xs
xsm
sm
md
lg

“เอนก” ชี้นักวิจัยต้องคิดนอกกรอบให้มาก เผยวิกฤตโควิด-19 ไทยสามารถวิจัยและสร้างนวัตกรรม "ชุด PPE-หน้ากาก PAPR-ห้องไอซียูความดันลบ-วัคซีน" รับมือได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เอนก” ชี้นักวิจัยต้องคิดนอกกรอบให้มาก อย่าแค่ตั้งรับหรือมองเห็นแต่ปัญหา แต่ต้องมองเชิงรุก เผยวิกฤตโควิด-19 ไทยสามารถวิจัยและสร้างนวัตกรรม ทั้ง ชุด PPE หน้ากาก PAPR ห้องไอซียูความดันลบ วัคซีน รับมือได้ แถมยังเห็นโอกาสนำไทยดีดตัวออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูงอีกต่างหาก

วันนี้ (18 ก.ย.) ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดการหารือทางวิชาการ “รวมพลคนวิจัย : ประเทศไทยหลังโควิด-19 - การฟื้นตัวอย่างมั่นคง ทั้งในมิติการแพทย์ สาธารณสุข และมิติเศรษฐกิจและสังคม” จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มีผู้บริหาร อว. และนักวิจัยเข้าร่วมกว่า 70 คน อาทิ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และ ดร.สมชัย จิตสุชน ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เป็นต้น

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นผลพวงที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นี้ แน่นอนว่ามีข้อเสีย มีวิกฤติที่ส่งผลกระทบมากมาย แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เราเห็นโอกาสว่าประเทศไทยกำลังจะดีดตัวเองออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูง จากการวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรมต่างๆ ที่เราสามารถผลิตขึ้นเองได้เพื่อรับมือวิกฤติครั้งนี้ เช่น ชุด PPE หน้ากาก PAPR ห้องไอซียูความดันลบ ที่ราคาถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศหลายเท่า รวมถึงการผลิตวัคซีนที่อยู่ระหว่างการทดลองขั้นสุดท้ายในคนและยังมีผลการศึกษายืนยันว่าสามารถป้องกันโควิด-19 ได้ถึง 94% เทียบเท่ากับวัคซีนที่ได้รับการรับรองการ WHO เช่น ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์น่า สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างว่าเศรษฐกิจของไทยจะขยับไปในทางที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาโลกเจอโรคระบาดมา 5 ครั้ง เฉลี่ยเกิดทุก 4 ปี ดังนั้น การแพทย์และสาธารณสุขของเราจึงต้องปรับตัวเพื่อรองรับภาวะที่ไม่ปกติ เป็นการเสริมความเข้มแข็งเพื่อรับมือวิกฤติที่จะมาเป็นระลอกๆ

รมว.อว.กล่าวต่อว่า ตนอยากให้นักวิจัยไทยคิดนอกกรอบให้มากๆ ซึ่งจะทำให้เห็นมุมมองและกระบวนทัศน์ใหม่ๆ อยากให้เปลี่ยนแนวความคิดของการทำวิจัยว่า ไม่ใช่เพียงตั้งรับหรือมองเห็นแต่ปัญหา แต่ต้องมองเชิงรุก นักวิจัยไทยเก่ง ต้องเอาความเก่งมาเชื่อมโยงกับภาพรวมของประเทศ เอาความเชี่ยวชาญมาช่วยชาติบ้านเมืองให้ได้










กำลังโหลดความคิดเห็น