xs
xsm
sm
md
lg

สาเหตุการล่มสลายของอารยธรรมฮารัปปา

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน



เมื่อ 375 ปีก่อนคริสตกาล Plato ซึ่งเป็นปราชญ์กรีก ได้เรียบเรียงหนังสือ “The Republic” ซึ่งมีบทสนทนาของ Socrates ที่ว่าด้วยความยุติธรรมและวิธีการปกครองในอาณาจักร Utopia (จากคำ ou-topos ในภาษากรีกที่แปลว่า ไม่มีที่ใด) ว่าเป็นอาณาจักรที่ประชาชนมิได้หลงหรือมัวเมาในอำนาจวาสนาและความร่ำรวย นอกจากนี้สมาชิกทุกคนในสังคมก็ไม่มีความแตกต่างทางฐานะหรือความขัดแย้งใดๆ ดังนั้นความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นจึงไม่มี เพราะทุกคนสนใจแต่เรื่องปรัชญาและการแสวงหาความรู้ ชุมชนจึงมีแต่ความสุขและความเจริญ

แม้โลกจะไม่มีอาณาจักรอุดมคติเช่น Utopia แต่นักประวัติศาสตร์หลายคนก็มีความเห็นว่า อารยธรรม Harappa ที่ได้บังเกิดในลุ่มแม่น้ำสินธุ (Indus) ของประเทศปากีสถานเมื่อ 4,600-2,900 ปีก่อน เป็นอาณาจักรที่มีการปกครองใกล้เคียงกับอาณาจักร Utopia มากที่สุด

ทั้งๆ ที่ในช่วงเวลานั้นโลกมีสี่อารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งได้แก่ อารยธรรมอียิปต์แห่งลุ่มแม่น้ำ Nile อารยธรรม Mesopotamia แห่งลุ่มแม่น้ำ Tigris กับ Euphrates อารยธรรมจีนแห่งลุ่มแม่น้ำเหลือง และอารยธรรม Harappa แห่งลุ่มแม่น้ำสินธุ (Indus) ในประเทศปากีสถาน และคนทั้งโลกมีความรู้อีกทั้งมีความชื่นชมในอารยธรรม Egypt, Mesopotamia และจีน ว่ามีความก้าวหน้าและความเจริญรุ่งเรือง เพราะมีหลักฐานที่เป็นโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ ซึ่งได้ตกทอดมาจนถึงยุคปัจจุบันเป็นจำนวนมาก เช่น ปิระมิด มัมมี่ อักษรลิ่ม ศิลาจารึกในกษัตริย์ Hammurabi กำแพงเมืองจีน สุสานทหารดินเผา ฯลฯ แต่ไม่มีใครในโลกมีความรู้เกี่ยวกับอารยธรรม Harappa เลย เพราะอารยธรรมนี้จึงได้สูญหายไปจากโลกเป็นเวลาร่วม 3,000 ปี

การที่เป็นเช่นนี้ คงมาจากหลายสาเหตุ แต่ที่สำคัญที่สุด คือ การไม่มีใครอ่านบันทึกภาษา Harappa ในขณะที่การอ่านอักษรภาพ hieroglyph ของอียิปต์ อักษรลิ่ม cuneiform ของชาว Sumerian และอักษรจีนโบราณ ไม่มีปัญหาใดๆ ดังนั้นการที่นักประวัติศาสตร์จะล่วงรู้สภาพความเป็นอยู่ ความนึกคิด และมีความซาบซึ้งในการอ่านวรรณกรรมต่างๆ ของ 3 อารยธรรมดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้และเป็นไปแล้ว เพราะนักประวัติศาสตร์มีหลักฐานที่เป็นรูปธรรมมากมาย แต่ไม่มีหลักฐานของอารยธรรมฮารัปปาในปริมาณเดียวกัน นอกจากเหตุผลเหล่านี้แล้ว อายุของอารยธรรมฮารัปปาก็ค่อนข้างสั้น คือนานประมาณ 700 ปี เท่านั้นเอง ถึงถาวรวัตถุและสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ของอารยธรรมฮารัปปาจะมีน้อย แต่นักประวัติศาสตร์หลายคนก็ยังคิดว่า อารยธรรมฮารัปปาอาจจะได้วิวัฒนาการไปเป็นอารยธรรมอินเดียในเวลาต่อมา หรืออาจให้กำเนิดศาสนาฮินดูก็ได้

ประวัติการค้นพบอารยธรรมนี้ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญเมื่อประมาณ 160 ปีก่อน คือในปี 1856 เมื่อสองพี่น้องชาวสกอตในตระกูล Brenton ชื่อ John และ Robert ซึ่งเป็นวิศวกรทางรถไฟ กับวิศวกรชาวอินเดียชื่อ Daya Sahni ได้งานจากรัฐบาลปากีสถานให้สร้างทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างเมือง Lahore กับเมือง Multan ที่อยู่ห่างกันประมาณ 160 กิโลเมตร หลังจากที่กรรมกรได้ขุดลอกพื้นที่จนถึงหมู่บ้าน Harappa เมื่อปี 1920 ทุกคนก็ประจักษ์ว่า พื้นที่ในบริเวณนั้นมีแต่ดินตะกอนที่เหมาะสำหรับการทำเกษตรกรรมมากกว่าจะเป็นทางรถไฟ และพื้นที่ในบริเวณนั้นก็ไม่มีก้อนหินขนาดใหญ่ที่แข็งแรงพอจะรองรับหมอนรองรถไฟได้ แต่มีก้อนอิฐที่ทำด้วยดินเผาจำนวนมากมาย หลักฐานเหล่านี้ ทำให้ Sir John Marshall ซึ่งเป็นผู้อำนวยการกองโบราณคดีของรัฐบาลอังกฤษในเวลานั้นมีความคิดว่า คนงานอาจขุดพบซากเมืองโบราณที่ได้หายสาบสูญไปเป็นเวลานานแล้วก็เป็นได้

จินตนาการนี้ได้ทำให้นักโบราณคดีทั่วโลกหันมาสนใจ ยิ่งเมื่อนิตยสาร The Illustrated London News ฉบับวันที่ 24 กันยาน ค.ศ. 1924 ได้ลงข่าวหน้าหนึ่งว่า Sir Alexander Cunningham ได้พบซากอาณาจักรโบราณ จากการพบวัสดุที่ใช้เป็นตราประทับ ซึ่งมีลวดลายแปลกๆ รวมถึงการได้พบรูปปั้นขนาดเล็กจำนวนมากมายในบริเวณนั้นด้วย

การขุดหาเมืองในอาณาจักร Harappa ที่สาบสูญไปจึงเริ่มต้นอย่างจริงจัง

อีก 20 ปีต่อมา Sir Mortimer Wheeler ได้ขุดพบเมืองโบราณแห่งที่สองชื่อ Mohenjo-Daro ซึ่งอยู่ห่างจากเมือง Harappa ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 560 กิโลเมตร เพราะเมือง Harappa มีประชากรประมาณ 40,000 คน และ เมือง Mohenjo-Daro มีประชากรประมาณ 80,000 คน เมืองทั้งสองจึงเป็นเมืองแฝดที่มีขนาดใหญ่พอๆ กับเมือง Uruk ของอาณาจักร Babylon และเมือง Luxor ของอาณาจักรอียิปต์โบราณ

การขุดสำรวจอาณาจักรฮารัปปาในเวลาต่อมาได้ทำให้พบเมืองขนาดกลางเพิ่มอีก 2 เมือง คือ Mehrgarh กับ Dholavira และหมู่บ้านเล็กๆ อีกประมาณ 1,000 แห่ง อาณาจักรโบราณนี้ จึงครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของประเทศปากีสถาน อินเดีย และอาฟกานิสถานในปัจจุบัน และมีอาณาเขตตั้งแต่ปากแม่น้ำ Narmada ในอินเดียตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านแคว้น Gujarat ไปจนถึงแคว้น Sind ส่วนพรมแดนทางตะวันตกของอาณาจักร Harappa ได้เริ่มตั้งแต่แคว้น Punjab ไปจนถึงเมือง Rajasthan รวมเป็นพื้นที่กว่า 8 แสนตารางกิโลเมตร จึงนับว่าเป็นพื้นที่กว้างใหญ่เพียงพอสำหรับประชากรจำนวนนับล้านได้อยู่อาศัย อาณาจักรนี้ยังมีแม่น้ำ Indus ไหลผ่าน และมีทะเลทราย Thar รวมถึงเทือกเขา Aravalli ที่อยู่ทางใต้ โดยทั่วไปหมู่บ้านของผู้คนมักตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำและในหุบเขา


ซากเมือง Harappa ที่นักโบราณคดีขุดพบได้แสดงให้เห็นว่า เมืองตั้งอยู่บนเนินดินที่มีปราการล้อมรอบ และที่เชิงปราการมีลานขนาด 198x569 เมตร พื้นที่ในบริเวณโดยรอบเนินถูกแบ่งออกเป็นตารางสำหรับปลูกบ้าน โดยที่ทุกบ้านมีบ่อน้ำ รวมถึงทางระบายน้ำ และห้องน้ำมีส้วมซึ่งมีที่นั่งเหมือนบ้านปัจจุบัน ผนังบ้านด้านที่ติดถนนไม่มีหน้าต่าง คงเพื่อป้องกันไม่ให้เสียงจากถนนมารบกวน นี่แสดงว่า ผู้คนในเมืองรักความสงบมาก และมีโลกส่วนตัวค่อนข้างมาก ประตูบ้านมีประตูเดียว และตามฝาบ้านไม่มีเครื่องประดับ และการไม่พบงานวาดภาพใดๆ แสดงว่าอารยธรรมนี้ ไม่มีจิตรกรที่มีชื่อเสียงโด่งดัง

ส่วนที่เมือง Mohenjo-Daro นั้นมีสถานอาบน้ำสาธารณะขนาดใหญ่ (Great Bath) ซึ่งสร้างเป็นรูปเหลี่ยมผืนผ้าที่ กว้าง 7 เมตร ยาว 12 เมตร และลึก 2.47 เมตร สำหรับใช้สรงน้ำและชำระบาป นี่อาจเป็นต้นแบบของพิธีล้างบาป ตามคตินิยมของศาสนาพราหมณ์ในเวลาต่อมา ในเมืองมีถนนใหญ่ 12 สาย ที่มีความกว้างตั้งแต่ 3 ถึง 9 เมตร และทุกสายตัดกันเป็นเส้นตรง เมือง Mohenjo-Daro จึงเป็นเมืองที่มีการวางผังเมืองที่ทันสมัย

ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งของเมืองทั้งสอง คือการไม่มีศาสนสถานขนาดใหญ่ ข้อมูลนี้แสดงว่านักบวชไม่ได้เข้ามามีบทบาทมากในอารยธรรมนี้ จะมีก็แต่รูปปั้นขนาดเล็กของเทพเจ้า ส่วนประชากรทั่วไปมีการทำงานหลายอาชีพ เช่น เป็นชาวนา ชาวประมง คนเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นชนชั้นล่าง และมีช่างฝีมือ ช่างไม้ ช่างโลหะ ช่างปั้น ช่างเจียระไน ซึ่งเป็นชนชั้นกลาง สำหรับผลงานที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สำคัญของอารยธรรมนี้ คือลูกปัดที่ทำจากหินและแร่ธรรมชาติ กับตราประทับที่แกะสลักเป็นลวดลาย และบนตรามีอักษรจารึก วัสดุเหล่านี้อาจเป็นสินค้าที่ถูกส่งไปขายในอาณาจักรอียิปต์โดยทางบก หรือถูกส่งออกนอกประเทศโดยใช้เรือล่องตามแม่น้ำ Indus จนออกทะเล Arabian เพื่อไปค้าขายในดินแดนอาหรับ สังคมที่ก้าวหน้าเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่า อารยธรรมนี้มีความเจริญทางการคมนาคม และการพาณิชย์ นอกจากนี้พ่อค้าบางคนอาจนำลูกปัด งาช้าง ทองคำ และอัญมณีไปขายในอาณาจักรมองโกล หรือในดินแดน Mesopotamia ของชาว Sumerian และชาว Akkadian แล้วซื้อผ้าไหมกับเครื่องหอมกลับมา

การศึกษาศิลปวัตถุ เช่น ลูกปัดและกำไลมือที่ชาวฮารัปปาทำจากดินเหนียว ก็พบว่าได้รับการเคลือบเป็นอย่างดีเพราะถูกเผาไฟ นี่แสดงให้เห็นว่า ช่างฮารัปปามีเทคโนโลยีทำเครื่องประดับในระดับที่ดีมาก เพราะสามารถสร้างเตาเผาที่มีอุณหภูมิสูงได้ ส่วนของตุ๊กตาที่ปั้นเป็นรูปคนสวมเสื้อผ้า ก็แสดงให้เห็นว่า ชาวเมืองรู้จักทอผ้า รูปปั้นที่เป็นตราประทับมักมีภาพของสัตว์เช่น วัว ควาย ปรากฎอยู่ ซึ่งแสดงว่า ชาวบ้านรู้จักเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ก็มีการพบตุ้มน้ำหนักที่ทำด้วยหินที่มีขนาดต่างๆ กัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พ่อค้าฮารัปปามีตุ้มน้ำหนักที่ใช้เป็นมาตรฐานในการขายสินค้าอันได้แก่ ตะกั่ว ดีบุก ทองคำ และขนแกะ โดยเฉพาะลูกปัดที่ชาวฮารัปปานิยมนำมาร้อยเรียงเป็นสายสร้อยนั้น ลูกปัดมักจะมีรูปทรงกลมหรือไข่ และมีสีสันต่างๆ กัน นี่แสดงว่า ช่างฮารัปปาชอบสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า ลูกปัดมีขนาดกว้างตั้งแต่ 1.5-3.0 มิลลิเมตร และยาวตั้งแต่ 1 ถึง 2 มิลลิเมตร ลูกปัดที่ใช้ทำสร้อยมักจะถูกสว่านทองแดงเจาะเป็นรู บางเม็ดมีผิวหยาบ และบางเม็ดถูกเคลือบด้วยสารประกอบ copper oxide ซึ่งเมื่อถูกนำมาเผาที่อุณหภูมิ 850 องศาเซลเซียส จะรวมกับ quartz ให้ลูกปัดสีน้ำเงิน

สำหรับตราประทับที่พบนั้น มักทำจากหินสบู่และมีลวดลายเป็นรูปสัตว์หรือคน เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำของบุคคลสำคัญ และใช้ในการประทับตราลงบนสัมภาระเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ โดยภาพสัตว์ที่ช่างแกะสลักอาจมีรูปร่างแปลกประหลาด เช่น ตัว unicorn (ซึ่งเป็นม้าในเทพนิยายที่มีเขายาว) นอกจากนี้นักโบราณคดียังได้พบรูปปั้นผู้ชายที่สูง 17.5 เซนติเมตร ซึ่งที่แขนมีสายรัด และมีผ้าคลุมสะพายไหล่ข้างหนึ่ง จึงดูเสมือนเป็นนักบวช แต่อาจเป็นรูปปั้นของกษัตริย์ก็ได้ เพราะมีเครา และตาทั้งสองข้างหรี่เหมือนกำลังนั่งสมาธิ นอกจากนี้ก็ยังได้พบรูปปั้นทองสำริดรูปนางรำ ที่สูงประมาณ 10.5 เซนติเมตร และมีอายุประมาณ 4,500 ปี โดยได้ขุดพบที่เมือง Mohenjo-Daro เมื่อปี 1926 ศิลปวัตถุเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นความสามารถในการหล่อโลหะ และวัฒนธรรมการเต้นรำของชาวฮารัปปาได้อย่างชัดเจน

แต่สิ่งที่ทำให้นักโบราณคดีทุกคนรู้สึกประหลาดใจมากที่สุด คือการไม่ได้พบอาวุธ เช่น หอก ดาบ เสื้อเกราะ หรือของมีคมใดๆ ที่จะแสดงให้เห็นว่า ชาวเมืองมีความชื่นชมในการสู้รบหรือการทำสงคราม เพราะภาพวาดตามผนังที่แสดงการต่อสู้ก็ไม่มี นอกจากนี้ตัวเมืองก็ไม่มีป้อมปราการสูง ไม่มีม้าที่ใช้ในการสู้รบเหมือนกองทัพนักรบมองโกล ไม่มีแม้สถานที่ขนาดใหญ่ที่แสดงว่าเป็นพระราชวังที่โอ่อ่าอลังการเหมือนปราสาทของฟาโรห์ Rameses แห่งอียิปต์ หรือของกษัตริย์ Hammurabi แห่งอาณาจักร Babylon ข้อมูลเหล่านี้แสดงว่า ผู้คนในสังคมฮารัปปามีความเสมอภาคคือเท่าเทียมกัน ทั้งในด้านที่อยู่อาศัยและการครองตน


ในปี 1980 เมือง Mohenjo-Daro ได้รับการยกย่องโดย UNESCO ให้เป็นเมืองมรดกโลก ในฐานะที่เป็นเมืองโบราณอายุ 4,000 ปี ซึ่งตัวเมืองได้รับการวางผังอย่างเป็นระบบที่ทันสมัยอย่างน่าอัศจรรย์ เพราะถนนมีคูระบายน้ำ บ้านมีห้องน้ำ และบริเวณใจกลางเมืองได้ถูกยกขึ้นเป็นลานกว้าง 200 เมตร และยาว 400 เมตร เพื่อป้องกันน้ำท่วม ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เมืองคงถูกน้ำท่วมบ่อย

ความน่าสนใจประการสุดท้ายของอารยธรรมฮารัปปา คือการใช้ภาษาเขียนที่ยังไม่มีนักภาษาศาสตร์คนใดอ่านออก

ในช่วงปี 1944-47 ที่ Sir Mortimer Wheeler ได้เห็นภาษาฮารัปปาเป็นครั้งแรกนั้น เขาต้องการจะเข้าใจความหมายและเรื่องราวที่เขียนมาก จึงได้ตั้งเงินรางวัลให้คนที่สามารถอ่านภาษาฮารัปปาได้เป็นคนแรก แต่ตราบถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครอ่านภาษาลึกลับนี้ออก เพราะภาพที่เห็นเป็นตัวอักษรที่มีความแตกต่างกันถึง 350 ภาพ จนไม่รู้ว่า แต่ละภาพใช้แทนอักษร คำ หรือพยางค์

ดังนั้นถ้าเราเปรียบเทียบภาษาฮารัปปากับอักษรภาพ hieroglyph ของอียิปต์ที่อยู่บนศิลา Rosetta ซึ่งถูกพบในปี 1799 และมี Thomas Young กับ Jean F. Champollion เป็นบุคคลแรกที่อ่านภาษานี้ออก และได้ทำให้โลกมีความรู้และความเข้าใจในประวัติศาสตร์อียิปต์โบราณเป็นอย่างดี ส่วนการอ่านอักษรลิ่ม cuneiform ของชาว Sumerian รวมถึงอักษร Linear B ของชาว Mycenean และอักษร Maya ของชาว Maya นั้นก็ไม่มีปัญหาใดๆ เพราะในศิลา Rosetta มีการแปลเป็นภาษากรีก ภาษาโรมันและภาษาอียิปต์รวม 3 ภาษา ให้เทียบเคียงกัน ด้านภาษา Linear B ก็ได้พบว่า เป็นต้นกำเนิดของภาษากรีกโบราณ และสำหรับภาษา Maya นั้น ก็มีต้นฉบับทีเป็นภาษาสเปน ซึ่งได้แปลมาจากบันทึกบทสนทนาระหว่างกษัตริย์ Maya กับนักบวชชาวสเปน

เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ นักโบราณคดี Richard Meadow จากมหาวิทยาลัย Harvard ในประเทศสหรัฐอเมริกา จึงได้เสนอความเห็นว่า ตราบใดที่ยังไม่มีใครอ่านภาษาฮารัปปาออก โลกก็ยังไม่ควรมั่นใจว่า ชนฮารัปปาเป็นชาติที่รักความสงบ เพราะในกรณีของอารยธรรมมายา ในเบื้องต้น ใครๆ ก็คิดว่า เป็นชนชาติที่รักความสงบ แต่เมื่อมีคนอ่านภาษามายาออก ก็ได้พบว่า ชนเผ่านี้เลื่อมใสในลัทธิบูชายัญ มีการฆ่าศัตรู และนิยมการมีทาส ดังนั้นเมื่อยังไม่มีใครอ่านภาษาฮารัปปาออก โลกจึงต้องคอยจนกระทั่งรู้ชัดว่าอาณาจักรฮารัปปาเป็นดินแดน Utopia ที่แท้จริงหรือไม่

สำหรับสาเหตุการล่มสลายของอารยธรรมฮารัปปานั้น นักโบราณคดีได้สันนิษฐานว่าอาจมีได้หลายสาเหตุ เช่น ในปี 1953 Sir Mortimer Wheeler ได้คิดว่า อาณาจักรฮารัปปาอาจถูกรุกรานโดยชนเผ่าอารยันที่ตั้งรกรากอยู่ในเอเชียกลาง การพบโครงกระดูก 37 ชุด ในบริเวณรอบเมือง Mohenjo-Daro ซึ่งแสดงให้เห็นอากับกิริยาของผู้ตายว่ากำลังพยายามหนีออกจากเมือง แต่การวิเคราะห์โครงกระดูกเหล่านั้นอย่างละเอียด เมื่อ 40 ปีก่อน ได้แสดงให้เห็นว่า คนเหล่านั้นเสียชีวิตด้วยโรคมาลาเรีย มิใช่เพราะถูกฆ่าตาย

เหตุผลที่เป็นไปได้อีกประการหนึ่ง คือสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ซึ่งเหตุการณ์ร้ายนี้ได้เคยทำให้อาณาจักร Inca, Maya และ Aztec ในอเมริกาใต้ล่มสลายมาแล้ว โดยเฉพาะในปี 2016 ซึ่งนักวิชาการหลายคนเชื่อว่า ได้เกิดภาวะทุพภิกขภัยเป็นเวลานานร่วม 200 ปี จนทำให้ชาวฮารัปปาอดอยาก และการค้ากับชาวต่างชาติ เช่น ชาวอียิปต์กับชาว Mesopotamia ต้องหยุดชะงักหรือล้มเลิกไป ภาวะอากาศที่แห้งแล้งได้ทำให้อาณาจักรขาดฝนและขาดน้ำ หรือแม่น้ำ Indus ได้เปลี่ยนเส้นทางการไหล ทำให้เมืองหลายเมืองขาดแคลนน้ำ และดินแดนที่เคยไร้น้ำกลับมีน้ำท่วมบ่อยขึ้น จนชาวบ้านเดือดร้อน เพราะทำเกษตรกรรมไม่ได้ เหล่านี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้อารยธรรมฮารัปปาต้องล่มสลายได้ทั้งสิ้น ยิ่งถ้าอาณาจักรถูกซ้ำเติมด้วยโรคระบาด เช่น อหิวาห์ตกโรค ชาวบ้านก็จะอพยพและทิ้งเมืองให้ร้างไปในที่สุด


ด้านนักธรณีวิทยาก็ได้พบว่า ได้มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวอย่างรุนแรงเกิดขึ้นที่เมือง Dholavira ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของอาณาจักร เมื่อ 3,000 ปีก่อน เหตุการณ์นี้ได้ทำให้อาณาจักรมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพมาก เช่น แผ่นดินได้ทรุดลง ทำให้น้ำท่วมบ่อย หรือแผ่นดินได้แตกแยกทำให้น้ำทะเลไหลเข้าเมืองได้ง่าย ชาวฮารัปปาจึงต้องอพยพออกจากหุบเขา แล้วหนีขึ้นไปทางเหนือของอาณาจักร เพื่อตั้งถิ่นฐานในสถานที่ใหม่ เช่นที่เชิงเขาหิมาลัย เป็นต้น

เพราะการจะรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับอารยธรรมฮารัปปา ต้องอาศัยความรู้จากข้อมูล ประวัติศาสตร์ที่ได้จากการบันทึกหรือจารึก ดังนั้นตั้งแต่ปี 1920 เป็นต้นมา นักภาษาโบราณ นักโบราณคดี และนักประวัติศาสตร์จำนวนกว่า 100 คน จึงได้พยายามอ่านภาษาฮารัปปา และได้เสนอข้อคิดเห็นมากมาย เช่น ในปี 1983 Walter Fairservis แห่ง American Museum of Natural History ที่ New York ได้อ้างว่า ภาษาฮารัปปามีลักษณะคล้ายภาษา Dravidian ที่นิยมพูดกันในทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย แต่ Kinnier Wilson แห่งมหาวิทยาลัย Cambridge ในประเทศอังกฤษกลับคิดว่า โครงสร้างของภาษาฮารัปปาเหมือนภาษาชาว Sumerian นี่เป็นตัวอย่างของความเห็นที่ขัดแย้งกัน แต่ที่เห็นสอดคล้องกันก็มีบ้าง คือการอ่านภาษาฮารัปปาจะต้องอ่านจากขวาไปซ้าย และภาษามีสัญลักษณ์และเครื่องหมายที่มากถึง 958 รูปแบบ นอกจากนี้โครงสร้างของภาษาก็มีไวยากรณ์ และระบบตัวเลข

แต่ก็ยังไม่มีใครอ่านออก ฮารัปปาจึงเป็นภาษาที่ได้สูญพันธุ์ไปนานแล้ว และไม่ได้มีการแปลคู่ขนานเหมือนภาษา hieroglyph ของชาวอียิปต์โบราณ ดังนั้นถ้ามีการพบการแปลภาษานี้ ในสถานที่อื่นของโลก เช่นใน Mesopotamia เวลาพ่อค้าแลกเปลี่ยนสินค้าและความรู้กัน การอ่านภาษาฮารัปปาออกก็มีทางเป็นไปได้

ในปี 2009 Rajesh Rao แห่งมหาวิทยาลัย Washington ที่ Seattle ในสหรัฐอเมริกาได้ใช้เทคโนโลยี digital คำนวณ entropy ซึ่งแสดงสภาวะสุ่มของตัวอักษรที่ใช้ในภาษาฮารัปปา และพบว่า มีความคล้ายคลึงกับอักษร cuneiform ของชาว Sumerian มาก

โดยสรุปความก้าวหน้าในการเดินทางย้อนเวลาหาอดีตของอารยธรรมฮารัปปา จึงขึ้นกับการขุดพบอักษรฮารัปปาเพิ่มเติม เพราะในอดีตที่ผ่านมา นักโบราณคดีได้ขุดหาอดีตในพื้นที่ของอาณาจักรได้เพียง 15% เท่านั้นเอง สาเหตุการขุดไม่หมด มิใช่เพราะขาดงบประมาณ แต่เพราะบางพื้นที่เป็นทะเลทราย และพื้นที่บางส่วนอยู่ใกล้พรมแดนอินเดียกับปากีสถาน ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาท

จะอย่างไรก็ตาม ในปี 1975 นักโบราณคดีได้ขุดพบเมือง Ganweriwala ซึ่งมีขนาดใหญ่พอๆ กับเมือง Mohenjo-Daro และในอนาคตถ้าได้ขุดพบอักษรหรือจารึกภาษานี้ในปริมาณมากพอ โลกก็จะล่วงรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอาณาจักรนี้ได้ในที่สุด

นอกจากภาษาฮารัปปาแล้ว ภาษาลึกลับที่จะต้องศึกษาต่อไป คือภาษา Linear A ของชาว Etruscan ภาษา Rongorongo ของชาวเกาะ Easter และการพยายามอ่านอักษรจารึกบนจาน Phaistos Disc ที่พบบนเกาะ Crete

อ่านเพิ่มเติมจาก “The Archaeology and Epigraphy of Indus Writing” โดย B. K. Wells ที่จัดพิมพ์โดย Archaeopress ในปี 2015


สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์
กำลังโหลดความคิดเห็น