สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จัดการเสวนาออนไลน์ เรื่อง “ผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรมเพื่ออนาคตประเทศไทย : Future Thailand” เผยภาพความสำเร็จการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย ในอีก 20 ปี ข้างหน้า พร้อมนำเสนอผลการวิจัย-สร้างการรับรู้ผลสำเร็จจากการวิจัยด้านประเทศไทยในอนาคต แลกเปลี่ยนทัศนะและข้อคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางอนาคตประเทศไทย
วันนี้ (30 มิ.ย.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดการเสวนาออนไลน์ เรื่อง “ผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรมเพื่ออนาคตประเทศไทย : Future Thailand” เพื่อนำเสนอผลการวิจัยและสร้างการรับรู้ผลสำเร็จจากการวิจัยด้านประเทศไทยในอนาคต รวมถึงนำเสนอข้อเสนอแนะ เชิงนโยบายในมิติที่เกี่ยวข้องสู่สาธารณชนในมุมที่น่าสนใจ และเพื่อเป็นเวทีพบปะ แลกเปลี่ยนทัศนะและข้อคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางอนาคตประเทศไทยระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเชิงวิชาการอันจะนำไปสู่แนวคิดที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานต่าง ๆ และประเทศ โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการเสวนาออนไลน์
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม เพื่อดำเนินโครงการประเทศไทยในอนาคต (Future Thailand) เป็นโครงการศึกษาภาพอนาคตของประเทศไทยในระยะเวลารวม 20 ปี โดยแบ่งช่วงการศึกษาออกเป็น 4 ระยะเวลา คือ ระยะเวลา 5 ปี 10 ปี 15 ปี และ 20 ปี โดยได้ทำการศึกษาและวิจัย ในมิติสำคัญ 10 ด้านของประเทศ ได้แก่ มิติที่ 1 ประชากรและโครงสร้างสังคม โดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล มิติที่ 2 สังคม ชนบท ท้องถิ่น โดย สถาบันพระปกเกล้า มิติที่ 3 การศึกษา โดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย มิติที่ 4 สิ่งแวดล้อมและพลังงาน โดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย มิติที่ 5 เศรษฐกิจผู้ประกอบการและอุตสาหกรรม โดย สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ มิติที่ 6 เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก เกษตรกรรมและการบริการโดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย มิติที่ 7 วัฒนธรรมและภาษาไทย (อัตลักษณ์ความเป็นไทย) โดยราชบัณฑิตยสภา มิติที่ 8 การเมือง โดย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มิติที่ 9 บริบทโลก ปัจจัยคุกคามและความมั่นคงของประเทศ โดย มูลนิธิคลังสมอง วปอ.
เพื่อสังคม และมิติที่ 10 คนไทย 4.0 โดย สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ
"งานวิจัยนี้มุ่งเน้นพยากรณ์ภาพอนาคตบนพื้นฐานความเป็นจริง โดยได้เริ่มดำเนินการศึกษาวิจัยในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งผลการวิจัยได้ชี้ให้เห็นฉากทัศน์ที่เป็นไปได้ของแต่ละมิติในประเด็นสำคัญของประเทศไทยในช่วงระยะเวลาต่าง ๆ และจากการดำเนินงานวิจัยได้ผลผลิต เป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการนำไปวางแผนยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณะต่อไป สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่จะสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ให้แก่หน่วยงานด้านนโยบายของประเทศ เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หน่วยงานภายใต้กระทรวงต่าง ๆ ซึ่งโครงการนี้จะนำไปสู่การขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเด็นสำคัญของประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในอนาคต" ดร.วิภารัตน์ กล่าว
ดร.วิภารัตน์ กล่าวต่อว่า โครงการประเทศไทยในอนาคต (Future Thailand) เป็นแผนงานที่ วช. ได้วางกรอบร่วมกับทางหลายหน่วยงาน ในการวางหลักการที่จะใช้ชุดข้อมูลจากเรื่องการวิจัยและนวัตกรรม มาช่วยฉายภาพอนาคตของประเทศไทย ในภาพมิติต่าง ๆ ในส่วนนี้ วช. มีความคาดหวังว่า ส่วนของการทำงานที่จะฉายภาพในมิติสำคัญ ใน 9 ถึง 10 ด้าน มีการนำชุดข้อมูลที่สำคัญ เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนานโยบายระดับประเทศ และเพื่อที่จะสามารถออกแบบกระบวนการ รวมถึงนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานที่จะนำไปทำมาตรการหรือที่จะนำไปเป็นกลไกต่าง ๆ สำหรับประเทศและภาคประชาชน กรอบของโครงการประเทศไทยในอนาคต (Future Thailand) หลักการสำคัญก็คือ เรื่องของการวางภาพอนาคต ในระยะ 20 ปี โดยมีการแบ่งส่วนของช่วงเวลาออกเป็นทุก 5 ปี เพื่อที่จะได้ชุดข้อมูลให้กับหน่วยงานที่ดูเรื่องกรอบนโยบายระดับประเทศ อย่างเช่น ในส่วนของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือในส่วนภาคนโยบายที่ได้นำประเด็นในชุดข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการออกแบบนโยบาย
ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวต่ออีกว่า วช.ได้วางกรอบในส่วนของการศึกษาไว้ที่ 10 มิติสำคัญ และยังมองทั้งเรื่องโครงสร้างประชากร เรื่องของมิติทางด้านสิ่งแวดล้อม มิติอัตลักษณ์ความเป็นไทย ทางด้านภาษาไทย มิติด้านการเมือง มิติคนไทย 4.0 และมิติด้านการศึกษา อีกหลายมิติที่คิดว่าจะนำไปเป็นกระบวนการร่วมกันตอบโจทย์การฉายภาพอนาคตประเทศไทย ซึ่งหน่วยงานวิจัย สถาบันวิจัยชั้นนำที่รวมกัน 10 หน่วยงาน ก็จะมาใช้ภาพฉายของขอบเขตของการทำงานในเชิงของมิติต่าง ๆ ในการออกแบบกระบวนการที่มีความหลากหลายแต่มีจุดร่วมร่วมกัน คือ มองให้เห็นภาพของการที่จะนำชุดข้อมูลมาออกแบบนโยบายในอนาคต ซึ่งขณะนี้ในภาพใหญ่ของการออกแบบนโยบายคงไม่ได้มองเฉพาะในเรื่องเชิงกระบวนการ แต่คงจะมองในเรื่องของชุดข้อมูลร่วมที่จะนำส่งต่อจากทางภาควิจัยโดย วช. แต่ขณะนี้ยังอยู่ในเฟสที่ 1 คาดว่าหลังจากที่จบเฟสที่ 1 แล้ว ในชุดข้อมูลแรกก็จะไปเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการเสวนาเรื่อง “ภาพประเทศไทยในมิติของอนาคต : จากกรณีศึกษาสู่มิติการพัฒนา”, เรื่อง “แนวโน้มโลก แนวโน้มประเทศไทย” , เรื่อง “คนไทยในเมืองไทย 4.0”, เรื่อง “อนาคตชีวิตคนเมือง 4.0”, และเรื่อง “สังคมเปราะบางกับ COVID-19” การเสวนาในครั้งนี้ วช. จะรวบรวมเอาองค์ความรู้ต่าง ๆ ไปเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยนำมาออกแบบเป็นนโยบาย หรือมาตรการ ให้เป็นรูปธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น