xs
xsm
sm
md
lg

การศึกษาปัญหาระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงตั้งแต่เมื่อ 250 ปีก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ในอดีตเมื่อ 5 ปีก่อน องค์การ Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ของสหประชาชาติ ซึ่งมีหน้าที่วิเคราะห์สถานภาพของลมฟ้าอากาศทั่วโลก ได้ประกาศเตือนประชาคมโลก โดยการเผยแพร่บทความในวารสาร Nature ว่า ในอีก 80 ปีข้างหน้า การละลายของมวลน้ำแข็งที่ปกคลุมทวีป Antarctica โดยอิทธิพลของปรากฏการณ์โลกร้อนจะทำให้บรรดาเมืองใหญ่น้อยต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ใกล้ชายทะเลและมหาสมุทรของโลกถูกน้ำทะเลท่วม และเหตุการณ์นี้จะทำให้ประชากรนับพันล้านคนต้องอพยพหาที่อยู่ใหม่ โดยการขึ้นไปอาศัยอยู่ในที่สูง IPCC ยังได้เสริมอีกว่า ถ้าอัตราการปล่อยแก๊สเรือนกระจกของโลกยังดำเนินไปในระดับที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ในปี 2100ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงถึง 15 เซนติเมตร


IPCC ได้แถลงคำพยากรณ์นี้จากการคำนวณโดยใช้ทฤษฎีที่เกี่ยวกับการเพิ่มระดับน้ำทะเลว่า เกิดจากการขยายตัวของน้ำทะเลเพราะอุณหภูมิของโลกสูงขึ้น และการละลายของธารน้ำแข็งที่อยู่บนยอดเขาสูงต่าง ๆ รวมถึงการละลายของน้ำแข็งทั้งที่อยู่บนเกาะ Greenland ทวีป Arctic และทวีป Antarctica ฯลฯ

การติดตามศึกษาเรื่องการละลายของน้ำแข็งที่อยู่ในบริเวณขั้วโลกเป็นเวลานานร่วม 50 ปี โดยใช้ดาวเทียมถ่ายภาพน้ำแข็งที่อยู่บนทวีป Arctic ได้พบว่า ในปี 2010 จากที่เคยมีพื้นที่ประมาณ 7.5 ล้านตารางกิโลเมตร แต่ในอีกหนึ่งปีต่อมา พื้นที่ของน้ำแข็งได้ลดลงเหลือ 4 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งนับว่าน้อยจนทุกคนตกใจ เพราะคิดว่า เมื่อถึงปี 2030 ถ้าอัตราการละลายจะเป็นมากเช่นนี้ หมีขั้วโลกและตัว walrus ก็จะไม่มีแหล่งอาศัยอย่างแน่นอน นอกจากนี้ภูเขาน้ำแข็งที่แตกแยกกระจายออกจากทวีปน้ำแข็งก็จะลอยเพ่นพ่านเต็มไปในมหาสมุทร ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อการเดินเรือในทะเลแถบใกล้ขั้วโลกมาก


ส่วนน้ำแข็งที่อยู่บนทวีป Antarctica นั้น แม้นักวิทยาศาสตร์จะได้รู้มานานแล้วว่าอุณหภูมิของอากาศเหนือทวีป Antarctica ตามปกติจะต่ำกว่าของทวีป Arctic นั่นหมายความว่า น้ำแข็งบนทวีป Antarctica ก็น่าจะละลายน้อยกว่าของทวีป Arctic แต่ความจริงมีว่า การละลายของน้ำแข็งในขั้วโลกใต้กลับมากกว่าในขั้วโลกเหนืออย่างมีนัยยะสำคัญตลอดเวลาตั้งแต่เมื่อ 3 ล้านปี – 125,000 ปีก่อน ซึ่งการละลายของน้ำแข็งในปริมาณมากเช่นนั้น ได้ทำให้ระดับน้ำทะเลในยุคดึกดำบรรพ์สูงกว่าในปัจจุบันตั้งแต่ 6-10 เมตร

นอกจากประเด็นอุณหภูมิแล้ว น้ำเองก็เป็นสารที่มีคุณสมบัติน่าสนใจ ซึ่งไม่เหมือนสารอื่น เช่น เป็นสารที่สามารถปรากฏบนโลกได้ 3 สถานะ คือ เป็นน้ำแข็ง น้ำเหลว และไอน้ำ (เมฆ) เวลาน้ำแข็งละลาย เพราะอุณหภูมิสูงขึ้น ปริมาตรของน้ำจะลดลง ในขณะที่สารอื่น เวลาละลาย ปริมาตรของสารจะเพิ่ม ส่วนแรงตึงผิวของน้ำก็มีค่ามาก จนทำให้เราไม่สามารถอัดให้มีปริมาตรน้อยลงได้มาก และยังสามารถละลายสารหลายชนิด ได้มากมาย และสุดท้ายน้ำที่มีอุณหภูมิสูงจะแข็งตัวเร็วกว่าน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำ เหตุการณ์นี้เป็นที่รู้จักในนามปรากฏการณ์ Mpemba

โดยใช้คุณสมบัติต่าง ๆ ดังที่กล่าวมานี้ R. DeConto และ D. Pollard จากมหาวิทยาลัย Massachusetts ในประเทศสหรัฐอเมริกา จึงได้เสนอทฤษฎีปรากฏการณ์ hydrofracturing ซึ่งเกิดขึ้นเวลาน้ำเหลวถูกทำให้แข็งตัว ขณะมีอุณหภูมิต่ำกว่า 4 องศาเซลเซียส โดยน้ำเหลวอาจจะไหลไปแฝงอยู่ในแอ่ง ช่องว่าง หรือรอยแตกระหว่างก้อนน้ำแข็ง และเมื่ออุณหภูมิลดลงอีก การขยายตัวของน้ำในร่องแยกก็จะดันก้อนน้ำแข็งให้แตกออกเป็นสองก้อนที่มีขนาดเล็กกว่า เพราะความดันที่มากมหาศาล น้ำแข็งส่วนล่างของก้อนน้ำแข็งจะกลายเป็นน้ำเหลว ทำให้ก้อนน้ำแข็งเคลื่อนที่ลงทะเลได้ในที่สุด ด้วยเหตุนี้การทำให้อุณหภูมิโลกเย็นลง โดยการลดปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีในบรรยากาศโลก จะทำให้ก้อนน้ำแข็งละลายได้ไม่มาก และระดับน้ำทะเลก็จะไม่เพิ่มสูงมากด้วย


ประวัติวิทยาศาสตร์ของเรื่องนี้มีว่า เมื่อ 250 ปีก่อน มีนักวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่ง ชื่อ William Hutchinson ซึ่งได้ให้ความสนใจเรื่องระดับความสูงของน้ำทะเลเป็นเวลานานร่วม 25 ปี มิใช่เพราะตระหนักในความสำคัญของปรากฏการณ์เรือนกระจก แต่เพราะเขาผู้นั้นมีหน้าที่อำนวยความปลอดภัยในการเดินเรือให้บรรดากัปตันที่นำเรือเข้า-ออกท่า เพราะถ้าน้ำขึ้นสูง เรือที่จะเข้า-ออกท่าก็จะปลอดภัย แต่ถ้าน้ำลงมาก เรือที่เข้า-ออกท่าก็อาจจะเกยสันดอนปากอ่าวและอับปางลง

โดย Hutchinson ได้เริ่มทำกิจกรรมของเขา ในเดือนพฤศจิกายน ปี 1770 (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) ตั้งแต่เวลาตี 2 ของทุกคืน จากบ้านพักที่อยู่ในบริเวณใกล้อู่เรือเมือง Liverpool ในประเทศอังกฤษ เขาจะเดินออกจากบ้านไปที่ท่าเรือ เพื่อบันทึกความสูงของระดับน้ำทะเลในอู่ ซึ่งเป็นท่าที่มีเรือสินค้าเข้า-ออกมากที่สุดในประเทศ เพราะเขาต้องการจะรู้เวลาที่ระดับน้ำขึ้นสูงสุด เมื่อได้ข้อมูลที่ต้องการแล้ว Hutchinson ก็เดินกลับบ้าน ไปนอนต่อ

ตลอดเวลากว่า 25 ปี Hutchinson ได้จดบันทึกข้อมูลนี้วันละ 2 ครั้ง คืออีกครั้งหนึ่งในเวลากลางวัน ซึ่งเป็นเวลาที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุด เขาได้จดบันทึกนี้ทุกวันอย่างไม่ได้คำนึงว่าขณะที่ลงบันทึกนั้น ฝนจะกระหน่ำหรือหิมะจะตก การที่ Hutchinson ต้องทำเช่นนี้ เพราะว่าการเดินเรือในสมัยเมื่อ 250 ปีก่อน เป็นงานที่เต็มไปด้วยภัยอันตรายร้อยแปด เช่น ถ้าเรือตกอยู่กลางทะเลลึก และตัวเรือไม่แข็งแรง พายุก็อาจจะพัดพาเรือจนพังพินาศได้ หรือเวลาเรือแล่นไปเกยหินโสโครกในทะเล เรือก็อาจจะล่มได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้เวลาเรือจะเข้าเทียบท่า สันดอนหรือสันทรายที่บริเวณปากอ่าวก็อาจทำให้เรือเกยตื้นได้ ดังนั้นกัปตันเรือจึงต้องมีความระมัดระวังในการเดินเรือมาก ทำให้ต้องการข้อมูลความลึกของน้ำในบริเวณที่จะนำเรือเข้าจอดทุกครั้งไป

เมื่อเหตุและผลเป็นเช่นนี้ การทำงานของ Hutchinson จึงนับว่ามีความสำคัญมากต่อธุรกิจเดินเรือที่ท่าเรือเมือง Liverpool
William Hutchinson เกิดเมื่อปี 1716 ที่เมือง Newcastle ในประเทศอังกฤษ เมื่อเติบใหญ่ได้สมัครเป็นเด็กรับใช้บนเรือโดยสารที่ขนถ่านหินจากเมือง Newcastle ไป London และได้เคยไปเยือนประเทศจีน ในฐานะพนักงานของบริษัท East India Limited จากนั้นก็ได้ขอลาออกไปเป็นทหารเรือในการทำสงครามระหว่างอังกฤษกับสเปนและฝรั่งเศส

เมื่ออายุ 31 ปี Hutchinson ก็มีเงินมากพอจะซื้อเรือเป็นของตนเอง เพื่อประกอบอาชีพเป็นโจรสลัดอย่างถูกต้องตามกฎหมาย (privateer) โดยมีอาชีพปล้นสดมภ์บรรดาเรือของชาติอื่นที่เป็นศัตรูของอังกฤษ อาชีพนี้ได้เป็นอาชีพโปรดปรานของชายหนุ่มทั้งหลายในสมัยนั้น เพราะมีรัฐบาลอังกฤษเป็นผู้สนับสนุน

นอกจากจะปล้นสดมภ์เก่งแล้ว Hutchinson ยังเป็นนักวิทยาศาสตร์สุขภาพผู้มีความสามารถสูงด้วย จากการได้สังเกตเห็นว่า สาเหตุที่ทำให้คนบนเรือล้มป่วยเป็นโรคเลือดออกตามไรฟัน (scurvy) เพราะร่างกายขาดวิตามิน C และเพราะได้บริโภคเนื้อเค็มบ่อย ครั้นเมื่อได้สังเกตเห็นชาวจีนนิยมดื่มน้ำชาหลังอาหารเป็นประจำ Hutchinson จึงทำตามบ้าง และพบว่าการดื่มชากับการลดบริโภคเนื้อเค็มลง ทำให้กะลาสีไม่เป็นโรคเลือดออกตามไรฟันอีกเลย

Hutchinson ได้เลิกอาชีพโจรสลัด เมื่ออายุ 42 ปี และได้ไปสมัครทำงานที่อู่ต่อเรือในเมือง Liverpool โดยมีหน้าที่หลัก คือ ติดตามดูความปลอดภัยของเรือเวลาเข้า-ออกท่า เพราะเรือจะปลอดภัยมากที่สุด เวลาน้ำขึ้นมากที่สุด นอกจากงานประจำนี้แล้ว Hutchinson ยังได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมอำนวยความปลอดภัยทางทะเล ซึ่งจะทำหน้าที่ช่วยคนเวลาเรืออับปางด้วย และยังได้ช่วยออกแบบกระจกสะท้อนแสงที่ใช้ในประภาคารด้วย

แต่งานที่ทำให้ Hutchinson เป็นที่รู้จักดีที่สุด คือ การวัดระดับน้ำทะเลขึ้น-ลง เป็นเวลานานถึง 25 ปี 7 เดือน กับ 10 วัน ทุกวัน
Hutchinson ได้เริ่มงานวัดระดับน้ำทะเลตามคำแนะนำของ James Ferguson ซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์ ชาวสกอตแลนด์ ให้ติดตามดูว่าน้ำทะเลขึ้นสูงสุด ณ เวลาใด ในวันหนึ่ง ๆ เพื่อความรู้นี้จะทำให้เรือที่เข้าจอดเทียบท่ามีความปลอดภัยสูงสุด และเมื่อเรือปลอดภัย เจ้าของท่าก็จะได้เงินจากการเข้าจอดมากขึ้น นอกจากจะจดบันทึกระดับความสูงของน้ำทะเลแล้ว Hutchinson ยังได้จดทิศทางและความเร็วของลมที่พัด ความดันอากาศ และสภาพของดินฟ้าอากาศในวันนั้นด้วย

ในช่วง 4 ปีแรก Hutchinson ได้มอบข้อมูลของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ให้นักคณิตศาสตร์ชื่อ Richard Holden คำนวณเพื่อให้สามารถพยากรณ์เวลาและระดับน้ำทะเลขึ้น-ลงได้ อีก 3 ปีต่อมา เขาได้เสนอรายงานทั้งหมดให้ทางราชการอังกฤษทราบ ซึ่งก็ได้ออกกฎหมายบังคับให้กัปตันเรือทุกลำต้องใช้ตารางที่ Holden คำนวณ เพื่อความปลอดภัย และถ้าใครไม่ใช้ตารางนี้ก็จะถูกปรับ งานสำรวจของ Hutchinson จึงทำให้นักเดินเรือทุกคนได้รับผลประโยชน์

ข้อมูลระดับน้ำที่ Hutchinson เก็บรวบรวมได้แสดงให้เห็นว่าระดับน้ำทะเลได้เพิ่มตลอดเวลาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 และการติดตามศึกษาเรื่องนี้ในเวลาต่อมาก็ได้ยืนยันว่า ตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 19 , 20 และ 21 ระดับน้ำทะเลก็ยังเพิ่มต่อไป

ประเด็นที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือ การมีอายุมากของ Hutchinson อาจทำให้หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่า ความเบื่อหน่ายในการทำงานที่จำเจนานเป็นเวลาถึง 25 ปี คงทำให้การบันทึกข้อมูลต่าง ๆ มีความคลาดเคลื่อน ในการตอบข้อสงสัยนี้ นักประวัติวิทยาศาสตร์ ได้ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล เรื่องความดันอากาศที่ Hutchinson ได้ลงบันทึกไว้ และพบว่าเวลาความดันอากาศเพิ่ม 1 มิลลิบาร์ ระดับน้ำทะเลจะลดลง 1 เซนติเมตร ซึ่งข้อมูลนี้ก็เป็นองค์ความรู้ที่เป็นจริงจนทุกวันนี้

ถึงวันนี้ การศึกษาระดับน้ำทะเล ตั้งแต่ปี 1900 โดยคณะวิจัย ซึ่งนำโดย T. Frederikse จากสถาบัน Jet Propulsion Laboratory ที่California Institute of Technology สหรัฐเมริกา และได้รายงานในวารสาร Nature ฉบับวันที่ 20 สิงหาคม ปี 2020 ว่า ระดับน้ำทะเลทั่วโลกโดยเฉลี่ย (Global-mean sea level , GMSL) ได้เพิ่มประมาณปีละ 1.5 มิลลิเมตร (คือศตวรรษละ 15 เซนติเมตร) ประเด็นเรื่องระดับน้ำทะเลที่กำลังเพิ่มสูงทุกปีนี้ ได้ทำให้คนทั้งโลกรู้สึกกังวล โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อาศัยอยู่บนเกาะที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยวกลางมหาสมุทร


สาธารณรัฐ Kiribati (อ่าน Ki-ri-bas) เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ซึ่งในเวลานั้นเป็นที่รู้จักกันในนามหมู่เกาะ Gilberts การตั้งอยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิกในบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตร และมีเส้นแวงที่ 180° ลากผ่าน ทำให้ชนชาว Kiribati เป็นชนชาติแรกของโลกที่เห็นดวงอาทิตย์ขึ้น และเป็นชนชาติสุดท้ายที่เห็นดวงอาทิตย์ตก ประเด็นนี้ได้เป็นจุดขายสำหรับธุรกิจการท่องเที่ยวมาเป็นเวลานานตั้งแต่อดีต แต่ในปัจจุบัน Kiribati กำลังมีประเด็นที่น่าสนใจยิ่งกว่า คือ หมู่เกาะนี้กำลังจะจมน้ำทะเล ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากปรากฏการณ์โลกร้อน และกำลังทวีความรุนแรงตลอดเวลา

หมู่เกาะ Kiribati ประกอบด้วยเกาะขนาดเล็ก 33 เกาะ ที่ตั้งกระจัดกระจายอยู่ระหว่างทวีปออสเตรเลียกับหมู่เกาะฮาวาย มีพื้นที่ทั้งสิ้น 811 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรประมาณ 1.5 แสนคน คนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองหลวง Tarawa บนเกาะ Tarawa Atoll ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมมุมฉาก และมีทะเลสาบน้ำเค็ม (lagoon) อยู่กลางเกาะ นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปเยือนเกาะได้โดยใช้บริการของสายการบิน Fiji Airways ซึ่งบินตรงจากเกาะ Fiji ถึง Tarawa โดยใช้เวลานานประมาณ 3 ชั่วโมง ชาวเกาะส่วนใหญ่มีรายได้จากนักทัศนาจรที่เดินทางมาจาก Fiji สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ด้วยเครื่องบิน ซึ่งจะลงจอดที่สนามบินบนเกาะ โดยสนามบินอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลเพียง 3 เมตร ในขณะที่พื้นที่ส่วนอื่น ๆ ของเกาะ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ยเพียง 2 เมตรเท่านั้นเอง ดังนั้นปัญหาที่ชาว Kiribati กำลังเผชิญอยู่ทุกวัน คือในเวลากลางคืนซึ่งเป็นเวลาน้ำทะเลขึ้น ชาวบ้านที่ตั้งถิ่นฐานบนพื้นที่ส่วนต่ำของเกาะจะต้องยกทรัพย์สมบัติหนีน้ำทะเลขึ้นไปวางในที่สูงและะต้องคอยจนกระทั่งฟ้าสาง เมื่อระดับน้ำทะเลลดลงแล้ว ความเป็นอยู่ของชาวเกาะก็จะกลับสู่สภาพปกติ แต่เมื่อถึงยามบ่าย น้ำทะเลก็จะขึ้นอีก ความทุกข์กังวลของชาว Kiribati จึงขึ้นกับเวลาและปริมาณน้ำที่ขึ้นและลง

ตามรายงานประจำปีขององค์การ Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) แห่งสหประชาชาติ ซึ่งได้ทำนายไว้ว่า ในปี 2100 การละลายของน้ำแข็งในแถบขั้วโลกทั้งสองอาจทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงถึง 1 เมตร ซึ่งจะมีผลทำให้ประชากรในเอเชียประมาณ 145 ล้านคน ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ริมมหาสมุทรและทะเลต้องประสบความเดือดร้อน และถ้าคำพยากรณ์นี้เป็นจริง สาธารณรัฐ Kiribati ก็จะถูกน้ำท่วมอย่างแน่นอน ส่วนบรรดาเมืองน้อยใหญ่อื่น ๆ ที่ตั้งอยู่ริมทะเล หรือมหาสมุทรก็จะถูกน้ำท่วมเช่นกัน เช่น Bombay ในอินเดีย Dakka ในบังคลาเทศ New York ในสหรัฐอเมริกา และกรุงเทพฯ ในไทย สำหรับคนชาติอื่น นี่มิใช่ปัญหาใหญ่ เพราะคนที่เดือดร้อนสามารถอพยพขึ้นพื้นที่สูงได้ แต่ชาว Kiribati จะประสบปัญหามาก เพราะไม่มีที่จะไป ยิ่งเมื่อ IPCC ได้ทำนายอีกว่า ในอีก 5 ศตวรรษ ระดับน้ำทะเลอาจจะเพิ่มสูงอีก 1 เมตร Kiribati จึงมีแนวโน้มว่ากำลังจะเป็นมหานคร Atlantis อย่างสมบูรณ์

ด้วยเหตุนี้ประธานาธิบดี Anote Tong แห่ง Kiribati จึงเตือนประชาชนทุกคนให้เตรียมตัวอพยพออกจากเกาะ

แต่นักวิทยาศาสตร์สภาวะแวดล้อมที่ได้ติดตามศึกษาสภาพภูมิศาสตร์ของหมู่เกาะ Kiribati มาเป็นเวลานานร่วม 20 ปี กลับมีความเห็นว่า เหตุการณ์น้ำท่วมเกาะคงจะไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน เพราะหมู่เกาะ Kiribati ถือกำเนิดจากปะการัง ซึ่งเป็นแหล่งสะสมตะกอนที่ถูกพัดพามากับกระแสน้ำในมหาสมุทร ดังนั้นพื้นที่ของเกาะจึงมีแต่จะขยายกับขยาย แม้ความสูงจะไม่เพิ่ม แต่ความกว้างของพื้นที่ก็ไม่ได้ใหญ่มากพอจะหักล้างปริมาณการกัดเซาะชายฝั่งโดยคลื่นในมหาสมุทรได้ ความอุดมสมบูรณ์ของดินบนเกาะจึงกำลังลดลงไปทุกวัน

นอกจากปัญหาภูมิศาสตร์ที่ชาวเกาะไม่มีทางจะต่อสู้แล้ว ชาว Kiribati เอง ก็มีปัญหาสังคมด้วย เพราะส่วนใหญ่มีฐานะยากจน จึงได้พากันอพยพจากเกาะเล็กมาอยู่รวมกันบนเกาะใหญ่ แต่อยู่กันอย่างไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น บางบ้านไม่มีส้วม บางคนยังมีฟาร์มเลี้ยงหมูที่ถูกน้ำท่วมบ่อย ทำให้ปฏิกูลหมูไหลนอง ซึ่งมีผลทำให้น้ำจืดที่ชาวเกาะใช้บริโภคมีสารปนเปื้อน น้ำจึงไม่สะอาดและมีรสกร่อย มีผลทำให้ผู้คนบนเกาะล้มป่วยเป็นโรคทางเดินอาหาร ณ วันนี้บนเกาะเล็ก ๆ จึงไม่มีคนอาศัยอยู่เลย เพราะที่นั่นขาดน้ำดื่มที่สะอาด ยิ่งในกรณีที่ฝนไม่ตกเป็นเวลานาน ความเดือดร้อนจะมาก ผู้คนจึงต้องอพยพไปเมืองหลวง Tarawa ประกอบอาชีพขุดน้ำบาดาลในบริเวณสนามบินโดยใช้ปั๊ม เมื่อในตัวเมืองมีผู้คนหลั่งไหลมาอาศัยอยู่มากขึ้น ๆ คนเหล่านี้ก็จะมีปัญหาเรื่องการหางานทำ และการให้ลูกหลานได้รับการศึกษา ดังนั้น ความเดือดร้อนจึงทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นตลอดเวลา เพราะมีคนว่างงานเป็นจำนวนมาก และการปฏิเสธช่วยเหลือคนอื่นที่กำลังเดือดร้อนเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับชาว Kiribati ทุกคน ดังนั้นเมือง Tarawa จึงมีลักษณะเหมือนสลัมในเมือง Bombay ประเทศอินเดียยิ่งขึ้นทุกวัน

ปัญหาที่คนทั้งโลกกำลังสนใจคือ หมู่เกาะ Kiribati จะจมน้ำทะเลอย่างสมบูรณ์เมื่อใด และซาว Kiribati จะอพยพไปอยู่ ณ ที่ใด
ดังได้กล่าวแล้วว่า Kiribati เป็นเกาะปะการังที่ได้เจริญเติบโตบนภูเขาไฟที่อยู่ใต้มหาสมุทร ดังนั้นเวลาใครขุดดินบนเกาะลงไปลึก ๆ จะพบหินภูเขาไฟ และตลอดเวลานับล้านปีที่ผ่านมา ซากหอยและปู ที่เคยอาศัยอยู่ตามปะการังได้หลอมรวมกับสาหร่ายทะเล จนกลายเป็นหินปูนที่เรียงรายเป็นวงกลม เมื่อยอดปะการังได้เจริญเติบโตถึงระดับน้ำในมหาสมุทร ดินเบื้องล่างจะทรุดตัวลงทำให้เกิดทะเลสาบน้ำเค็ม ณ กลางเกาะ Kiribati จึงมีภูเขาไฟที่ดับแล้วแฝงอยู่เบื้องล่าง และเป็นหมู่เกาะปะการังที่กำลังเติบโตตลอดเวลาพร้อมกับระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูง เพราะน้ำได้ดูดซับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไป จนกลายเป็นกรดอ่อน ๆ ปะการังที่อยู่เรียงรายรอบเกาะจึงถูกกรดฟอกขาวและเติบโตช้า การวัดอายุของปะการัง โดยใช้เทคนิคคาร์บอน-14 แสดงให้เห็นว่า ในช่วงเวลา 10,000 ปีที่ผ่านมา อัตราการเจริญเติบโตของปะการังได้ช้าลง ๆ

ประธานาธิบดี Tong จึงได้ตอกย้ำว่า ใครที่ไม่เชื่อว่าอุณหภูมิโลกกำลังสูงขึ้นตลอดเวลาก็ตามใจ แต่ขอเตือนชาวเกาะทุกคนให้รีบอพยพออกไปก่อนอย่างมีศักดิ์ศรี แทนที่จะหอบสมบัติส่วนตัวแล้วทิ้งเกาะไปเหมือนชาวอัฟกานิสถาน และเพื่อช่วยเหลือผู้อพยพ รัฐบาล Kiribati ได้ซื้อที่ดิน 22 ตารางกิโลเมตรบนเกาะ Fiji ในราคา 300 ล้านบาท ให้เป็นที่อาศัยชั่วคราวของชาว Kiribati แม้ทางรัฐบาลจะยังไม่ได้กำหนดให้ใครมีสิทธิ์เข้าไปอยู่ตั้งแต่เมื่อใด แต่ประธานาธิบดี Tong ก็เชื่อว่า การซื้อที่ดินก็ยังดีกว่าการสร้างเขื่อนล้อมรอบเกาะ เพื่อป้องกันมิให้เกาะถูกน้ำทะเลท่วม เพราะในที่สุดน้ำทะเลก็จะท่วมเขื่อนอยู่ดี


ในขณะที่ชาว Kiribati กำลังต้องต่อสู้กับภัยน้ำทะเลท่วม ชาวโลกที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณชายทะเลทั่วโลกก็กำลังสังวรในภัยพิบัตินี้ด้วย เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีเกาะ Tangier ที่ตั้งอยู่กลางอ่าว Chesapeake ในรัฐ Virginia กำลังถูกน้ำท่วมจนผู้เชี่ยวชาญได้พยากรณ์ว่า เกาะนี้กำลังจะจมหายไปอย่างถาวรในอีก 25 ปี เพราะตลอดเวลา 240 ปีที่ผ่านมา พื้นที่บนเกาะที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1 เมตร ได้ลดลง ๆ และชายทะเลได้ถูกน้ำทะเลกัดเซาะ เพราะระดับความสูงของน้ำทะเลได้เพิ่ม แต่ประชากรชาวเกาะส่วนใหญ่ซึ่งไม่เชื่อเรื่องโลกร้อน นอกจากจะไม่ทำอะไรเพื่อช่วยตัวเองแล้ว ยังได้ร้องเรียนขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลด้วย แต่ยังไม่ได้ผล เพราะรัฐบาลไม่มีเงินงบประมาณจะช่วยคนบนเกาะที่มีจำนวนไม่ถึง 500 คน นอกจากนี้คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้สูงวัย เด็ก ๆ ก็ไม่มี และหลายครอบครัวได้อพยพไปหมดแล้ว ทั้ง ๆ ที่ผู้อาวุโสบนเกาะได้เคยออกแถลงการณ์ผ่าน CNN ว่า ชาวเกาะทุกคนรักและศรัทธาประธานาธิบดี Donald Trump แต่ประธานาธิบดี Trump ก็ไม่ได้ดำเนินการช่วยเหลือแต่อย่างใด ขณะนี้ถึงยุคของ Joseph Biden แล้ว คำขอร้องต่าง ๆ ก็ได้หมดอายุไปแล้วด้วย

ในขณะที่โลกกำลังมีปัญหาเรื่องมลพิษในอากาศ ซึ่งเกิดจากการปลดปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าถ่านหิน การจราจร การเผาป่า และการทำลายสิ่งแวดล้อม น้ำทะเลบนโลกก็มีปัญหาเรื่องขยะพลาสติกและการเป็นกรดอ่อน ๆ ที่กำลังทำลายปะการังและสิ่งมีชีวิตในทะเลไป อีกทั้งกำลังเพิ่มระดับความสูงตลอดเวลา มนุษย์ซึ่งต้องใช้ชีวิตอยู่ระหว่างน้ำกับฟ้า จึงจำเป็นต้องตระหนักในภัยเหล่านี้ และจะต้องหาวิธีแก้ปัญหาให้ได้ ก่อนจะถูกฟ้าและน้ำลงโทษ โดยไม่รู้ว่าครั้งหนึ่งเคยมีเกาะบางเกาะบนโลก

อ่านเพิ่มเติมจาก “The causes of sea-level rise since 1900” โดย Thomas Frederikse กับคณะ ในวารสาร Nature ฉบับที่ 584 วันที่ 20 สิงหาคม 2020


สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น