร์ที่พบและศึกษาดาวเคราะห์น้อยเป็นคนแรก คือ นักบวชชื่อ Guiseppe Piazzi แห่งหอดูดาวที่เมือง Palermo ในประเทศอิตาลี ซึ่งได้เห็นจุดสว่างขนาดเล็กจุดหนึ่งเคลื่อนที่ไปในท้องฟ้า เมื่อวันที่ 1 มกราคม ปี 1801 ขณะพยายามทำแผนที่ของดาวฤกษ์ในท้องฟ้า แต่ดาวที่เห็นนี้มีขนาดค่อนข้างเล็ก คือ มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวเพียง 1,000 กิโลเมตรเท่านั้นเอง จึงเล็กกว่าดาวเคราะห์ทั่วไป ดังนั้นดาวชนิดใหม่นี้จึงมีชื่อเรียกว่า ดาวเคราะห์น้อย (asteroid) (ปัจจุบันดาวเคราะห์น้อย 1 Ceres ได้ถูกลดอันดับลงไปเป็นดาวเคราะห์แคระแล้ว)

การศึกษาธรรมชาติของดาวเคราะห์น้อยจำนวนนับแสนดวงที่โคจรอยู่ระหว่างดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดีในเวลาต่อมาได้แสดงให้เห็นว่า ดาวเคราะห์น้อยส่วนใหญ่เป็นชนิด C (จาก chondrite) เพราะมีเนื้อดาวเป็นหิน silicate และดินเหนียว สีของผิวดาวจึงทึบ ไม่สะท้อนแสง และดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้มีอายุมากพอ ๆ กับอายุของระบบสุริยะ ส่วนชนิดที่สอง เป็นชนิด S (จาก silicate) เพราะประกอบด้วย แร่ silicate และโลหะ เช่น นิเกิลและเหล็ก นอกจากนี้ก็ยังได้เห็นอีกว่าดาวเคราะห์น้อยแทบทั้งหมดมีรูปร่างบิดเบี้ยว ไม่เป็นทรงเรขาคณิต ที่ผิวดาวมีหลุมอุกกาบาตมากมาย และมีฝุ่นปกคลุมเต็ม ส่วนขนาดนั้นก็มีทั้งขนาดใหญ่-กลาง-เล็กต่าง ๆ กัน ผิวสีทึบของดาวทำให้การสะท้อนแสงเกิดขึ้นได้น้อย จึงสังเกตเห็นได้ยาก มีผลให้กล้องโทรทรรศน์ที่มีสมรรถภาพต่ำ ไม่สามารถจะเห็นดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้ได้ ด้วยเหตุนี้ NASA จึงมีโครงการ NEO (Near Earth object) ที่ประกอบด้วยกล้องโทรทรรศน์ ซึ่งมีกล้องถ่ายภาพที่ไวในการรับรังสีอินฟราเรดจากบรรดาดาวเคราะห์น้อยทุกดวงที่โคจรผ่านใกล้โลก เพื่อป้องกันไม่ให้ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก สถิติการศึกษายังแสดงให้เห็นอีกว่า โลกถูกดาวเคราะห์น้อยขนาดจิ๋วพุ่งชนปีละประมาณ 6,000 ดวง (เฉลี่ยวันละ 17 ดวง) แต่ดาวขนาดจิ๋วเหล่านี้ถูกบรรยากาศโลกเสียดสีจนลุกไหม้หมด เราจึงมองไม่เห็น แต่ถ้าโลกถูกดาวเคราะห์น้อยที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวกว่า 100 กิโลเมตรพุ่งชนโลก มนุษยชาติก็มีสิทธิ์จะสูญพันธุ์ในทันที

สำหรับดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดใหญ่นั้น อาจจะทำให้คนบางคนมีจินตนาการจะอพยพไปอาศัยอยู่ แต่ถ้าพิจารณาในภาพรวมแล้วก็จะเห็นว่าโอกาสที่จะไปอยู่นั้น แทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะดาวเคราะห์น้อยอยู่ห่างจากโลกมาก (กลุ่มดาวที่อยู่ใกล้ดาวพฤหัสบดี อยู่ไกลประมาณ 300 ล้านกิโลเมตร) ในขณะที่ดาวอังคารซึ่งอยู่ใกล้โลกที่สุด (อยู่ไกลประมาณ 58 ล้านกิโลเมตร) ดังนั้นการเดินทางไป-กลับอย่างน้อยต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี นอกจากนี้อุณหภูมิบนดาวก็ต่ำมาก คือตั้งแต่ -73 ถึง -103 องศาเซลเซียส การที่มนุษย์จะดำรงชีพอยู่ในสภาพที่เย็นจัดเช่นนี้ได้ จึงต้องอาศัยเครื่องทำความร้อนที่เดินเครื่องตลอดเวลา และเมื่อดาวเคราะห์น้อยแทบไม่มีสนามแม่เหล็กในตัวเอง ดังนั้นการป้องกันภัยจากพายุสุริยะและจากรังสีคอสมิกจึงทำไม่ได้ดี และนั่นก็หมายความว่ามนุษย์บนดาวเคราะห์น้อย จะต้องขุดอุโมงค์ใต้ดินลงไปลึกถึง 100 เมตร จึงจะปลอดภัยจากรังสีอันตรายจากอวกาศ

ปัญหาสภาพจิตใจของมนุษย์ที่จะต้องอยู่ห่างจากญาติ ๆ ก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะการติดต่อสื่อสารจะเป็นไปได้ยาก ความอ้างว้างและความเหงาจะทำให้มนุษย์บนดาวเคราะห์น้อยมีปัญหาทางด้านจิตใจอย่างรุนแรงได้

ในปี 2000 ที่ยานอวกาศ Shoemaker ได้ร่อนไปลงบนดาวเคราะห์น้อย 413 Eros ยานได้สำรวจพบว่าความเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงบนดาวมีค่าน้อยมาก มนุษย์บนดาวจึงตกอยู่ในสภาพมีน้ำหนักตัวบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับไร้น้ำหนัก เมื่อเป็นเช่นนี้ถ้ามนุษย์อวกาศได้ไปลงเดินบนดาว เลือดในร่างกายก็จะไหลขึ้นสมองมาก จนทำให้การเดินไป-มาบนดาวมีปัญหา และการใช้ชีวิตบนดาวเป็นเวลานาน กระดูกในร่างกายก็จะสึกกร่อนเร็วด้วย

ส่วนการได้พบว่าบนดาวเคราะห์น้อย 16 Psyche มีแร่นิเกิลและเหล็กมาก ทำให้คนหลายคนคิดจะไปทำเหมืองถลุงแร่บนดาว แต่การขุดแร่ก็จะเป็นปัญหาใหญ่ เพราะถ้าออกแรงขุดมากจนเกินไป ดาวเคราะห์น้อยก็อาจจะแตก แต่ถ้าขุดเบาเกินไป สว่านเจาะก็จะลงไปลึกไม่ถึงแร่ นอกจากนี้นักขุดแร่ต่างดาวก็จะมีปัญหาเรื่องการนำแร่ที่ขุดได้กลับมายังโลกด้วย


สำหรับชื่อ Lucy ของยานอวกาศที่ใช้ในการเดินทางครั้งนี้ เป็นชื่อฟอสซิลกระดูกมนุษย์เพศหญิงคนหนึ่งที่ได้เดินสองขา และหลังตั้งตรงบนโลกของเรา เมื่อ 3.2 ล้านปีก่อน โดยบุคคลที่ขุดพบ เป็นนักมานุษยวิทยาดึกดำบรรพ์ ชาวอเมริกัน ชื่อ Donald Johanson ซึ่งได้พบฟอสซิล เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ.1974 ที่หุบเขา Awash ในดินแดน Hadar ของประเทศ Ethiopia การวิเคราะห์ชิ้นส่วนของกระดูกอย่างละเอียด แสดงให้เห็นว่า มันเป็นกระดูกของมนุษย์สปีชีส์ Australopithecus afarensis

แม้กระดูกที่พบจะมีเพียง 40% ของกระดูกทั้งหมด แต่ Johanson ก็ตระหนักว่ามันเป็นโครงกระดูกที่สมบูรณ์มากที่สุดชุดหนึ่ง เพราะมีกระดูกขาของคนและมีกระดูกแขนของลิงชิมแปนซี อีกทั้งมีกะโหลกศีรษะที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก คือมีปริมาตรเพียง 385 ลูกบาศก์เซนติเมตร (กะโหลกศีรษะของมนุษย์ปัจจุบันมีขนาดใหญ่กว่า คือมีปริมาตร 1,350 ลูกบาศก์เซนติเมตร) ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ดึกดำบรรพ์ได้เริ่มเดินตัวตรง โดยใช้ขาสองขา ก่อนที่สมองจะมีวิวัฒนาการใหญ่ขึ้น Lucy จึงเป็นฟอสซิลที่มีความสำคัญมาก เพราะได้แสดงหลักฐานให้เห็นเส้นทางวิวัฒนาการของมนุษย์

ขณะที่ทีมวิจัยของ Johanson ขุดพบฟอสซิล Lucy นั้น เป็นเวลาเย็น การพบฟอสซอลชิ้นสำคัญทำให้ทุกคนในทีมวิจัยรู้สึกดีใจมาก จึงเปิดเพลงของวงดนตรี Beatles ชื่อ “Lucy in the Sky with Diamonds” แล้วพากันเต้นรำ และดื่มเบียร์กันทั้งคืน จนหมดสติ และจำไม่ได้ว่าใครเป็นคนที่เสนอให้เรียกชื่อฟอสซิลนั้นว่า Lucy

สำหรับการวางแผนเดินทางของ Lucy ไปเยือนกลุ่มดาวเคราะห์น้อยแห่งสงครามกรุงทรอยนั้น ก็เป็นเรื่องที่ซับซ้อนและยอกย้อนมาก เพราะยานจะต้องโคจรวกไปวนมาหลายครั้ง แต่ก็สามารถทำได้ โดยใช้กฎการเคลื่อนและกฎแรงดึงดูดของ Newton ดังที่นักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ชื่อ Joseph Louis Lagrange ได้เคยศึกษาไว้ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 จากการวิเคราะห์ระบบที่ประกอบด้วยดาวสองดวง เช่น ดวงอาทิตย์กับดาวพฤหัสบดี ซึ่งมีแรงโน้มถ่วงกระทำกัน เป็นการต่อยอดผลงานของ Leonhard Euler นักคณิตศาสตร์ชาวสวิส ที่ได้เคยศึกษาเรื่องนี้แล้วพบว่าระบบนี้มีตำแหน่งสมดุล 3 ตำแหน่ง ซึ่งเรียงกันอยู่บนเส้นตรงที่เชื่อมโยงระหว่างดาวทั้งสอง จึงเรียก L1 , L2 และ L3


ในเวลาต่อมา Lagrange ได้พบตำแหน่งสมดุลเพิ่มขึ้นอีก 2 ตำแหน่ง คือ L4 , L5 โดยจุด L4 อยู่หน้าดาวพฤหัสบดีและจุด L5 อยู่หลังดาวพฤหัสบดี โดย L4 , L5 และดาวพฤหัสบดีอยู่บนวงโคจรของดาวพฤหัสบดีเดียวกัน และโคจรไปรอบดวงอาทิตย์พร้อมกับดาวพฤหัสบดีโดยเส้นตรงที่ลากจากดวงอาทิตย์ถึง L4 และ L5 ทำมุม 60 องศา กับเส้นตรงที่ลากจากดวงอาทิตย์ถึงดาวพฤหัสบดี จุดทั้ง 5 นี้ มีชื่อวิชาการว่า จุด Lagrange (Lagrange point)

ในกรณีระบบโลกกับดวงจันทร์ก็มีจุด Lagrange 5 จุด เช่นกัน โดย L1 อยู่บนเส้นตรงที่เชื่อมโยงระหว่างโลกกับดวงจันทร์ และปัจจุบันเป็นตำแหน่งที่ดาวเทียม SOHO ซึ่งกำลังสำรวจดวงอาทิตย์อยู่ และโคจรไปพร้อมกับโลกรอบดวงอาทิตย์
จุด L2 อยู่บนเส้นตรงที่เชื่อมโยงระหว่างโลกกับดวงจันทร์และอยู่นอกวงโคจรของดวงจันทร์ ที่นี่เป็นบริเวณที่เคยมีดาวเทียม WMAP , Planck และ Herschel

สำหรับจุด L3 นั้น เป็นตำแหน่งที่อยู่ตรงข้างกับดวงจันทร์ และเป็นตำแหน่งที่ไม่เสถียร เพราะดาวเทียมดวงใดที่อยู่ที่นี่เวลามีแรงภายนอกนอกมากระทำ แม้จะน้อยนิดวัตถุก็จะไถลหนีออกจากวงโคจรไปอย่างถาวร

ส่วน L4 กับ L5 เป็นตำแหน่งที่เสถียร ซึ่งถ้าเป็นกรณีของดวงอาทิตย์กับดาวพฤหัสบดี ที่ L4 กับ L5 จะมีกลุ่มดาวเคราะห์น้อยค่ายกรีกและค่ายทรอยอยู่หลายหมื่นดวง




สำหรับประวัติโดยย่อของ Lagrange นั้น มีว่า ได้ถือกำหนดเมื่อวันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 1736 (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ) และมีความต้องการจะเป็นนักคณิตศาสตร์ตั้งแต่เด็ก หลังจากที่ได้อ่านตำราของ Archimedes และ Euclid ได้เข้าเรียนที่ École Polytechnique และได้ครองตำแหน่งศาสตราจารย์คณิตศาสตร์ ตั้งแต่อายุ 19 ปี จากการมีผลงานมากมาย เช่น พัฒนาวิชา Calculus of Variations , พบ Lagrange polynomials , Lagrange multipliers , สร้างวิชา Lagrangian mechanics ฯลฯ วงการดาราศาสตร์มีหลุมอุกกาบาตหลุมหนึ่งบนดวงจันทร์ ชื่อหลุม Lagrange นอกจากนี้ชื่อ Lagrange ยังเป็น 1 ใน 72 ชื่อของนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการจารึกบนเหล็กที่ใช้สร้างหอ Eiffel ศพของ Lagrange ถูกนำไปฝังที่ Pantheon อันเป็นสถานที่ฝังศพของบุคคลสำคัญของฝรั่งเศส และที่ Paris มีถนนชื่อ Rue Lagrange


ในการเดินทางไปสำรวจดาวเคราะห์น้อย 5 ดวง ในค่ายกรีกนั้น Lucy จะสำรวจดาว Eurybates (Eurybates เป็นนักวิ่งสื่อสารระหว่างเมืองในอาณาจักรกรีก) และจะสำรวจดวงจันทร์บริวารของมันชื่อ Queta ซึ่งเป็นดาวที่เพิ่งพบเมื่อปี 2020 และไม่ได้เป็นชื่อของเทพเจ้าหรือตัวละครในวรรณกรรมใด ๆ เพราะดาวเคราะห์น้อยมีจำนวนมากกว่าเทพเจ้าและตัวละครของ Homer ดังนั้นสมาพันธ์ดาราศาสตร์สากล International Astronomical Union (IAU) จึงกำหนดเกณฑ์ใหม่ โดยให้ใช้ชื่อของนักกีฬาที่แข่งขันในกีฬาโอลิมปิกและพาราโอลิมปิกได้


ดังนั้นเราจึงมีชื่อดาวเคราะห์น้อยว่า Queta อันเป็นชื่อของนักกีฬาสตรีชาวเม็กซิโก (ชื่อจริงของเธอ คือ Normal Enriqueta Basilio และชื่อเล่น คือ Queta) ในปี 1968 เธอเป็นสตรีคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้วิ่งถือคบเพลิงขึ้นไปจุดไฟในกระถางโอลิมปิกที่ Mexico City และได้เป็นแชมป์กรีฑา และเธอได้เสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2019 ดวงจันทร์บริวารของดาวเคราะห์น้อยจึงได้รับการตั้งชื่อ Queta เป็นเกียรติแก่เธอ

ขณะสำรวจดาวเคราะห์น้อยทั้งหลาย ยาน Lucy จะมีกล้อง spectrometer ที่ไวในการรับรังสีอินฟราเรด เพื่อจะวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของผิวดาวทุกดวง เพื่อจะให้รู้ว่าขั้นตอนการถือกำเนิดของระบบสุริยะเป็นอย่างไร ดาวเคราะห์น้อยดวงใดถือกำเนิดอย่างไร และดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้มีความแตกต่างจากดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ไกลออกไปจากดวงอาทิตย์ยิ่งกว่าดาวเคราะห์แคระพลูโตอย่างไรด้วย

คำตอบของปริศนาเหล่านี้จะปรากฏในอีก 12 ปี

แต่ก่อนจะถึงวันนั้น เรามีข้อมูลของดาวเคราะห์น้อย 25143 Itokawa ให้อ่านพอเป็นตัวอย่าง ดังนี้

Itokawa โคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี โดยใช้เวลา 556 วัน มีระยะใกล้สุด 142 ล้านกิโลเมตร และไกลสุด 253 ล้านกิโลเมตร มีขนาด 535x295x209 เมตร3 มีความหนาแน่น 1.77-2.03 กรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตร (จึงมีความหนาแน่นประมาณ 2 เท่าของน้ำ) หมุนรอบตัวเอง โดยใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมง อุณหภูมิที่ผิวดาวมีค่าโดยเฉลี่ย -67 องศาเซลเซียส มีความเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงที่ผิวเท่ากับ 10-4 เมตร/วินาที2 จึงมีค่าน้อยกว่าค่า g ของโลกประมาณหนึ่งแสนเท่า ดังนั้นถ้าใครกระโดดขึ้นอย่างรุนแรงบน Itokawa เขาก็จะหลุดลอยไปจากดาวในทันที ดาวมีอายุประมาณ 8 ล้านปี และประกอบด้วยเหล็กกับ chondrite เป็นหลัก สีเข้มของผิวเป็นสีของ iron oxide ซึ่งตามปกติจะมีสีซีด แต่เพราะผิวดาวถูกอนุภาคคอสมิกจากอวกาศพุ่งชนเป็นเวลานาน สีจึงเข้มขึ้น

อ่านเพิ่มเติมจาก Tour : Lucy Mission Website NASA. Retrieved 5/10/2021


สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น