วัตถุอวกาศเกิดจากมนุษย์สร้างขึ้น อย่างสถานีอวกาศ ดาวเทียม หรือจรวด ซึ่งเมื่อหมดอายุการใช้งาน สิ่งเหล่านี้ก็จะกลายเป็นขยะอวกาศ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อโลก และดาวเทียม หรือสถานีอวกาศที่ยังมีการใช้งานอยู่บนอวกาศ
การตกของวัตถุจากอวกาศมายังพื้นผิวโลกนั้นมีมาอย่างต่อเนื่องและบ่อยครั้ง ตั้งแต่เริ่มมีการส่งดาวเทียมดวงแรกของโลกอย่าง “สปุตนิก”ของสหภาพโซเวียตในขณะนั้น โดยทั่วไปแล้วเศษชิ้นส่วนจากวัตถุอวกาศเมื่อตกมายังโลก สามารถสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ ไม่ว่าจะเป็นการระเบิดและแรงกระแทก เกิดอัคคีภัย ความเสี่ยงต่อสารเคมี หรือวัตถุอันตราย รวมถึงกัมมันตรังสี
เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้รับการประสานความร่วมมือจากศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือ ศรชล.ภาค ๓ ให้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศ เพื่อทำงานร่วมและวางแผนการเก็บกู้วัตถุอวกาศ ซึ่งมีการค้นพบบริเวณเกาะแอล จังหวัดภูเก็ต จนภารกิจสำเร็จลุล่วง โดยผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศของ GISTDA ที่ได้ร่วมในทีมปฏิบัติการครั้งนี้คือวิศวกรดาวเทียมหญิงจาก THEOS-2 ของ GISTDA >>> นางสาวชิดชนก ชัยชื่นชอบ
วันนี้มีโอกาสได้พูดคุยกับชิดชนก เกี่ยวกับปฏิบัติการเก็บกู้วัตถุอวกาศนี้ ซึ่ง ชิดชนก เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ชาวประมงไปเจอวัตถุต้องสงสัยโดยบังเอิญในขณะทำการประมงและปลูกประการัง บริเวณเกาะแอล จังหวัดภูเก็ต วัตถุดังกล่าวมีลักษณะทรงกลม คล้ายระเบิด จึงรีบแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ ต่อมา ศรชล. ภาค ๓ ได้ประสานไปทาง ทร ภาค 3 และแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทางชายฝั่งของจังหวัดภูเก็ต เข้าตรวจสอบวัตถุดังกล่าว ทำให้ทราบว่าวัตถุดังกล่าวไม่ใช่วัตถุระเบิด และไม่ใช่สารเคมีที่มีพิษ ทาง ศรชล. ภาค ๓ จึงประสานมายัง GISTDA ทันที เพื่อให้ช่วยตรวจสอบว่าคืออะไร ใช่วัตถุอวกาศหรือไม่ ซึ่งเมื่อวิเคราะห์จากภาพที่ถ่ายมามีความเป็นไปได้สูงมากๆ ที่จะเป็นวัตถุอวกาศ เนื่องจากมีลักษณะคล้ายๆกับถังเชื้อเพลิงที่ใช้กับการส่งขึ้นไปกับจรวด และเมื่อใช้หมดแล้วจรวดก็จะทิ้งวัตถุชนิดนี้ลงมา โดยการคำนวณให้ตกลงในทะเลหรือมหาสมุทร
ชิดชนกได้รับมอบหมายให้ลงพื้นที่เพื่อปฏิบัติภารกิจนี้ทันที เมื่อเดินทางไปถึง ได้มีการพูดคุยและวิเคราะห์จากภาพอีกครั้ง ทีมงานได้เร่งวางแผน และสร้างความเข้าใจให้ตรงกันว่าวัตถุชิ้นนี้น่าจะเป็นวัตถุอวกาศแน่นอน เพราะมีลักษณะหน้าตาคล้ายกับถังของเชื้อเพลิงของจรวด หลังจากนั้น จึงทำการวิเคราะห์และประเมินในเรื่องของความปลอดภัยของทุกคนเป็นสำคัญ ซึ่งระหว่างการเก็บกู้ต้องทำด้วยความระมัดระวัง และทำให้ถูกวิธีเพื่อไม่ให้วัตถุชิ้นนี้เสียหาย
ชิดชนกได้ร่วมสังเกตการณ์การเก็บกู้วัตถุอวกาศนี้ด้วย ซึ่งแน่นอนว่าต้องดำน้ำลงไปที่ความลึกประมาณ 5-6 เมตร ความลึกระดับนี้สำหรับชิดชนกไม่เป็นปัญหา เพราะชิดชนกมีใบ Certification ดำน้ำระดับ Advance ซึ่งหมายความว่าสามารถดำน้ำได้ลึกประมาณ 30 เมตร
เรานั่งเรือจากฝั่งออกไปประมาณ 20 นาที เตรียมพร้อมเต็มที่สำหรับปฏิบัติการครั้งนี้ สิ่งที่คิดอยู่ในใจ ณ ขณะนั้น คือ ความปลอดภัยของทีมงานทุกคนรวมทั้งตัวเราเองด้วย ความสำเร็จในการเก็บกู้วัตถุอวกาศ และองค์ความรู้ต่างๆ ที่จะได้รับจากประสบการณ์ในครั้งนี้ ซึ่งมั่นใจว่าถ้าเวลาและโอกาสมาถึงเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้จะต้องถูกถ่ายทอดออกมาสู่สายตาทุกๆ คนอย่างแน่นอน
เราเริ่มปฏิบัติการเมื่อเวลามาถึง ทุกคนพร้อม อุปกรณ์ต่างๆ พร้อม สภาพแวดล้อมต่างๆ โดยรอบช่างเป็นใจให้การทำงานครั้งนี้ของเราประสบความสำเร็จ นี่ยังแอบลุ้นอยู่เลยเพราะเมื่อคืนก่อนฝนตกหนักมาก โอกาสที่น้ำทะเลขุ่นมีแน่นอน ซึ่งจะส่งผลต่อวิสัยทัศน์การมองเห็น อาจจะทำให้การเก็บกู้ยากขึ้น โดยปกติเราจะมองเห็นในระดับ 2 ฟุต แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น อาจจะทำให้การมองเห็นได้เพียง 1 ฟุตหรือ 15 ซม. เท่านั้น ซึ่งนับว่าน้อยมาก แต่เราก็ทำภารกิจนี้ได้ค่ะ
เราเริ่มดำน้ำ การทำงานทุกอย่างเป็นไปตามแผน ไม่นานเราก็พบเป้าหมายของภารกิจนั่นคือ “วัตถุอวกาศ” และเป็นจริงดั่งที่เราคิดไว้แต่แรกแล้วว่ามันคือ “ถังเชื้อเพลิงของจรวด” เราพบเพียง 1 ชิ้น ทีมงานพยายามดูรอบบริเวณใกล้เคียงแล้ว ก็ไม่พบวัตถุชนิดอื่นเลย เราและทีมงานต่างสำรวจถังเชื้อเพลิงนี้ ไม่มีรอยของการแตกหักหรือแตกร้าว ไม่มีรอยของน้ำรินเข้า-ออก จากการตรวจสอบลักษณะโดยรอบของตัวถัง รวมถึงพื้นที่รอบๆ ตัวถัง สันนิษฐานว่า ถังเชื้อเพลิงที่ตกลงมาน่าจะมีอายุมากกว่า 1 ปี เพราะดูจากคราบของตะไคร่ และเพรียงที่ขึ้นบริเวณโดยรอบ นอกจากนี้ เรายังพบหอยเม่น และสิ่งมีชีวิตอื่นๆอยู่มากมาย ทำให้มั่นใจได้ว่าน่าจะไม่มีอันตรายใดๆ เพราะสิ่งมีชีวิตสามารถอยู่ได้ รวมถึงปะการังก็ยังมีชีวิตอยู่ นั่นแสดงว่าไม่มีสารเคมีในถังเชื้อเพลิงนี้ หรือถ้ามีก็ไม่เกิดการรั่วไหลออกมา เพราะไม่งั้นสิ่งมีชีวิตรอบๆจะต้องตายอย่างแน่นอน บริเวณข้อต่อก็ไม่มีรอยน้ำซึม โดยตามหลักการแล้ว จรวดจะใช้เชื้อเพลิงในถังจนหมดแล้วจึงทิ้งลงมา และจริงๆ แล้วถังเปล่าทุกถังมันสามารถลอยน้ำได้ แต่ทำไมถังนี้จม!!!
ใช่ นี่คือ 1 ในหน้าที่ของเรา เราต้องประมวลและคาดการณ์จากหน้างานก่อนเลยอย่างน้อย 90% ต้องให้ได้คำตอบที่มั่นใจและเชื่อถือได้
ชิดชนกบอกว่า... ปกติจรวดก่อนที่จะทิ้งวัตถุอะไรลงมาจะต้องมีการคำนวณพิกัดแล้วว่า ให้ตกลงกลางทะเลและเป็นไปได้ว่าถังใบนี้ อาจจะลอยน้ำมาหรือโดนซัดมา น้ำทะเลอาจจะซึมเข้าสู่ตัวถัง (ขอย้ำว่าคือการซึม ไม่ใช่รั่ว หรือหัก หรือแตก หรือร้าว) ผ่านวาล์วข้อต่อต่างๆ น้ำจะค่อยๆซึมเข้าไป และเมื่อมีน้ำหนักมากก็จะจมลงสู่ใต้ท้องทะเลนั่นเอง (การบ้านของชิดชนกต่อจากนี้คือหาอีก 10% ที่เหลือ เพื่อให้ครบ 100%)
คราวนี้ก็เริ่มเก็บกู้ตามแผนงานที่วางไว้ ถังเชื้อเพลิงค่อนข้างหนักค่ะ ทีมทหารได้ใช้ Bubble รองก้น จากข้างใต้ตัวถัง และอัดอากาศเข้าไป เมื่อมีอากาศเข้าไปแล้วจะทำให้ถังใบนี้ลอยขึ้นมา หลักการไม่มีอะไรที่ซับซ้อนค่ะ พอถังเชื้อเพลิงลอยขึ้นมาเหนือผิวน้ำก็จะมีเรือยางของทหารเรือช่วยประคองกันมาจนถึงเรือใหญ่ก็จะมีเครนช่วยยกขึ้นเรือใหญ่อีกที ทุกอย่างเป็นไปตามแผนของทีมงานที่ได้วางไว้ทั้งหมด แต่ก็แอบเสียดายที่เราไม่รู้ไทม์ไลน์ที่ชัดเจน ไม่งั้นคงทำให้เราสามารถติดตามค้นหาจรวดหรือกระสวยอวกาศนั้นได้ว่ามีชนิดใดบ้างที่ผ่านน่านน้ำบริเวณนั้น ในช่วงวัน และเวลาใดที่ใกล้เคียงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และที่สำคัญเป็นของประเทศใด?
ชิดชนกบอกกับเราว่า ก่อนหน้านี้ ทีมงานก็มีความเป็นห่วงเรื่องสารเคมีที่อาจหลงเหลืออยู่ในถังเชื้อเพลิงของจรวด ซึ่งอาจจะเป็นสารไฮดราซีน (hydrazine) เพราะถ้ามีใครไปสัมผัสสารตัวนี้ ก็อาจจะมีการระคายเคืองมีผื่นคันเกิดขึ้นได้ ทางชิดชนกเองได้แจ้งเจ้าหน้าที่ทุกๆท่านว่า ห้ามสัมผัสถังใบนี้โดยตรงถ้าไม่จำเป็น ฉะนั้นหลังจากเก็บกู้ขึ้นมา เราจึงหาผ้าใบมาลองอีกที เป็นการป้องกันไว้ และไม่ให้น้ำที่อยู่ในถังเชื้อเพลิงไหลลงกลับไปในทะเลอีก เราก็จะมาจัดการเจาะน้ำทิ้งกันอีกครั้งที่บนฝั่ง
ทีมงานได้สอบถามชิดชนกเพิ่มเติมว่า อะไรทำให้มั่นใจว่าวัตถุชิ้นนี้เป็นวัตถุอวกาศ ชิดชนกบอกว่า หลังจากที่ได้เห็นจากภาพที่ทาง ศรชล. ภาค ๓ ส่งมาก็ค่อนข้างมั่นใจว่าต้องเป็นวัตถุอวกาศหรือส่วนประกอบของจรวดต่างๆ อย่างแน่นอน เพราะมีลักษณะคล้ายถังเก็บเชื้อเพลิง เพราะถังเชื้อเพลิงที่ใช้จริงจะมีรูปร่างลักษณะอย่างนี้ แต่อาจจะแตกต่างกันนิดหน่อยที่รูปทรงที่มีทั้งทรงกลมและทรงกระบอก มีส่วนประกอบของข้อต่อวาล์วที่มีลักษณะเป็น in-out เชื่อมต่ออยู่ทั้งซ้ายและขวาทำให้เราค่อนข้างที่จะฟันธงได้เลยว่า นี่คือถังเชื้อเพลิงของจรวดอย่างแน่นอน แต่จะให้บอกว่ามันเป็นเชื้อเพลิงประเภทไหน หรือเป็นของประเทศใดตอนนี้ยังให้คำตอบไม่ได้ ซึ่งจะต้องมีการพิสูจน์และตรวจสอบกันต่อไป
เรื่องราวของวัตถุอวกาศตกลงมาจากท้องฟ้าลงมาสู่โลกบ่อยมาก ถ้าพูดกันตามตรงมันไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวเลย มันใกล้ตัวเรามากถึงมากที่สุด ประเทศไทยโดย GISTDA กำลังเร่งดำเนินการผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. .... ซึ่งได้กำหนดให้มีการดำเนินการเพื่อเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาในส่วนที่ไทยยังไม่ได้เข้าร่วม นั่นคืออนุสัญญาว่าด้วยความรับผิดระหว่างประเทศสำหรับความเสียหายที่เกิดจากวัตถุอวกาศ ค.ศ.1972 และอนุสัญญาว่าด้วยการจดทะเบียนวัตถุอวกาศ ค.ศ.1975 เนื่องจากปัจจุบันการดำเนินกิจกรรมอวกาศมีมากขึ้น ความเสี่ยงภัยที่คนไทยจะได้รับจากการดำเนินกิจกรรมอวกาศก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามมาด้วย ต่อจากนี้ GISTDA ในฐานะหน่วยงานหลักของรัฐในด้านกิจการอวกาศจะเร่งดำเนินการในส่วนสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องต่างๆ ต่อไป
สุดท้ายนี้ อยากจะฝากถึงประชาชนทั่วไปว่า หากพบเห็นวัตถุอวกาศตกลงมาที่ใดก็แล้วแต่ ห้ามสัมผัสเด็ดขาด ห้ามเอากลับบ้าน ขอให้ท่านแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับทราบในเรื่องนี้ หากไม่รู้จะแจ้งใครให้แจ้งในระดับผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันไว้ก่อน เพื่อประสานงานต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปเก็บกู้วัตถุชิ้นนั้นต่อไป