xs
xsm
sm
md
lg

ม.มหิดล วิจัยกู้วิกฤติส่งออกสัตว์น้ำเศรษฐกิจไทย ศึกษา คิดค้น และพัฒนาเพื่อให้ได้สารชีวโมเลกุล ลดโรคระบาดในกุ้งขาวอย่างมีประสิทธิภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันที่ 21 พฤศจิกายน ของทุกปี ตรงกับ "วันประมงโลก" (World Fisheries Day) ซึ่งตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แห่งสหประชาชาติ ข้อที่ 14 ที่ว่าด้วยการอนุรักษ์ใช้ประโยชน์จากชีวิตในน้ำให้เกิดความยั่งยืน (Life Below Water) ที่สอดคล้องกับชีวิตการกินการอยู่ของผู้คน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย การประกอบการด้านประมง มีบทบาทสำคัญในการสร้างรายได้มาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้ง ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกถึงปีละหลายหมื่นล้านบาท

กุ้งในประเทศไทยมีอุดมสมบูรณ์ทั้งที่เป็นกุ้งน้ำจืด และกุ้งทะเล โดยสายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงแบบอุตสาหกรรม ที่เป็นกุ้งน้ำจืด ได้แก่ "กุ้งก้ามกราม" ในส่วนที่เป็นกุ้งทะเล "กุ้งกุลาดำ" (Penaeus monodon) เคยเป็นที่นิยมเลี้ยง เนื่องจากมีขนาดค่อนข้างใหญ่ แต่นับจากปีพ.ศ.2545 ที่เกิดวิกฤติโรคระบาดในกุ้งกุลาดำ ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ จนกรมประมงได้อนุญาตให้มีการทดลองเลี้ยง "กุ้งขาว" หรือ "กุ้งแวนนาไมน์" (Litopenaeus vannamei) ซึ่งทนต่อโรค เจริญเติบโตเร็ว และให้ผลผลิตที่ดีกว่าทดแทน จากนั้นได้มีการพัฒนาสายพันธุ์กันเรื่อยมา จนปัจจุบัน "กุ้งแวนนาไมน์" กลายเป็นกุ้งที่ครองตลาดส่งออกมากที่สุดของประเทศไทย

ที่ผ่านมา สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล (MB) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีความพยายามมาโดยตลอดในการทุ่มเทพัฒนางานวิจัยในเชิง "deep tech" ซึ่งใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจไทย จากผลงานสร้างชื่อของศูนย์วิจัยประยุกต์และพัฒนานวัตกรรมกุ้ง ของสถาบันฯ ที่ได้คิดค้นและพัฒนาใช้สารชีวโมกุลเพื่อการเพิ่มผลผลิตกุ้งเศรษฐกิจ ทั้งที่เป็นกุ้งแม่น้ำ หรือ "กุ้งก้ามกราม" และ "กุ้งแวนนาไมน์" ซึ่งเป็นกุ้งทะเล ส่งผลให้เกิดมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศไทยปีละมหาศาล โดยในส่วนของ "กุ้งแวนนาไมน์" ดำเนินการวิจัยโดยมี ดร.พงโสภี อัตศาสตร์ นักวิจัยประจำศูนย์ฯ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยที่ใช้ชื่อว่า "การศึกษากลไกการนำอาร์เอ็นเอสายคู่ เข้าเซลล์กุ้งโดยโปรตีน SID1 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตัวแดงดวงขาวในกุ้งแวนนาไมน์"

ดร.พงโสภี อัตศาสตร์ กล่าวว่า แม้เกษตรกรส่วนใหญ่จะหันมาเลี้ยง "กุ้งแวนนาไมน์" เพื่อทดแทน "กุ้งกุลาดำ" เนื่องจาก "กุ้งแวนนาไมน์" เป็นกุ้งที่ทนต่อโรคมากกว่า แต่ในเวลาต่อมาเกษตรกรประสบปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสตัวแดงดวงขาวในกุ้งแวนนาไมน์ ซึ่งในแวดวงผู้วิจัยกุ้งในประเทศไทยได้มีความพยายามที่จะคิดค้นและพัฒนาวิธีการต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรดังกล่าว รวมทั้งตนซึ่งได้นำทีมวิจัยของศูนย์วิจัยประยุกต์และพัฒนานวัตกรรมกุ้ง สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล (MB) มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินโครงการวิจัยซึ่งมีส่วนช่วยผลักดันมูลค่าส่งออกกุ้งไทยให้เพิ่มขึ้น เพื่อเยียวยาเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศไทยที่ต้องหยุดชะงักจากวิกฤติ COVID-19 เช่นเดียวกับทั่วโลก

มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ "มหาวิทยาลัยวิจัย" ของประเทศ ได้ให้ความสำคัญต่อการสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมของบุคลากรทุกระดับ โดยมี สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) ซึ่งเป็นส่วนงานของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีบทบาทในระดับชาติ และนานาชาติ คอยให้การสนับสนุนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ จากการอำนวยความสะดวกทั้งในเรื่องการสรรหาทุนเริ่มต้น และต่อยอดงานวิจัย ดำเนินการขอรับทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนร่วมกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์อันเป็นประโยชน์สำหรับประชาชนและประเทศชาติ

ซึ่ง "นักวิจัย" คือ กำลังสำคัญของประเทศไทย ที่จะร่วมผลักดันสู่การเป็น "ประเทศนวัตกรรม" โครงการวิจัย "การศึกษากลไกการนำอาร์เอ็นเอสายคู่ เข้าเซลล์กุ้งโดยโปรตีน SID1 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตัวแดงดวงขาวในกุ้งแวนนาไมน์" ของ ศูนย์วิจัยประยุกต์และพัฒนานวัตกรรมกุ้ง สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล (MB) จึงได้รับการสนับสนุนหลักด้วยทุนจากมหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากนี้ยังได้รับทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัย วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ครั้งที่ 27 พ.ศ.2563 จาก มูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

ซึ่งการที่โครงการฯ ได้พยายามศึกษาอย่างจริงจังถึงกลไกการนำสารชีวโมเลกุลเข้าเซลล์กุ้งโดยโปรตีน SID1 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตัวแดงดวงขาวในกุ้งขาวแวนนาไมน์ โดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ให้ได้สารชีวโมเลกุลที่มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นให้กุ้งต้านทานต่อไวรัสดังกล่าวได้ดียิ่งขึ้นนี้ นับเป็นการแก้ไขปัญหาไวรัสตัวแดงดวงขาวในกุ้งแวนนาไมน์อย่างยั่งยืน ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่มุ่งสู่การเป็น "ปัญญาของแผ่นดิน" เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและเศรษฐกิจไทยอย่างแท้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น