ในวารสาร The Astronomical Journal ฉบับวันที่ 31 สิงหาคม ที่ผ่านมานี้ มีผลการวิจัยของ Mike Brown และ Konstantin Batygin ในสังกัด California Institute of Technology (Caltech) ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รายงานว่า ระบบสุริยะของเราอาจจะมีดาวเคราะห์ดวงที่ 9 (Planet Nine) ซึ่งกำลังโคจรอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ยิ่งกว่าเดิม จากที่คนทั้งสองได้เคยคำนวณไว้ในอดีต ถ้าผลคำนวณนี้ถูกต้อง นักดาราศาสตร์ก็มีโอกาสสูงที่จะได้เห็นดาวลึกลับ ซึ่งได้ซ่อนเร้นตัวมาเป็นเวลานาน ได้ง่ายขึ้น เพราะดาวเคราะห์ดวงที่เก้า จะมีมวลประมาณ 6 เท่าของโลก (จากเดิมที่เคยประมาณว่า 600 เท่า) ข้อมูลนี้ทำให้เรารู้ว่า ดาวเคราะห์ดวงที่เก้า น่าจะมีองค์ประกอบที่เป็นหินแข็ง จึงเป็นดาวประเภท super-Earth หรืออาจจะเป็นแก๊ส แต่มีขนาดเล็กกว่าดาว Neptune ซึ่งรู้จักกันในนาม mini Neptune ก็ได้
ถ้าผลการคำนวณของ Brown และ Batygin ได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้อง เพราะมีคนเห็นดาวเคราะห์ดวงที่เก้าจริง นี่จะเป็นเหตุการณ์ใหญ่ที่สำคัญมากในวงการดาราศาสตร์โลก เพราะตั้งแต่ปี 1846 (175 ปีก่อน) ที่ Urbain Le Verrierได้เห็นวงโคจรของดาว Uranus ว่ามิได้มีลักษณะที่เป็นไปตามกฎแรงโน้มถ่วงของ Newton ทีเดียวนัก เขาจึงได้เสนอความคิดว่าสุริยะระบบน่าจะมีดาวเคราะห์อีกหนึ่งดวง ที่โคจรอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์ยิ่งกว่าดาว Uranus และผลการคำนวณของ Le Verrier ก็ได้รับการยืนยันว่าถูกต้อง เมื่อ Johann Galle ได้พบดาว Neptune จริง ๆ
จากนั้นนักดาราศาสตร์ก็ได้พยายามค้นหาดาวเคราะห์ที่โคจรอยู่ไกลออกไปอีก แต่ไม่เป็นผล จนทำให้ Percival Lowell รู้สึกผิดหวังมาก จึงได้เสนอเงินรางวัล 1 ล้านดอลลาร์ ให้แก่นักดาราศาสตร์คนแรกที่พบดาวเคราะห์ซึ่งโคจรอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์ยิ่งกว่า Neptune
ถึงปี 1930 หนุ่มอเมริกัน วัย 24 ปี ชื่อ Clyde Tombaugh ได้ใช้กล้องดูดาวที่เมือง Flagstaff รัฐ Arizona ถ่ายภาพดาวต่าง ๆ ในท้องฟ้า ณ เวลาต่าง ๆ กัน ติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน จนได้ภาพประมาณ 40,000 ภาพ แล้วนำภาพเหล่านี้มาเทียบเคียงกันดูว่า มีจุดสลัวจุดใดเลื่อนตำแหน่งบ้าง ในที่สุด Tombaugh ก็ได้เห็นจุด ๆ หนึ่งเลื่อนตำแหน่ง ในขณะที่จุดอื่น ๆ ในภาพอยู่กับที่ จุดที่เลื่อนไป คือ ภาพของดาว Pluto การค้นพบ Pluto ในครั้งนั้น ได้ทำให้ทุกคนในโลกดีใจที่รู้ว่า ดวงอาทิตย์มีดาวเคราะห์ 9 ดวง เป็นบริวาร แต่ในเวลาเดียวกันก็รู้สึกเสียใจ เพราะ Pluto มีขนาดเล็ก คือ มิได้ใหญ่เท่า Uranus หรือ Neptune
กระนั้นความต้องการจะค้นหาดาวเคราะห์ดวงที่ 10 ก็ยังดำเนินต่อไป เพราะทุกคนเชื่อว่า ไกลจากดาว Pluto ออกไป จะต้องมีดาวเคราะห์ที่ยังไม่มีใครเห็น จนถึงปี 1992 David Jewitt แห่งมหาวิทยาลัย Hawaii ก็ได้เห็นดาวดวงหนึ่ง มีขนาดเล็กกว่า Pluto เล็กน้อย ชื่อ Eris ซึ่งโคจรอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นระยะทางไกลพอ ๆ กับ Pluto วงการดาราศาสตร์ก็เริ่มรู้สึกกังวล เพราะตระหนักว่า คงมีดาวขนาดเล็กอีกเป็นจำนวนมากโคจรอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า Kuiper Belt
อีก 10 ปีต่อมา Mike Brown กับคณะได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ ที่ภูเขา Palomar ใน California พบดาวชื่อ Quaoar ซึ่งมีขนาดเล็กประมาณครึ่งหนึ่งของดาว Pluto ส่วน David Rabinowitz ก็ได้เห็นดาวขนาดเล็กอีกดวงหนึ่ง ชื่อ 2003 UB313 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ.2003 ว่ามีวงโคจรที่รีมาก มีความเร็วต่ำ และอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์ ประมาณ 97 เท่าของระยะทางที่ Pluto อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์ดวงนี้ ชื่อ Xena และโคจรรอบดวงอาทิตย์โดยใช้เวลา 560 ปี ผิวดาวสามารถสะท้อนแสงได้ 92% แต่ดาวดวงนี้มีขนาดใหญ่กว่า ดาว Pluto ประมาณ 1%
การได้เห็นดาวเคราะห์ขนาดเล็กจำนวนมาก ได้ทำให้นักดาราศาสตร์ต้องให้คำจำกัดความของดาวเคราะห์ใหม่ เพราะถ้า Quaoar , Sedna , Eris ฯลฯ เป็นดาวเคราะห์เหมือน Pluto สุริยะระบบของเราก็จะมีดาวเคราะห์จำนวนนับหมื่นดวง ซึ่งมากเกินไป ดังนั้นสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ (International Astronomical Union) จึงได้ลดสถานภาพของ Pluto ลงมาเป็นดาวเคราะห์แคระ เมื่อปี 2005 ดังนั้น Pluto , Quaoar , Sedna , Eris ฯลฯ จึงมีชื่อเรียกรวม ๆ ดาวเคราะห์แคระ
เมื่อ Pluto ถูกลดฐานะเป็นดาวเคราะห์แคระ สุริยจักรวาล ซึ่งมีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง จึงมีดาวเคราะห์บริวาร เพียง 8 ดวง แต่ความพยายามจะค้นหาดาวเคราะห์ดวงที่เก้าก็ยังมีต่อไป เพราะคนส่วนใหญ่เชื่อว่า อาจจะมี และการจะรู้ว่ามีหรือไม่ ก็จะได้จากการศึกษาอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงที่ดาวลึกลับนี้กระทำต่อวงโคจรของดาวเคราะห์แคระทั้งหลาย โดยใช้กฎการเคลื่อนที่ และกฎแรงโน้มถ่วงของนิวตัน ซึ่งการคำนวณเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก เพราะแม้จะมีดาวเพียง 3 ดวง ที่ส่งแรงโน้มถ่วงกระทำต่อกัน เราก็ยังไม่มีสูตรสำเร็จที่ใช้บอกตำแหน่ง และความเร็วของดาวทั้งสามในเวลาต่อมาได้ จึงต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์คำนวณ เพื่อจะได้คำตอบเชิงตัวเลขที่มิใช่สูตรสำเร็จ
ดังนั้นในกรณีการค้นหาดาวเคราะห์ดวงที่เก้า นักดาราศาสตร์ทฤษฎีจึงต้องใช้ข้อมูลที่แสดงวิถีโคจรของดาวเคราะห์แคระทั้งหลาย แล้วสมมติมวลของดาวเคราะห์ดวงที่เก้ากับตำแหน่งที่ดาวอยู่ จากนั้นให้เครื่องคอมพิวเตอร์คำนวณผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น เมื่อดาวเคราะห์แคระถูก ดาวเคราะห์ดวงที่เก้า ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาว Neptune ดาว Uranus และดวงอาทิตย์ ที่มีมวลมาก ทุกดวงส่งแรงโน้มถ่วงมากระทำ และเมื่อใดก็ตามที่ผลการคำนวณให้คำตอบที่สอดคล้องกับข้อมูลที่วัดได้ นักดาราศาสตร์ก็จะ “พบ” ดาวเคราะห์ดวงที่เก้าทันที แล้วงานขั้นต่อไป คือ ต้องพยายามถ่ายภาพของดาวเคราะห์ดวงที่เก้าให้จงได้ แล้วการค้นพบก็จะสมบูรณ์
ดังนั้นเมื่อ Konstantin Batygin กับ Mike Brown ได้ประกาศเมื่อวันที่ 20 มกราคม ปี 2017 ว่าหลังจากที่ได้ติดตามวิเคราะห์วงโคจรของดาวเคราะห์แคระ 6 ดวง ซึ่งโคจรอยู่ห่างไกลจากดวงอาทิตย์ยิ่งกว่าดาว Neptune ซึ่งได้แก่ Sedna , 2003 TG 422 , 2004 VN 112 , 2013 RES 98 , 2012 VP 113 และ 2010 GB 174 โดยที่ระนาบวงโคจรของดาวเคราะห์แคระทั้ง 6 มิได้อยู่ในระนาบเดียวกับวงโคจรของดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ทั้งหลาย คือ บางดวงโคจรในระนาบที่เกือบตั้งฉากด้วยซ้ำไป ผลการคำนวณ โดยคอมพิวเตอร์ได้แสดงให้เห็นว่า ดาวเคราะห์ดวงที่เก้า มีมวลประมาณ 10 เท่าของโลก และกำลังโคจรเป็นวงรีมาก โดยมีระยะใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดเป็นระยะทาง 200 AU และไกลที่สุดประมาณ 600-1,200 AU ( 1 AU คือ ระยะทางที่โลกอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ ประมาณ 150 ล้านกิโลเมตร) ดาวเคราะห์ดวงที่เก้าดวงนี้ จึงอยู่นอกแถบ Kuiper และมีคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ประมาณ 15,000 ปี
ผลการติดตามหาดาวเคราะห์ดวงที่เก้า โดยกล้องโทรทรรศน์ Subaru ซึ่งมีเลนส์ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 8 เมตร โดยกล้องนี้ ติดตั้งอยู่บนยอดเขา Mauna Kea บนเกาะ Hawaii ตลอดเวลา 4 ปีที่ผ่านมา มิได้ประสบความสำเร็จแต่อย่างใด
Mike Brown เป็นนักดาราศาสตร์ผู้มีชื่อเสียง และมีบทบาทในการชักนำนักดาราศาสตร์คนอื่น ๆ ให้ลดสถานภาพของดาวเคราะห์ Pluto เขากับ D.R. Rabinowitz เป็นคนพบดาวเคราะห์แคระ Sedna และได้ตั้งชื่อดาวว่า Sedna ตามชื่อของเทพธิดาแห่งมหาสมุทร ตามตำนานของชาวเอสกิโม เผ่า Inuit เมื่อการพบดาวเคราะห์แคระมีจำนวนเพิ่มขึ้น ๆ ตลอดเวลา วงการดาราศาสตร์ก็เริ่มแร้นแค้นชื่อของเทพธิดาและเทพบุตรกรีกและโรมันในตำนาน จึงหันไปใช้ตัวเลขในการเรียกชื่อแทน ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งของ Sedna คือ ต้องใช้เวลานานถึง 10,500 ปี จึงจะโคจรได้ครบหนึ่งรอบ นอกจากนี้ผิวของ Sedna ยังเป็นสีแดงเรื่อ ๆ ที่สว่างสุกใสรองจากดาวอังคาร อีกทั้งยังหมุนรอบตัวเองค่อนข้างช้ามากด้วย คือนานถึง 40 วัน การมีวงโคจรที่รีมาก โดยมีระยะใกล้สุดที่ระยะทาง 76 AU และไกลสุด อยู่นอกแถบ Kuiper ทำให้อิทธิพลแรงโน้มถ่วงที่ Neptune กระทำต่อ Sedna มีค่าน้อย
ด้าน Konstantin Batygin เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบบจำลองของระบบสุริยะ โดยใช้คอมพิวเตอร์ ขณะที่กำลังศึกษาระดับปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัย California ที่ Santa Cruz เขาได้คำนวณพบว่า ในอีก 1,000 ล้านปี ดาวพุธอาจจะพุ่งชนดาวศุกร์ หรือมันอาจจะแตกสลาย โดยการพุ่งชนดวงอาทิตย์ก็ได้
แม้ Batygin กับ Brown จะเชื่อว่าดาวเคราะห์ดวงที่เก้ามีจริง แต่นักดาราศาสตร์ส่วนใหญ่ก็ยังไม่มั่นใจ เพราะการใช้ดาวเทียม WISE (Wide-field Infrared Survey Explorer) ของ NASA เสาะหาดาวแคระสีน้ำตาล (Brown dwarf) ที่โคจรอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ ภายในระยะทาง 10,000 AU ก็ไม่ได้พบดาวแคระสีน้ำตาลเลย ซึ่งการไม่พบนี้ ได้ทำให้นักดาราศาสตร์หลายคนสงสัยว่า กล้อง WISE ไม่สามารถรับแสงที่มีความยาวคลื่นเกินรังสี infrared ได้ นอกจากนี้ก็อาจจะมีเหตุผลอีกว่า ดาวเคราะห์ดวงที่เก้ามีวงโคจรที่รีมาก ดังนั้นเวลาอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ ดาวจะมีความเร็วที่สูงมาก และเวลาอยู่ไกล ดาวจะมีความเร็วน้อย นั่นก็จะเป็นโอกาสให้กล้องโทรทรรศน์อวกาศ Hubble หรือกล้อง Keck สามารถเห็นดาวเคราะห์ดวงที่เก้าได้ดีที่สุด
แต่การเห็นดาวเคราะห์ดวงที่เก้าก็คงไม่ถือว่าเป็นจุดสิ้นสุดของการศึกษานี้ เพราะนักดาราศาสตร์ทฤษฎีจะต้องอธิบายให้ได้ด้วยว่า ดาวเคราะห์ที่เห็นหรือที่มีนั้น ถือกำเนิดได้อย่างไร เหตุใดผิวดาวจึงเป็นของแข็งหรือแก๊ส เหตุใดดาวบางดวงจึงมีบรรยากาศและน้ำ แต่บางดวงไม่มี เหตุใดดาวบางดวงมีสิ่งมีชีวิต และบางดวงไม่มี เหตุใดบางดวงจึงหมุนรอบตัวเองช้ามากหรือเร็วมาก รวมถึงต้องสามารถอธิบายขั้นตอนการถือกำเนิดของดาวเคราะห์เหล่านี้ให้ได้ด้วยว่า ดวงไหนเกิดก่อน-หลัง หรือพร้อมโลก และถ้าทฤษฎีโครงสร้างของสุริยจักรวาลมีจริง ทฤษฎีก็น่าจะทำนายจุดจบของสุริยจักรวาลได้ด้วย รวมถึงสามารถนำไปใช้อธิบายการถือกำเนิดของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะก็ได้ด้วย ดังนั้นถึงวันนี้ เราก็ยังไม่มีทฤษฎีการถือกำเนิดของระบบดาวฤกษ์ในเอกภพที่ดีและสมบูรณ์เลย
ณ วันนี้การค้นหาดาวเคราะห์นอกสุริยะได้ทำให้นักดาราศาสตร์เห็นการโคจรของดาวเคราะห์แคระในลักษณะแปลก ๆ เช่น เป็นวงรีมากหรือมีระนาบการโคจรที่เอียงทำมุมมากกับระนาบการโคจรของดาวเคราะห์อื่น ๆ โดยเฉพาะกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Kepler ได้พบว่า 60% ของดาวฤกษ์ที่มีอายุและขนาดใกล้เคียงดวงอาทิตย์ของเรามีดาวเคราะห์แบบ super-Earth ที่เป็นหินแข็ง มีขนาดใหญ่ และมีบรรยากาศที่เป็นแก๊สห่อหุ้ม แต่กลับโคจรใกล้ดาวฤกษ์ยิ่งกว่าโลก เช่น Kepler-80 มี super-Earth เป็นบริวารถึง 4 ดวง และดาวทุกดวงโคจรรอบดาวฤกษ์ด้วยความเร็วที่สูงมาก คือใช้เวลาในการโคจรครบรอบไม่ถึง 10 วัน นอกจากนี้ดาวฤกษ์นอกระบบสุริยะหลายดวงยังเป็น Ice Giant คือ เป็นดาวน้ำแข็งขนาดใหญ่ แต่บางดวงก็เป็น Gas Giant เพราะเป็นแก๊ส หรือที่เรียกว่า superpuff เพราะมีมวลน้อยกว่า super-Earth แต่มีขนาดใหญ่และมีบรรยากาศที่หนาทึบ โดยมวลของแก๊สบนดาวชนิดนี้ คิดเป็น 20% ของมวลทั้งหมด
ด้านดาวฤกษ์ 14R 8799 นั้น ก็มีดาวเคราะห์ 4 ดวงเป็นบริวาร และทุกดวงโคจรอยู่ไกลจากดาวฤกษ์เป็นระยะทางประมาณ 2 เท่า ของที่ดาว Neptune อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์และมีมวลมากเท่าดาวพฤหัสบดี การถือกำเนิดของดาวเคราะห์เหล่านี้ จึงเป็นปัญหาที่น่าสนใจว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร ณ บริเวณที่อยู่ไกลจากดาวฤกษ์มากขนาดนั้น ซึ่งการตอบคำถามดังกล่าวนี้ เป็นหน้าที่ของดาวเทียม TESS (Transiting Exoplanet Survey Satellite) กับ CHEOPS (CHaracterising ExOPlanets Satellite) ที่ถูกส่งขึ้นอวกาศ เพื่อศึกษาดาวฤกษ์ต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้โลก และค้นหาดาวเคราะห์ที่มีเอกลักษณ์แปลก ๆ ซึ่งไม่มีในระบบสุริยะของเรา
ถึงปี 2022 กล้องโทรทรรศน์อวกาศ James Webb Space Telescope ก็จะถูกส่งขึ้นอวกาศ เพื่อวิเคราะห์แสงจากดาวฤกษ์ที่ถูกส่งผ่านชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ที่เป็นบริวารของมัน เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์บนโลกสามารถรู้องค์ประกอบของธาตุที่มีอยู่ในบรรยากาศของดาวเคราะห์ดวงนั้นได้ ซึ่งถ้าพบธาตุหนัก นั่นแสดงว่า ดาวเคราะห์ดวงนั้นเป็น super-Earth ที่มีธาตุหนักเป็นแก่นกลาง
จากนั้นอีก 10 ปีต่อมา กล้อง WFIS (Wide field Infrared Survey) ที่มีเลนส์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 30 เมตร ก็จะถูกส่งขึ้นอวกาศ เพื่อศึกษาดาวเคราะห์ที่อยู่นอกระบบสุริยะ ซึ่งมีความหลากหลายทางกายภาพ และการศึกษาเหล่านี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ตระหนักได้ว่า ธรรมชาติมีความลึกซึ้งในการสรรสร้างสรรพสิ่งยิ่งกว่าจินตนาการของมนุษย์หลายร้อยเท่า
ในงานวิจัยล่าสุดของ Batygin กับ Brown คนทั้งสองได้ทำนายขนาดและวงโคจรของดาวเคราะห์ดวงที่เก้า โดยใช้ข้อมูลวิถีโคจรของดาวเคราะห์แคระจำนวน 11 ดวง ซึ่งอยู่ในแถบ Kuiper ในการคำนวณ
ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า สาเหตุที่ทำให้วงโจรของดาวเคราะห์แคระเหล่านี้มีรูปลักษณะที่ไม่ปกติ เพราะที่ระดับความเชื่อมั่น 99.6% มีดาวเคราะห์ดวงที่เก้าที่ยังไม่มีใครเห็น ได้ส่งแรงโน้มถ่วงมากระทำต่อกลุ่มดาวเคราะห์เหล่านั้น
แม้การคาดคะเนมวลของดาวเคราะห์ดวงที่เก้า ที่ Batygin กับ Brown พบจะมีค่าน้อยลง จากเดิมคือมีค่า 5-6 เท่า ของมวลของโลก จากเดิมที่เคยคิดว่าเป็น 10 เท่า นอกจากนี้ดาวเคราะห์ดวงที่เก้าก็ยังโคจรใกล้ดวงอาทิตย์มากยิ่งขึ้นด้วย ดังนั้นนักดาราศาสตร์ทั้งสองคนจึงคิดว่า เรามีโอกาสจะเห็นดาวดวงนี้สุกสว่างในท้องฟ้าได้ในเวลากลางคืน
ข้อสรุปนี้ นับว่าสอดคล้องกับผลคำนวณของนักดาราศาสตร์อีก 2 คน คือ Chad Trujillo และ Scott Sheppard ที่ได้รายงานการพบดาวเคราะห์ 2012 VP 113 ชื่อ Biden ตามชื่อของรองประธานาธิบดี Joseph Biden (ในเวลานั้น) ว่ามีมวลประมาณ 5 เท่าของโลก
แม้คำพยากรณ์ของทีมวิจัยทั้ง 2 กลุ่ม จะใกล้เคียงกัน แต่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการค้นหา ดาวเคราะห์ดวงที่เก้าของระบบสุริยะก็ยังไม่ฟันธงว่า ดาวเคราะห์ดวงใหม่มีจริง โดยอ้างเหตุผลว่า ถ้ามีแล้วทำไมจึงไม่มีใครเห็น และถ้าจะให้เห็นก็ต้องรู้ว่ามันอยู่ ณ ที่ใด แต่ก็ไม่มีใครรู้
ณ วันนี้ นอกจากล้องโทรทรรศน์ Subaru ที่ใช้ค้นหาดาวเคราะห์ดวงที่เก้าแล้ว NASA ยังใช้กล้อง TESS ค้นหาของเคราะห์ที่กำลังโคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ดวงอื่น ๆ ในกาแล็กซีทางช้างเผือกด้วย โดยหวังว่า TESS อาจจะบังเอิญเห็นดาวเคราะห์ดวงที่เก้าโคจรอยู่รอบดวงอาทิตย์ของเราก็เป็นได้
แต่ในอนาคตนักดาราศาสตร์ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า กล้องโทรทรรศน์ที่ดีที่สุดในการใช้ค้นหาดาวเคราะห์ดวงที่เก้า คือ กล้องโทรทรรศน์ประจำหอสังเกตการณ์ Vera Rubin ซึ่งติดตั้งอยู่บนยอดเขาสูงในประเทศ Chile กล้องนี้มีเลนส์ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 8.4 เมตร และสามารถถ่ายภาพในมุมกว้างได้ยิ่งกว่ากล้องโทรทรรศน์อื่นใด โดยในปี 2023 นักดาราศาสตร์จะใช้กล้องที่หอดูดาวนี้ติดตามการโคจรของดาวต่าง ๆ จำนวนนับล้านดวง ทั้งที่เป็นขยะอวกาศ ดาวหาง ดาวฤกษ์ ดาวเทียมจารกรรม และอาจใช้ค้นหาดาวเคราะห์ดวงที่เก้าด้วย
อ่านเพิ่มเติมจาก “Hunt for Planet Nine heats up” โดย Adam Mann ในวารสาร Science ฉบับวันที่ 28 October 2016
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์