xs
xsm
sm
md
lg

ตำนานประวัติความเป็นมาของ "กาแฟ"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เรื่องเล่าเกี่ยวกับความเป็นมาของกาแฟมีว่า เมื่อประมาณปีค.ศ.100 ในดินแดนเอเชียตะวันตก บนคาบสมุทรอาหรับ ที่ประเทศ Yemen มีเด็กเลี้ยงแพะคนหนึ่ง ได้สังเกตเห็นแพะเวลากินผลไม้สีแดงของต้นไม้ที่ขึ้นอย่างดกดื่นในทุ่งกว้าง มันจะมีอารมณ์คึกคะนองทุกครั้งไป จึงลองเคี้ยวผลไม้นั้นดูบ้าง และพบว่าตนก็รู้สึกกระปรี้กระเปร่าเช่นกัน 

จากนั้นได้ลองนำผลไม้ไปเผาให้สุก และพบว่ากลิ่นหอมที่โชยมาทำให้รู้สึกกระฉับกระเฉงมาก จึงนำผลที่เผาไฟไปแช่น้ำ สำหรับใช้ดื่มในวันต่อมา

การเล่าสู่กันฟังทำให้ชาวบ้านในแถบนั้นรู้จักเครื่องดื่มชนิดใหม่ จากหมู่บ้านหนึ่ง ความนิยมได้แพร่หลายไปในวงกว้าง จนกาแฟได้กลายเป็นเครื่องดื่มสุดนิยมของคนอาหรับที่ใช้ต้อนรับแขกที่มาเยือนบ้าน เพราะศาสนาอิสลามห้ามชาวมุสลิมดื่มสุรายาเมา ดังนั้นทุกคนจึงหันมาดื่มกาแฟแทนในแทบทุกโอกาส ทั้งในชีวิตประจำวันและในศาสนพิธีต่างๆ 

จากดินแดนเอเชียตะวันตก กาแฟได้แพร่เข้าสู่ประเทศตุรกี ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรป และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จนทำให้เกิดร้านกาแฟร้านแรกของโลกที่เมือง Constantinople (ในเวลานั้น หรือเมือง Istanbul ในปัจจุบัน) และร้านกาแฟได้กลายเป็นสถานที่พบปะ ชุมนุม สุมหัวนินทา และสังสรรค์ระหว่างปราชญ์ กวี ศิลปิน และนักเขียนคนสำคัญของประเทศ จนในที่สุดกาแฟก็ได้รับการยกย่องให้เป็นเครื่องดื่มแห่งชาติที่มีคุณค่ามากถึงระดับที่รัฐบาลตุรกีในเวลานั้นได้ออกกฎหมายอนุญาตให้ภรรยาสามารถหย่าสามีได้ ถ้าฝ่ายชายทำงานหาเงินซื้อกาแฟมาเลี้ยงครอบครัวได้ไม่เพียงพอ

ในคริสต์ศตวรรษที่ 11 เมื่อเกิดสงครามศาสนา Crusade ทหารตุรกีได้นำกาแฟติดตัวเป็นเสบียง เพื่อกระตุ้นร่างกายในการสู้รบ สงครามที่ยืดเยื้อติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้ชาวยุโรปเริ่มรู้จักกาแฟบ้าง แต่ยังไม่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง เพราะชาวคริสเตียนในเวลานั้นเชื่อว่า กาแฟเป็นเครื่องดื่มของซาตาน และของคนนอกรีต ดังไม่มีการอ้างถึงแม้แต่คำเดียวในคัมภีร์ไบเบิล จนกระทั่งสันตะปาปา Clement ที่ 8 ทรงลองดื่มบ้าง ปรากฏว่าทรงโปรดรสชาติของกาแฟมาก จึงทรงอนุญาตให้ชาวคริสเตียนสามารถดื่มกาแฟได้ ความนิยมดื่มกาแฟจึงได้แพร่เข้าสู่ยุโรปตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แม้จะมีอุปสรรคบ้างในระยะแรก เช่น ในประเทศเยอรมนี เพราะสมเด็จพระเจ้า Frederick ทรงเกรงว่า การดื่มกาแฟอย่างแพร่หลายจะกระทบกระเทือนธุรกิจเบียร์ของชาวเยอรมัน แต่พระองค์ก็มิได้ทรงออกกฎหมายห้ามการดื่มกาแฟแต่อย่างใด

ตามปกติชาวยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 17 นิยมเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอลสามชนิด ชนิดแรกคือชา ซึ่งได้มีการนำเข้าประเทศอังกฤษเป็นครั้งแรกในปี 1645 (รัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง) โดยพ่อค้าชาวฮอลันดาที่ได้มาทำธุรกิจการค้ากับชาวเอเชียอย่างกว้างขวาง ในเวลานั้นชาวอังกฤษเรียกชาว่า Bohea จากคำ Thea Bohea ซึ่งแปลว่า พุ่มชาดำ เพราะให้ใบชาสีดำ ส่วนอีกชนิดหนึ่ง คือ Thea Viridis หรือพุ่มชาเขียว เพราะให้ใบชาเขียว

John Evelyn ซึ่งเป็นนักเขียน และนักบันทึกประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ได้จดบันทึกในปี 1637 ว่า ชายคนหนึ่งชื่อ Jacob ได้เปิดร้านกาแฟให้ผู้คนได้มาดื่มและซุบซิบนินทากัน และที่เมือง Oxford เมื่อปี 1650 ก็มียิวคนหนึ่งที่เปิดร้านกาแฟเช่นกัน สำหรับที่ลอนดอนนั้น Pasqua Rosée ซึ่งเป็นชาวกรีกได้เปิดร้านกาแฟเป็นครั้งแรกในปี 1653 ที่ซอย St. Michael's ในย่าน Cornhill

เครื่องดื่มยอดนิยมชนิดที่สามของชาวอังกฤษคือ โกโก้ (cocoa) ที่ได้จากเมล็ด cacao (ชื่อโกโก้ได้มีการแปลงอักษรที่เขียนให้ตรงกับเสียงที่ออก) เมื่อ Hernando Cortez แม่ทัพสเปนผู้พิชิตอาณาจักร Aztec ในช่วงปี 1519-21 ได้พบว่ากษัตริย์-เทพ Montezuma ทรงโปรดพระสุธารสชนิดหนึ่งชื่อ cho-colatl จึงนำต้น cocoa มาปลูกในอังกฤษ และต่อมาได้เปิดร้านโกโก้ สำหรับราคาโกโก้ในปี 1662 นั้น มีขายกันปอนด์ละ 2 ชิลลิง 6 เพนนี ในส่วนของวิธีทำเครื่องดื่มโกโก้ Evelyn ได้บันทึกว่ามีการนำเมล็ดโกโก้มาบด แล้วนำไปต้มเป็นเวลาหลายชั่วโมง มีการเติมน้ำตาล อบเชย พริกไทย หัวหอม เมล็ด aniseed เพื่อให้มีกลิ่นยี่หร่า ลูกอัลมอนด์ ดอกส้ม นม และไข่


จนกระทั่งปี 1700 คนอังกฤษซึ่งนิยมดื่มชามากที่สุด จึงชักชวนกันต้มชาดื่มกันที่บ้าน แทนที่จะไปนั่งดื่มตามร้านกาแฟ ชาจึงกลายเป็นเครื่องดื่มประจำบ้านตั้งแต่นั้นมา

จากยุโรป ลัทธิการล่าอาณานิคมของอังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลันดา ฯลฯ ได้ชักนำให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รู้จักกาแฟ และปลูกต้นกาแฟ เพื่อส่งกาแฟเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ เพราะกาแฟได้ทะยานขึ้นสู่ความเป็นที่นิยมของคนทุกระดับในสังคม เช่น Voltaire นักเขียน นักประวัติศาสตร์ และนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 ดื่มกาแฟวันละ 50 แก้ว จักรพรรดิ Napoleon Bonaparte แห่งฝรั่งเศสในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทรงโปรดให้กาแฟเป็นเครื่องดื่มของทหารในกองทัพ เพราะทรงเห็นว่า กาแฟทำให้ร่างกายทหารอบอุ่น และมีพละกำลัง ด้าน Johann Sebastian Bach คีตกวีชาวเยอรมัน ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ก็ชอบดื่มกาแฟมาก จนได้เรียบเรียงเพลงประสานเสียง Coffee Cantata ในโอเปร่า ซึ่งมีเนื้อเพลงสดุดีคุณค่าของกาแฟ เป็นต้น

คำกาแฟ ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า coffee ซึ่งคำนี้มีรากศัพท์จากคำอาหรับว่า kaweh ที่แปลว่า แข็งแรงหรือแข็งแกร่ง ในนักชีววิทยาจัดกาแฟเป็นในพืชสกุล Coffea ในวงศ์ Rubiaceae ที่ชอบขึ้นในบริเวณที่ไม่ร้อนมาก ลมพัดไม่แรง แต่มีฝนตกอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นไร่กาแฟจึงนิยมทำในที่สูง ต้นกาแฟที่โตเต็มที่อาจจะสูงถึง 5 เมตร ใบมีสีเขียวเข้ม ดอกสีขาว มีกลิ่นหอมคล้ายมะลิ หลังจากที่บานได้ 3 วัน ดอกจะเริ่มโรย จากนั้นผลสีเขียวขนาดเล็กจะปรากฏ ผลกาแฟที่สุกจะมีสีแดง ต้นกาแฟจะเริ่มให้ผลเมื่อมีอายุ 3-5 ปี และจะตายเมื่ออายุประมาณ 30 ปี ต้นที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี จะให้ผลกาแฟที่มีรสชาติดีที่สุด
เวลาผลกาแฟสุก ชาวไร่จะใช้นิ้วเก็บเฉพาะผลที่สุกเท่านั้น หรือใช้วิธีเขย่าต้นอย่างรุนแรง เพื่อให้ผลสุกตกลงบนผ้าที่นำมารองรับใต้ต้น จากนั้นนำผลที่ได้ไปร่อนในตะแกรง แล้วล้างน้ำเพื่อกำจัดฝุ่น นำไปตากแดดให้ผลแห้ง เพื่อความสะดวกในการปลอกเปลือกให้แยกจากเนื้อ จากนั้นนำไปแช่น้ำ เพื่อกำจัดสาร caffeine ที่มีในเนื้อก่อนนำไปตากแห้งเพื่อเผา เนื้อกาแฟที่ได้จะมีกลิ่นหอม จากนั้นก็นำไปบด จนเป็นผงละเอียด หรือทำเป็นเกล็ดแข็ง ตามชนิดของสารอาหารที่ถูกใส่เข้าไปขณะทำเกล็ดกาแฟ ดังนั้นเราจึงมีกาแฟชนิด espresso , inferno , Turkish , blue mountain , robusta , arabica ฯลฯ

ผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟได้เสนอแนะว่า หลังจากที่เมล็ดกาแฟถูกนำไปเผาแล้ว รสกาแฟจะเริ่มเสื่อม ดังนั้นกาแฟรสดีเป็นกาแฟที่ถูกเก็บไว้ไม่นานเกิน 1 เดือน และเวลาชง คนชงอาจจะมีการเติมน้ำร้อน น้ำตาล และครีม มากหรือน้อยตามรสนิยมของผู้ดื่ม เพราะวิธีชงที่เหมาะสำหรับกาแฟแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน

ปัจจุบันนี้ ทุกวัน คนทั่วโลกนับพันล้านคนจะดื่มกาแฟ และวันใดที่ไม่ได้ดื่ม หลายคนจะรู้สึกอ่อนแรง เพลีย และสมองตื้อ แต่ทันทีที่ได้กลิ่น หรือได้ลิ้มรส ความรู้สึกกระชุ่มกระชวย จะคืนกลับในทันที อาการนี้ทำให้นักโภชนาการหลายคนคิดว่า กาแฟเป็นเครื่องดื่มเสพติดชนิดหนึ่ง ที่หลายคนขาดไม่ได้ เหมือนอาหาร อากาศ และน้ำ

สาเหตุที่ทำให้คนขาดกาแฟ มีอาการโรยแรงนั้น เพราะกาแฟมีสารเคมีหลายร้อยชนิด ที่สำคัญคือ niacin , caffeine , potassium โดยเฉพาะ caffeine ซึ่งมีชื่อเคมีว่า trimethylxanthine ที่สามารถกระตุ้นระบบฮอร์โมนในร่างกายให้หลั่งสาร epinephrine ออกมา ซึ่งจะทำให้สมองปลอดโปร่ง หัวใจเต้นแรง ร่างกายไม่เหนื่อยล้าหรือง่วง แม้แต่ชาและช็อกโกแลตก็มีสาร caffeine ที่ว่านี้เช่นกัน และนั่นก็คือเหตุผลที่คนจีนชอบดื่มชา ส่วนชาวอินเดียน เผ่า Maya ในทวีปอเมริกาใต้ก็ชอบดื่มช็อกโกแลต และชาว Inca ชอบเคี้ยวใบ coca ก็ด้วยเหตุผลเดียวกัน

การที่กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่มีพลังเช่นนี้ เพราะภายในเวลาเพียง 5 นาทีหลังการดื่มสาร caffeine จะแพร่กระจายไปทั่วร่างกายของคนดื่ม และกระตุ้นให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานได้มากขึ้นถึง 10% ระบบหายใจทำงานเร็วขึ้น ระบบย่อยอาหารขับน้ำย่อยออกมามากขึ้น ระบบสูบฉีดโลหิต โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวมากขึ้น อาการเหล่านี้โดยรวมจึงมีผลทำให้สมองคนดื่มปลอดโปร่ง อารมณ์ไม่พลุ่งพล่าน และมีสติดีขึ้นมาก

เมื่อกาแฟเป็น “สารเสพติด” เช่นนี้ คนทั่วไปจึงกังวลว่า มันเป็นเครื่องดื่มอันตราย ที่ถ้าใครดื่มมาก จะเป็นโรคหัวใจ มะเร็งตับ หมัน ร่างกายมี cholesterol สูง และมารดาที่มีครรภ์ ถ้าดื่มกาแฟมากจะทำให้ทารกในครรภ์พิการ แต่ผู้เชี่ยวชาญได้ชี้แจงว่า กาแฟจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ถ้าใครบริโภค caffeine ในปริมาณมากกว่า 40-150 มิลลิกรัม ซึ่งหมายความว่า มากกว่า 75-100 แก้ว/วัน


ไม่เพียงแต่คนทั่วไปเท่านั้นที่คิดว่า กาแฟเป็นสารพิษ แม้แต่กษัตริย์ Gustav ที่ 3 แห่งประเทศสวีเดน ซึ่งทรงครองราชย์ในปี 1771 ก็ทรงเชื่อเช่นกันว่า กาแฟคือยาพิษ เพื่อพิสูจน์ความเห็นนี้ พระองค์ทรงตัดสินคดีให้ฆาตกรคนหนึ่ง ดื่มกาแฟทุกวัน จนกระทั่งตาย และเพื่อเป็นการทดสอบ “พระสติปัญญา” พระองค์ทรงพระราชทานอภัยโทษให้นักโทษประหารอีกคนหนึ่ง ภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องดื่มชาทุกวัน จนตาย 

จากนั้นก็โปรดให้แพทย์สองคนติดตามดูอาการของคนทั้งสองว่า ใครจะตายก่อนกัน ผลปรากฏว่าแพทย์ทั้งสองคนตายก่อนฆาตกร เมื่อเกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ในฝรั่งเศสเมื่อปี 1789 กษัตริย์ Gustav ที่ 3 ทรงสนับสนุนสมเด็จพระเจ้า Louis ที่ 16 และพระองค์ทรงถูกลอบสังหารในงานเต้นรำ ซึ่งจัดขึ้นในพระราชวัง เมื่อปี 1792 อีกหลายปีต่อมา ฆาตกรคนแรกที่ดื่มกาแฟทุกวันก็เสียชีวิต เมื่อมีอายุ 83 ปี (กษัตริย์ผู้ไม่เสวยกาแฟเลยสิ้นพระชนม์ เมื่อมีพระชนม์มายุ 46 พรรษา เพราะถูกปลงพระชนม์) กระนั้นความเชื่อของบรรดาชาวสวีเดนก็ยังฝังลึก เพราะกฎหมายห้ามดื่มกาแฟได้ถูกนำมาใช้ในปี 1794 และอีกครั้งในปี 1822 รวมถึงมีการห้ามดื่มช็อกโกแลตและเหล้าองุ่นด้วย ส่วนบุหรี่ก็ถูกห้ามสูบโดยคนที่มีอายุต่ำกว่า 21 ปี

นอกจากสวีเดนแล้ว ก็มีอีกหลายประเทศในยุโรปที่เคยห้ามประชาชนดื่มกาแฟ ด้วยเหตุผลว่า ใครที่ดื่มแล้วมักมีอาการคึกคะนอง เพราะถูกปีศาจ (satan) เข้าสิง โลกดินแดนที่กาแฟเคยเป็นเครื่องดื่มต้องห้าม เช่น Mecca ในปี 1511 เพราะเห็นว่าคนที่ดื่ม มักออกอาการคิดอะไรแผลง ๆ และที่ Italy กาแฟก็เคยถูกแบน จนกระทั่งสันตะปาปา Clement ที่ 8 ทรงโปรดรสชาติ และทรงอนุญาตให้เป็นเครื่องดื่มที่ใช้ในพิธีศีลจุ่มได้ ที่เมือง Constantinople ในปี 1623 เมื่อจักรพรรดิ Murad ที่ 4 เสด็จขึ้นครองอาณาจักร Ottoman พระองค์ทรงลงโทษคนดื่มกาแฟอย่างรุนแรงด้วยการโบย ถ้าถูกจับได้เป็นครั้งแรก และถ้าถูกจับได้เป็นครั้งที่สอง เขาคนนั้นก็จะถูกจับยัดในถุงผ้าที่ทำด้วยหนัง แล้วนำไปถ่วงน้ำในช่องแคบ Bosphorus และสุดท้ายที่ Prussia ในปี 1777 เมื่อกษัตริย์ Frederick มหาราช ทรงประกาศยกย่องให้เบียร์เป็นเครื่องดื่มคุณภาพของประเทศเยอรมนีเหนือกาแฟ และให้ประชาชนที่จงรักภักดีในพระองค์ทุกคนดื่มเบียร์เป็นอาหารเช้า เพราะพระองค์เองก็ทรงเจริญพระชันษามาจากการดื่มเบียร์


ถึงวันนี้ หลังจากที่กาแฟได้สู้รบกับบรรดากษัตริย์ จักรดิพรรดิและขุนนาง ในทุกดินแดนมาเป็นเวลานาน รสและกลิ่นที่อร่อย และหอมหวนของกาแฟได้เอาชนะอคติและความเชื่อลบ ๆ ของผู้คนในอดีตลงได้อย่างสิ้นเชิงแล้ว

ตามปรกติร่างกายคนทั่วไปจะกำจัด caffeine ให้หมดไปอย่างรวดเร็วภายในเวลา 4-6 ชั่วโมง แต่ในสตรีมีครรภ์สาร caffeine อาจจะอยู่ในร่างกายได้นานถึง 11 ชั่วโมง ดังนั้นสตรีมีครรภ์ควรดื่มกาแฟให้น้อยลง เพื่อให้ฮอร์โมน cortisol และ catecholamine มีโอกาสทำร้ายทารกในครรภ์ได้น้อยลงด้วย

แต่ในกรณีคนสูบบุหรี่จัด นักชีวเคมีได้พบว่าสาร nicotine ที่พบในเลือดจะทำให้ชีวิตทำงานของ caffeine อยู่ได้นานเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้นเอง ดังนั้นคนที่ติดบุหรี่ (ซึ่งมักติดกาแฟด้วย) เวลาต้องการจะเลิกบุหรี่ มักหันไปดื่มกาแฟแทน และพบว่าระดับ caffeine ได้พร่องไปอย่างรวดเร็ว จนทำให้รู้สึกกระวนกระวายใจมาก และกลับไปสูบบุหรี่อีก ทำให้เลิกบุหรี่ไม่ได้สักที

ไม่เพียงแต่นักชีวเคมีเท่านั้นที่สนใจกาแฟ นักฟิสิกส์ เช่น S. Nagel ในสังกัด James Franck Institute ที่นคร Chicago ในประเทศสหรัฐอเมริกาก็สนใจสมบัติทางกายภาพของหยดน้ำกาแฟ ที่ปรากฏเป็นรอยกลม ๆ บนโต๊ะอาหาร เพราะ Nagel ได้พบว่า เมื่อน้ำกาแฟระเหยไปหมดแล้ว แทนที่กากกาแฟจะกระจัดกระจายอย่างสม่ำเสมอบนพื้นที่ในวงกลม กากกาแฟกลับมาเรียงตัวกันอย่างค่อนข้างหนาแน่นตรงบริเวณขอบของวงกลม และที่บริเวณกลาง ๆ ของวงกลม แทบไม่มีกากกาแฟให้เห็นเลย


ในงานวิจัยที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Nature เมื่อ 24 ปีก่อน Nagel ได้อธิบายว่า เมื่อหยดกาแฟตกลงบนพื้นโต๊ะ ในระยะแรก แรงตึงผิวของหยดกาแฟ จะทำให้รูปทรงของหยดมีลักษณะเป็นครึ่งทรงกลม ดังนั้นบริเวณขอบของหยดที่อยู่ติดกับโต๊ะ จึงมีความหนาน้อยกว่าบริเวณตรงกลาง ซึ่งมีผลทำให้การระเหยของน้ำ ในบริเวณนี้มีมากกว่าบริเวณกลาง ๆ หยด การพร่องของน้ำในบริเวณขอบ ชักนำน้ำที่มีปริมาณมากกว่าในบริเวณกลาง ไหลไปสู่บริเวณขอบหยด กากกาแฟที่ลอยอยู่ในน้ำจึงไหลไปสู่บริเวณขอบด้วย ดังนั้นเราจึงเห็นกากกาแฟปรากฏอยู่อย่างหนาแน่นที่บริเวณขอบหยดมากกว่าในบริเวณอื่น
ทฤษฎีการเกิดของวงแหวนกาแฟ (coffee ring) นี้ ยังเป็นประเด็นที่นักฟิสิกส์ให้ความสนใจอยู่เสมอมา เพราะคิดว่า การรู้สาเหตุจะช่วยแพทย์ในการรักษาคนที่เป็นโรคโลหิตจาง และโรคเลือดบางชนิดได้ เพราะหยดเลือด หยดนม หยดสี หรือหยดกาแฟก็มีสมบัติที่คล้ายคลึงกัน

ในวารสาร Journal of Colloid and Interface Science ฉบับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 2021 นี้ Gil Garnier และคณะจากมหาวิทยาลัย Monash ในประเทศออสเตรเลีย ได้พัฒนาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ซึ่งสามารถทำนายได้ว่า วงแหวนกาแฟจะเกิดขึ้นได้ภายใต้เงื่อนไขใด และได้พบว่า เมื่อหยดกาแฟอยู่บนโต๊ะราบ ถ้ามุมสัมผัส (contact angle) ระหว่างผิวโต๊ะกับเส้นสัมผัสที่ผิวหยดตรงบริเวณขอบหยดมีค่ามาก ปรากฏการณ์วงแหวนกาแฟจะไม่เกิด ในทางตรงกันข้าม ถ้ามุมสัมผัสมีค่าน้อย คือหยดมีลักษณะแบนมาก ๆ วงแหวนกาแฟก็จะเกิดอย่างแน่นอน

โดยทั่วไป เวลาหยดกาแฟอยู่บนโต๊ะราบ ในกรณีหยดขนาดเล็ก รัศมีของหยดและมุมสัมผัส รวมถึงค่าคงตัวของแรงตึงผิวจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดสภาพสมดุลของหยด นอกจากนี้ก็มีปัจจัยอื่น ๆ เช่น อัตราเร็วในการระเหยของหยด ความดันไอของน้ำในหยด ความเร็วของลม และความดันอากาศในห้อง

ในการทดลอง นักวิจัยได้ใช้หยดกาแฟปริมาตร 6 ไมโครลิตร ที่มีรัศมี 1 มิลลิเมตร ในห้องที่มีอุณหภูมิ 23 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพันธ์ 50% และได้พบว่าการอุบัติหรือการไร้วงแหวนกาแฟขึ้นกับปริมาตรของกากกาแฟ / ปริมาตรน้ำทั้งหมด รวมถึงมุมสัมผัสระหว่างหยดกับผิวโต๊ะด้วย

มนุษย์ได้รู้จักดื่มกาแฟมานานกว่า 1,000 ปี และรู้ว่ากาแฟเป็นเครื่องดื่มที่ใครเสพจะติด แต่กาแฟไม่ทำร้ายร่างกายเหมือนเฮโรอีน ฝิ่น โคเคน และแอลกอฮอล์ เพราะมีสาร antioxidant วิตามิน B2 , B5 , B3 ซึ่งอาจลดภัยเบาหวานชนิดที่ 2 ได้บ้าง และการที่คนบางคนดื่มกาแฟเพราะเชื่อว่า สามารถลดความเสี่ยงจากการเป็นอัลไซเมอร์ แต่เราก็ต้องระมัดระวัง ไม่ควรดื่มกาแฟเกิน 6 แก้ว/วัน

อ่านเพิ่มเติมจาก “God in a Cup : The Obsessive Quest for the Perfect Coffee” โดย M. Weissman จัดพิมพ์โดย John Wiley ในปี 2008


สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์
กำลังโหลดความคิดเห็น