xs
xsm
sm
md
lg

การเดินทางไปดาวเคราะห์ที่มีดวงอาทิตย์ในท้องฟ้า 3 ดวง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในภาพยนตร์เรื่อง Star Wars ขณะ Luke Skywalker เดินอยู่บนดาวเคราะห์ Tatooine เขาได้เห็นดวงอาทิตย์ในท้องฟ้า 2 ดวง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่หลายคนอาจไม่เชื่อว่า ดาวเคราะห์แต่ละดวง จะมีดวงอาทิตย์ได้มากกว่าหนึ่งดวง แต่ในโลกของความจริง เอกภพของเรามีดาวเคราะห์ที่มีดาวฤกษ์ได้ตั้งแต่ 2 , 3 , 4 , …. ดวงได้ คำถามที่ทุกคนสนใจและใคร่จะรู้คำตอบ คือ สิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์ที่กำลังโคจรรอบดวงอาทิตย์หลายดวงนั้น เป็นเช่นไร ดาวเคราะห์ดังกล่าวถือกำเนิดได้อย่างไร และมนุษย์จะสามารถเดินทางไปเยือนดาวเคราะห์ดวงนั้นได้อย่างไร ฯลฯ

นับตั้งแต่มนุษย์คนแรกถือกำเนิดบนโลกเมื่อประมาณ 3 ล้านปีก่อน คนเราก็ยังไม่เคยไปเดินเหยียบย่างบนดาวดวงอื่นเลย จนกระทั่งปี 1969 เมื่อมนุษย์อวกาศชื่อ Neil Armstrong ได้มีโอกาสไปเดินบนดวงจันทร์ แม้แต่ในปี 2021 นี้ เราก็ยังไม่สามารถเดินทางไปถึงดาวศุกร์หรือดาวอังคารได้ เพราะหนทางที่ไกลมาก และเรายังมีเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสม และทันสมัยอย่างเพียงพอ

แต่ NASA ก็สามารถส่งยานอวกาศ เช่น Voyager 1 ออกไปนอกระบบสุริยะได้แล้วตั้งแต่ปี 1969 และตามมาด้วย Voyager 2 ล่าสุดนี้ก็ได้ส่งยาน New Horizons โคจรผ่านดาวเคราะห์แคระ Pluto หลังจากที่ยานได้ออกเดินทางจากโลกเมื่อ 9.5 ปีก่อน ทั้ง ๆ ที่ Pluto อยู่ห่างจากโลกเพียง 32 AU (1 AU คือระยะทางโดยเฉลี่ยที่โลกอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เท่ากับ 150 ล้านกิโลเมตร) ดังนั้น ถ้า NASA จะใช้เทคโนโลยีของยาน New Horizons เดินทางไปเยือนดาวฤกษ์ Proxima Centauri ที่อยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทางประมาณ 26,600 AU ยานจะต้องใช้เวลานานถึง 76,000 ปี (ยานอาจจะไปถึง แต่คนที่ไปด้วยจะไปที่อื่น!)

Alpha Centauri เป็นระบบที่มีดาวฤกษ์ 3 ดวง และอยู่ใกล้โลกมากที่สุด Robert T. A. Innes คือบุคคลแรกที่ได้พบระบบดาวนี้ เมื่อปี 1915 การติดตามศึกษาในเวลาต่อมาได้แสดงให้เห็นว่า ระบบมีดาวฤกษ์ (ดวงอาทิตย์) 3 ดวง คือ Proxima Centauri A ซึ่งมีมวล 0.97 เท่าของดวงอาทิตย์ Proxima Centauri B ซึ่งมีมวล 1.1 เท่าของดวงอาทิตย์ และ Proxima Centauri ซึ่งมีมวล 0.1 เท่าของดวงอาทิตย์ โดยดาว A และดาว B เวลาส่องกล้องดูจากโลกจะเห็นอยู่ใกล้กันมาก จนปรากฏเป็นดาวดวงเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงดาว A และดาว B อยู่ห่างกันประมาณ 10,000 AU และดาว Proxima Centauri โคจรไปรอบ A กับ B โดยใช้เวลา 53,000 ปี

ในขณะที่ A กับ B ต่างก็โคจรรอบจุดศูนย์กลางมวลของระบบ และอยู่ใกล้กันมากที่สุดกับไกลกันมากที่สุด เป็นระยะทาง 11 AU กับ 36 AU ตามลำดับ ระบบดาวชุดนี้ ยังมีดาวเคราะห์เป็นบริวารอีก 5 ดวง การมีดวงอาทิตย์สามดวงสำหรับดาวเคราะห์แต่ละดวงอาจทำให้อุณหภูมิที่ผิวดาวเคราะห์แปรปรวนมาก เช่น ถ้าดาวเคราะห์ดวงนั้นมีบรรยากาศห่อหุ้ม อุณหภูมิที่สูงและต่ำของบรรยากาศเหนือดาว อาจทำให้เกิดพายุเฮอริเคนบนดาวบ่อย แต่นั่นก็จะไม่รบกวนแบคทีเรียที่ฝังตัวอยู่ใต้ดินที่ระดับลึก 3 กิโลเมตร เพราะไม่ว่าฟ้าจะร้อง แผ่นดินจะสั่นสะเทือนแค่ไหน แบคทีเรียก็ไม่รู้สึกอะไร

การมีดวงอาทิตย์หลายดวงที่มีขนาดไม่เท่ากัน อีกทั้งมีกำลังส่องสว่างก็ไม่เท่ากัน คือ ดวงหนึ่งให้ความสว่างมาก และอีก 2 ดวงให้ความสว่างน้อย จะต้องมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์อย่างแน่นอน โดยเฉพาะในกระบวนการสังเคราะห์พลังงานด้วยแสง (photosynthesis) เพราะพืชชนิดหนึ่งอาจเจริญเติบโตได้ดี โดยได้รับแสงที่มีความยาวคลื่นหนึ่ง แต่อีกชนิดหนึ่งอาจต้องใช้แสงที่มีความยาวคลื่นแตกต่างไป เพื่อสังเคราะห์พลังงานด้วยแสง ในขณะที่พืชบนโลกมีสีเขียว เพราะดวงอาทิตย์ของเราให้แสงสีเขียวมากกว่าสีอื่น ดังนั้นพืชบนดาวเคราะห์ของระบบดาว Proxima Centauri อาจจะมีสีแดงหรือสีน้ำเงินก็ได้ และในขณะที่ระบบสุริยะของเรามีเมฆ Oort ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ของบรรดาดาวหางจำนวนมาก ระบบดาว Proxima Centauri ก็คงมีเมฆ Oort ของมันเช่นกัน และนั่นก็หมายความว่า ดาวเคราะห์ในระบบ Proxima Centauri อาจจะได้รับน้ำแข็งจากดาวหางในเมฆ Oort จนทำให้ดาวเคราะห์ดวงนั้นมีทะเล เมื่อดาวเคราะห์ถูกดาวหางพุ่งชน


ในประเด็นเรื่องขั้นตอนการถือกำเนิดของ Proxima Centauri ที่มีดาวฤกษ์ 3 ดวง และมีดาวเคราะห์ใหญ่น้อย นั่นก็ยังเป็นปริศนาที่ยังไม่มีคำตอบว่า ลักษณะการถือกำเนิดของดาวเคราะห์ต่าง ๆ ในระบบนี้ มีความแตกต่างจากการถือกำเนิดของโลกในระบบสุริยะอย่างไร ทั้ง ๆ ที่เราก็รู้ว่า ดาว Proxima Centauri ถือกำเนิดจากดาวเคราะห์แดงที่มีอายุ 4,150 ล้านปี ซึ่งน้อยกว่าดวงอาทิตย์ที่มีอายุ 5,000 ล้านปี และมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 15% ของดวงอาทิตย์ มีมวล 1 ใน 8 เท่าของดวงอาทิตย์ และมีอุณหภูมิที่ผิว 3,000 องศาเซลเซียส (ผิวดวงอาทิตย์มีอุณหภูมิ 6,000 องศาเซลเซียส)

ข้อมูลต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ อาจทำให้ใครหลายคนต้องการจะไปเยือน หรืออย่างน้อยก็อยากจะเห็นธรรมชาติบนดาวเคราะห์ในระบบดาว Proxima Centauri แต่ความต้องการในเรื่องนี้ก็มีอุปสรรคที่อาจทำให้เราตระหนักได้ว่า เป็นจริงได้ยาก เพราะเรามีข้อจำกัดมากมายหลายประการ

โดยเริ่มตั้งแต่การวางแผนการเดินทาง เพราะโลกกับ Proxima Centauri อยู่ไกลกันมาก ดังนั้นมนุษย์อวกาศจึงต้องใช้เวลานานในการเดินทางไปและกลับ การรู้เส้นทางการไปตลอดเวลาหลายหมื่นปีอย่างละเอียด อาจต้องใช้ quantum computer คำนวณ เพื่อจะให้ได้เส้นทางจากโลกถึง Proxima Centauri ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด หรือเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุด เพื่อความปลอดภัยและประหยัดพลังงาน นอกจากนี้ในการเดินทางก็จะต้องคำนึงถึงน้ำหนักของเชื้อเพลิงที่จะต้องบรรทุกไปด้วย ซึ่งคงไม่ใช้ออกซิเจนเหลวหรือไฮโดรเจนเหลวอย่างแน่นอน ดังนั้นการค้นหาเชื้อเพลิงชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพมาก จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำ

ถ้าวิศวกรคิดจะใช้พลังงานนิวเคลียร์แบบ fission ที่เกิดจากการแยกนิวเคลียสยูเรเนียม -235 หรือ พลูโตเนียม -239 แม้พลังงานที่ได้ จะมากกว่าการใช้เชื้อเพลิงธรรมดาหลายล้านเท่าก็ตาม แต่ขณะเตาปฏิกรณ์ปรมาณูทำงาน อุณหภูมิของเครื่องยนต์ในอากาศยานอาจจะสูงถึง 1 แสนองศาเซลเซียส ดังนั้นมนุษย์อวกาศที่อยู่ในยานจะต้องมีระบบทำความเย็นที่มีประสิทธิภาพสูงมาก ซึ่งเรายังไม่มี นั่นคือ เตาปฏิกรณ์ปรมาณูในยานจะต้องได้รับการออกแบบใหม่ หรือถ้าจะใช้พลังงานนิวเคลียร์จากปฏิกิริยา fusion ที่ได้จากการหลอมรวมนิวเคลียสของธาตุเบา เช่น deuterium และ helium ก็ไม่ใช่ง่าย เพราะธาตุทั้งสองมีน้อยในธรรมชาติ และการเตรียมธาตุทั้งสองให้ได้ในปริมาณมาก ก็ต้องใช้เวลานานมาก กรณีนี้ก็เช่นเดียวกับกรณี fission คือ ระบบทำความเย็นในยาน คงต้องได้รับการออกแบบโดยพระวิษณุกรรม


นอกจากนี้ขณะจรวดเดินทางไปในยานอวกาศ เพราะอุณหภูมิของอวกาศมีค่าโดยเฉลี่ยประมาณ -270 องศาเซลเซียส ดังนั้นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชิ้นในยานจะต้องถูกหุ้มด้วยชนวน เพื่อให้สามารถทำงานได้ดีในอุณหภูมิปกติ และถ้าชิ้นส่วนใดของเครื่องยนต์เสื่อมคุณภาพ หรือเสีย หรือทำงานบกพร่อง วิศวกรจะต้องซ่อมแซมทุกชิ้นส่วนด้วยตัวเอง หรือมีอุปกรณ์ที่สามารถใช้ทดแทนได้อย่างเพียงพอ

การดำรงชีวิตของผู้เดินทางก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะทุกคนจะอยู่ในสภาพไร้น้ำหนัก (zero gravity) ตลอดเวลา ดังนั้นการออกกำลังกายจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าไม่ทำเลย กล้ามเนื้อจะอ่อนแอ และกระดูกจะหด ยานจึงต้องได้รับการออกแบบให้สามารถสร้างแรงโน้มถ่วงเทียมขึ้นได้ โดยการให้ยานหมุนไปรอบตัวเองอย่างช้า ๆ แล้วผู้โดยสารในยานก็จะได้ไม่ลอยไป-มาตลอดเวลา โดยไม่ต้องนอนกัน การกินอาหารอาจจะต้องใช้อาหารสำเร็จรูปเป็นส่วนใหญ่ และยานจะต้องมีระบบขับถ่ายของเสีย โดยการแปรรูปปัสสาวะเป็นน้ำ และแปรอุจจาระเป็นปุ๋ย เพื่อใช้ในการปลูกพืชในยาน อีกทั้งต้องมีระบบกรองอากาศในยานให้สดชื่นด้วย

ปัญหาจิตใจของคนจำนวนมากที่ต้องตกอยู่ในที่คับแคบด้วยกันเป็นเวลานานก็เป็นเรื่องที่ต้องมีการคำนึงถึง และโครงการต้องมีวิธีบำบัดความเครียด สำหรับการมีครอบครัวก็คงมีปัญหา เพราะทุกคนไม่มีตัวเลือกในการหาคู่ครอง ดังนั้นความหลากหลายทางพันธุกรรมที่จะเกิดขึ้นจึงมีน้อย และทุกทายาทที่ถือกำเนิดบนยานก็อาจมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ เช่น ตัวเล็กไป แม้ว่าการทดลองเรื่องการสืบพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต เช่น แมลงหวี่ ปลา หอยทาก และหนู ฯลฯ จะไม่พบปัญหาที่ร้ายแรง แต่นั่นก็มิได้หมายความว่าเหตุการณ์นี้จะ OK สำหรับคนในระยะยาว

เหล่านี้คือ (ส่วนหนึ่ง) ของปัญหาที่โครงการจะต้องมีวิธีแก้ ก่อนที่มนุษย์จะเดินทางไปต่างดาว ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการ เมื่อโลกของเรามีอุณหภูมิสูงจนน้ำในมหาสมุทรเหือดแห้ง หรืออากาศเป็นพิษ ทำให้มนุษย์ต้องเริ่มหาถิ่นที่อยู่ใหม่ ซึ่งก็คงมิใช่ไปที่ Proxima Centauri แต่คงไปที่ดาวอังคาร หรือดวงจันทร์ Europa ของดาวพฤหัสบดี หรือดวงจันทร์ Titan ของดาวเสาร์

เมื่อการส่งคนไป Proxima Centauri มีปัญหาที่จะต้องก้าวข้ามมากเช่นนี้ การส่ง robot หรือหุ่นยนต์ไปแทนจึงเป็นตัวเลือกหนึ่ง เพราะจะไม่มีเรื่องของการเสียชีวิตเข้ามาเกี่ยวข้อง และเทคโนโลยีการส่งหุ่นยนต์ไปต่างดาว ก็เป็นเรื่องที่อยู่ในวิสัยของเราในปัจจุบัน ว่าสามารถจะทำได้เร็วและถูกด้วย


เมื่อวันที่ 12 เมษายน ปี 2015 Yuri Milner เศรษฐีอเมริกันเชื้อชาติรัสเซีย วัย 60 ปี กับ Stephen Hawking นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษ (ที่ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ได้เสนอโครงการ Breakthrough Starshot ซึ่งจะส่งหุ่นยนต์เป็นแท่งที่มีความยาว 10 เซนติเมตร และมีมวลน้อยกว่า 1 กรัม จำนวนพัน เป็นยานนาโน (nanocraft) ให้เดินทางไปยัง Alpha Centauri เพื่อถ่ายภาพดาวฤกษ์ และดาวเคราะห์บริวารของระบบนี้ เพราะนักดาราศาสตร์หลายคนคาดคิดว่าจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่บนดาวเคราะห์ แล้วส่งภาพเหล่านั้นกลับมายังโลก

ตามโครงการนี้ ยานจะถูกส่งขึ้นไปเหนือบรรยากาศโลกโดยจรวด แล้วแผงรับแสงอาทิตย์ในตัวยานจะกางออก โดยแผงที่มีพื้นที่ 1 ตารางเมตรจะกางรับแสงเลเซอร์ที่มีพลังงาน 1 แสนล้านวัตต์ ซึ่งจะพุ่งชนแผงที่ทำด้วยวัสดุ mylar ให้เคลื่อนที่ไปด้วยความเร็วสูงถึง 1/5 ของความเร็วแสง นั่นคือ ประมาณ 6,000 กิโลเมตร/วินาที

ด้วยความเร็วนี้ ยานจะเดินทางถึง Proxima Centauri โดยใช้เวลา 20 ปี

อุปสรรคที่สำคัญของโครงการนี้ คือ การสร้างเลเซอร์ที่มีพลังงานสูง ซึ่งเรายังทำไม่ได้ แต่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้ ด้วยงบประมาณ 35,000 ล้านบาท และการออกแบบยาน nanocraft ให้สามารถรับแสงเลเซอร์ดังกล่าวได้อย่างลงตัว ยานอาจจะหมุนรอบตัวเองจนอาจจะแตกสลาย ดังนั้นการออกแบบยานจะต้องกระทำอย่างระมัดระวัง และบรรยากาศจะต้องไม่ถูกแสงเลเซอร์ทำลาย เพราะโมเลกุลของอากาศจะแตกตัวอย่างรุนแรง เวลาแสงเลเซอร์พลังงานสูงพุ่งผ่าน ในส่วนของเครื่องรับสัญญาณภาพจากยาน หลังจากที่ยาน nanocraft ถ่ายภาพได้แล้ว Milner คาดหวังจะให้ องค์การสหประชาชาติ , NASA , CERN หรือ ESA (European Space Agency) เข้ามาสนับสนุนในการสร้างสถานีรับภาพต่อไป ซึ่งจะต้องมีประสิทธิภาพสูงมาก เพราะสัญญาณภาพที่ส่งมาจะมีความเข้มต่ำมาก จากการที่ต้องเดินทางไกลมากจึงจะถึงโลก

เมื่อการเดินทางไปต่างดาวมีอุปสรรคที่ต้องก้าวข้ามมากเช่นนี้ การพิจารณาสถานการณ์กลับกันคงทำให้เราคิดได้ว่า มนุษย์ต่างดาวที่จะมาเยือนโลกเราก็ต้องประสบปัญหามากเช่นกัน

ในวารสาร The Astrophysical Sound and Implications for Space Weather ฉบับที่ 905 ประจำวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ. 2020 Andrew Zic ในสังกัดมหาวิทยาลัย Sydney ประเทศออสเตรเลียกับคณะ ซึ่งได้ติดตามดูดาว Proxima Centauri ทั้งระบบเป็นเวลา 11 วัน ด้วยกล้องโทรทรรศน์วิทยุของโครงการ Commonwealth Scientific and Industrial Research Organisation (CSIRO) และกล้อง Australian Square Kilometre Array Pathfinder (ASKAP) ร่วมกับดาวเทียม Transiting Exoplanet Survey Satellite (TESS) ของ NASA ได้รายงานการเห็นปรากฏการณ์ปลดปล่อยมวลโคโรนาขนาดมหาศาล (Coronal Mass Ejection , CME) จากผิวดาวฤกษ์ Proxima Centauri ออกสู่อวกาศ CME ที่รุนแรงนี้ ได้เคลื่อนที่เข้าหาดาวเคราะห์บริวาร ซึ่งมีผลทำให้บรรยากาศที่ห่อหุ้มดาวเคราะห์ 2 ดวง อาจถูกกำจัดไป จนดาวเคราะห์ดวงนั้นไม่มีบรรยากาศหลงเหลืออยู่อีกเลย และนั่นก็หมายความว่า โอกาสที่มนุษย์จะพบสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์บริวารของ Proxima Centauri ก็จะมีค่าเป็นศูนย์


เหตุการณ์ CME บน Proxima Centauri นี้ นับเป็นครั้งแรกที่ปรากฏบนดาวฤกษ์ที่อยู่นอกระบบสุริยะ นับจากครั้งแรกที่ Richard Carrington ได้เห็นเหตุการณ์ CME เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์ของเราเมื่อปี 1859

แต่นักวิจัยส่วนใหญ่ก็ยังไม่ยอมรับข้อสรุปของ Zic อย่างสมบูรณ์ เพราะยังเชื่อตามคำสอนของ Aristotle ที่ว่า One swallow does not make a summer. One happy day does not make a happy life. นั่นคือ การระเบิด CME เพียงครั้งเดียว แล้วทำให้สิ่งมีชีวิต (ถ้ามี) ต้องสูญพันธุ์นั้น คงเป็นไปไม่ได้

แม้ว่าการเดินทางด้วยจรวดที่ใช้เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ยังไม่เป็นเรื่องจริง แต่ความฝันของนักฟิสิกส์ก็ยังไม่หยุดนิ่ง

Erik Lentz จากมหาวิทยาลัย Göttingen ในประเทศเยอรมนี ได้ใฝ่ฝันจะสร้างยานที่มีความเร็วกว่าแสง ซึ่งจะใช้เดินทางไป Proxima Centauri โดยใช้เวลาน้อยกว่า 4 ปี ในขณะที่ถ้าใช้ยาน ที่ขับเคลื่อนโดยพลังงานนิวเคลียร์ อาจต้องใช้เวลาเดินทางนาน 100 ปี และยานธรรมดาต้องใช้เวลาตั้งแต่ 50,000 -70,000 ปี

ทั้ง ๆ ที่ถ้าจะว่ากันตามทฤษฎีของ Einstein แล้ว มันเป็นเรื่องที่ไม่มีใครสามารถจะทำได้ แต่ Lentz ก็คิดว่า ถ้ามีใครสามารถสร้างพลังงานที่มีความหนาแน่นน้อยกว่าพลังงานสุญญากาศได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ในระบบควอนตัมที่พลังงานมีค่าติดลบ เช่น มวลมีค่าเป็นลบ (negative mass) ดังนั้นมวลลบ 2 มวลจะดึงดูดกัน แต่มวลลบกับมวลบวก 2 มวลจะผลักกัน

พลังงานลบนี้ สามารถนำมาใช้ขับเคลื่อนยาน Alcubierre ซึ่งจะย่นระยะทางข้างหน้า และยืดระยะทางข้างหลังของยาน ตามความคิดของ Miguel Alcubierre ซึ่งได้คำนวณโดยใช้ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของ Einstein ดังนั้นการขับเคลื่อนยาน ให้เคลื่อนที่ผ่านอวกาศโดยการย่นและยืดระยะทางนี้ ไม่ได้ทำให้กฎฟิสิกส์ต่าง ๆ ผิดหรือใช้ไม่ได้แต่อย่างใด

ปัญหาของเรื่องนี้คือ ในการสร้างพลังงานที่มีความหนาแน่นเป็นลบนั้น อาจต้องใช้ dark matter และ dark energy ซึ่งในปัจจุบันนี้ยังไม่มีใครพบ หรือรู้ธรรมชาติที่แท้จริงของมัน กระนั้นนักฟิสิกส์หลายคนก็คิดว่ายานอวกาศของ Miguel Alcubierre ยังไม่มีใครสามารถทำให้เป็นจริงได้ เพราะผู้สร้างทฤษฎียังไม่ได้พิจารณาเรื่องผลกระทบของ quantum gravity ดังนั้นความคิดเห็นนี้จึงต้องคอยการพิสูจน์อีกเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติมจาก “Stephen Hawking and a Russian Billionaire Want to Build an Interstellar Starship” โดย M. Stone ใน Gizmodo (2016)


สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์
กำลังโหลดความคิดเห็น