xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนจากการทำเหมืองทองคำในประเทศเปรู

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทุกวันนี้ชาวเปรูที่ยากจนและไร้การศึกษาเวลาหางานดีๆ ทำไม่ได้ และต้องการจะหลุดพ้นจากความลำบาก พวกเขามักเดินทางไปทำงานที่เมือง La Rinconada ซึ่งตั้งอยู่บนเทือกเขา Andes ในประเทศเปรู ในทวีปอเมริกาใต้ โดยมีความมุ่งหวังเหมือนๆ กันว่า จะขุดหาทรัพย์สมบัติที่ฝังอยู่ใต้ดิน หรือในภูเขา มหาสมบัติที่ว่านี้ คือ ทองคำ ซึ่งถ้าขุดได้เป็นกอบเป็นกำ วิถีชีวิตก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีทันที

เมือง La Rinconada ตั้งอยู่ ณ ตำแหน่งที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 5,000 เมตร จึงเป็นเมืองที่อยู่สูงที่สุดเมืองหนึ่งของโลก อีกทั้งมีอุณหภูมิที่เย็นจัดตลอดปี มีลมพัดรุนแรง และบรรยากาศมีแก๊สออกซิเจนในปริมาณน้อยคือเพียง 40% ของที่ระดับน้ำทะเล ดังนั้นชาวเมืองจึงมีปัญหาในการหายใจ เพราะร่างกายที่ขาดแคลนแก๊สออกซิเจน จะทำให้เกิดอาการวิงเวียน เพราะปอดต้องทำงานหนักจากการที่ต้องหายใจเร็วและลึก เพื่อให้ร่างกายได้ออกซิเจนอย่างพอเพียง แม้ความยากลำบากจะมากสักปานใด แต่พลเมืองของเมือง La Rinconada ก็มีมากถึง 35,000 คน

นอกเหนือจากการมีปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อสุขภาพในเชิงลบแล้ว ปัญหาร้ายแรงที่สุดที่ทำให้ประชากรในเมืองต้องทนทุกข์ทรมานมาเป็นเวลานาน คือ บรรยากาศของเมืองมีไอปรอทแทรกซึมไปทั่วและมากในปริมาณที่เป็นอันตรายต่อชีวิต ไม่เพียงแต่อากาศเท่านั้นที่เป็นภัย สิ่งแวดล้อมต่างๆ ทั้งในเมืองและนอกเมือง อันได้แก่ ส่วนที่เป็นดินและน้ำก็มีไอปรอทที่เป็นพิษเช่นกัน

ปรอทดังกล่าวเป็นสิ่งที่ได้มาจากการทำอุตสาหกรรมเหมืองทองคำใน La Rinconada เองและจากที่อื่นๆ อีกหลายแห่งในประเทศเปรู เพราะชาวเหมืองนิยมใช้ปรอทในการแยกเกล็ดและละอองทองคำออกจากแร่ใต้ดินและในภูเขา ตลอดเวลาที่ผ่านมาเป็นเวลานานร่วม 80 ปี

เปรูเป็นประเทศที่ผลิตทองคำได้มากเป็นอันดับ 6 ของโลก รองจากจีน รัสเซีย ออสเตรเลีย อเมริกาและแคนาดา และส่งทองคำเป็นสินค้าออกที่นำเงินเข้าประเทศในลำดับต้นๆ ประมาณ 20% ของทองคำที่ขุดได้ เป็นผลผลิตที่ได้จากการทำเหมืองอย่างผิดกฎหมาย (คือลอบทำ) และได้ใช้เทคโนโลยีการขุดที่ทำลายป่า ทำร้ายสิ่งแวดล้อม และทำให้น้ำในแม่น้ำสกปรกเป็นพิษ นอกจากนี้เวลาเจ้าของเหมืองขุดทองคำได้แล้ว หลายคนมักนำไปขายเอกชนโดยหลีกเลี่ยงไม่จ่ายภาษีให้รัฐบาล และเจ้าของเหมืองส่วนใหญ่ก็มักไม่ได้ประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองอย่างจริงจังและต่อเนื่อง อีกทั้งไม่เคยรายงานให้รัฐบาลและสังคมรู้ว่า เมื่อโครงการเหมืองสิ้นสุดแล้ว ทางบริษัทเหมืองได้หรือจัดการกับสถานที่ขุดอย่างไรต่อไปในอนาคต ดังนั้นสิ่งที่ทุกคนมักจะพบเห็นในบริเวณเหมือง หลังจากที่โครงการขุดสิ้นสุดคือ เป็นบริเวณที่มีแต่ต้นไม้ที่ตายแล้ว มีสระและแม่น้ำที่น้ำที่ปนเปื้อนด้วยสิ่งสกปรกและเป็นพิษ


เมือง La Rinconada เป็นแหล่งที่ชาวเหมืองใช้ปรอทในการถลุงทองคำมากที่สุดในเปรู และได้ปล่อยไอปรอทออกมาสู่สิ่งแวดล้อม ในปริมาณมากกว่าปรอทที่ถูกปล่อยออกมาจากการเผาถ่านหินทั้งโลก จนอาจมีผลทำให้คนจำนวนนับล้านได้รับปรอทพิษเข้าร่างกาย และสิ่งแวดล้อมก็มีสารพิษด้วย ซึ่งจะต้องใช้เวลานานมากในการกำจัด

แม้ทุกคนจะรู้ว่าปรอทมีพิษ แต่การจะห้ามชาวเหมืองที่ยากจน และบริษัทที่ร่ำรวยไม่ให้ใช้ปรอทเพื่อถลุงทองคำนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนรู้ว่า ถ้าขุดทองได้มาก ก็จะร่ำรวยมาก จึงใช้ปรอทมาก และถ้าจะห้ามไม่ให้มีการใช้ปรอท ทางรัฐบาลก็ไม่มีเทคโนโลยีใหม่ให้ใช้แทน และทุกคนก็จะยากจนเหมือนเดิม

สำหรับเหตุผลที่ชาวเหมืองนิยมใช้ปรอทในการสกัดแยกทองคำออกมาจากหินหรือแร่นั้น เพราะปรอทมีสมบัติเสมือนเป็นฟองน้ำที่สามารถดูดซับเกล็ดหรือละอองทองคำเข้าตัวมันได้ดี จนกลายเป็นก้อนโลหะผสม (amalgam) ที่ประกอบด้วยปรอทกับทองคำ จากนั้นชาวเหมืองก็จะเอาก้อนโลหะผสมไปเผาไฟในที่โล่ง ซึ่งจะทำให้ปรอทระเหิดเป็นไอลอยไปในอากาศก่อน เหลือแต่เกล็ดเล็กๆ ของทองคำบริสุทธิ์ สำหรับเศษปรอทที่เหลือๆ จากการเผาก็มักถูกกำจัด โดยการเททิ้งไปบนดิน ซึ่งก็จะทำให้ดินเป็นพิษจึงไม่เหมาะสำหรับการทำเกษตรกรรมดีกเลย

การเผาโลหะผสมในลักษณะนี้จึงมีบทบาทมากในการทำให้อากาศในเมืองมีมลพิษ เพราะไอปรอทจะซึมซับเข้าในร่างกายทางปอดเวลาหายใจ หรือไอปรอทจะละลายไปในน้ำตามลำธารหรือแม่น้ำ ซึ่งจะทำให้น้ำมีพิษ จากนั้นแบคทีเรียที่มีในน้ำก็จะเปลี่ยนปรอท ซึ่งเป็นสารอนินทรีย์ให้เป็นสารประกอบอินทรีย์ methylmercury ให้สิ่งมีชีวิต เช่น phytoplankton และปลาได้กินเป็นอาหาร ด้วยเหตุนี้เวลาชาวบ้านบริโภคปลาที่มีสารพิษประเภทนี้เข้าไป ปรอทก็จะไปทำลายระบบประสาทและสมองของร่างกาย และในกรณีหญิงมีครรภ์กินสารประกอบของปรอท ทารกในครรภ์ก็อาจมีอาการผิดปกติ พิการ หรือทุพพลภาพได้

การที่ชาวเมือง La Rinconada มีสุขภาพไม่ดีเพราะต้องประสบภาวะอากาศเป็นพิษระดับรุนแรงจนทำให้ทุกครั้งต้องหายใจเอาไอปรอทเข้าเต็มปอด ด้านบรรดาร้านค้าทองคำที่ตั้งอยู่ในเมือง เวลาซื้อทองคำจากชาวเหมืองก็จะจัดการเผาก้อนโลหะผสม (ทองคำกับปรอท) จนร้อน ซึ่งทำให้ปรอทระเหิดกลายเป็นไอออกมาก่อน และทิ้งเม็ดทองคำให้คงค้างอยู่ในกระทะ เพราะร้านทองคำมีนับร้อยร้านและทุกร้านมีเตาเผา ดังนั้นเมืองทั้งเมืองจึงมีแต่ควันพิษ ที่สามารถลอยขึ้นไปในอากาศ รวมกับไอน้ำเป็นเมฆ และสามารถลอยไปไกลๆ แล้วตกลงเป็นฝนพิษ ซึ่งก็จะทำให้สภาพแวดล้อมในที่ห่างไกลเป็นพิษไปด้วย

ทางรัฐบาลเปรูไม่ได้มีข้อมูลหรือสถิติการสำรวจสุขภาพของชาวเมืองว่า มีคนจำนวนมากหรือน้อยเพียงใดที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ เพราะการหาข้อมูลจากบุคคลในสถานที่ห่างไกลเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะชาวเหมืองและชาวเมืองมักไม่ให้ความร่วมมือ และมักมีความระแวงว่าเวลานักวิชาการมาสำรวจถามความคิดเห็น แล้วชาวเหมืองและชาวบ้านก็ให้ข้อมูลไป จากนั้นนักวิทยาศาสตร์อาจใช้ข้อมูลที่ได้กลับมาทำลายเหมืองหรือล้มเลิกอาชีพทำมาหากินของเขาได้ ซึ่งจะมีผลทำให้ครอบครัวเขาต้องอดตาย ดังนั้นการให้ข้อมูลทุกครั้งจึงอาจจะเป็นการกระทำที่ไม่ซื่อสัตย์ 100%

จะอย่างไรก็ตาม สถิติที่ได้แสดงให้เห็นว่า ร้านทองคำ 250 ร้านที่มีในเมือง La Rinconada ล้วนปล่อยไอปรอทออกสู่อากาศ และปล่อยปรอทลงน้ำประมาณ 20 ตัน/ปี จึงนับว่ามากประมาณ 1 ใน 3 ของไอปรอทที่ชาวเปรูทั้งประเทศปล่อยออก แต่ถ้าอ่านรายงานของรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องนี้ จะพบว่าชาวเปรูปล่อยปรอทออกสู่สิ่งแวดล้อมในปริมาณน้อยกว่ามาก ข้อมูลที่แตกต่างกันนี้ แสดงให้เห็นว่า ในการให้ข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่รัฐบาล ชาวเหมืองอาจให้ข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ ถูกต้อง และให้ไปเพราะต้องการความช่วยเหลือ แต่เมื่อทางรัฐบาลได้ข้อมูลไปแล้ว กลับไม่ได้นำกลับมาพัฒนาชุมชนเลย


ในกรณีปรอทเป็นพิษที่เมือง Minamata ในญี่ปุ่นนั้น คนทั้งโลกรู้ดีว่า ปรอทเป็นพิษต่อระบบประสาทของร่างกายเพียงใดและอย่างไร จนทุกคนตระหนักว่าข้อควรแก้ไขสำหรับเรื่องนี้คือ ชาวเหมืองเปรูต้องไม่ใช้ปรอทในการถลุงทองคำ แต่จะให้ใช้อะไรแทน นี่เป็นปัญหาวิจัยที่ยังไม่มีคำตอบ เพราะในอนาคตคือปี 2030 นานาชาติร่วม 50 ประเทศ ได้ร่วมกันลงนามไม่ใช้ปรอทในการดูดซับทองคำแล้ว และสนับสนุนให้ร้านทองคำมีอุปกรณ์กักเก็บไอปรอทที่ออกมาจากการเผา นี่จึงเป็นวิธีหนึ่งที่จะลดภัยที่เกิดจากปรอทพิษได้ แต่ปัญหาต่อไปที่จะตามมาคือ ทุกชาติจะมีวิธีจัดการฝุ่นปรอทที่มีอยู่ในบรรยากาศขณะนี้อย่างไร เพราะฝุ่นจะมีอยู่ต่อไปอีกนานเป็นร้อยปี

ไม่เพียงแต่ชาวเมือง La Rinconada เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบนี้ ชาวเปรูที่อาศัยอยู่ในเมืองอื่นๆ ในรัฐ Madre de Dios (ซึ่งเป็นอีกดินแดนหนึ่งที่ทำอุตสาหกรรมเหมืองทองคำมาก) ก็ได้รับปรอทพิษมากเช่นกัน การวัดปริมาณปรอทจากเส้นผมของคนทั่วไปในรัฐได้พบว่า มีปรอท 3 ส่วน ในล้านส่วน ซึ่งนับว่ามากเกินปริมาณที่ปลอดภัยถึง 3 เท่า และคนดังที่กล่าวนี้เป็นประชากรทั่วไปมิใช่คนเหมือง ดังนั้นข้อมูลนี้จึงแสดงให้เห็นว่า ร่างกายคนทั้งรัฐอาจมีสารพิษแล้ว และที่น่ากังวลคือ ในคนที่กินปลา “พิษ” ก็มีการพบปรอทในร่างกายมากถึง 5 ส่วน ในล้านส่วน

รัฐ Madre de Dios ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเปรู และมีความสำคัญ เพราะมีป่าสงวนแห่งชาติ 2 แห่ง คือ Tambopata National Reserve และ Manu National Park ป่าที่กว้างใหญ่ที่สุดของประเทศ จนได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลก เพราะป่ามีความหลากหลายทางชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุด และในรัฐก็มีอุตสาหกรรมขุดทองคำมาก โดยรัฐบาลให้สัมปทานแก่บริษัทและให้ชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งที่คาดว่ามีมากถึง 30,000 คน ซึ่งอาศัยอยู่นอกป่าสงวนให้สามารถทำการขุดทองคำได้

เมื่อ 85 ปีก่อน ที่ชาวพื้นเมืองได้เริ่มร่อนทองคำ จวบจนปัจจุบันได้มีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการขุดแล้ว แต่รัฐบาลเปรูก็เพิ่งเริ่มสนใจศึกษาผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมที่เกิดจากการทำเหมืองทองคำ เพราะได้พบว่ามีการลอบขุดทองคำอย่างผิดกฎหมายและมีการตัดไม้ทำลายป่ามากมาย รวมถึงต้องแก้ปัญหาน้ำในแม่น้ำมีสารปนเปื้อน ซึ่งล้วนเป็นน้ำเสียที่ถูกขับออกมาจากโรงงาน รัฐบาลจึงได้ออกกฎหมายกำหนดให้ชาวเปรูมีพื้นที่ขุดทองคำโดยเฉพาะ และให้คนขุดทุกคนต้องลงทะเบียน อีกทั้งให้บริษัททุกบริษัทแสดงแผนขุด และจัดให้มีแผนการประเมินผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงให้มีแผนการทำความสะอาดสภาพแวดล้อมด้วยหลังจากที่โครงการยุติแล้ว ทั้งนี้เพื่อจะได้สงวนป่าและพื้นที่อาศัยให้ชาวพื้นเมืองได้ใช้เป็นถิ่นอาศัย


กฎหมายนี้ได้รับการต่อต้าน โดยชาวบ้านที่กำลังขุดหาทองคำอยู่นอกพื้นที่ๆ ทางการกำหนด เพราะกฎหมายบังคับให้คนที่ฝ่าฝืนถูกจับขังเป็นเวลานานถึง 10 ปี ยิ่งไปกว่านั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็คิดว่ากฎหมายที่ใช้ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะรัฐบาลไม่มีเจ้าหน้าที่มากเพียงพอที่สามารถจะควบคุมเหตุการณ์ที่ผิดกฎหมายได้ และเปรูเป็นประเทศหนึ่งที่วงการราชการมีการคอรัปชั่นมาก

ทุกวันนี้ภาพถ่ายจากดาวเทียมได้แสดงให้เห็นว่า ป่าสงวนใน Madre de Dios กำลังถูกคุกคามและถูกทำลายมาก และรุนแรงขึ้นตลอดเวลา การสำรวจสภาพแวดล้อมโดยนักอนุรักษ์ป่า ได้ข้อมูลที่แสดงว่าชาวบ้านทั่วไปมีความเห็นว่า นักวิชาการเปรูเป็นพวกที่ต่อต้านการทำเหมือง แต่ในความเป็นจริง นักวิชาการไม่ได้ต่อต้านหรือห้าม เพียงแต่ต้องการให้การถลุงทองคำดำเนินไปในสถานที่ๆ ทางการไม่หวงห้าม และการขุดต้องทำไปอย่างระมัดระวัง เพื่อความยั่งยืนของป่าสงวน นักวิชาการยังได้คาดหวังว่าหลังการศึกษา ทางการจะได้ข้อมูลที่แสดงว่าบริเวณใดในรัฐเป็นแหล่งที่กำลังเป็นอันตรายมาก เพื่อให้รัฐบาลสามารถจัดการแก้ไขได้ก่อนจะสายเกินไป ด้วยการตัดสินใจอนุญาตให้ที่ใดบ้างเป็นที่ทำเหมือง ที่ใดบ้างสามารถตัดไม้ได้ และที่ใดบ้างต้องอนุรักษ์

เหมืองในรัฐ Madre de Dios เองมีการใช้ปรอทประมาณ 45-50 ตันต่อปี เพื่อถลุงทองคำ และส่วนใหญ่ของปรอทที่ใช้นี้ จะไปอยู่ในแม่น้ำและในบรรยากาศ โดยชาวบ้านจะนำปรอทมาผสมกับตะกอนที่มีเม็ดทองคำ ซึ่งถูกพัดลงมาจากเหมือง แล้วใช้เท้าเหยียมย่ำปรอทไปมาบนตะกอน จนปรอทจับทองคำเป็นก้อนเล็กๆ แล้วนำไปเผา ซึ่งก็เป็นการถลุงทองคำในลักษณะเดียวกับที่ La Rinconada

เมื่อเร็วๆ นี้การสำรวจสุขภาพของชาวบ้านในรัฐ ได้พบเส้นผมของคนว่ามีปรอท 6 ไมโครกรัม ในเส้นผมที่หนัก 1 กรัม ซึ่งมากผิดปกติ จนทำให้ชาวบ้านบางคนอาเจียน มีอาการท้องร่วง ไตวายหรือสมองพิการ ส่วนคนที่บริโภคปลาที่จับได้ในแม่น้ำ ประมาณ 12 ตัว ใน 1 เดือน หรือมากกว่านั้น ก็มีปริมาณปรอทในร่างกายสูง จนอาจเป็นอันตรายได้เช่นกัน

แม้ข้อมูลที่ได้มาแสดงให้เห็นอันตรายที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศ แต่ชาวเปรูก็ยังไม่เชื่อ 100% ว่าปรอทสามารถฆ่าคนได้ โดยอ้างว่าบรรพบุรุษของตนได้ใช้วิธีนี้มาเป็นเวลานานแล้ว และไม่เห็นมีใครเป็นอะไร ในขณะเดียวกันบริษัทถลุงทองคำขนาดใหญ่ของเปรูก็ได้ทดลองใช้สารประกอบ cyanide แทนปรอท และพบว่า สามารถแยกทองคำได้ดีกว่าปรอท 2 เท่า แต่ cyanide เป็นสารพิษยิ่งกว่าปรอท และชาวบ้านยังไม่รู้จักใช้สารนี้ดี ดังนั้นถ้าจะนำมาใช้ ก็ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ส่วนวิธีที่ทันสมัยกว่าคือ ใช้สาร thiosulphate ที่ไม่เป็นพิษ แต่สารนี้เหมาะใช้กับละอองทองที่มีขนาดเล็กมาก จึงไม่เหมาะสำหรับเม็ดทองที่ขุดได้ใน Madre de Dios

นักวิชาการบางคนได้เสนอให้ใช้เตาที่ได้รับการออกแบบให้สามารถกักเก็บไอปรอทที่ออกมาจากการเผาโลหะผสมได้อย่างมีประสิทธิภาพ บ้างก็ได้เสนอให้ใช้เครื่องจักรที่สามารถแยกทองคำออกจากตะกอนได้ทันที โดยไม่ต้องใช้ปรอทมาดูดซับไป แต่ชาวบ้านและชาวเมืองก็คิดว่า ชาวเหมืองคงจะไม่เปลี่ยนวิธีสกัดทองคำที่เขาใช้ จนกว่าจะมั่นใจว่า วิธีใหม่ให้ผลเร็ว สามารถสกัดทองคำได้ดีและมีราคาไม่แพงกว่าการใช้ปรอท และจะไม่ใช้ปรอท ถ้าปรอทมีราคาสูงขึ้นมาก จนหาซื้อมาใช้ไม่ได้ หรือโลกไม่มีปรอทให้ใช้ หรือรัฐบาลออกกฎหมายห้ามใช้ปรอทในการถลุงทองคำอย่างเด็ดขาด

ซึ่งก็คงเป็นเวลาอีกนาน

ข้อมูลเหล่านี้จึงแสดงให้เห็นว่า การวิจัยเรื่องนี้เป็นเรื่องที่จำเป็น และการกระจายความรู้ทุกเรื่องให้ชาวบ้านได้รู้ด้วยอย่างแจ่มแจ้งเป็นเรื่องที่ต้องทำ

อ่านเพิ่มเติมจาก The Power of Gold : The History of an Obsession โดย Peter L. Bernstein จัดพิมพ์โดย Willy ในปี 2000


สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์
กำลังโหลดความคิดเห็น