ที่หมู่บ้าน Fürstenfeldbrück ซึ่งอยู่ห่างจากนคร Munich ในประเทศเยอรมนี ไปทางทิศตะวันตก 20 กิโลเมตร มีอาคารคอนกรีตที่มีห้องปฏิบัติการอยู่ภายใน และมีอุปกรณ์ชื่อ ROMY (จากคำเต็ม Rotational Motions in Seismology) ที่สามารถวัดความเร็วในการหมุนรอบตัวเองของโลกได้อย่างละเอียด และเที่ยงตรงที่สุดในโลก เพราะทำงานโดยใช้แสงเลเซอร์ 2 ลำ ให้เคลื่อนที่ในทิศที่สวนกันเหนือจานหมุน เพื่อให้เกิดริ้วแสงของการแทรกสอด ROMY จึงมีประโยชน์อย่างมากมหาศาลในวิชาธรณีฟิสิกส์ เพราะสามารถบอกได้ว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหว ณ สถานที่ต่าง ๆ บนโลกมีความรุนแรงเพียงใด เปลือกทวีปเคลื่อนที่มากหรือน้อยเพียงใด วันหนึ่ง ๆ จะนานเพียงใด แกนของโลกเอียงทำมุมกับแนวดิ่งมากขึ้นหรือน้อยลงเพียงใด ระบบ GPS จะต้องมีการปรับเปลี่ยนความถี่คลื่นอย่างไรบ้าง ฯลฯ ขณะที่การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นกำลังเกิดขึ้นจริง (in real time) แทนที่จะต้องใช้เวลารับทราบผลที่เกิดขึ้นนานเป็นเดือน
นักธรณีฟิสิกส์ได้รู้มานานแล้วว่า โลกมิได้หมุนรอบตัวเองด้วยความเร็วสม่ำเสมอ เพราะผิวโลกมิได้เป็นหินแข็ง แต่เป็นน้ำเหลว จึงมีกระแสน้ำไหลพุ่งในทิศต่าง ๆ อย่างไม่หยุดยั้งตลอดเวลา เช่น พุ่งปะทะฝั่ง แล้วสลายตัวไปทำให้เกิดแรงกระแทก/แรงผลักที่ชายฝั่ง การเลื่อนตัวของเปลือกทวีปอย่างรุนแรง ทำให้เกิดปรากฏการณ์แผ่นดินไหว การระเบิดของภูเขาไฟทั้งที่ผิวโลก และที่อยู่ใต้มหาสมุทร ซึ่งล้วนมีอิทธิพลต่อการหมุน และมุมเอียงของแกนโลกทั้งสิ้น ในส่วนของลมพายุที่พัดผ่านผิวโลก ซึ่งจะเสียดสีไปกับผิว ในทำนองต้านหรือเสริมการหมุน ก็สามารถทำให้ความเร็วในการหมุนของโลกรอบตัวเอง และความเอียงของแกนหมุน เปลี่ยนแปลงได้ เพราะการเปลี่ยนตำแหน่งของมวลน้ำ และมวลดินที่ผิวโลกทำให้โมเมนต์ความเฉื่อยของโลกเปลี่ยนแปลง และโมเมนตัมเชิงมุมของโลกจะต้องไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น Δ ω ∕ ω=-ΔI∕I
เมื่อIคือโมเมนตัมเชิงมุมของโลก
ΔI คือโมเมนตัมเชิงมุมที่เปลี่ยน
ωคือความเร็วเชิงมุมของโลก
และΔ ωคือความเร็วเชิงมุมของโลกที่เปลี่ยน
เราได้รู้มานานแล้วว่า โลกหมุนรอบตัวเองโดยใช้เวลา 24 ชั่วโมง และโคจรรอบดวงอาทิตย์ โดยใช้เวลา 365 วัน โดยที่แกนหมุนของโลกเอียงทำมุม 23.45 องศากับแนวดิ่ง ตัวเลขเหล่านี้เป็นค่าโดยประมาณ เพราะการหมุนและการโคจรของโลกเป็นไปในลักษณะที่ไม่สม่ำเสมอ โดยจะเบี่ยงเบนไป เช่น เร็วขึ้นหรือช้าลงเล็กน้อย เพราะได้รับอิทธิพลของปัจจัยรบกวนต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น และถ้าจะกล่าวโดยทั่วไป โลกของเราจะหมุนช้าลงในฤดูหนาว และในฤดูร้อนโลกจะหมุนเร็วขึ้น ดังนั้น วันหนึ่ง ๆ ในแต่ละฤดู จะนานไม่เท่ากัน โดยมีตัวเลขเฉลี่ยเท่ากับ 23 ชั่วโมง 56 นาที และ 4.09053 วินาที ในหนึ่งวัน และเมื่อเส้นรอบวงของโลกมีค่าประมาณ 40,075 กิโลเมตร ดังนั้นความเร็วของวัตถุซึ่งอยู่ที่ผิวโลก ณ ตำแหน่งเส้นศูนย์สูตร จะมีค่าประมาณ 460 เมตร/วินาที หรือคิดเป็น 0.001% ของความเร็วแสง
ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลพื้นฐานที่เราจำเป็นต้องรู้ เพราะในปี 1851 (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) นักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง ชื่อ Jean Bernard Léon Foucault (อ่าน Foo-koh) ได้ทดลองนำลูกตุ้มเหล็กหนัก 28 กิโลกรัม ที่มีขนาดเท่าผลแตงโมไปแขวนที่ปลายข้างหนึ่งของลวดเหล็กที่ยาว 67 เมตร และให้ปลายอีกข้างหนึ่งของลวดขึงติดอยู่ที่เพดานของ Pantheon ซึ่งเป็นอนุสรณ์สถานที่ฝังศพของ Voltaire , Émile Zola , Jean-Jacques Rousseau และ Napoleon Bonaparte ที่กรุงปารีส แล้วปล่อยให้ลูกตุ้มเหล็กแกว่งไป-มา ในลักษณะที่เป็นอุปกรณ์ ซึ่งนักฟิสิกส์เรียก pendulum
จากนั้น Foucault ได้สังเกตเห็นว่า ระนาบการแกว่งของลูกตุ้มจะค่อย ๆ เบี่ยงไปจากระนาบข้างต้นทีละน้อย ๆ ในทิศตามเข็มนาฬิกา และหลังจากที่ปล่อยให้ pendulum แกว่งเป็นเวลาครึ่งวัน Foucault ก็ได้พบว่า ระนาบได้เบนไปจากระนาบเดิมเป็นมุมมากถึง 11 องศา
ผลการทดลองนี้สามารถอธิบายได้ว่า เกิดจากการที่โลกหมุนรอบตัวเอง เพราะขณะที่โลกหมุนรอบตัวเองด้วยความเร็วเชิงมุม ω ⃗ ลูกตุ้มขณะแกว่งก็มีความเร็ว v ⃗ ดังนั้น ระบบก็จะถูกแรง Coriolis กระทำเพิ่มเข้ามา นอกเหนือจากแรงโน้มถ่วงที่โลกกระทำต่อลูกตุ้มเองแล้ว และแรง Coriolis นี้เอง (ซึ่งมีค่าที่ขึ้นกับ ω ⃗) จะเป็นแรงที่ดันให้ระนาบการแกว่งของลูกตุ้ม pendulum เบี่ยงเบน ดังนั้นการวัดมุมเบี่ยงเบนก็จะทำให้เรารู้ความเร็วในการหมุนรอบตัวเองของโลกได้ (นี่เป็นเทคโนโลยีการวัดความเร็วในการหมุนรอบตัวเองของโลก เมื่อ 170 ปีก่อน) และเป็นการทดลองที่ได้สนับสนุนความคิดของ Galileo Galilei ที่ว่า “โลกมิได้อยู่นิ่ง แต่เคลื่อนที่” ทว่า Galileo ไม่สามารถพิสูจน์โดยการทดลองให้สันตะปาปาทรงเห็นได้อย่างจะ ๆ ดังนั้นการอ้างต่าง ๆ ของ Galileo จึงปราศจากคนเชื่อถือ
Foucault (1829-1861) มีบิดาเป็นเจ้าของร้านขายหนังสือที่กรุงปารีส ในวัยเด็ก Foucault เคยตั้งใจว่าจะประกอบอาชีพเป็นหมอ แต่เมื่อได้เห็นเลือดของคนป่วยในปริมาณมาก เวลาถูกผ่าตัด เขาก็รู้ว่าอาชีพแพทย์มิใช่เป็นอาชีพในฝันของเขาอีกต่อไป จึงตัดสินใจเปลี่ยนไปเรียนฟิสิกส์แทน เมื่อสำเร็จการศึกษาก็ได้เข้าทำงานที่หอดูดาวในกรุงปารีส (Paris Observatory) ในตำแหน่งนักดาราศาสตร์
Foucault ประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงานหลายเรื่อง ที่สำคัญ ๆ เช่น ในปี 1850 ได้ไปทำงานร่วมกับ Armand Hippolyte Louis Fizeau ในการวัดความเร็วแสง โดยใช้วงล้อที่ขอบของมันมีฟันเฟืองเป็นจำนวนมาก แล้วได้หมุนวงล้อ เพื่อให้แสงพุ่งผ่านช่องว่างระหว่างซี่ฟันเฟือง ไปสะท้อนที่กระจกราบ เพื่อให้แสงกลับมาสู่ฟันเฟืองอีกครั้งหนึ่ง การปรับความเร็วในการหมุนของวงล้อที่มีฟันเฟือง และการรู้ระยะทางระหว่างฟันเฟืองกับกระจกราบ สามารถช่วยให้คนทั้งสองวัดความเร็วของแสงได้
จากนั้น Foucault ก็ได้ทดลองวัดความเร็วของแสงในน้ำ เพื่อพิสูจน์ให้รู้ชัดว่า แสงเป็นคลื่นหรือแสงเป็นอนุภาค เพราะคนที่เชื่อว่าแสงเป็นคลื่นก็มักจะอ้างว่า ความเร็วแสงในน้ำจะมีค่าน้อยกว่าความเร็วแสงในอากาศ แต่คนที่เชื่อว่าแสงเป็นอนุภาค กลับเชื่อในผลตรงกันข้าม คือ ความเร็วแสงในน้ำจะมีค่ามากกว่าความเร็วแสงในอากาศ
ดังนั้นเมื่อ Foucault รู้วิธีวัดความเร็วแสง เขาจึงได้ประยุกต์ใช้เทคนิคนี้ในการวัดความเร็วแสงในตัวกลางต่าง ๆ และได้พบในปี 1850 ว่า ความเร็วแสงในน้ำ มีค่าน้อยกว่าความเร็วแสงในอากาศ (และความเร็วแสงในอากาศเอง ก็ยังน้อยกว่าความเร็วแสงในสุญญากาศยิ่งขึ้นไปอีก)
ผลงานที่โดดเด่นอีกเรื่องหนึ่งของ Foucault คือการได้พบว่า เส้นสเปกตรัมสีดำเส้นหนึ่ง ในแถบสเปกตรัมแสงจากดวงอาทิตย์ แสดงให้รู้ว่า บนดวงอาทิตย์มีธาตุ sodium
ผลงานที่ทำให้ Foucault มีชื่อเสียงมากที่สุด คือ การสามารถพิสูจน์ได้ว่า โลกหมุน ผลงานเหล่านี้ทำให้เขาได้รับเหรียญ Copley Medal และได้รับเลือกเป็นสมาชิกของสมาคม Royal Society
ณ วันนี้ นักฟิสิกส์มีอุปกรณ์ชนิดใหม่ที่ใช้วัดความเร็วในการหมุนรอบตัวเองของโลกได้ ชื่อ ROMY เพราะอุปกรณ์นี้สามารถวัดความเร็วและมุมเอียงที่แกนโลกทำกับแนวดิ่งได้ละเอียดมาก ROMY เป็นโครงการวิจัยที่มี Heiner Igel ซึ่งเป็นนักธรณีแผ่นดินไหว แห่งมหาวิทยาลัย Ludwig-Maximilian ที่ Munich เป็นหัวหน้า อุปกรณ์มูลค่า 100 ล้านบาทนี้ สามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงความยาวคลื่นของแสงเลเซอร์ได้เวลาผิวโลกและภายในโลกมีการเปลี่ยนแปลง เพราะการวัดของ ROMY ใช้เวลาไม่นาน ดังนั้นผลที่ได้จึงสามารถช่วยในการปรับปรุงการทำงานของระบบ GPS ให้ได้ประสิทธิภาพดีและแม่นยำขึ้น นอกจากนี้ ROMY ยังช่วยให้นักฟิสิกส์ได้ตรวจสอบความถูกต้องของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของ Einstein ด้วย เพราะในปี 1918 Josef Lense และ Hans Thirring ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ชาวออสเตรีย ได้ใช้ทฤษฎีของ Einstein คำนวณพบว่า เวลาโลกหมุนรอบตัวเอง ปริภูมิเวลา (space-time) ในบริเวณรอบโลกจะบิดเบี้ยว แม้จะน้อยนิด แต่ ROMY ที่มีความไวสูงมากก็สามารถจะวัดหาค่าได้
เพราะ ROMY มีความไวสูงในการตรวจจับเหตุการณ์แผ่นดินไหว ดังนั้นเราจึงสามารถใช้ปรากฏการณ์นี้ นอกจากจะสามารถวัดการเปลี่ยนแปลงของความเร็วในการหมุนรอบตัวเองของโลกแล้ว ข้อมูลที่ได้ ยังจะทำให้เราสามารถรู้โครงสร้างภายในของโลกได้ดีขึ้นด้วย และหวังจะใช้ ROMY ในการค้นหาแหล่งทรัพยากรต่าง ๆ ใต้พิภพ เช่น น้ำมันและแก๊ส ตลอดจนถึงการมีความคาดหวังจะสามารถได้ยินเหตุการณ์แผ่นดินไหวบนดวงจันทร์ และดาวอังคารก็ได้ด้วย จึงนับว่า ROMY มีคุณค่าและประโยชน์ยิ่งกว่าระบบกล้องโทรทรรศน์วิทยุ (radio telescope) ที่จำเป็นต้องใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุหลายกล้องติดตั้ง ณ บริเวณต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อให้ทำงานประสานกันเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่มีฐานยาวเพียงกล้องเดียว (Very Long Baseline Interferometry ; VLBI)
ROMY ทำงานได้โดยใช้หลักการแทรกสอดของแสงเลเซอร์ในอุปกรณ์แทรกสอดแบบ Sagnac (Sagnac interferometer) ที่นักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศส ชื่อ Georges Sagnac ได้สร้างไว้ตั้งแต่ปี 1913 ตัวอุปกรณ์ประกอบด้วยแผ่นวัสดุรูปกลมที่สามารถหมุนได้รอบจุดศูนย์กลาง และที่ขอบของแผ่นมีกระจกราบติดอยู่ 4 แผ่น จากนั้นก็ฉายแสงเลเซอร์ไปกระทบแผ่นกระจกราบแผ่นแรก ซึ่งจะแบ่งแสงออกเป็นสองส่วน ให้เคลื่อนที่แยกจากกันในสองทิศทางที่ตั้งฉากกัน ไปกระทบแผ่นกระจกราบอีก 2 แผ่น จากนั้นให้แสงทั้งสองส่วนสะท้อนที่กระจกราบ แผ่นที่ 4 ซึ่งถ้ามุมตกกระทบของแสงทุกครั้งเป็น 45 องศา แสงทั้งสองส่วนก็จะเคลื่อนที่เป็นวงสี่เหลี่ยม แต่มีทิศสวนกัน แล้วมารวมกันที่กระจกราบแผ่นแรก ซึ่งถ้าระยะทางและเฟสของคลื่นทั้งสองแตกต่างกัน การแทรกสอดของแสงก็จะเกิดขึ้น
ในกรณีที่แผ่นวัสดุ ซึ่งรองรับกระจกราบอยู่นิ่ง ทางเดินของคลื่นทั้งสองเวลามารวมกันจะมีความยาวเท่ากัน แต่เมื่อแผ่นวัสดุที่รองรับกระจกราบหมุนรอบตัวเอง แสงลำหนึ่งจะใช้เวลานานกว่าแสงอีกลำหนึ่ง ในการเดินทางครบรอบ ดังนั้นเฟสของคลื่นทั้งสองจึงแตกต่างกัน และทำให้เกิดภาพการแทรกสอด
Sagnac ได้ใช้อุปกรณ์ที่เขาออกแบบนี้ในการพิสูจน์ว่า ether มีจริง แต่เขาไม่พบ อุปกรณ์ของเขาจึงถูกเมินเฉย จนกระทั่งถึงปัจจุบันก็มีนักฟิสิกส์บางคนได้หันมาใช้หลักการของ Sagnac ในอุปกรณ์ ROMY อีก และได้พบว่า เวลาที่แสงทั้งสองลำเดินทางไปตามสองเส้นทางที่แตกต่างกัน จะใช้เวลาที่แตกต่างกัน คือ
เทคโนโลยีระดับไฮเทคนี้ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ จนกระทั่งเมื่อ 30 ปีก่อนนี้ เพราะนักทดลองยังไม่มีกระจกราบที่สะท้อนได้อย่างสมบูรณ์แบบ ส่วน ω เป็นเวกเตอร์ผลลัพธ์ที่ได้จากการรวมความเร็วเชิงมุมของแผ่นวัสดุกับความเร็วเชิงมุมในการหมุนรอบตัวเองของโลก ดังนั้นจึงมีค่าเปลี่ยนแปลงที่ขึ้นกับเวลา และเพราะแสงเลเซอร์ที่ใช้ในการทดลองเดินทางครบรอบเป็นวง ดังนั้น เราจึงเรียก ring laser
ROMY สามารถวัดความเร็วเชิงมุมที่เปลี่ยนแปลงของโลกได้ละเอียดถึง 1 ในล้านส่วน (ซึ่งหมายความว่า ถ้าความเร็วเชิงมุมจริงของโลกมีค่า 1 ล้าน ROMY ก็จะวัดได้แตกต่างไม่เกิน 1)
งานออกแบบอุปกรณ์ ROMY ส่วนที่เป็นเลเซอร์นั้น เป็นความรับผิดชอบของ Ulrich Schreiber นักวิจัยในสังกัดมหาวิทยาลัย Munich และเมื่อโครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก European Research Council (คณะกรรมการวิจัยยุโรป , ERC) Schreiber ได้ออกแบบให้ ROMY มีโครงสร้างเป็นรูปทรง 4 ด้าน (tetrahedron) เหมือนปิระมิด แต่วางหงาย โดยมีขอบทั้งหมด 6 ขอบ และแต่ละขอบมีความยาว 12 เมตร เพราะรูปทรงนี้มีทั้งหมด 4 หน้า ดังนั้นแทนที่จะใช้วง 4 วงในการทดลอง Schreiber ได้ใช้วงเพียง 3 วง โดยแต่ละวงมี 3 ด้าน (คือ ด้านข้างของ tetrahedron) ก็มากเพียงพอที่จะรู้ทิศและความเร็วในการหมุนรอบตัวเองของโลกแล้ว
การก่อสร้าง ROMY ได้เริ่มต้นเมื่อเดือนมีนาคม 2016 และสำเร็จลุล่วงในอีก 6 เดือนต่อมา จากนั้นก็ได้เริ่มการทดลองปล่อยแสงเลเซอร์ เพื่อให้มั่นใจว่า รูปทรงของ tetrahedron ต้องไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่า tetrahedron จะหมุนรอบตัวเองไปด้วยความเร็วมากหรือน้อยเพียงใด (คือ ความยาวของขอบ tetrahedron จะต้องยืดออกหรือหดเข้าไม่เกิน 3 ไมโครเมตร หรือ 0.003 มิลลิเมตร)
เมื่อทุกอย่างอยู่ในสภาพพร้อม ROMY ก็สามารถจะบอกได้ว่า โลกหมุนรอบตัวเองหนึ่งรอบใช้เวลาแตกต่างกันวันละกี่ไมโครวินาที และแกนหมุนได้เคลื่อนย้ายไปจากตำแหน่งเดิมเป็นระยะทางกี่เซนติเมตร ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นตลอดเวลา เพราะโลกได้รับแรงโน้มถ่วงทั้งจากดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ซึ่งมีค่าไม่คงที่ เพราะแรงทั้งสองขึ้นกับระยะทางระหว่างโลกกับดาวทั้งสอง นอกจากนี้ก็ยังขึ้นกับมวลของน้ำแข็งที่อยู่ที่ขั้วโลกทั้งสองด้วย
เพราะการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นที่ผิวโลกมีผลกระทบโดยตรงต่อระยะทางระหว่างสถานที่ต่าง ๆ บนโลก นี่จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ต้องพิจารณาเวลาจะยิงจรวดนำวิถี ให้พุ่งสู้เป้าได้อย่างแม่นยำ และข้อมูลที่ได้ยังจะช่วยระบบ GPS ให้สามารถทำงานสื่อสารระหว่างดาวเทียมกับสถานีต่าง ๆ บนผิวโลกได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ ซึ่งปัจจุบันระบบ GPS ได้ข้อมูลต่าง ๆ จาก VLBI ที่ต้องใช้เวลานานเป็นวัน เพื่อปรับแก้ข้อมูลให้ถูกต้อง แต่ ROMY ทำงานได้เร็วกว่ามาก เพราะสามารถให้ข้อมูลได้แทบในทันทีที่ ROMY ลงมือวัด
ประเด็นที่เป็นข้อเสียของ ROMY คือ การเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นในตัวอุปกรณ์เอง เช่น เวลาอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมเปลี่ยน ทำให้ความยาวของวงแสงเปลี่ยน ด้วยเหตุนี้ วัสดุที่ใช้ทำฐานของ ROMY จึงทำด้วย Zerodur ซึ่งเป็นแผ่น ceramic ที่สามารถทนต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิได้เป็นอย่างดีตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน
ในอดีตผู้เชี่ยวชาญเรื่องแผ่นดินไหวมักสนใจการเลื่อนตำแหน่งของเปลือกโลกในแนว x , y , z แต่คลื่นแผ่นดินไหวยังสามารถทำให้เปลือกโลกหมุนได้ด้วย ดังจะเห็นได้จากการศึกษาของ Charles Richter ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดมาตรวัดความรุนแรงของเหคุการณ์แผ่นดินไหว ตั้งแต่เมื่อปี 1958 ว่า เราอาจไม่ต้องพิจารณาการหมุนของเปลือกโลกเลย แต่เมื่อถึงวันนี้ ประเด็นเรื่องการหมุนของเปลือกโลกได้เข้ามาทำให้นักออกแบบอาคารต้องคำนึงถึงด้วยเวลาจะออกแบบตึกอาคารให้ปลอดภัย
ณ วันนี้ ROMY ซึ่งมีแขนของวงแสงยาว 12 เมตร กำลังทำงานอยู่ที่ประเทศเยอรมนี ส่วนที่ New Zealand ก็มีวงแสง G-O ซึ่งมีแขนยาว 3.5 เมตร ที่ Italy มีวงแสง GINGERino ที่มีแขนยาว 3.6 เมตร และวงแสง GINGER ที่มีแขนยาว 6 เมตร ซึ่งวงแสงเหล่านี้ มีพื้นที่ต่าง ๆ กัน เพราะถ้าจะให้อุปกรณ์มีความไวมาก วงแสงที่ใช้ก็จะต้องมีพื้นที่มาก แต่ข้อเสียของอุปกรณ์ก็มี เพราะขนาดที่ใหญ่ของวงแสงจะทำให้การควบคุมสภาพแวดล้อมที่จะมารบกวนวงแสงให้มีค่าคงตัวเป็นเรื่องยาก
การพัฒนาเทคโนโลยีชนิดนี้ในอนาคต คือ ต้องทำให้อุปกรณ์นี้สามารถเคลื่อนย้ายไปติดตั้งในที่ต่าง ๆ ที่น่าสนใจได้ดี เช่น ใกล้ภูเขาไฟ หรือใกล้แหล่งทรัพยากรใต้ดินที่ต้องสงสัยว่ามีน้ำ หรือน้ำมัน หรือแร่ และใช้ใยแก้วนำแสง (fiber optic loop) ที่อาจจะยาวถึง 5 กิโลเมตร มาทำวงแสงเลเซอร์
ในประเด็นราคาของเทคโนโลยีนี้ ผู้ประดิษฐ์คิดว่าไม่เกิน 100 ล้านบาท/เครื่อง ซึ่งนับว่าแพงกว่าอุปกรณ์วัดคลื่นแผ่นดินไหวทั่วไป และถ้าใช้อุปกรณ์นี้ค้นหาแหล่งน้ำมันหรือแก๊สใต้พิภพ นักสำรวจก็อาจจะต้องใช้ตัววัด (sensor) ประเภทนี้มากถึง 100 เครื่อง วางเรียงกันเป็นแถว เพื่อรับคลื่นแผ่นดินไหวที่มาจากแดนไกล หรือคลื่นแผ่นดินไหวที่เกิดการทดลองระเบิดปรมาณูของชาติมหาอำนาจ และถ้าเป็นไปได้ Igel กับ Schreiber ก็คาดหวังว่าอุปกรณ์ ROMY ของเขาจะเป็นอุปกรณ์ต้นแบบที่ทำให้โลกมีวงแสงเลเซอร์ตรวจดูสภาพความเป็นไป และการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายของเปลือกโลกได้อย่างละเอียด และอย่างตลอดเวลา
อ่านเพิ่มเติมจาก “Lord of the Rings” โดย Eric Hand ในนิตยสาร Science ฉบับวันที่ 21 เมษายน 2017
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์