xs
xsm
sm
md
lg

โรคระบาดร้ายแรงที่ทำให้สังคมโลกต้องเปลี่ยนแปลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เวลาเกิดการระบาดของโรคที่ระดับรุนแรงมาก ผู้คนในสมัยโบราณจำนวนนับล้านต้องล้มตาย ภัยพิบัติเช่นนี้ได้ผลักดันผู้คนในสังคมตั้งแต่ในอดีต พยายามจะเข้าใจที่มาและสาเหตุของโรคที่มาคุกคาม ตลอดจนกลไกที่โรคใช้ในการระบาด อีกทั้งต้องการจะรู้วิธีรักษา และป้องกัน รวมถึงรู้เหตุผลที่ทำให้คนบางคนปลอดภัย ในขณะที่หลายคนต้องเสียชีวิต

ตำราแพทย์โบราณที่สุดที่เรารู้จักเป็นตำราของจีนและของอียิปต์ ซึ่งได้ถือกำเนิดเมื่อประมาณ 4,000 ปีก่อน ที่ได้ใช้พืชสมุนไพรเป็นหลักในการรักษา และในช่วงเวลาเดียวกัน องค์ฟาโรห์ Imhotep ซึ่งชาวอียิปต์นับถือเสมือนเป็นเทพเจ้าแห่งการแพทย์ ก็ทรงโปรดให้ปราชญ์ในราชสำนักได้เรียบเรียงตำราแสดงวิธีวิเคราะห์ และรักษาโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศอียิปต์ ณ เวลานั้น ด้านตำราอายุรเวทของอินเดียก็มีการกล่าวถึงสมุนไพรที่ใช้ในการรักษาโรคเช่นกัน รวมถึงได้แสดงวิธีผ่าตัดอวัยวะต่าง ๆ ด้วย

จนกระทั่งถึงเมื่อประมาณ 7 ศตวรรษก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นเวลาที่อารยธรรมกรีกได้เจริญรุ่งเรืองสุด ๆ คือเป็นยุคทอง โดยมีกรุง Athens เป็นศูนย์กลาง เพราะมีรัฐบุรุษและสถาปนิกชื่อ Pericles ผู้สร้างมหาวิหาร Parthenon ใน Acropolis มีนักปรัชญาชื่อ Socrates มี Euripides และ Sophocles ซึ่งเป็นนักประพันธ์บทละครโศกนาฏกรรม รวมถึงมี Hippocrates ซึ่งเป็นบิดาของวิชาแพทยศาสตร์ อีกทั้งมีโรงเรียนแพทย์แห่งแรกที่เมือง Cnidus ซึ่งทำการสอนวิธีรักษาคนไข้ โดยเน้นเรื่อง คุณภาพของอาหาร การดำเนินวิถีชีวิต และสุขภาวะของคนไข้ ในเวลาต่อมา Hippocrates ก็ได้จัดตั้งโรงเรียนแพทย์ของตนเองขึ้นมาที่เมือง Kos และได้บัญญัติคำศัพท์ทางการแพทย์ใหม่ ๆ ให้โลกรู้จักจนทุกวันนี้ เช่น คำว่า acute ซึ่งแปลว่าเฉียบพลัน สำหรับโรคที่เกิดขึ้นเร็ว และคนไข้มีอาการป่วยไม่นาน กับคำว่า chronic ซึ่งแปลว่าเรื้อรัง สำหรับโรคที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ และคนไข้มีอาการป่วยติดต่อกันเป็นเวลานาน

ความรุ่งเรืองเช่นนี้ ทำให้ใคร ๆ ก็คิดว่า ยุคทองของ Athens จะรุ่งเรืองเป็นเวลานานนับพันปี แต่ในความเป็นจริงความเจริญได้หมดลง ภายในเวลาเพียง 50 ปีเพราะเมื่อ 431 ปีก่อนคริสตกาล จุดเริ่มต้นแห่งการล่มสลายของอารยธรรมกรีกก็บังเกิด เมื่อสังคมกรีกมีความแตกแยก ฝ่ายมีอำนาจใช้วิธีลอบสังหารฝ่ายตรงข้าม ความร้าวฉานได้เปิดโอกาสให้ฝ่ายศัตรู คือ ชนชาว Sparta บุกโจมตี การกรีฑาทัพบุกนคร Athens ได้ทำให้ชาวกรีกที่อาศัยอยู่นอกเมืองหลวง ต้องอพยพเข้ากรุง เพื่อความปลอดภัย ความหนาแน่นของประชากรในเมืองหลวงจึงเพิ่มมากจนถึงระดับแออัดอย่างติดต่อกันเป็นเวลานาน ตลอดเวลาที่กองทัพ Sparta ยังตั้งอยู่นอกเมือง

แต่ก่อนที่ Pericles จะยกกองทัพกรีกออกต่อสู้กับข้าศึก เชื้อกาฬโรคที่มากับหนู ซึ่งได้เดินทางมากับเรือจากประเทศ Ethiopia , Egypt , Libya และ Persia ก็ได้เริ่มระบาดในกรุง Athens ที่มีผู้คนอยู่กันอย่างแออัด อย่างรวดเร็ว จำนวนคนที่ป่วยด้วยโรคได้เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน มีคนไอ จาม เจ็บหน้าอก รวมถึงมีอาการบวมที่รักแร้และข้อพับ คนป่วยมีไข้สูง มีผื่นแดงตามลำตัวและท้องร่วง คนที่ตัวร้อนมาก แม้จะได้ดื่มน้ำมากสักเพียงใดก็ไม่คลายร้อน หลังจากที่ต้องทรมานเป็นเวลา 7-8 วัน คนไข้ก็จะตาย สำหรับคนที่ไม่ตาย อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายที่เสียไปก็มักไม่คืนสู่สภาพเดิมอีก

นักประวัติศาสตร์ชื่อ Thucydides ได้ลงบันทึกว่ามีประชากร Athens ที่ได้เสียชีวิตประมาณ 90,000 คน มีทหารตายประมาณ 4,400 คน จากจำนวนทหาร 15,500 คน และมีทหารม้าตาย 300 คน จากจำนวนทั้งหมด 1,000 คน

การสูญเสียชีวิตนี้เกิดจากการไม่มียารักษา แม้แต่แพทย์ที่พยายามรักษาคนไข้ก็ได้ล้มตายไปพร้อม ๆ กับคนไข้ อาการป่วยที่รุนแรงและระบาดง่ายนี้ ทำให้แม้แต่ญาติก็ไม่กล้าเข้าเยี่ยมเยียนคนไข้ คนป่วยต้องถูกทิ้งข้างทางอย่างไร้คนดูแล ในขณะที่บรรดาคนในเมืองล้มตายไป ๆ เหมือนใบไม้ร่วง คนนอกเมืองก็ถูกทหารศัตรูฆ่าตายไปทุกวัน เมื่อกษัตริย์ Leonidas แห่งกองทัพชาว Sparta ทรงทราบข่าวการระบาดของกาฬโรคในกรุง Athens พระองค์ก็ทรงถอยทัพกลับ


ในช่วงเวลาที่กาฬโรคกำลังระบาดหนัก ชาว Athens ส่วนมาก ซึ่งไม่รู้สาเหตุได้รู้สึกท้อถอยและเริ่มหมดศรัทธาในศาสนา รวมถึงหมดความเชื่อมั่นในตัวบทกฎหมาย ประเพณีต่าง ๆ ได้ถูกยกเลิก เช่น ศพก็ไม่ต้องมีพิธีสวด การเผาศพรวมได้กลายเป็นเรื่องจำเป็น คนที่ยากจนก็ต้องปล่อยศพให้ตกเป็นเหยื่อของสัตว์ เป็นต้น

เมื่อความยากลำบากมีมากขึ้น ๆ ผู้คนก็เริ่มต่อต้านผู้มีอำนาจด้วยข้อกล่าวหาว่าละเลยการปฏิบัติหน้าที่ แม้ Pericles จะได้กล่าวสุนทรพจน์ปลุกใจชาวเมืองสักเพียงใด ก็ไร้ผล เพราะความแค้นไม่ได้จางหาย Pericles จึงถูกไต่สวนด้วยข้อกล่าวหาว่า ได้บริหารบ้านเมืองอย่างผิดพลาด และถูกตัดสินว่า มีความผิดจริง แต่ก็ได้กลับขึ้นครองอำนาจอีก เพราะทั้งประเทศ หาคนมาแทนไม่ได้

ในเวลาต่อมาเมื่อ Pericles เสียชีวิตเพราะติดกาฬโรค เขาได้ทิ้งบ้านเมืองให้อยู่ในสภาพแตกแยก มีการคอร์รัปชันกันอย่างเกลื่อนกลาด ในที่สุดเมื่อถึง 404 ปีก่อนคริสตกาล กองทัพนักรบชาว Sparta ก็ได้หวนกลับมายึดครอง Athens ได้สำเร็จ การตายของ Pericles จึงเป็นจุดจบของยุคทองแห่ง Athens และในเวลาเดียวกันก็เป็นจุดจบของอารยธรรมกรีกด้วย

ในส่วนของความรู้แพทยศาสตร์เรื่องโรคต่าง ๆ ในสมัยนั้น Hippocrates ไม่เชื่อว่าคนเป็นโรค เพราะถูกฟ้าพิโรธ หรือถูกเทวดาลงโทษ แต่เป็นเพราะของเหลว 4 ชนิดในร่างกาย (เลือด , น้ำดีสีเหลือง , น้ำดีสีดำ และเสมหะ) ได้ทำงานผิดปกติ สาเหตุหลักอีกหนึ่งประการ ที่ Hippocrates คิดว่า ทำให้คนป่วย คือ อากาศที่ไม่บริสุทธิ์ (ทฤษฎี miasma) Galen ซึ่งเป็นศิษย์ของ Hippocrates ก็เชื่อในทฤษฎีเลือดของร่างกาย โดยได้สนับสนุนเรื่องการผ่าเอาเลือดออก (blood letting) เพื่อให้ของเหลวในร่างกายสามารถทำงานได้อย่างสมดุล การรักษาจึงสามารถกระทำได้ โดยการสนใจคุณภาพของอาหาร การออกกำลังกาย และการพักผ่อน ตามปกติแพทย์หัวเมืองจะไม่มีคลินิกของตนเอง แต่จะออกเดินไปหาคนไข้ตามบ้าน หรือตามตลาด แต่ในเมืองใหญ่ แพทย์จะมีคลินิกส่วนตัว แต่ก็มีคนหลายคนที่ไม่เชื่อวิธีรักษาของแพทย์ จึงมักเดินทางไปพักนอนที่วิหาร Aesculapius เพื่อให้เทพเจ้าที่นั่นรักษา โดยการเข้าฝันเพื่อบอกวิธีรักษาให้ สำหรับประเด็นการระบาดของโรคนั้น แพทย์ได้แบ่งโรคออกเป็น 2 กลุ่ม คือ พวกที่แพร่กระจาย (ระบาด) เร็ว และพวกที่เป็นเฉพาะบุคคล

ครั้นถึง ค.ศ.542 ซึ่งเป็นปีที่ 15 ในยุคจักรพรรดิ Justinian แห่งอาณาจักร Byzantine กาฬโรคได้ระบาดหนักอีกที่เมือง Constantinople (Istanbul ในตุรกี) ซึ่งเป็นเมืองหลวง ภายในเวลาเพียง 4 เดือน ประชาชนได้ล้มตายมากถึงวันละ 10,000 คน แม้แต่องค์จักรพรรดิเองก็ทรงประชวรด้วยโรคนี้ด้วย แต่สำนักพระราชวังได้ปกปิดข่าว เพราะเกรงประชาชนจะเสียขวัญและกำลังใจ ว่าอาณาจักรจะไม่มีจักรพรรดิทรงปกครอง

ตราบถึงวันนี้ก็ไม่มีใครรู้ชัดว่า ต้นเหตุของการระบาดคืออะไร และการระบาดเกิดขึ้นได้อย่างไร การไม่รู้อะไร ๆ เกี่ยวกับศัตรูที่จะมาคร่าชีวิต ได้ทำให้ชาวเมืองมีความปริวิตกมาก โดยรู้เพียงว่าเมื่อหนึ่งปีก่อนนั้น ได้มีการระบาดของกาฬโรคที่เมืองท่า Pelusium ในอียิปต์ จากที่นั่นโรคก็ได้ระบาดต่อไปจนถึงเมือง Alexandria เข้า Palestine กับ Syria แล้ว ระบาดไปทั่วยุโรป นี่จึงเป็นมหาระบาดระดับโลกที่นักประวัติศาสตร์ชื่อ Procopius ได้บันทึกไว้เป็นครั้งแรก


Procopius เป็นชาวเมือง Caesarea ในดินแดน Palestine และเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายของนายพล Belisarius เขาได้เดินทางติดตามเจ้านายไปทุกหนแห่งที่อยู่ในย่านทะเล Mediterranean เมื่อเดินทางถึงนคร Constantinople ก็ได้พบว่าเมืองทั้งเมืองกำลังตกอยู่ในช่วงของกาฬโรคระบาดหนัก Procopius จึงได้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดว่า คนป่วยทุกคนจะเริ่มมีอาการคล้าย ๆ กัน คือมีไข้สูงอย่างฉับพลัน จากนั้นอีกไม่นานร่างกายก็เริ่มมีอาการบวม โดยเฉพาะที่บริเวณท้อง รักแร้ ต้นขา และหู ต่อมาอีกไม่นานบางคนก็เสียชีวิตอย่างฉับพลัน บางคนมีอาการเพ้อคลั่ง เสียสติ และบางคนนอนหลับอย่างไม่ได้สติติดต่อกันเป็นเวลานาน จนญาติต้องพึ่งพาอาศัยหมอผีมารักษา ส่วนคนที่มีแผลเป็นหนองตามตัว ถ้ามีการกำจัดหนองออก ในบางกรณี ได้ทำให้รู้สึกปวดน้อยลงและหาย แต่เขาก็จะมีแผลเป็นจนตลอดชีวิต เมื่อการระบาดรุนแรงขึ้น ๆ จำนวนคนตายมีมากขึ้น ๆ สุสานเริ่มไม่มีสถานที่เพียงพอจะรับศพ ความวุ่นวายก็บังเกิด ญาติและสัปเหร่อจำเป็นต้องแสวงหาที่ดินสำหรับฝังศพเพิ่มเติม หรือนำศพทั้งหลายไปบรรจุรวมกันในหอคอยสูง ในขณะที่ผู้คนล้มตายนับหมื่นคน​ จักรพรรดิได้ทรงประทานเงินช่วยเหลือแก่คนที่มาขอ ด้านพระนักบวชก็ยังทำพิธีทางศาสนาต่อไป เพราะชาวเมืองยังยึดมั่นในศาสนาว่า สามารถคุ้มครองตนให้ปลอดภัยได้ พระมเหสี Theodora ในจักรพรรดิ Justinian ทรงออกต้อนรับแขกเมืองอย่างปกติ ในขณะที่จักรพรรดิทรงพระประชวรด้วยกาฬโรคในพระแท่นบรรทม และการประชวรครั้งนั้น ได้ทำให้เกาะอังกฤษรอดพ้นจากการถูกยึดครอง โดยกองทัพในจักรพรรดิ Justinian

การที่กาฬโรคได้ระบาดไปทั่วยุโรป ตะวันออกใกล้ และเอเชียใต้ ได้ทำให้คนล้มตายไปเป็นแสน และหลายคนต้องตกงาน เมื่อประเทศชาติมีอาหารไม่เพียงพอ ภาวะทุพภิกขภัยก็บังเกิด ครั้นเมื่อฤดูร้อนได้ผ่านไปแล้ว จักรพรรดิ Justinian ได้ทรงตระหนักว่า อาณาจักร Byzantine ในพระองค์กำลังจะล่มสลาย เพราะประชาชนแทบจะหมดกำลังใจในการมีชีวิตอยู่ต่อ และได้พากันแยกย้าย อพยพออกจากเมือง ความหวังของจักรพรรดิ Justinian ที่จะทำให้ Constantinople มีความยิ่งใหญ่ทางการเมืองและการทหารเหมือนโรมในยุคโบราณก็เริ่มหมดตามไปด้วย ยิ่งเมื่อพระมเหสี Theodora ในพระองค์ได้เสด็จสวรรคตในปี 548 องค์จักรพรรดิ Justinian ก็ยิ่งหมดพระปณิธาน จากนั้นอีก 17 ปีต่อมา อาณาจักร Byzantine ในพระองค์ก็เสื่อมลง ๆ จนสูญสิ้นไปในที่สุด

ในเวลาต่อมา คือในช่วงปี 700-1200 ซึ่งเป็นยุคทองในทางการแพทย์ของอาณาจักรอิสลาม เพราะมีการจัดตั้งสถาบัน Gundishapur เป็นโรงพยาบาลที่ทำหน้าที่ฝึกสอนแพทย์เป็นแห่งแรก และที่ Baghdad ก็มีโรงพยาบาลสาธารณะ เพื่อทำหน้าที่รักษาคนทั่วไป นอกจากนี้ก็มีปราชญ์อิสลามชื่อ Avicenna ซึ่งได้เขียนตำราแพทยศาสตร์ไว้หลายเล่ม เช่น ตำรา The Canon of Medicine ซึ่งเป็นตำราที่นักศึกษาแพทย์ทั่วยุโรปในสมัยนั้นได้ใช้ในการเรียน ในตำราเล่มนี้ Avicenna ได้บุกเบิกวิธีรักษาคนไข้ไว้หลายรูปแบบ เช่น ให้มีการกักตัว (quarantine) เพื่อควบคุมการระบาดของโรค และให้มีการทดลองใช้ยาก่อนที่จะนำไปใช้จริงด้วย

ในคริสต์ศตวรรษที่ 14 Ibn Khatima ซึ่งเป็นทั้งแพทย์ กวี และนักประวัติศาสตร์ชาวสเปน แห่งเมือง Granada ได้เขียนตำราที่กล่าวถึงสาเหตุการระบาดของกาฬโรคว่า เกิดจากการมีอนุภาคที่เป็นพาหะนำโรคจากคนไข้ไปสู่คนรอบข้าง โดยติดไปกับเสื้อผ้า ซึ่งความคิดนี้ได้เกิดขึ้นก่อนที่ Louis Pasteur จะพบเชื้อโรค ประมาณ 500 ปี


ลุถึงปี 1546 Girolamo Fracastoro แพทย์ชาวอิตาลี ได้เสนอสมมติฐานว่า อนุภาคที่นำโรคเป็นสิ่งมีชีวิต ดังนั้นเขาจึงวางหลักการให้คนทุกคนพยายามรักษาความสะอาดส่วนตัว เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค

ในปี 1839 William Budd แพทย์ชาวอังกฤษ ได้สังเกตเห็นว่า กรณีคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคไข้รากสาด (typhoid) ที่มีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด คนดูแลจะล้มป่วยเป็นโรคชนิดเดียวกัน ในเวลาต่อมาอีกไม่นาน ในปี 1847 Budd จึงเสนอความคิดว่า ในน้ำมีจุลชีพก่อโรค (pathogen) ที่ทำให้เกิดโรคอหิวาต์ และในปี 1854 โรคอหิวาต์ได้ระบาดในลอนดอน ทำให้มีคนตายกว่า 10,000 คน และแพทย์ชื่อ John Snow ได้แสดงให้เห็นว่า ระบบจ่ายน้ำที่ไม่สะอาดในกรุงลอนดอนคือสาเหตุหลัก เพราะในน้ำมีเชื้อโรคกระจายอยู่ ตำรา On the Mode of Communication of Cholera ที่ Snow ตีพิมพ์เผยแพร่ในปี 1855 ได้แสดงให้เห็นว่าอหิวาต์ระบาด เพราะน้ำที่ชาวเมืองดื่มมีเชื้อโรค การวิเคราะห์อย่างละเอียด ทำให้ John Snow ได้ชื่อว่า เป็นบิดาของวิทยาการด้านการระบาดวิทยา

ในปี 1882 แพทย์ชาวเยอรมัน ชื่อ Robert Koch ได้พบจุลินทรีย์ที่ทำให้คนเป็นวัณโรค อหิวาตกโรค และโรคติดต่อในสัตว์เลี้ยง (anthrax) ผลงานเหล่านี้ทำให้ Koch ได้รับรางวัลโนเบลสาขาแพทยศาสตร์ประจำปี 1905 และได้ชื่อว่าเป็นบิดาผู้บุกเบิกวิชาแบคทีเรียวิทยา (bacteriology) เพราะการค้นพบของ Koch ได้ปกป้องมิให้ผู้คนล้มป่วยและเสียชีวิตด้วยเชื้อโรค ที่มากับสารคัดหลั่งซึ่งออกมาจากจมูกของผู้ป่วย เวลาอยู่ในย่านที่มีผู้คนแออัด และมีการไอ จาม หรือถ่มน้ำลาย การค้นพบนี้จึงเน้นให้เห็นว่า สุขภาวะของทุกคนคือปัจจัยสำคัญในการควบคุมการระบาด

ลุถึงปี 1894 Alexandre Yersin แพทย์ชาวสวิตเซอร์แลนด์-ฝรั่งเศส ได้พบว่าแบคทีเรีย Yersinia pestis ซึ่งมีหนูเป็นพาหะ คือ สาเหตุที่ทำให้กาฬโรคระบาด และการระบาดนี้ได้ทำให้ประชากรยุโรปเสียชีวิตประมาณ 25 ล้านคน

ในปี 1918 ซึ่งเป็นเวลาที่สงครามโลกครั้งที่ 1 เพิ่งยุติใหม่ ๆ การระบาดของไข้หวัดใหญ่ (ที่เรียกว่า หวัดสเปน Spanish flu) ได้ทำให้ผู้คนเสียชีวิตประมาณ 50 ล้านคน เพราะในเวลานั้น ระบบสาธารณูปโภคของสังคมในทุกประเทศอยู่ในสภาพล่มสลาย ยารักษาโรคขาดแคลนและวัคซีนป้องกันโรคก็ไม่มี เมื่อคนป่วยมีไข้สูง ปวดหัว และรู้สึกอ่อนเพลียมาก ผิวเนื้อตัวจะมีสีคล้ำ และมีของเหลวเต็มปอด เพราะแทบทุกคนไม่มีภูมิคุ้มกัน หน้ากากป้องกันการแพร่ระบาดก็มีไม่มากพอ แม้ทางการจะจำกัดสถานที่ให้ทุกคนทำกิจกรรมร่วมกันก็ตาม จำนวนผู้เสียชีวิตก็ยังมากกว่าจำนวนทหารที่ตายไปในสงครามโลกถึง 10 เท่า

ไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในครั้งนั้น เกิดจากไวรัส RNA ที่สามารถกลายพันธุ์ได้ง่าย โดยการเปลี่ยนโปรตีนที่ผิวของไวรัส เพื่อให้มันสามารถโจมตีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ง่าย ดังนั้นวัคซีนที่สามารถใช้ป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ช่วงหนึ่ง แต่ในเวลาต่อมาวัคซีนนั้นจะใช้ไม่ได้ผล ไข้หวัดใหญ่จึงสามารถระบาดได้เรื่อย และได้ระบาดซ้ำอีกในปี 1951 และปี 1968


บทเรียนที่ได้จากการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในปี 1918 คือ นักวิทยาศาสตร์ได้ความรู้เรื่องไวรัสมากขึ้น และแพทย์มียาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ต่าง ๆ เช่น Tamiflu และ Relenza เพื่อลดความรุนแรงของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง คือ โรค SARS (Severe acute respiratory syndrome) เป็นต้น

การติดตามหาสาเหตุการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปน เมื่อปี 1918 ไม่ได้แสดงว่า แหล่งกำเนิดของโรคมาจากประเทศสเปนแต่ประการใด แต่ได้พบว่าขณะที่กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรกำลังจะชนะสงครามนั้น ทหารที่กำลังรบอยู่ในประเทศฝรั่งเศสได้เริ่มล้มป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ และมีการปอดบวม (นิวมอเนีย) ด้านทหารเยอรมันก็มีการล้มตายมากเหมือนกัน และได้พบว่าจากทหารบกของฝ่ายสัมพันธมิตร 35,000 คน จะมีทหารตาย 9,000 คน ส่วนทหารเรือก็ตายประมาณ 10% จำนวนที่มากเช่นนี้ ได้ทำให้ขวัญและกำลังใจของทหารบนเรือหมดสิ้น จนไม่มีใครอยากอยู่ประจำบนเรืออีกต่อไป จึงต้องลากเรือเข้าอู่ เสมือนได้จมหายไปจากสมรภูมิ เพราะถูกตอร์ปิโดข้าศึกถล่ม ด้านคนที่เสียชีวิตในเมืองต่าง ๆ ก็มีการสำรวจพบว่ามักมีอายุในช่วง 20-40 ปี คนที่เข้ารักษาไม่ทัน ได้ป่วยเป็นโรคปอดบวม และต้องนอนตายข้างถนนอย่างเกลื่อนกลาด ทางการได้ประกาศห้ามการรวมกลุ่มในโรงเรียน ส่วนร้านตัดผม โบสถ์ โรงภาพยนตร์ต่าง ๆ ก็ถูกสั่งปิด ใครถ่มน้ำลายในที่สาธารณะจะถูกปรับ คนที่จามหรือไอ โดยไม่มีผ้าเช็ดหน้าปิดปาก ก็ถูกปรับเช่นกัน อย่างไรก็ตามอุปกรณ์ที่สังคมมีใช้ในการป้องกันตัว คือ หน้ากาก และถ้าใครไม่ใส่หน้ากากก็จะถูกปรับหรือขัง

เมื่อจำนวนคนตายมีมากขึ้น ๆ พื้นที่ในสุสานจึงมีไม่เพียงพอจะให้ฝัง คนรวยบางคนจึงได้อุทิศพื้นที่ดินที่ตนมีให้เป็นสุสานรวม สำหรับคนที่โชคดี เวลาเห็นคนป่วยอยู่ข้างถนนก็จะโทรศัพท์ไปบอกโรงพยาบาลให้ส่งรถมารับ แล้วตัวเองก็หลบหนีเอาตัวรอด โรงพยาบาลในเวลานั้นจึงมีรถรับส่ง เข้า-ออกตลอดเวลา โดยมีการนำคนไข้เข้าทางด้านหน้า และนำศพออกทางด้านหลัง การหาโลงศพก็มีปัญหา เมื่อความแร้นแค้นมีมาก บางคนจึงนำศพใส่กล่องกระดาษ แล้วนำไปฝังในหลุมที่ได้เกณฑ์นักโทษให้มาขุด พิธีศพต่าง ๆ ก็ถูกเลิกจัด เพราะทางการได้กำหนดให้คนที่มาร่วมงานมีจำนวนได้ไม่เกิน 10 คน

ในด้านการรักษา เพราะไม่มีใครรู้จริง จึงมีคนเสนอให้รักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ กัน เช่น ให้ดื่มเหล้าสก๊อตช์ หรือให้กินกระเทียมมาก ๆ บ้างก็เสนอให้ตัดต่อม tonsil หรือให้สูดดมยาสลบ (chloroform) ฯลฯ จนกระทรวงสาธารณสุขต้องออกประกาศให้ทุกคนรู้ว่า แพทย์ยังไม่มียารักษาไข้หวัดใหญ่โดยเฉพาะ

การระบาดของไข้หวัดใหญ่ในครั้งนั้น ได้แพร่กระจายไปทั่วโลก ถึงเขตขั้วโลกเหนือ Arctic จนทำให้ชาว Eskimo ในบางสถานที่ต้องตายยกหมู่บ้านก็มี ใน Mexico มีคนตายประมาณ 500,000 คน ในแคนาดาตาย 44,000 คน การขนศพจำนวนมาก ต้องกระทำในเวลากลางคืน เพื่อไม่ให้ผู้คนแตกตื่นกลัว ในอังกฤษมีคนตาย 228,000 คน ส่วนในอินเดียการเผาศพผู้ตายต้องกระทำอย่างรวดเร็ว คือในหนึ่งวันหลังการตาย ดังนั้นจำนวนคนตายจึงเป็นตัวเลขที่ไม่แน่นอน เพราะทางการนับไม่ทันและไม่ทันนับ แต่ก็ประมาณว่ามีมากถึง 5 ล้านคน ด้านชาวเกาะ Guam , Samoa , Tahiti และ New Zealand ก็มีคนตายด้วยโรคไข้หวัดใหญ่มากมาย เพราะโลกมีการคมนาคมทางอากาศติดต่อกันได้อย่างสะดวกสบาย แม้แต่การเจรจาสันติภาพ ในปี 1919 ที่เมือง Versailles ในประเทศฝรั่งเศสก็ต้องเลื่อน เพราะผู้นำ Woodrow Wilson ของอเมริกา David Lloyd George ของอังกฤษ และ Georges Clemenceau ของฝรั่งเศส ได้ล้มป่วย

ในปี 1933 ได้มีการพบว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์ เป็นชนิด Type A influenza และในปี 1957 ที่มีการระบาดหนักในเอเชีย เชื้อโรคที่คุกคามเป็นชนิด A2

ปัจจุบันโลกกำลังถูกคุกคามด้วยไวรัสชนิดใหม่อีก คือ coronavirus ที่ทำให้เป็นโรค COVID-19 และแพทย์กำลังพบว่าไวรัสนี้ทุกชนิดสามารถกลายพันธุ์ได้ ตั้งแต่ alpha , beta , gamma , ………… , omega และตราบถึงวันนี้ เราก็ยังไม่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันได้ทุกสายพันธุ์

อ่านเพิ่มเติมจาก Living with Enza · The Forgotten Story of Britain and the Great Flu Pandemic of 1918 โดย Mark Honigsbaum จัดพิมพ์โดย Palgrave Macmillan ปี 2008


สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น