xs
xsm
sm
md
lg

ความสำคัญของเหตุการณ์ดาวศุกร์โคจรผ่านหน้าดวงอาทิตย์ในอดีต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เหตุการณ์ที่มีโลก ดาวเคราะห์ ดวงอาทิตย์ อยู่เรียงกันเป็นเส้นตรงในบางเวลา เป็นปรากฎการณ์ที่ผู้คนในสมัยโบราณตื่นเต้นมาก ซึ่งดาวเคราะห์ดังกล่าว ได้แก่ ดาวพุธและดาวศุกร์ เพราะดาวทั้งสองดวงโคจรใกล้ดวงอาทิตย์ยิ่งกว่าโลก แต่การบดบังดวงอาทิตย์ในทั้งสองกรณีไม่ได้ทำให้ผู้คนในอดีตว้าวุ่นหรือตกใจกลัวมากเหมือนกรณีสุริยคราส เพราะท้องฟ้ามิได้มืดมัวไปหมดเหมือนในกรณีดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์

ดาวศุกร์ซึ่งมีขนาดใหญ่พอๆ กับโลก และรองรับมุมประมาณ 1/60 องศา เวลาดูด้วยตาเปล่าจากโลก เป็นดาวที่มีความสำคัญมากดวงหนึ่งในประวัติดาราศาสตร์ ที่สามารถเห็นได้ในตอนเช้ามืดหรือหัวค่ำว่าสุกใสและสว่างรองจากดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ดังนั้นจึงมีชื่อเรียกทั่วไปว่า ดาวประกายพรึกหรือดาวประจำเมือง

ในอดีตเมื่อ 3,600 ปีก่อน ชาวเมือง Nineveh (แห่งอาณาจักร Assyria ใน Mesopotamia) อันเป็นเมืองที่อยู่ใกล้เมือง Mosul ในประเทศอิรักปัจจุบัน ได้เคยบันทึกการเห็นดาวศุกร์ลงในแผ่นดินเหนียวอักษรลิ่ม (cuneiform) ซึ่งทุกวันนี้ถูกเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ British Museum ในประเทศอังกฤษ และนับจากเวลานั้น จนกระทั่งถึงเวลานี้ นักดาราศาสตร์ได้คำนวณพบว่า ดาวศุกร์ได้โคจรเข้ามาอยู่ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์รวม 47 ครั้งแล้ว เหตุการณ์บดบังมิได้เกิดขึ้นบ่อย เพราะวงโคจรของโลกกับของดาวศุกร์มิได้อยู่ในระนาบเดียวกัน

Johannes Kepler เป็นนักดาราศาสตร์ชาวเยอรมันที่มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะผู้พบกฎการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ ซึ่งเมื่อ 7 ปีก่อนจะเสียชีวิตในปี 1630 ได้คำนวณพบว่า เหตุการณ์ดาวศุกร์บดบังดวงอาทิตย์จะเกิดขึ้นในวันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 1630 แต่ในช่วงเวลานั้นไม่มีนักดาราศาสตร์ยุโรปคนใดได้เห็น เพราะยุโรปมีสงครามสามสิบปีที่กำลังดำเนินอยู่ (1618-1648) ระหว่างฝ่าย Catholic กับฝ่าย Protestant แต่ก็มีนักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสเพียงคนเดียว คือ Pierre Gassendi ซึ่งได้พยายามติดตามดู โดยใช้กล้องดูดาวที่ Paris แต่ไม่เห็น เพราะตำแหน่งที่ Gassendi พยายามดู อยู่นอกบริเวณที่สามารถเห็นเหตุการณ์ได้

อีก 8 ปีต่อมา คือในปี 1639 ก็ไม่มีใครเห็นเหตุการณ์ดาวศุกร์บดบังดวงอาทิตย์อีก เพราะ Kepler พยากรณ์ผิด แต่ Jeremiah Horrocks ซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์หนุ่มชาวอังกฤษกับเพื่อนชื่อ William Crabtree ไหวตัวทัน เพราะเมื่อไม่นานก่อนจะเกิดเหตุการณ์จริง ได้เชื่อในผลการคำนวณของ Edmond Halley ซึ่งได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Oxford และก่อนสำเร็จการศึกษา Halley ได้เดินทางไปทำแผนที่อย่างละเอียดของดาวบนฟ้าในซีกโลกใต้ ที่เกาะ St. Helena ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของมหาสมุทร Atlantic และเป็นสถานที่ๆ จักรพรรดิ Napoleon Bonaparte ถูกเนรเทศมาพำนัก Horrocks และ Crabtree จึงเป็นนักดาราศาสตร์เพียงสองคนที่ได้เห็นเหตุการณ์

เพราะ Halley ตระหนักว่า ถ้ามีคนสองคน ซึ่งต่างก็สังเกตเหตุการณ์ดาวศุกร์บดบังดวงอาทิตย์พร้อมกัน จากสถานที่สองแห่งบนโลก การอยู่ ณ ตำแหน่งที่อยู่บนเส้นรุ้งต่างกัน แล้วจับเวลาการโคจรเข้าบดบัง ตั้งแต่ต้นจนกระทั่งสิ้นสุด จะเห็นวิถีโคจรของดาวศุกร์ตัดหน้าดวงอาทิตย์เป็นเส้นคอร์ด (chord) 2 เส้น ที่แตกต่างกัน การรู้กฎการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์รอบดวงอาทิตย์ของ Kepler และการรู้ระยะทางระหว่างผู้สังเกตทั้งสองคนบนโลก รวมถึงการรู้เวลาทั้งหมดที่เกิดเหตุการณ์ สามารถช่วยนักดาราศาสตร์ให้คำนวณระยะทางระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ได้อย่างผิดพลาดไม่เกิน 0.2%

ข้อเสนอ Halley ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงจากการพบว่า Halley เป็นดาวหางบริวารดวงหนึ่งของสุริยจักรวาล ได้ทำให้นักดาราศาสตร์ทุกคนในเวลานั้น ต้องการจะวัดระยะทางให้ได้อย่างแม่นยำที่สุด (คงเหมือนกับความพยายามตรวจรับคลื่นโน้มถ่วง ในทุกวันนี้) เพราะ ณ เวลานั้น มนุษย์รู้เพียงเส้นผ่านศูนย์กลางของโลกเท่านั้นเอง ดังนั้นการรู้ระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์ จะเป็นการเพิ่มความรู้เกี่ยวกับขนาดของระบบสุริยะเป็นครั้งแรก


ดังนั้นในปี 1639 นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อ Jeremiah Horrocks จึงได้สังเกต วัด และคำนวณระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์ และพบว่า มีค่าประมาณ 4 เท่าของระยะทางที่นักดาราศาสตร์ในอดีตเคยคำนวณไว้ ความสำเร็จนี้ ได้ชักนำให้สมาคม Royal Society ของอังกฤษจัดทำแผ่นโลหะเพื่อจารึกความยิ่งใหญ่ของ Horrocks โดยได้นำไปติดตั้งในมหาวิหาร Westminster ด้าน Sir John Herschel ซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์แห่งราชสำนักผู้พบดาวเคราะห์ Uranus ในปี 1781 ก็ได้กล่าวยกย่อง Horrocks ว่า เป็นความภาคภูมิใจของนักดาราศาสตร์อังกฤษทุกคน แต่คำยกย่องที่มีความหมายและมีค่ามากที่สุดสำหรับ Horrocks มาจาก Sir Isaac Newton ผู้พบกฎแรงโน้มถ่วง ซึ่งได้อ้างถึงผลงานที่ Horrocks ทำในตำรา Philosophiae Naturalis Principia Mathematica ที่ Newton เขียน

Horrocks เกิดเมื่อปี 1618 (รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม) เมื่ออายุ 14 ปี ได้ไปศึกษาที่มหาวิทยาลัย Cambridge ขณะเรียนที่นั่น Horrocks รักและคลั่งไคล้วิชาดาราศาสตร์มาก จนถึงกับลงทุนซื้อตำราดาราศาสตร์มาอ่านเอง เพราะรู้สึกว่าอาจารย์ที่สอนดาราศาสตร์ นอกจากจะสอนช้าแล้ว ยังสอนน้อยด้วย

เมื่อ Horrocks สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ได้ทำงานอดิเรกเป็นนักดาราศาสตร์สมัครเล่น และใช้เวลาสังเกตดูดาวเคราะห์ในวันหยุดสุดสัปดาห์ ด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่สร้างเอง แล้วนำข้อมูลที่ได้ไปเปรียบเทียบกับข้อมูลของนักดาราศาสตร์ชาวเนเธอร์แลนด์ชื่อ Philippe van Lansberge (1561-1632) ซึ่งคนทุกคนในสมัยนั้นอ้างว่าเป็นข้อมูลดาราศาสตร์ที่สมบูรณ์ที่สุด แต่ Horrocks กลับพบว่า ตัวเลขของเขาไม่สอดคล้องกับข้อมูลของ Lansberge เลย จึงปรารภกับเพื่อนว่า คงเป็นเพราะตนมีความสามารถทางดาราศาสตร์ค่อนข้างน้อย แต่เมื่อได้เปรียบเทียบข้อมูลของตนกับของเพื่อนชื่อ William Crabtree ก็พบว่า ข้อมูลของคนทั้งสองใกล้เคียงกัน นั่นแสดงว่า ข้อมูลดาราศาสตร์ของ Lansberge ผิด Horrocks จึงเปลี่ยนไปใช้ข้อมูลดาราศาสตร์ในตาราง Rudolphine Tables ของ Johannes Kepler แทน และพบว่าข้อมูลที่ตนวัดได้สอดคล้องกับค่าที่ Kepler วัดได้เป็นอย่างดี Horrocks จึงรู้สึกศรัทธาและชื่นชม Kepler มาก

ในปี 1629 ก่อนเสียชีวิตเพียงเล็กน้อย Kepler ได้ขอให้นักดาราศาสตร์ทั่วโลกพยายามติดตามสังเกตวิถีโคจรของดาวพุธ และดาวศุกร์ขณะเคลื่อนที่ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ซึ่ง Kepler ได้ทำนายไว้ว่า จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน และธันวาคมของปี 1631 ตามลำดับ แต่เมื่อถึงเวลาดังกล่าว นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส Pierre Gassendi กลับเห็นดาวพุธโคจรผ่านหน้าดวงอาทิตย์เพียงดวงเดียว และไม่ได้เห็นดาวศุกร์ เหตุการณ์นี้ได้ทำให้วงการดาราศาสตร์เริ่มยอมรับในความประเสริฐของตาราง Rudolphine Tables และยกย่องความเก่งกล้าสามารถของ Kepler (สำหรับกรณีของดาวศุกร์ที่ไม่มีใครเห็นในปี 1631 นั้น เพราะขณะดาวศุกร์โคจรผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ยุโรปกำลังเป็นเวลากลางคืน)

ครั้นเมื่อ Horrocks เปรียบเทียบตารางดาราศาสตร์ของ Kepler กับของ Lansberge เขาก็พบว่า บางข้อมูลของ Kepler ผิดพลาด เพราะเวลาที่ดาวศุกร์โคจรเข้าบดบังดวงอาทิตย์คือวันที่ 4 ธันวาคม ปี 1639 มิใช่ปี 1631 ดังนั้นเมื่อถึงปี 1639 ที่ทุกคนรอคอย Horrocks ก็ได้ติดตามดูด้วย โดยให้แสงอาทิตย์ผ่านเข้าไปในกล้อง แล้วให้ภาพดวงอาทิตย์ตกลงบนฉาก จากนั้นก็เริ่มจับเวลาที่ดาวศุกร์เคลื่อนที่เข้าบดบังดวงอาทิตย์อย่างช้าๆ จนกระทั่งเหตุการณ์ได้ลุล่วงไปอย่างสมบูรณ์ จึงได้บันทึกตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของสถานที่สังเกต แล้วคำนวณจนพบว่า ระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์มีค่า 95 ล้านกิโลเมตร ซึ่งนับว่ามากกว่าระยะทางที่นักดาราศาสตร์ในอดีตได้เคยคำนวณไว้ถึง 4 เท่า (ระยะทางจริงประมาณ 150 ล้านกิโลเมตร)
ในวันที่ 3 มกราคม ปี 1641 Horrocks วัย 22 ปี ได้ล้มป่วย และจากไปโดยไม่ได้ทิ้งหลักฐานที่แสดงสาเหตุการเสียชีวิต จวบจนวันนี้ งานเขียนและงานวิจัยส่วนใหญ่ของ Horrocks ได้สาบสูญไปเกือบหมดแล้ว จะเหลือก็แต่เพียงส่วนน้อยให้โลกได้เห็น และได้พบด้วยความบังเอิญที่มีนักดาราศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ Johannes Hevelius ซึ่งเมื่อได้อ่านผลงานของ Horrocks แล้วได้นำผลงานไปตีพิมพ์เผยแพร่ในปี 1662 เหตุการณ์นี้ทำให้สมาคม Royal Society ของอังกฤษได้เข้ามาติดต่อขอซื้อต้นฉบับผลงานทั้งหมดของHorrocks เพื่อนำไปเผยแพร่ในปี 1672 ซึ่งก็เป็นเวลา 30 ปี หลังจากที่ Horrocks ได้เสียชีวิตไปแล้ว

การวิเคราะห์เอกสารที่ Horrocks เรียบเรียงแสดงให้เห็นว่า Horrocks ได้ติดตามดูเหตุการณ์ดาวศุกร์เคลื่อนที่บดบังดวงอาทิตย์ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ปี 1639 ณ คฤหาสน์ Carr House ในเมือง Much Houle ในแคว้น Lancashire สถานที่สังเกตตั้งอยู่ ณ ตำแหน่งที่เส้นรุ้ง 530 41’ 11” N ตัดกับเส้นแวง 28W เหตุการณ์บดบังได้เริ่มต้นเมื่อเวลา 14.57 นาฬิกา และสิ้นสุดเมื่อเวลา 21.54 นาฬิกา โดย Horrocks ได้สังเกตเหตุการณ์นี้ ด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่มีเลนส์เส้นผ่านศูนย์กลางยาว 4 เซนติเมตร


Halley อ้างว่า เทคนิคที่เขาคิดให้ข้อมูลระยะทางผิดพลาดไม่เกิน 0.2% แต่ในความเป็นจริงเทคนิคนี้มีข้อบกพร่องมากมาย เช่น มีความไม่แน่นอนในการจับเวลา ตั้งแต่วินาทีแรกที่ดาวศุกร์เคลื่อนที่เข้าหาดวงอาทิตย์ เพราะผู้สังเกตต้องเริ่มจับเวลาตั้งแต่เมื่อขอบที่ไม่คมชัดของดาวศุกร์สัมผัสกับขอบที่ไม่คมชัดเช่นกันของดวงอาทิตย์ จนกระทั่งการบดบังสิ้นสุด เป็นเรื่องที่ทำให้แม่นยำได้ยาก เพราะทั้งกล้องและนาฬิกามีคุณภาพไม่ดีนัก นอกจากนี้การระบุตำแหน่งเส้นรุ้งและเส้นแวงที่ผู้สังเกตอยู่ก็ไม่ละเอียด ดังนั้นความผิดพลาดเหล่านี้จึงทำให้วิธีที่ Halley ใช้ มิใช่เทคนิคการวัดระยะทางที่ดีที่สุด

ไม่เพียงแต่เทคนิคการวัดเวลาและระยะทางเท่านั้นที่มีปัญหา การเดินทางของนักดาราศาสตร์ไปสังเกตการณ์ในต่างแดนก็ใช่ว่าจะทำได้อย่างปลอดภัยและราบรื่น เพราะการเดินทางไปยังบางสถานที่ต้องใช้เรือ ซึ่งอาจประสบอุบัติเหตุอับปาง หรือถูกโจรสลัดปล้น แต่เมื่อรัฐบาลทุกชาติได้ให้คำรับรองด้านความปลอดภัย สมาคมดาราศาสตร์นานาชาติจึงประกาศเชิญชวนให้นักดาราศาสตร์ทั่วโลกเดินทางไปสังเกตแหตุการณ์ตามคำขอร้องของ Halley

เพราะเหตุการณ์ดาวศุกร์บดบังดวงอาทิตย์ ได้เกิดขึ้นอีกในปี 1761 และ 1769 ซึ่งก่อนจะถึงเวลานั้น Halley รู้ดีว่าเขาไม่มีโอกาสจะได้เห็นเหตุการณ์นั้นอีก และได้เสียชีวิตตั้งแต่ปี 1742 แต่ก่อนจะถึงวันสำคัญ คือวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1761 วงการดาราศาสตร์ก็ได้ตระเตรียมงานกันอย่างจริงจัง เช่น Joseph – Nicolas Delisle ได้จัดทำแผนที่ๆ แสดงตำแหน่งของสถานที่ต่างๆ บนโลกที่นักดาราศาสตร์สามารถเห็นเหตุการณ์ได้ดี Abbe Jean-Baptiste Chappe d'Auteroche ได้เดินทางไปไซบีเรียของรัสเซีย เพื่อดูเหตุการณ์ Guillaume - Joseph - Hyacinthe – Jean - Baptiste Le Gentil de la Galaisière ได้เดินทางไปดูเหตุการณ์ที่อินเดีย ส่วน Alexandre – Gui Peng ได้ไปดูที่เกาะ Rodriguez ซึ่งอยูใกล้เกาะ Madagascar ด้านวงการดาราศาสตร์ของอังกฤษก็มีหัวหน้าทีมชื่อ Nevil Maskelyne ซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์แห่งราชสำนัก ได้ไปติดตามไปดูที่เกาะ St. Helena และให้ Charles Mason ไปดูที่เกาะ Sumatra

แต่เมื่อถึงปี 1761 สงครามระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสได้บังเกิดขึ้นอีก Mason จึงเดินทางไปไกลเพียงเมือง Cape Town ในประเทศแอฟริกาใต้เท่านั้นเอง และที่ St. Helena ท้องฟ้าก็มีเมฆปกคลุมมาก ทำให้ Maskelyne ได้เห็นเหตุการณ์ในช่วงเวลาเพียงสั้นๆ จึงไม่มีประโยชน์ใดๆ

สำหรับทีมนักดาราศาสตร์ฝรั่งเศสภายใต้การนำของ Le Gentil เรือสำรวจของเขาได้ถูกพายุพัดจนเรือหลงทาง และเมื่อถึงวันสำคัญ ท้องฟ้ากลับใส จน Le Gentil สามารถเห็นเหตุการณ์ได้โดยตลอด แต่วัดอะไรไม่ได้มาก เพราะเรือโคลงเคลงตลอดเวลา

แม้ดินฟ้าอากาศไม่เป็นใจ และการสำรวจได้ถูกรบกวนโดยสงคราม แต่ Mikhail Lomonosov ปราชญ์ชาวรัสเซีย ซึ่งเฝ้าดูเหตุการณ์ที่เมือง St. Petersburg ก็ได้เห็นว่า ที่ขอบของดาวศุกร์ก่อนจะเคลื่อนที่เข้าบดบังดวงอาทิตย์ และก่อนจะออกจากการบดบัง มีลักษณะมัวๆ คือ ขอบมิได้มีความคมชัด จึงคิดว่า ดาวศุกร์คงมีบรรยากาศเหมือนโลก แต่ Lomonosov มิได้ตีพิมพ์เผยแพร่ความคิดนี้ จนอีกหลายปีต่อมา เมื่อ William Herschel ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์สังเกตดูดาวศุกร์จากโลก และเห็นบรรยากาศของดาวศุกร์เป็นคนแรก


โดยสรุปเหตุการณ์ปี 1761 ได้ช่วยให้นักดาราศาสตร์รู้ระยะทางระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ดีขึ้น แต่ไม่ได้มาก แม้จะมีทีมสังเกตการณ์ร่วม 60 ทีมก็ตาม กระนั้นการสังเกตเหตุการณ์โลก ดาวศุกร์ ดวงอาทิตย์ ที่ได้โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกันในปี 1761 จึงเป็นเสมือนการซ้อมใหญ่สำหรับการเกิดเหตุการณ์นี้อีกครั้งหนึ่งในวันที่ 3-4 มิถุนายน ปี 1769 ซึ่งเป็นเวลาที่ยุโรปกำลังสงบและมีสันติภาพ ประเทศอังกฤษมีสมเด็จพระเจ้า George ที่ 3 ทรงปกครอง และมี William Pitt เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนฝรั่งเศสก็มีพระเจ้า Louise ที่ 15 เป็นกษัตริย์

ทางอังกฤษได้ส่งทีมสังเกตุการณ์ไปที่ Prince of Wales Fort ในแคนาดา และส่ง James Cook นำเรือสำรวจ Endeavour เดินทางไปที่เกาะ Tahiti ในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีนักพฤกษศาสตร์ชื่อ Joseph Banks เดินทางไปด้วย ด้านสมาคมดาราศาสตร์ฝรั่งเศสก็ได้ส่ง Joseph Jerome Lefrancois de Lalande ซึ่งเป็นนักเขียนและนักดาราศาสตร์ไปที่เกาะ Haiti ในมหาสมุทรแปซิฟิก และส่ง Le Gentil de la Galaisiere ซึ่งได้พบเนบิวลาจำนวนมากมาย ไปดูเหตุการณ์ที่เมือง Pondicherry ในประเทศอินเดีย แต่โชคไม่ดี เพราะท้องฟ้าที่นั่นมีเมฆหนาทึบ แม้แต่กษัตริย์หลายพระองค์ก็ทรงสนพระทัยเรื่องนี้ เช่น สมเด็จพระเจ้า George ที่ 3 แห่งราชอาณาจักรอังกฤษได้เสด็จไปทอดพระเนตรเหตุการณ์ที่สวนพฤกษศาสตร์ Kew ในประเทศอังกฤษ สมเด็จพระจักรพรรดินี Catherine มหาราชแห่งรัสเซียทรงโปรดให้นักบวชและนักดาราศาสตร์ชาวเชคโกสโลวาเกียชื่อ Christian Mayer ถวายรายงานเหตุการณ์โดยตลอด ในอเมริกา Benjamin Franklin ได้ติดตามดูที่เมือง Philadelphia ร่วมกับนักดาราศาสตร์อเมริกันชื่อ David Rittenhouse เหตุการณ์ปี 1769 เป็นเหตุการณ์ดาวศุกร์บดบังดวงอาทิตย์เป็นครั้งสุดท้ายที่เกิดในคริสต์ศตวรรษที่ 18

สำหรับนักดาราศาสตร์ที่ได้ไปสังเกตเหตุการณ์ในปี 1761 หลายคนได้ประสบชะตาชีวิตในรูปแบบต่างๆ กัน เช่น Le Gentil หลังจากที่หลงทาง ได้ใช้เวลาร่วม 10 ปี ในการเดินทางกลับและรวบรวมข้อมูล เมื่อกลับถึงบ้าน ก็พบว่า ครอบครัวได้พากันคิดว่าเขาเสียชีวิตไปแล้ว จึงจัดการแบ่งมรดก แต่เมื่อเขายังไม่ตาย และยังมีสมบัติเหลือ Le Gentil จึงได้แต่งงานใหม่ และเสียชีวิตในปี 1792 ซึ่งนับว่าเป็นโชคดีที่ไม่ถูกกิโยตินบั่นคอ เพราะตนเป็นขุนนาง (gentil แปลว่า ขุนนาง) ในสมเด็จพระเจ้า Louis ที่ 16

ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 การตรวจสอบและการวัดระยะทางก็เริ่มกระทำกันอีก ในปี 1824 โดย Johann Franz Encke ผู้พบดาวหาง Encke และเป็นผู้อำนวยการแห่งหอดูดาวที่ Berlin ได้ทบทวนการวัดระยะทางที่นักดาราศาสตร์ในอดีตได้เคยทำไว้ โดยใช้วิธี parallax และวัดระยะทาง 1 A.U. ได้ว่ามีค่าเท่ากับ 153,340,000 กิโลเมตร ซึ่งใกล้เคียงค่าที่ยอมรับในปัจจุบัน คือ 149,605,708 ± 11,835 กิโลเมตร (ค่าผิดพลาดเกิดจากการที่วงโคจรของโลกมิได้เป็นวงกลม แต่เป็นวงรี ดังนั้นระยะทางจึงไกลบ้างและใกล้บ้าง)

สำหรับคนที่พลาดโอกาสการเห็นดาวศุกร์โคจรตัดหน้าดวงอาทิตย์เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ปี 2004 และวันที่ 5-6 มิถุนายน ปี 2012 ก็จะต้องคอยจนถึงในศตวรรษต่อไป เพราะเหตุการณ์จะเกิดในวันที่ 10-11 ธันวาคม ค.ศ. 2117 กับวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 2125 คืออีก 98 ปี และ 106 ปี ตามลำดับ และจะใช้เวลา 5 ชั่วโมง 40 นาที และ 5 ชั่วโมง 33 นาที ตามลำดับ สำหรับเหตุการณ์ปี 2117 นั้น นักดาราศาสตร์จะสามารถเห็นได้ในจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ไทย อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ส่วนเหตุการณ์ในปี 2125 จะสามารถเห็นได้ในอเมริกาใต้ ทางด้านตะวันออกของทวีปอเมริกา ยุโรป และแอฟริกา

สำหรับในอนาคตที่ไกลยิ่งกว่านั้น เหตุการณ์จะเกิดในวันที่ 11 มิถุนายน ปี 2247, วันที่ 9 มิถุนายน ปี 2255, วันที่ 12-13 ธันวาคม ปี 2360, 10 ธันวาคม ปี 2368, 12 มิถุนายน ปี 2490 และ 10 มิถุนายน ปี 2498

อ่านเพิ่มเติมจาก Transit: When Planets Cross the Sun: Practical Astronomy Series บรรณาธิการ คือ M. Maunder และ P. Moore จัดพิมพ์โดย Springer ที่ Berlin ในปี 1999


สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์
กำลังโหลดความคิดเห็น