xs
xsm
sm
md
lg

วิธีป้องกันภัยเวลาโลกถูกดาวเคราะห์น้อยพุ่งชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในบทประพันธ์เรื่อง เจ้าชายน้อย (The Little Prince) ของ Antoine de Saint-Exupéry มีตอนหนึ่งที่กล่าวถึงกัปตันเครื่องบินคนหนึ่ง ขณะอยู่กลางทะเลทราย Sahara ได้เผชิญหน้ากับมนุษย์ต่างดาวที่มาจากดาวเคราะห์น้อย B-612 ซึ่งผู้ประพันธ์ได้อ้างถึงว่า ระบบสุริยะของเรา มีดาวชนิดนี้อีกเป็นจำนวนร้อย (สถิติปี 1943) และบางดวงก็มีขนาดเล็กมาก จนกล้องโทรทรรศน์ที่ใช้สังเกตจากโลกก็มองไม่เห็น

ตัวเลขระดับร้อยที่ผู้ประพันธ์ได้อ้างถึงนั้น ผิดไปมาก เพราะในความเป็นจริง สุริยะจักรวาลมีดาวเคราะห์น้อยหลายล้านดวง ทั้งที่มีขนาดใหญ่ และเล็ก ทั้งหนัก และเบา ทั้งที่โคจรอยู่ไกลจากโลก และใกล้โลก จนดาวประเภทหลังนี้ได้ชื่อเฉพาะว่า วัตถุใกล้โลก (Near-Earth Object , NEO) และเป็นดาวที่คนทั้งโลกสนใจ เพราะดาวเหล่านี้หลายดวงมีวงโคจรที่ตัดกับวงโคจรของโลก ซึ่งหมายความว่า ในบางเวลาดาวเหล่านั้นและโลกจะอยู่ ณ ตำแหน่งเดียวกัน นั่นคือ ดาวกับโลกจะชนกัน

เหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นเมื่อ 66 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นเวลาในช่วงรอยต่อระหว่างยุค Cretaceous กับยุค Tertiary เพราะโลกได้ถูกวัตถุที่ตกจากท้องฟ้า และมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 10 กิโลเมตรพุ่งชนในอ่าว Mexico ใกล้เมือง Chicxulub ในคาบสมุทร Yucatan ซึ่งมีผลทำให้ไดโนเสาร์ และสิ่งที่มีชีวิตในยุคนั้นประมาณ 70% ต้องสูญพันธุ์ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมถือกำเนิด และมนุษย์ได้ขึ้นครองโลกในเวลาต่อมา

ดังนั้นเวลามีข่าววัตถุที่โคจรใกล้โลก (NEO) ปรากฏในสื่อ สังคมจะให้ความสนใจและมักรู้สึกกังวลว่า วันโลกแตกคงได้มาถึงแล้ว แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญจะคาดคะเนว่า โอกาสที่ความรุนแรงจะมากเหมือนดังที่เคยเกิดเมื่อ 66 ล้านปีก่อน จะมีน้อยนิดเพียง 1 ใน 100 ล้านก็ตาม (ซึ่งนั่นหมายความว่า มนุษย์จะต้องคอยอีก 34 ล้านปี จึงจะเห็นเหตุการณ์เช่นนั้นอีก)

สถานภาพการพบ NEO ครั้งล่าสุดคือ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ปี 2021 ที่ผ่านมานี้ NASA ได้รายงานการพบดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งชื่อ 2001FO32 ซึ่งได้โคจรเข้ามาใกล้โลก ที่ระยะห่าง 2 ล้านกิโลเมตร (ประมาณ 5 เท่าของระยะทางที่ดวงจันทร์อยู่ห่างจากโลก) ด้วยความเร็ว 18.06 กิโลเมตร/วินาที และดาวดวงนี้ขณะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด มีความเร็ว 34 กิโลเมตร/วินาที อีกทั้งต้องใช้เวลา 810 วัน ในการโคจรเป็นวงรีรอบดวงอาทิตย์ ข้อมูลทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่ที่มีการพบดาวดวงนี้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2001 แล้ว ดาวจะเข้ามาใกล้โลกอีกครั้งหนึ่งในปี 2052 โดยการชนกับโลกจะไม่เกิดขึ้นแต่อย่างใด

ตามปกติเรามักจะพบดาวเคราะห์น้อยส่วนใหญ่โคจรอยู่ในบริเวณระหว่างดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี และเวลาดาวเคราะห์น้อยดวงใดโคจรผ่านใกล้ดาวพฤหัสบดี แรงโน้มถ่วงที่มากมหาศาลของดาวพฤหัสบดีก็จะดึงดูดดาวให้วิถีโคจรของดาวเบี่ยงเบนเข้าหาหรือออกจากดวงอาทิตย์ และพุ่งผ่านโลกที่ระยะห่างต่าง ๆ กัน ในบางครั้งเราจึงเรียกมันว่าดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก (Near-Earth Asteroid, NEA) ซึ่งก็เป็น NEO อีกชนิดหนึ่ง (NEO มีความหมายครอบคลุมทั้งดาวหาง อุกกาบาต และดาวเคราะห์น้อยที่โคจรใกล้โลกทั้งหมด)

สถิติ NEA ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 30 กิโลเมตร และ NEA ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวตั้งแต่ 2-3 เมตร เวลาตกผ่านบรรยากาศโลก จะถูกบรรยากาศโลกเสียดสีจนลุกเป็นไฟ หรือไม่ก็ตกลงในป่า มหาสมุทรหรือทะเลทรายที่เราไม่เห็น


ประวัติการตกของดาวเคราะห์น้อยสู่โลก ซึ่งทำให้ผู้คนรู้สึกตื่นเต้นเมื่อไม่นานมานี้ได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ปี 2013 ขณะเวลา 09:20 นาฬิกา โดยชาวเมือง Chelyabinsk ในประเทศรัสเซีย ได้เห็นลูกไฟที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 20 เมตร พุ่งผ่านท้องฟ้าเหนือเมืองที่มีประชากร 1.2 ล้านคน ความรุนแรงของเหตุการณ์ได้ทำให้กระจกหน้าต่างของอาคารหลายหลังแตกกระจาย แล้วดาวก็ได้ระเบิดที่ระยะสูง 23.3 กิโลเมตรเหนือพื้นดิน พลังระเบิดที่รุนแรงประมาณ 30 เท่าของระเบิดปรมาณูที่ถล่มเมือง Hiroshima มิได้ทำให้ใครเสียชีวิต เพราะดาวเคราะห์น้อยได้ตกในบริเวณที่ปราศจากผู้คน และตกเอียงทำมุม 18 องศา กับผิวโลก การเสียดสีกับบรรยากาศเป็นเวลานานทำให้ดาวเคราะห์น้อยมีความเร็วลดลงมาก ความรุนแรงของเหตุการณ์จึงลดตาม นักดาราศาสตร์ได้คาดการณ์ว่า เหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้อาจจะเกิดขึ้นในอีก 50 ปี คือในปี 2064

หากย้อนอดีตไปนานกว่านั้นคือ ในวันที่ 30 มิถุนายน ปี 1908 ขณะเวลา 07:17 นาฬิกา ก็ได้มีดาวเคราะห์น้อยที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 110 เมตร พุ่งตกที่บริเวณใกล้แม่น้ำ Stony Tunguska ในดินแดนไซบีเรียตอนกลาง ตลอดเวลาสองวันหลังจากที่ดาวเคราะห์น้อยตก ท้องฟ้าในยุโรปในเวลากลางคืนสว่างไสวเหมือนเมื่อครั้งที่ภูเขาไฟ Krakatoa ในประเทศอินโดนีเซียระเบิดเมื่อปี 1883 ดาวเคราะห์น้อยนี้ได้ระเบิดที่ระยะสูง 10 กิโลเมตรเหนือป่า ทำให้ต้นไม้ 40,000 ต้นล้มระเนระนาดในพื้นที่วงกลมที่มีรัศมียาว 70 กิโลเมตร นักดาราศาสตร์หลายคนคิดว่า แรงปะทะน่าจะทำให้ผิวโลกเป็นขนาดหลุมใหญ่ แต่ไม่มีใครกล้าตามไปดู เพราะกลัวและเชื่อคำสาปแช่งว่า เทพเจ้าแห่งไฟ ชื่อ Ogda ได้เสด็จกลับมาเยือนโลกแล้ว พร้อมดาวตก จนกระทั่งถึงปี 1955 หรืออีก 47 ปีต่อมา คณะนักวิทยาศาสตร์จึงได้ติดตามไปดูหลักฐานอย่างใกล้ชิด และพบว่ามีสะเก็ดดาวที่ตกเกิดจากการระเบิด

ประกอบด้วย แร่ nickel , cobalt , copper และ germanium ลักษณะทางกายภาพของเนื้อดาวยังแสดงให้เห็นอีกว่า สะเก็ดดาวนี้เคยมีอุณหภูมิสูงถึง 17 ล้านองศาเซลเซียส ดังนั้นเนื้อดาวจึงอาจจะเป็นชิ้นส่วนที่ได้แตกกระจายออกจากดาวหาง Encke นักดาราศาสตร์ได้พยากรณ์ว่า เหตุการณ์รุนแรงระดับนี้ อาจจะเกิดซ้ำอีกในปี 2908

นอกจากหลักฐานที่พบในสถานที่ทั้งสองนี้แล้ว นักดาราศาสตร์ยังได้พบร่องรอยที่เป็นหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่ ชื่อ Chicxulub ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 180 กิโลเมตรและอยู่ใต้ทะเล ในบริเวณอ่าว Mexico โดย T. Camargo กับคณะได้พบเห็นเป็นคนแรกแล้ว โลกก็ยังมีหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่อีกหลายหลุมที่ Woodleigh ในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 120 กิโลเมตร และได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 360 ล้านปีก่อน ส่วนที่ Bedout ในประเทศออสเตรเลีย ก็มีหลุมซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 190 กิโลเมตร โดยได้อุบัติขึ้นเมื่อ 240 ล้านปีก่อนในยุค Permian และหลุม Manicouagan ในประเทศ Canada ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 90 กิโลเมตร และได้ถือกำเนิดเกิดขึ้นเมื่อ 200 ล้านปีก่อนในยุค Triassic

ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า โลกของเราถูกคุกคามโดยดาวเคราะห์น้อย อุกกาบาต หรือ ดาวหาง ใหญ่น้อยเป็นครั้งคราว และทุกครั้งที่โลกถูกวัตถุขนาดใหญ่จากท้องฟ้าพุ่งชน การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตอย่างขนานใหญ่ก็จะเกิดขึ้น ในกรณีที่การพุ่งชนไม่รุนแรงมากนัก เมืองทั้งเมืองอาจจะถูกลบหายไปจากแผนที่ แต่ถ้าการพุ่งชนนั้นอยู่ในระดับที่รุนแรงมาก อารยธรรมของมนุษย์ก็อาจล่มสลาย หรือมวลมนุษย์ทั้งทวีปอาจจะล้มตาย


เมื่อภัยอันตรายมีมากเช่นนี้ และโอกาสการเกิดภัยก็ไม่มีใครสามารถรู้ล่วงหน้าได้นาน ๆ ดังนั้นในปี 2005 NASA จึงได้ตั้งเป้าหมายจะค้นหาข้อมูลทางกายภาพและศึกษารายละเอียดของดาวเคราะห์น้อยทุกดวงที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 140 เมตรขึ้นไป ให้ได้มากถึง 90% ภายในปี 2020

ตามปกติบรรดา NEO ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวตั้งแต่ 5 – 10 เมตร นักดาราศาสตร์สามารถเห็นได้โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ธรรมดา ขณะโคจรอยู่ไกลจากโลกไม่เกิน 100,000 กิโลเมตร

แต่ดาวเคราะห์น้อยที่มีในธรรมชาติมิได้โคจรอยู่เฉพาะระหว่างดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดีเท่านั้น ดาวเคราะห์น้อยหลายดวงอาจจะอยู่นอกวงโคจรของดาวเคราะห์ Pluto หรือ ไม่ก็อยู่ในแถบ Kuiper และในเมฆ Oort ได้ด้วย ดังนั้นการสังเกตเห็นจึงทำได้ยาก และมีผลทำให้ดาวกลุ่มนี้เป็นดาวอันตรายที่สามารถจู่โจมโลกได้โดยที่เราไม่รู้ตัว

ยิ่งเมื่อ Karl Wilhelm Reinmuth ได้พบตั้งแต่ปี 1862 ว่าวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยชื่อ Apollo มีช่วงหนึ่งที่จะตัดกับวงโคจรของโลก การค้นพบนี้ได้ทำให้นักดาราศาสตร์หลายคนกังวล ดังที่ Grove Karl Gilbert ได้พบว่าหลุมอุกกาบาต Meteor Crater ซึ่งอยู่ในรัฐ Arizona ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 1,100 เมตร และลึก 150 เมตร กับหลุมอุกกาบาตอีกเป็นจำนวนมากที่เห็นบนดวงจันทร์และดาวพุธ หลักฐานหลุมอุกกาบาตเหล่านี้ทำให้ NASA ได้จัดตั้งโครงการพยายามค้นหาดาวเคราะห์ที่โคจรใกล้โลกให้ได้จำนวนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และให้ศึกษาหาวิธีป้องกันภัยที่จะเกิดจากการที่โลกถูกวัตถุที่โคจรใกล้โลกเหล่านี้พุ่งชนในอนาคตด้วย

แต่เมื่อถึงปี 2020 จริง NASA ก็ได้พบว่ามีข้อมูลของ NEO ที่มีขนาดใหญ่กว่า 140 เมตร เพียง 10 % เท่านั้นเอง นั่นคือ NASA ยังไม่มีข้อมูลของ NEO ขนาดเดียวกันนี้อีก 90 %

ดังนั้นการเตรียมตัวป้องกันภัยที่อาจจะเกิดขึ้นโดยเราไม่รู้ตัวจึงเป็นเรื่องจำเป็น มาก และนักดาราศาสตร์ก็ต้องคิดหาวิธีลดหรือกำจัดความรุนแรงของภัยนี้ โดยอาจใช้วิธีทำให้เส้นทางโคจรของดาวเคราะห์น้อยเบี่ยงเบน เช่นให้พุ่งผ่านโลกไปโดยไม่ชน หรือใช้ระเบิดปรมาณูในการทำลายดาวเคราะห์ให้แตกสลายไป แต่ในเวลาเดียวกัน การป้องกันภัยทุกรูปแบบก็ต้องคำนึงถึงการสร้างภัยใหม่ที่อาจจะเกิดตามมาด้วย

ในปี 2018 โครงการมูลนิธิ B 612 F มูลค่า 13,500 ล้านบาทจึงได้เกิดขึ้น โครงการนี้จะกล้องโทรทรรศน์อวกาศชื่อ Sentinel ที่สร้างโดยบริษัท Ball Aerospace and Technology ให้โคจรอยู่นอกวงโคจรของดาวศุกร์ แต่มูลนิธิไม่สามารถระดมทุนสนับสนุนได้ โครงการจึงถูกยกเลิกไป

โครงการต่อมาคือ The Near – Earth Object Surveillance Mission (NEOSM) ที่จะค้นหาดาวเคราะห์น้อยทุกดวงของระบบสุริยะที่อาจพุ่งชนโลก ผู้ซึ่งสร้างยานอวกาศในโครงการนี้คือ Jet Propulsion Laboratory (JPL) ยานที่หนัก 13,000 กิโลกรัม จะถูกส่งขึ้นโคจรในปี 2025 และจะอยู่ ณ ตำแหน่งจุด L1 (Lagrange Point) เพื่อวิเคราะห์ธรรมชาติของวัตถุท้องฟ้าทุกชิ้น ที่โคจรอยู่ภายในวงโคจรของโลก แล้วรายงาน NASA ให้รู้ตัวล่วงหน้าก่อน นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้


เพราะดาวเคราะห์น้อยและอุกกาบาตมีขนาด มวล และองค์ประกอบที่เป็นเนื้อดาว รวมถึงระยะที่อยู่ห่างจากโลก โดยมีความเร็วต่าง ๆ กัน ดังนั้นการป้องกันภัยอันตรายจากวัตถุบนท้องฟ้าเหล่านี้ จึงมีหลายรูปแบบ และหลายวิธี เช่น

1. โครงการ Asteroid Terrestrial - Impact Last Alert System (ATLAS) เพื่อค้นหา NEA ที่คาดว่าจะเป็นอันตรายต่อโลก
2. โครงการ Asteroid Impact Avoidance (AIA)
3. โครงการ Asteroid Redirection Mission (ARM)
4. โครงการ Asteroid Impact and Deflection Assessment (AIDA)
5. โครงการ Double Asteroid Redirection Test (DART)

ฯลฯ

ซึ่งจะตรวจหาดาวเคราะห์น้อยหรืออุกกาบาตที่อาจจะพุ่งชนโลก เป็นเวลานานล่วงหน้าก่อนจะเกิดเหตุการณ์จริง ยิ่งก่อนนานเท่าไหร่ ก็ยิ่งดีเพียงนั้น

สำหรับกระบวนการป้องกันก็อาจแบ่งออกได้เป็น 4 วิธีใหญ่ ๆ คือ

1. โดยการยิงจรวดตรง ๆ หรือเฉียง ๆ เข้าใส่อุกกาบาตและดาวเคราะห์น้อย ซึ่งการชนลักษณะนี้ สามารถทำให้ทิศการโคจรของวัตถุอันตรายเบี่ยงเบนได้
2. ใช้ระเบิดนิวเคลียร์ทำลายดาวอันตราย แต่สะเก็ดดาวหรือชิ้นส่วนที่เกิดจากการแตกสลายของดาวก็อาจตกกลับสู่โลก ซึ่งก็จะทำให้มนุษย์ได้รับอันตรายอย่างมหาศาล เมื่อชิ้นส่วนเหล่านั้นตกถึงโลก
3. โดยการฉายแสงเลเซอร์พลังสูงใหญ่เข้าปะทะก้อนอุกกาบาตที่มีขนาดเล็กและมีมวลน้อย แต่รูปร่างที่ไม่สมมาตรของก้อนอุกกาบาต เมื่อได้ความดันแสงก็อาจทำให้โมเมนตัมเชิงมุมของอุกกาบาตเปลี่ยน และอุกกาบาตอาจพุ่งชนโลกได้
4. ในกรณีที่มีอุกกาบาตขนาดเล็ก NASA อาจใช้ยานอวกาศที่หนักระดับ 20 ตันขึ้นไป เข้าดึงดูดอุกกาบาตด้วยแรงโน้มถ่วงของยานอวกาศ ซึ่งสามารถเบี่ยงทิศการเคลื่อนที่ของอุกกาบาตได้

เราหลายคนคงไม่รู้ว่า ดาวอุกกาบาตหรือดาวเคราะห์น้อยบางดวง ก็มีประโยชน์มากไม่น้อย คือ ใช่ว่าดาวเหล่านี้ทุกดวงจะสร้างแต่ภัยพิบัติ เช่น ได้มีการพบว่าพระแสงดาบในจักรพรรดิ Jahangir ที่ 4 แห่งอาณาจักร Mughal ของอินเดีย เป็นพระแสงดาบที่ทำด้วยเหล็กที่พบในอุกกาบาต ซึ่งตกในประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 10 เมษายน ปี 1621 (รัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม) ส่วนเหล็กที่เหลือ ๆ พระองค์ได้ทรงบัญชาให้ทำเป็นมีด ซึ่งทำให้ผู้คนในสมัยนั้นเชื่อว่า เป็นพระแสงอาวุธที่ทรงความศักดิ์สิทธิ์มาก

ในหลุมฝังศพขององค์ฟาโรห์ Tutankhamun ของอารยธรรมอียิปต์เมื่อ 3,400 ปีก่อน ซึ่ง Howard Carter ได้เปิดให้โลกเข้าชม เมื่อปี 1922 ก็มีพระแสงกริชที่ทำด้วยเหล็ก ซึ่งได้มาจากอุกกาบาตเช่นกัน และนักวัสดุศาสตร์ในปัจจุบันได้พบว่า เนื้อเหล็กนั้นมีธาตุ nickel เจือปน หลักฐานเหล่านี้จึงแสดงให้เห็นว่า ช่างโลหะในสมัยนั้น รู้วิธีหลอมเหล็ก และรู้ว่าเหล็กที่ดีจะมีคุณภาพเช่นไร

ชนชาว Hittite และชนชาว Sumerian ที่เคยอาศัยอยู่ในดินแดน Mesopotamia นิยมเรียกเหล็กที่พบในอุกกาบาตว่า เป็นไฟที่สวรรค์ประทาน ส่วนชาวอียิปต์โบราณก็เรียกเหล็กที่พบในอุกกาบาตว่า อสุนีบาตจากเทพเจ้า ด้านชาว Assyrian เรียกเหล็กว่า โลหะที่ฟ้าประทาน เราจึงอาจจะกล่าวได้ว่า อุกกาบาตที่มีเหล็กเป็นองค์ประกอบหลัก อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของยุคเหล็กในอารยธรรมโบราณ

ในปี 1818 เมื่อนักสำรวจชาวยุโรปเดินทางถึงเกาะ Greenland และได้เห็นชาวพื้นเมืองเผ่า Inuit พวกเขาต่างรู้สึกประหลาดใจมากที่เห็นชนเผ่านี้รู้จักใช้มีด ฉมวก และอุปกรณ์แกะสลักซึ่งทำจากเหล็ก ทำให้มีความคมมาก จึงเป็นประโยชน์ในการล่าสัตว์ ในเวลาต่อมาความจริงก็ได้ปรากฏว่า ดินแดนแถบนั้น มีอุกกาบาตตกเป็นจำนวนมาก ชาวพื้นเมืองจึงนำเหล็กที่พบในอุกกาบาตมาทำเป็นของมีคม เพื่อใช้ในการดำรงชีพ อุกกาบาตที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของ Greenland คือ อุกกาบาต Ahnighito ซึ่งนักสำรวจชื่อ Robert Peary ได้นำมาจาก Greenland โดยทางเรือไปเก็บที่พิพิธภัณฑ์ Museum of Natural History ในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อประมาณปี 1895 อุกกาบาตก้อนนี้มีขนาดใหญ่มากคือ ยาว 3.5 เมตร สูง 2.3 เมตร หนา 2 เมตร และหนัก 34 ตัน มีเหล็กกับนิเกิลเป็นองค์ประกอบหลัก ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งที่น่าสนใจคือ นิเกิลที่พบในอุกกาบาตเป็นชนิดเดียวกับนิเกิลที่มาจากเหมือง ซึ่งตั้งอยู่ใกล้หลุมอุกกาบาต Sudbury ในรัฐ Ontario ของประเทศแคนาดา


ย้อนอดีตไปเมื่อ 205 ปีก่อนคริสตกาล แม่ทัพ Hannibal แห่งกองทัพ Carthage ได้ยกทัพบุกรุกรานชาวอิตาลี การสู้รบอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้อาณาจักรโรมันในเวลานั้น ใกล้จะถึงภาวะล่มสลาย แต่เมื่อเกิดฝนดาวตก ชาวเมืองได้รู้สึกตกใจกลัว ครั้นเมื่อได้ยินโหรโรมันทำนายว่า Hannibal อาจพ่ายแพ้ได้ในการสู้รบได้ ถ้ามีใครสามารถนำก้อนอุกกาบาตชื่อ Indian Mother ซึ่งเป็นตัวแทนเทพธิดาจากสวรรค์ มาที่กรุงโรมได้ เพราะอุกกาบาตดังกล่าวถูกเก็บอยู่ที่วิหาร Pessinus ในประเทศตุรกี ดังนั้นชาวโรมันจึงส่งทูตไปนำอุกกาบาตก้อนนั้นมาที่โรมโดยทางเรือ แล้วนำไปประดิษฐานที่วิหาร Temple of Victory
การมีก้อนอุกกาบาต “ศักดิ์สิทธิ์” ในครอบครอง ทำให้ทหารโรมันมีขวัญและกำลังใจดีขึ้นมาก จึงได้บุกโจมตีกองทัพทหารของ Hannibal จนแตกกระเจิง ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี เพื่อสำนึกในความศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับจากอุกกาบาต ชาวโรมันจึงได้สร้างวิหารขึ้นมาบนเนิน Palatine ในกรุงโรมให้ชาวเมืองได้สักการะ และนับถือมาเป็นเวลาร่วม 500 ปี

จนกระทั่งถึงปี 1730 หลังจากที่ชาวโรมันได้เริ่มรู้ความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติของอุกกาบาตแล้ว ความนิยมนับถือก็ได้เริ่มเสื่อมลง ๆ จนหมดไปในที่สุด

นอกจากเหล็ก และนิเกิลจะมีพบในอุกกาบาตแล้ว แร่อื่น ๆ เช่น โอปอล เพชร ทับทิม และไพลิน ซึ่งเป็นอัญมณีที่มีค่า ก็มีพบในอุกกาบาตเช่นกัน แต่อาจจะมีในปริมาณน้อย คือ มีขนาดใหญ่ไม่เกิน 10-6 เมตร หรือประกอบด้วยอะตอมของคาร์บอน ออกซิเจน ซิลิกอน อะลูมิเนียม แมกนีเซียม และเหล็ก ที่มีจำนวนตั้งแต่ 100-1,000 อะตอม นักวิจัยได้เห็นละอองเพชรที่มีขนาด 1 นาโนเมตรในอุกกาบาต และได้เห็นสารประกอบ silicon carbide (SiC) กับแกรไฟท์ การวิเคราะห์ isotope ของอะตอมเหล่านี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์รู้ว่า อะตอมที่พบมิได้ถือกำเนิดในสุริยะจักรวาล แต่มาจากจักรวาลอื่นที่อยู่นอกระบบสุริยะของเรา

ในปี 1997 นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Washington ที่ St. Louis ได้พบอนุภาค corundum (Al2O3) ซึ่งมีความแข็งรองจากเพชร และเป็นองค์ประกอบของทับทิมกับไพลิน นี่จึงเป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่ได้แสดงให้เห็นว่า อะตอมของสาร corundum มาจากฝุ่นละอองที่อยู่นอกระบบสุริยะ และละอองนี้ได้ติดมากับอุกกาบาต เวลาดาวฤกษ์ระเบิด และได้เดินทางมาถึงโลกเราในที่สุด

การศึกษาอุกกาบาต ได้ทำให้มนุษย์มีความรู้เกี่ยวกับดาวฤกษ์ที่อยู่ไกลจากโลกมาก จนเราไม่สามารถจะเดินทางไปถึงได้ภายในช่วงชีวิตของเรานี้ แต่ดาวฤกษ์ก็ส่งข้อมูลต่าง ๆ ทั้งแสงและสารมาให้เรารู้ตลอดเวลา โดยผ่านทางอุกกาบาต ดาวหาง ดาวเคราะห์น้อย ฯลฯ ในรูปของละอองต่าง ๆ ให้เราได้ศึกษา และเก็บสะสม


อ่านเพิ่มเติมจาก Catastrophe : Risk and Response โดย Richard A. Posner จัดพิมพ์โดย Oxford University Press, New York ปี 2014


สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์
กำลังโหลดความคิดเห็น