xs
xsm
sm
md
lg

อุกกาบาต : ฟอสซิลของเวลาที่ตกมาจากสวรรค์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ที่ห้องทำงานของ Scott Anderson ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาของต่างดาว ในสังกัดสถาบัน Southwest Research Institute ณ เมือง Boulder รัฐ Colorado ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีตู้เก็บสะสมก้อนหินที่มีขนาดใหญ่ น้อย รูปร่างแปลก ๆ มากมายหลายชิ้น ซึ่งเมื่อดูเผิน ๆ จากรูปลักษณ์ภายนอก ไม่เห็นมีอะไรน่าสนใจ แต่ถ้ารู้ความจริงก็จะตื่นใจ เพราะก้อนหินเหล่านั้นบางก้อนมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานหลายพันล้านปี

นอกจากนี้บางก้อนก็มาจากต่างดาว เช่น ก้อนหนึ่งมีสีเขียว-เทา อายุ 4,500 ล้านปี ซึ่งถือกำเนิดบนดาวเคราะห์น้อย Vesta อีกก้อนหนึ่งมีสีเงินเข้ม อายุ 2,800 ล้านปี เป็นหินลาวาที่ได้มาจากดวงจันทร์ และมีสะเก็ดหินอีกชิ้นหนึ่งที่มีมวลเพียง 1 กรัม ซึ่ง Anderson ได้ซื้อสะเก็ดหินชิ้นนี้มาเมื่อปี 1962 ในราคา 800 ดอลลาร์ จากชาวบ้านที่หมู่บ้าน Zagami ในประเทศ Nigeria ที่อุกกาบาตตก และเป็นอุกกาบาตชิ้นสำคัญที่สุดที่ Anderson ได้เก็บสะสม เพราะเป็นหินที่มาจากดาวอังคาร เมื่อดาวถูกอุกกาบาตขนาดใหญ่พุ่งชนอย่างรุนแรง และแรงปะทะได้ทำให้หินที่ผิวดาวแตกกระจายออกจากกันด้วยความเร็วสูง จากนั้นชิ้นส่วนนี้หลังจากที่ได้โคจรอยู่ในอวกาศเป็นเวลานาน บางชิ้นได้ตกสู่โลกกลายเป็นอุกกาบาตขนาดเล็ก

Anderson ได้ชี้แจงเหตุผลของการที่เขาเก็บสะสมวัตถุจากต่างดาวเหล่านี้ว่า เพราะมีความต้องการจะรู้อายุของก้อนหินทุกก้อนที่มี โดยใช้อุปกรณ์ geochronometer (geo แปลว่า ธรณี chrono แปลว่า เวลา และ meter แปลว่า มาตร) ที่เขาออกแบบสร้างเอง ซึ่งจะวัดอัตราการสลายตัวของไอโซโทปกัมมันตรังสีบางชนิด ที่มีอยู่ในอุกกาบาต ข้อมูลที่ได้จะช่วยให้นักดาราศาสตร์รู้อายุของอุกกาบาต ตลอดจนรู้วิวัฒนาการความเป็นมาของดาวเคราะห์ และดาวใหญ่น้อยในระบบสุริยะได้

ตลอดเวลาร่วม 30 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป อินเดีย ฯลฯ ได้ประสบความสำเร็จในการส่งยานอวกาศไปร่อนลงบนดวงจันทร์ ดาวอังคาร ดาวหาง และดาวเคราะห์น้อยหลายดวง เพื่อวิเคราะห์ธรรมชาติทางธรณีวิทยาของดาวเหล่านั้น โดยมีจุดประสงค์หลัก คือจะรู้ให้จงได้ว่ามีสิ่งมีชีวิตบนดาวต่าง ๆ หรือไม่ แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลด้านเวลาของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดบนดาวมากเลย เช่นว่า ถ้าบนดาวมีสิ่งมีชีวิตจริง ชีวิตเหล่านั้นได้ถือกำเนิดเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด และได้สูญพันธ์ไปเมื่อใด หรือภูเขาไฟบนดาวได้ระเบิดครั้งสุดท้ายเมื่อใด และจะระเบิดอีกเมื่อใด เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเชิงเวลาทำนองนี้ Anderson คิดว่า เขาสามารถจะรู้ได้ โดยใช้อุปกรณ์ geochronometer ที่เขาออกแบบ โดยอาจนำอุปกรณ์ดังกล่าวไปวิเคราะห์หินหรือดิน ณ สถานที่ต่าง ๆ บนดาว และอีกวิธีหนึ่ง คือ ใช้วิธีวิเคราะห์หินที่กระเด็นออกมาจากดาวแล้วตกสู่โลกในสภาพของอุกกาบาต

โลกวิทยาการได้รู้มานานแล้วว่า เทคโนโลยีการวัดอายุวัตถุโบราณ หรือวัตถุยุคดึกดำบรรพ์ เป็นเรื่องที่ความผิดพลาดและความคลาดเคลื่อนสามารถเกิดขึ้นได้มาก เช่น การวัดอายุของผ้าพันพระศพพระเยซู แห่งเมือง Turin ในประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก เพราะข้อสรุปที่ได้ มีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อและความศรัทธาของผู้คนจำนวนมาก ดังนั้นเมื่อข้อมูลที่ได้จากการวัดมีค่าไม่แน่นอน เพราะเทคนิคการวัดไม่สมบูรณ์ ความขัดแย้งระหว่างวิทยาศาสตร์กับศาสนาจึงยังไม่มีข้อยุติ ทั้ง ๆ ที่ผ้าผืนนี้มีอายุไม่เกิน 2,000 ปี ดังนั้นถ้าเป็นกรณีหินที่มีอายุตั้งแต่ 2,000 ล้านปีขึ้นไป ความผิดพลาดในการวัดอายุก็อาจจะมีมากถึง 100 ล้านปี สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะกระบวนการแยกไอโซโทปกัมมันตรังสีที่มีอยู่เพียงน้อยนิดในหิน เป็นเรื่องที่ทำให้บริสุทธิ์ได้ยากมาก ดังนั้นการวัดอายุจึงต้องใช้เวลานาน ยิ่งเมื่อไอโซโทปกัมมันตรังสี ชนิด strontium มีค่าครึ่งชีวิตมากถึง 48,000 ล้านปี การวัดอายุจึงต้องใช้เวลาที่นาน จนห้องปฏิบัติการวัดอายุวัตถุดึกดำบรรพ์สามารถวัดอายุของวัตถุประเภทนี้ได้ไม่เกิน 2 ชิ้น ในหนึ่งปี


อุปกรณ์วัดอายุวัตถุโบราณที่ Anderson ออกแบบมีขนาดเล็ก ระดับที่สามารถวางบนโต๊ะได้ จึงเหมาะสำหรับการนำไปติดตั้งในจรวดเพื่อให้สามารถวิเคราะห์หินบนต่างดาวได้ อุปกรณ์มีโครงสร้างซึ่งใช้แสงเลเซอร์เป็นองค์ประกอบหลัก เพื่อแยกอะตอมกัมมันตรังสีออกมา แทนการแยกโดยกระบวนการทางเคมี ด้วยการใช้แสงเลเซอร์ที่มีความถี่เหมาะสม แล้วทำให้อะตอมนั้นแตกตัวเป็นไอออนที่มีประจุบวก จากนั้นก็แยกนิวเคลียสออก แล้วปล่อยให้นิวเคลียสกัมมันตรังสีสลายตัว การวัดจำนวนนิวเคลียสที่ยังไม่สลายตัว ตลอดเวลาที่ผ่านไปจะให้ข้อมูลที่สามารถบอกอายุของนิวเคลียสในวัตถุ ตั้งแต่เริ่มต้นได้

เทคนิคที่ Anderson ใช้สำหรับเรื่องนี้คือ ศึกษาการสลายตัวของธาตุ rubidium-87 ไปเป็นธาตุ strontium-87 ซึ่งมีครึ่งชีวิตเท่ากับ 48,800 ล้านปี ถ้าเป็นการวิจัยเรื่องนี้ในสมัยก่อน นักวิจัยจะนำหินที่ต้องการจะวัดอายุมาบดให้ละเอียด แล้วใช้มือแยกธาตุที่ต้องการออก จากนั้นนำแร่ที่มีธาตุปนไปละลายในกรดที่มีความเข้มข้นสูง กระบวนการแลกเปลี่ยน cation ระหว่างกรดกับธาตุจะทำให้ไอโซโทปกัมมันตรังสีแยกตัวออกมา จากนั้นนำสิ่งที่ได้ไปทำให้แห้งสนิท เพื่อให้อุปกรณ์ mass spectrometer วัดมวลของไอโซโทป วิธีนี้มีข้อเสีย คือ นักวิจัยจำเป็นต้องใช้เวลานานเป็นเดือนจึงจะได้ผลออกมา ดังนั้นความผิดพลาดต่าง ๆ จึงสามารถเกิดขึ้นได้มาก

Anderson ได้คิดวิธีหลีกเลี่ยงข้อจำกัด และความบกพร่องเหล่านี้ โดยเขาใช้แสงเลเซอร์สามชนิด ในการแยกไอโซโทปกัมมันตรังสี โดยชนิดแรกเป็นแสงเลเซอร์ UV ที่มีความยาวคลื่นในระดับอัลตราไวโอเลตและมีความเข้มสูง และมีพลังงานประมาณ10-4 จูล เมื่อฉายแสงนี้ไปกระทบสารตัวอย่าง แสงที่สะท้อนกลับมักมีความเข้มสูง จนสามารถทำให้ตาของผู้วิจัยเสียได้ ดังนั้นนักวิจัยจึงต้องสวมแว่นตานิรภัย ขณะสังเกตดูอะตอมระเหยออกจากสารตัวอย่างเป็นกลุ่มไอที่มีเป็นกลางทางไฟฟ้า ในลักษณะกลุ่มไอขนาดเล็ก


จากนั้น Anderson ก็ใช้แสงเลเซอร์ชนิดที่สองที่ปล่อยเป็นห้วง (pulse) ออกมา 2 ห้วง ซึ่งมีความยาวคลื่นที่เหมาะสม เพื่อแยกอะตอม strontium ออกจากกลุ่มไอ เมื่อแยกได้แล้ว ก็ยิงแสงเลเซอร์ห้วงที่สามที่มีความถี่เหมาะสมไปกระทบอะตอม strontium เพื่อให้แตกตัวเป็นไอออนที่มีประจุบวก สำหรับการนำส่งต่อเข้าอุปกรณ์ mass spectrometer ให้วัดมวล และคำนวณจำนวนนิวเคลียสของ rubidium

ในการที่จะได้ strontium และ rubidium กัมมันตรังสีที่บริสุทธิ์ การลำเลียงไอออน และนิวเคลียสต่าง ๆ ทุกขั้นตอนต้องเกิดขึ้นในสุญญากาศ โดยให้ช่วงการยิงแสง 2 ห้วงแรกห่างกันประมาณ 1 นาโนวินาที (10-9) จากนั้นอีก 1 ไมโครวินาที (10-6) ต่อมา ก็ยิงแสงห้วงที่สาม Anderson ได้ใช้มาตรวัดอายุที่เขาออกแบบนี้ วัดอายุของหิน graphite ที่ขุดได้จากลำธารในบริเวณ Boulder Creek และวัดอายุได้ 2,050 ล้านปี ± 130 ล้านปี ซึ่งนับว่ายังไม่ละเอียดมาก เหมือนกับการรู้อายุคน ๆ หนึ่งว่า มีค่าประมาณ 60 ± 4 ปี ดังนั้นเขาจึงหวังจะพัฒนามาตรวัดอายุให้ดีขึ้นอีกในอนาคต

Anderson เป็นคนที่มีความสนใจในวิชาธรณีวิทยามาตั้งแต่เด็ก เพราะบิดาเป็นอาจารย์สอนธรณีวิทยา ที่ Temple University ณ เมือง Philadelphia รัฐ Pennsylvania และรู้สึกสนใจยิ่งขึ้น เมื่อรู้ว่าฟอสซิลของสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่พบในทวีปแอฟริกา มีอายุและลักษณะเหมือนฟอสซิลของสัตว์ชนิดเดียวกันที่เคยอาศัยอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ นั่นแสดงว่า ในอดีตที่นานมากแล้ว ทวีปทั้งสองเคยอยู่ติดกัน เขาจึงเข้าเรียนธรณีวิทยา ระดับปริญญาตรี ที่ Brown University และเริ่มสนใจเรื่องธรณีวิทยาของต่างดาว ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีใครในโลกมีข้อมูล เพราะไม่มีหินหรือดินตัวอย่างให้วิเคราะห์

จนกระทั่งเมื่อยาน Apollo นำมนุษย์อวกาศไปลงบนดวงจันทร์ในปี 1969 แล้วนำหินกลับมาวิเคราะห์บนโลก แต่ไม่พบหินก้อนใดมีอายุถึง 3,000 ล้านปีเลย นั่นแสดงว่า ดวงจันทร์มีอายุไม่ถึง 3,000 ล้านปี ซึ่งเป็นข้อสรุปที่ไม่ถูกต้อง เพราะหินที่มนุษย์อวกาศในโครงการ Apollo นำกลับมา เป็นหินที่เก็บได้จากไม่กี่สถานที่ จึงไม่แสดงความหลากหลายของอายุ

นักวิทยาศาสตร์ยังมีเทคนิคการวัดอายุวัตถุดึกดำบรรพ์อีกวิธีหนึ่ง นั่นคือ ศึกษาการสลายตัวของธาตุ potassium-40 (K) เป็น argon-40 (Ar) จากการรู้ว่า K-40 มีครึ่งชีวิตประมาณ 1,300 ล้านปี วิธีนี้จึงกำลังเป็นที่นิยม เพราะหินทั่วไปมี K-Ar ในปริมาณมากกว่า Rb-Sr (รูบิเดียมกับสตรอนเซียม) ดังนั้นเทคนิคนี้จึงเป็นที่นิยมใช้มากกว่าเทคนิคแรก แต่วิธีนี้ก็มีข้อเสีย คือ อะตอมอาร์กอน (Ar) ที่มีอยู่ในหินอาจจะหลุดออกจากหินและลอยหนีไปในบรรยากาศได้ ซึ่งทำให้หินมี Ar-40 ในปริมาณที่น้อยกว่าปกติ และมีผลทำให้อายุของหินน้อยกว่าที่เป็นจริง แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าหินก้อนนั้นอยู่บนดาวอังคาร ซึ่งบรรยากาศมีอะตอมอาร์กอนมากกว่าบนโลก อะตอมอาร์กอนอาจเกาะติดเข้าไปในหิน จึงทำให้หินมีอายุมากกว่าความเป็นจริง


บทเรียนที่เราได้จากเรื่องนี้ คือ เทคนิคทั้งสองต่างก็มีจุดดีและจุดด้อย ดังนั้นการใช้กระบวนการวัดทั้งสองวิธี จึงเป็นเรื่องที่ควรทำ เพื่อตรวจสอบกันและกัน

ในปี 2003 NASA ได้เคยส่งยานยนต์ Opportunity ไปลงบนดาวอังคาร เพื่อให้ยานไร้คนขับเดินทางสำรวจเป็นเวลา 15 ปี และหาหลักฐานของสิ่งมีชีวิต ในปี 2004 ได้ส่งยาน Spirit ไปศึกษาธรณีวิทยาบนดาวอีก และล่าสุด คือ ส่งยานยนต์ Perseverance ไปลงบนดาวอังคารเมื่อปี 2020 เพื่อหาสิ่งมีชีวิต และศึกษาข้อมูลทางธรณีวิทยาสำหรับการนำมนุษย์ในอนาคตไปทำงานและอาศัยบนดาวอังคาร บนยาน Perseverance มีกล้องถ่ายภาพ supercam แสงเลเซอร์พลังงานสูงที่ใช้ยิงหินบนดาว ให้อะตอมแตกกระจัดกระจายจากหิน แล้วใช้กล้องวิเคราะห์แสงที่อะตอมปล่อยออกมา ซึ่งจะบอกชนิดของธาตุที่มีบนดาวอังคาร นอกจากนี้ยังได้ให้ยานเลือกเก็บหินในบริเวณหลุมอุกกาบาต Jezero เพื่อวิเคราะห์หาจุลชีพด้วย

ในอนาคต NASA จะส่งยานยนต์ไปลง ณ สถานที่อื่น ๆ อีกหลายแห่งบนดาวอังคาร เช่นที่ Northeast Syrtis เพราะที่นั่นมีร่องรอยของสายน้ำ และที่ Columbia Hills กับที่ Nili Fossae เพราะ NASA เคยเห็นแก๊ส methane พุ่งออกมา รวมถึงที่ Holden Crater และที่ Southwestern Melas Basin เพื่อเก็บหินที่น่าสนใจมาวิเคราะห์ โดยใช้เวลาสำรวจทั้งหมดนานประมาณ 2 ปี

ด้านองค์การอวกาศของยุโรป (European Space Agency, ESA) ก็มีกำหนดการจะส่งยานยนต์ไปลงที่ Oxia Planum ในเร็ว ๆ นี้ ส่วนจีนได้ส่งยานอวกาศไปร่อนลงบนดาวอังคารแล้ว ตั้งแต่เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และคงจะรายงานข้อมูลทางธรณีวิทยาของดาวอังคารออกมาให้ทุกคนตื่นเต้น ในอีกไม่นาน

สำหรับคนทั่วไป ซึ่งไม่มีโอกาสจะได้ครอบครองดาวหรือเดือนทั้งดวง แต่ก็มีโอกาสจะเก็บสะสมชิ้นส่วนของดาวได้ ในลักษณะเดียวกับการนิยมเก็บสะสมหนังสือเก่า แสตมป์ เพชรนิลจินดา หรือกระดูกไดโนเสาร์ ฯลฯ เพราะโลกมีคนบางคนที่เก็บสะสมอุกกาบาต เช่น Steven Spielberg ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ชื่อดังแห่ง Hollywood และ Sheikh Saud bin Mohammad al-Thani แห่ง Qatar ซึ่งได้เก็บสะสมอุกกาบาตในพิพิธภัณฑ์ส่วนตัว ด้วยเหตุผลว่า เป็นวัตถุที่มาจากสวรรค์หรือจากต่างดาว และมีความน่าสนใจตรงที่มีอายุยืนนานพอ ๆ กับโลก (คือ 4,500 ล้านปี) และเกิดจากการพุ่งชนกันระหว่างดาวเคราะห์น้อย หรือเกิดจากการที่ดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนดาวเคราะห์อย่างรุนแรง จนทำให้ชิ้นส่วนของดาวดวงนั้นพุ่งกระเด็นมายังโลก และขณะที่ชิ้นส่วนอยู่ในอวกาศ ไม่ว่าจะมีขนาดใหญ่หรือเล็ก เราจะเรียกมันว่า meteoroid แต่เมื่อตกถึงโลกก็จะเรียกอุกกาบาต (meteorite) ซึ่งเป็นคำที่มาจากภาษากรีก meteoron ที่แปลว่า ปรากฎการณ์ในท้องฟ้า

ผู้เชี่ยวชาญด้านอุกกาบาตได้คาดคะเนว่า ทุกวันโลกจะได้รับละอองดาวและสะเก็ดดาวประมาณ 4,000 ล้านชิ้น ถ้าละอองที่มีขนาดใหญ่พุ่งชนสถานีอวกาศอย่างรุนแรง ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจทำให้สถานีอวกาศ International Space Station (ISS) พังพินาศได้ ดังนั้นวิศวกรจึงต้องหุ้มตัวสถานี ISS ด้วยใย kevlar ที่หนาประมาณ 30 เซนติเมตร นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญยังได้ประเมินภัยที่คนบนโลกอาจจะถูกอุกกาบาตจากอวกาศพุ่งชนว่า เกิดได้ 1 ครั้งในทุก 180 ปี เพราะการชนครั้งล่าสุดได้เกิดขึ้นเมื่อปี 1954 ดังนั้นถ้าการประเมินภัยถูกต้อง ก็จะไม่มีใครถูกอุกกาบาตชนอีกจนกระทั่งปี 2134


ในกรณีที่มีการพบอุกกาบาต คณะกรรมการของสมาคมอุกกาบาตในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดให้ผู้พบอุกกาบาตจะต้องอุทิศ 20% ของน้ำหนักอุกกาบาต ให้แก่สถาบันการวิจัยอุกกาบาต และอาจจะเก็บสะสมส่วนที่เหลือ หรือนำไปขายต่อได้ในราคาประมาณ 100 บาท/กรัมได้

จากอุกกาบาตที่ตกสู่โลก 40,000 ชิ้น ได้พบว่าประมาณ 1/10 มาจากดาวอังคาร และส่วนใหญ่จะพบตกในบริเวณทางตอนเหนือของทวีปแอนตาร์กติกา

Lin Yangting แห่งสถาบัน Institute of Geology and Geophysics ในสังกัดของ Chinese Academy of Sciences มีสะเก็ดและชิ้นส่วนของอุกกาบาตในครอบครองประมาณ 6,000 ชิ้น โดยเขาได้เริ่มเก็บสะสมตั้งแต่ปี 2005 จากการได้เดินทางไปที่ขั้วโลกใต้ รวมทั้งสิ้น 22 ครั้ง และบอกว่าในบางวันเขาต้องเดินทางด้วยเท้าเป็นระยะทางไกลถึง 20 กิโลเมตร เพื่อค้นหาอุกกาบาตที่มีรูปร่างและสีต่าง ๆ ทั้งดำ เทา หรือขาวเข้ม และมีสมบัติแม่เหล็ก จนได้อุกกาบาตทั้งหมดหนักประมาณ 48 กิโลกรัม จากนั้นก็ได้พบว่า 150 ชิ้นมาจากดวงจันทร์

โดยในปี 1976 Lin บอกว่าเขาได้เคยสัมผัสอุกกาบาตก้อนใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งตกที่เมือง Jilin ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ประสบการณ์ครั้งนั้นได้ทำให้เขาหันมาสนใจอุกกาบาตมาก เพราะตระหนักว่า ถ้าได้ศึกษาอุกกาบาตที่มาจากดาวต่าง ๆ ข้อมูลที่ได้จะทำให้รู้ประวัติความเป็นมาของระบบสุริยะ เขาจึงเริ่มเรียนวิชา cosmochemistry ในระดับปริญญาโทและเอก ที่มหาวิทยาลัย Zhejiang และทุกครั้งหลังจากที่กลับจากงานสำรวจที่ทวีปแอนตาร์กติกาแล้ว Lin จะแล่ตัดชิ้นส่วนของอุกกาบาตออก เพื่อวิเคราะห์ธาตุและสารประกอบที่มีในอุกกาบาต ในปี 2014 Lin ได้พบอินทรีย์โมเลกุลในอุกกาบาตที่มาจากดาวอังคาร ซึ่งเขาคิดว่าจะนำเขาไปสู่การพบสิ่งมีชีวิต โดยใช้ NanoSIMS (secondary ion mass spectrometry ระดับนาโน) ซึ่งสามารถใช้วิเคราะห์หาธาตุหรือ isotope ที่มีปริมาณน้อยมากระดับนาโนกิโลกรัมในอุกกาบาตได้

เมื่อ 40 ปีก่อนนี้ ถ้านักวิทยาศาสตร์จีนจะวิเคราะห์เรื่องนี้ เขาจะต้องนำสารตัวอย่างไปวิเคราะห์ศึกษาที่ประเทศเยอรมนี แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีของจีนได้ก้าวหน้าไปมากแล้ว จนนักวิทยาศาสตร์เยอรมัน ต้องเดินทางมาวิเคราะห์ในประเทศจีน

ยิ่งเมื่อยาน Yutu-2 ของจีนกำลังสำรวจดวงจันทร์ ณ บริเวณทะเล Mare Imbrium ข้อมูลที่ได้แสดงว่าภูเขาไฟลูกหนึ่งได้ระเบิดเมื่อ 2,500 ล้านปีก่อน และข้อมูลนี้ได้ถูกส่งกลับมายังโลก จากเดิมที่ใคร ๆ ก็คิดว่าภูเขาไฟบนดวงจันทร์ได้ระเบิดครั้งสุดท้าย เมื่อ 3,100 ล้านปีก่อน ความรู้นั้นจึงได้ถูกปรับเปลี่ยนใหม่แล้ว รายงานนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสาร The Proceedings of the National Academy of Sciences เมื่อปีกลายนี้

นอกจากอินทรีย์โมเลกุล และธาตุหนักต่าง ๆ แล้ว ในอุกกาบาตก็ยังมีการพบละอองของอัญมณี เช่น เพชร ทับทิม โกเมน ฯลฯ ด้วย เช่น อุกกาบาต Murchison ที่ตกในประเทศออสเตรเลีย เมื่อปี 1969 ณ บริเวณใกล้เมือง Murchison ในรัฐ Victoria ปรากฏว่าในอุกกาบาตมีเพชร ธาตุ xenon และธาตุ phosphorus อยู่

อ่านเพิ่มเติมจาก The Fallen Sky: An Intimate History of Shooting Stars โดย Christopher Cokinos จัดพิมพ์โดย Tarcher / Penguin ปี 2009


สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น