นักมานุษยวิทยาได้พบว่า มนุษย์กับไก่ได้มีความผูกพันมาเป็นเวลานานหลายพันปีแล้ว เช่น ชาว Polynesian ที่ตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่บนเกาะ Tonga, Vanuatu, Samoa ในมหาสมุทรแปซิฟิก ชอบใช้กระดูกไก่ที่เสี้ยมจนแหลมทำเข็มเย็บผ้า ทำเข็มสักรอยตามตัว ชาวกรีกโบราณก็นับถือไก่เป็นสัตว์ของเทพเจ้าที่สามารถรักษาไข้ได้ แม่ทัพโรมันชอบเลี้ยงไก่เป็นฝูง เพื่อใช้ทำนายผลลัพธ์ของการรบในสงคราม เช่น ถ้าไก่ฝูงนั้นบริโภคอาหารอย่างกระวีกระวาด กองทัพจะมีชัย แต่ถ้าฝูงไก่ไม่กระตือรือร้นที่จะกินอะไรเลย แม่ทัพก็ควรล่าถอย ส่วนกีฬาชนไก่ก็เป็นเกมส์ที่ถือกำเนิดเกิดหลังกีฬาชกมวยของคนไม่มาก
ทุกวันนี้ คนทั่วโลกนิยมเลี้ยงไก่เป็นอาหาร จนจำนวนไก่ในโลกมีมากกว่าสุนัข แมว วัว และหมู รวมกัน ทุกปีเรากินเนื้อไก่ประมาณ 100 ล้านตัน และบริโภคไข่ ประมาณ 1 ล้านล้านฟอง ความนิยมในการเลี้ยงเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อเกษตรกรได้พบวิธีเลี้ยงไก่เพื่อกินเนื้อในเวลารวดเร็ว โดยเอาอาหารที่มีคุณภาพให้มันกิน เพื่อให้เติบโตเร็ว และให้เนื้อที่อ่อนนุ่ม แม้แต่ในจีน ซึ่งผู้คนนิยมบริโภคเนื้อหมู แต่เนื้อไก่ก็กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นตลอดเวลา ส่วนคนเม็กซิกันกินไข่คนละประมาณปีละ 330 ฟอง เมื่อ 10 ปีก่อนที่เกิดวิกฤตการณ์ไข้หวัดนก ไก่จำนวนมากถูกฆ่า ชาวเม็กซิกันก็ได้ออกมาประท้วง เพราะค่าครองชีพสูงขึ้นมาก ส่วนในอิหร่านเวลาราคาเนื้อไก่มีราคาแพง ทางการจะห้ามไม่ให้บริษัทโทรทัศน์ถ่ายทอดรายการที่มีคนกินไก่ เพราะเกรงว่าสังคมจะมีความขัดแย้งเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านฐานะ ใน Saudi Arabia คนเลี้ยงไก่จะได้รับเงินสนับสนุนจากทางการบ้างบางส่วน เพื่อควบคุมราคาเนื้อไก่ไม่ให้สูง และให้ประชากรทั่วไป ได้บริโภคไก่อย่างทั่วถึง
สำหรับคนไทยในชนบทนั้นนิยมเลี้ยงไก่หลายสายพันธุ์ เช่น ไก่ประดู่หางดำ ไก่เหลืองหางขาว ไก่ชี ไก่แดง ไก่แก่นทอง ไก่สร้อยนิล ไก่สร้อยเพชร ไก่ไข่มุกอีสาน ไก่อู ไก่ตะเภา และไก่แจ้ ด้วยเหตุนี้ เราจึงมีสำนวนเกี่ยวกับไก่มากมาย ทั้งที่เป็นภาษาพูดและภาษาเขียน เช่น “เขียนแบบไก่เขี่ย” คือเขียนยุ่ง โย้เย้ ไม่เป็นระเบียบ เหมือนเวลาไก่ใช้กรงเล็บคุ้ยเขี่ยดินหาอาหาร ลายมือเช่นนี้ทำให้ไม่มีใครสามารถอ่านข้อความออก “ไก่แก่แม่ปลาช่อน” หมายถึงสตรีสูงวัยผู้มีเล่ห์เหลี่ยมและลูกเล่นแพรวพราว เป็นการเปรียบเปรยว่าเธอเป็นคนที่จัดจ้านในทางโลก และมีมารยาสาไถยมาก “ไก่อ่อนสอนขัน” เป็นสำนวนที่ใช้ในการปรามาสว่ายังไม่เก่งพอ แต่ริจะมาทาบรัศมีกับผู้เชี่ยวชาญ “ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่” ใช้ในกรณีที่ผู้พูดและผู้ฟังต่างรู้ความลับของกันและกัน
ส่วน “เจ้าชู้ไก่แจ้” คือผู้ชายที่ชอบเดินกรีดกรายกรุ้มกริ่ม เวลาจะจีบสาว สำนวน “เวลาไปเหมือนไก่จะบิน” หมายถึงการแสดงอาการคึกคักและดีอกดีใจ เวลาจะได้ออกจากบ้านไปสูดอากาศข้างนอก “เสียงไก่ขัน” เป็นเสียงที่บอกเวลาฟ้าเริ่มสาง “ไก่อ่อน” คือคนที่ถูกผู้อื่นหลอกลวงได้ง่าย เพราะมีประสบการณ์ชีวิตและความชำนาญทางโลกไม่มากพอ “ไก่ได้พลอย” หมายถึงการได้ของมีค่า แต่ไม่ตระหนักรู้ในคุณประโยชน์ของสิ่งนั้น จึงไม่สามารถใช้ทำประโยชน์ได้ และมักคิดไปว่า มีข้าวเปลือกก็ยังดีกว่ามีพลอย “ไก่ตื่น” หมายถึงแสดงอาการตกใจมาก “เป็ดขันประชันไก่” เป็นการแข่งขันระหว่างคนไม่เก่งกับคนเก่ง “ไก่รองบ่อน” หมายถึงคนที่อาจถูกเรียกตัวมาใช้ต่อสู้แทนเมื่อใดก็ได้ คนรองบ่อนจึงเป็นคนที่ไม่มีความสำคัญมาก “งงเป็นไก่ตาแตก” คือมีอาการมึนจนทำอะไรไม่ถูก เหมือนไก่ที่ถูกคู่ต่อสู้จิกตีด้วยเดือย จนตาแตกเป็นแผล ทำให้เห็นพร่าไม่ชัด “ลูกไก่อยู่ในกำมือ” เป็นการตกอยู่ในฐานะที่ไม่มีทางสู้ “ไม่ใช่ขี้ไก่” หมายถึงมีค่า “เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ” คือมีลักษณะเป็นคนไม่สู้งาน ชอบหยิบโหย่ง หนักไม่เอา เบาไม่สู้ “หมูไปไก่มา” หมายถึงการพึ่งพาในลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน และ “หมูเห็ดเป็ดไก่” คือการมีอาหารบริโภคอย่างอุดมสมบูรณ์ เป็นต้น
ตามปกติคนอเมริกันมักเลี้ยงไก่เพื่อกินเนื้อมากกว่าไข่ โดยบริโภคเนื้อไก่ประมาณ 18,000 ล้านกิโลกรัม ในปี 2014 สถิติการส่งออกแสดงให้เห็นว่า อเมริกาส่งปีกและตีนไก่ไปจีน ขนไก่ไปอินเดีย ขาไก่ไปรัสเซีย เครื่องในไก่ไปแอฟริกา สถิติเหล่านี้แสดงชัดว่า อวัยวะแทบทุกส่วนของไก่มีประโยชน์ และเป็นเงินเป็นทอง
เมื่อความนิยมบริโภคเนื้อไก่ของผู้คนในสังคมมีมากขึ้นๆ คนเลี้ยงจึงพยายามหาวิธีเลี้ยงไก่ให้ได้ผลเร็ว คือเติบโตเร็ว ซึ่งอาจใช้เวลานานเพียง 7 สัปดาห์ ไก่ก็จะอยู่ในสภาพพร้อมในการเป็นอาหารได้ จากเมื่อ 60 ปีก่อน ที่การเลี้ยงต้องใช้เวลานานถึง 10 สัปดาห์
นอกจากจะใช้เป็นอาหารแล้ว คุณประโยชน์ของไก่ด้านอื่นๆ ก็มีอีกมาก เช่น เป็นสัตว์เลี้ยงที่สืบพันธุ์ได้เร็ว นักชีววิทยาจึงสามารถติดตามดูวิวัฒนาการของไก่ได้โดยใช้เวลาไม่นาน ยิ่งตัวอ่อนของไก่กับทารกในควรรภ์มารดาต่างก็มีพัฒนาการของอวัยวะในตัวที่คล้ายคลึงกัน การศึกษาตัวอ่อนของไก่ จึงช่วยให้นักสรีรวิทยารู้ขั้นตอนการถือกำเนิดของอวัยวะแขนและขาในคนด้วย หรือเวลาแพทย์ต้องการวิเคราะห์โรคทางพันธุ์กรรมบางชนิด เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนเพลีย (muscular dystrophy) หรือโรคลมชัก (epilepsy) แพทย์นิยมใช้ไก่เป็นสัตว์ทดลอง หลังจากที่ F. P. Rous ศึกษาโรคเนื้องอกในไก่ก็ได้พบไวรัส Rous chicken-sarcoma ที่ทำให้คนเป็นมะเร็ง ผลงานนี้ทำให้ Rous ได้รับรางวัลโนเบลแพทย์ศาสตร์ประจำปี 1962 ด้าน Rita Levi-Montalcini กับ Stanley Cohen ก็ได้รับรางวัลโนเบลแพทย์ศาสตร์ประจำปี 1986 จากการพบ nerve growth factor (NGF) ในตัวอ่อนของไก่ ที่มีบทบาทในการควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์ประสาทในสมองและไขสันหลัง เวลาทำวัคซีนไข้หวัดใหญ่ แพทย์จะนำสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ใส่ฉีดเข้าไปในไข่ไก่ที่มีตัวอ่อน เพื่อให้ไวรัสแพร่พันธุ์เร็ว จากนั้นนำไวรัสไปทำให้อ่อนแรงลง เพื่อใช้ผลิตวัคซีนต่อไป
สำหรับการศึกษาพฤติกรรมของไก่นั้น ในปี 1986 T. Schjelder-Ebbe นักจิตวิทยาชาวนอร์เวย์ได้พบว่า ถ้าฝูงไก่ประกอบด้วยตัวเมียล้วนๆ จะมีไก่ตัวหนึ่งตั้งตัวเป็นนางพญา ที่สามารถจิกตีไก่ในฝูงได้ทุกตัว โดยไก่ที่ถูกจิกตี จะไม่ตอบโต้ จากนั้นก็จะมีไก่อีกตัวหนึ่ง ซึ่งมีตำแหน่งต่ำกว่านางพญาเล็กน้อย จะทำหน้าที่เป็นไก่ตัวรองที่สามารถจิกตีไก่ตัวอื่นๆ ได้หมด ยกเว้นนางพญา แล้วการไล่ลำดับสิทธิ์การจิกตีจะดำเนินต่อไป จนกระทั่งถึงไก่ตัวสุดท้ายที่จะถูกไก่ตัวอื่นๆ ทุกตัวจิกตี ด้านฝูงไก่ตัวผู้ก็มีรูปแบบของการจัดอันดับจิกตีในลักษณะเดียวกัน และเมื่อ่ใดก็ตามที่มีไก่แปลกหน้าพลัดหลงเข้ามาในฝูง การต่อสู้จะเกิดขึ้นระหว่างไก่แปลกหน้ากับไก่ตัวอื่นๆ ในฝูงทุกตัว จนกระทั่งทุกตัวรู้ว่า ไก่แปลกหน้าตัวนั้นอยู่ในลำดับใดของฝูง เมื่อการจัดอันดับลงตัวแล้ว การต่อสู้กันเองของไก่ในเล้าก็ยุติ
แต่ไก่เป็นสัตว์ที่มีความจำสั้น ดังนั้นเวลาถูกจับแยกกรง แล้วนำกลับเข้าไปขังรวมกัน มันจะเริ่มจิกตีกันอีก เพราะมันลืมฐานันดรศักดิ์เดิมของมันหมดแล้ว Schjelder-Ebbe ยังพบอีกว่า ไก่มีสันดานความเห็นแก่ตัวมาก เช่น ต้องการจะมีอภิสิทธิ์ในการกินอาหารก่อนตัวอื่น ต้องการมีสิทธิ์ในการเกาะคอนที่เป็นของมันโดยเฉพาะเท่านั้น และเวลากินอาหาร โดยมีการนำอาหารไปให้ มันจะไม่กินในทันที ถ้ามันรู้ว่ามีอาหารที่ดีกว่า จะตามมาในอีกไม่นาน
เมื่อประมาณ 80 ปีก่อน นักชีววิทยาได้พยายามหาถิ่นกำเนิดของไก่ โดยการเดินทางไปอินเดีย เพื่อนำไก่ป่าแดง (red jungle fowl) มาศึกษาและพบว่า มีไก่ป่าแดงเหลืออยู่ประมาณ 10,000 ตัว และกำลังจะสูญพันธุ์ เพราะได้ไปผสมพันธุ์กับไก่สายพันธุ์อื่น จึงนำมาวิเคราะห์จีโนม เพื่อจะได้หาวิธีอนุรักษ์ และพัฒนาสายพันธุ์ให้ดีขึ้น เพราะตระหนักดีว่าไก่เป็นสัตว์ปีกที่สำคัญมากในการให้โปรตีนแก่มนุษย์ และผู้คนนิยมเลี้ยง และใช้ความรู้ที่ได้ในการตอบคำถามของ Charles Darwin ที่ว่า มนุษย์นำไก่มาเลี้ยงเป็นครั้งแรก ณ ที่ใด เมื่อไร เลี้ยงอย่างไร และเพราะเหตุใด
ถึงวันนี้นักพันธุศาสตร์มีความเห็นว่า ไก่ป่าแดงคือสัตว์ต้นตระกูลของไก่บ้าน ที่ถูกนำมาเลี้ยงเป็นครั้งแรกในเอเชียใต้ เมื่อประมาณ 8,000 ปีก่อน แต่นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่า คนเราเริ่มเลี้ยงไก่เมื่อประมาณ 4,000 ปีก่อนนี้เอง ข้อมูลเวลาที่แตกต่างกันมากนี้ ทำให้นักวิจัยต้องหาซากกระดูกไก่ป่าแดงที่มีในเอเชียใต้มาวิเคราะห์ DNA ของไก่ตัวที่ได้เสียชีวิตไปนานที่สุด และในเวลาเดียวกัน นักบรรพชีวินวิทยา ก็พยายามแยก DNA ที่ตกค้างอยู่บนกระดูกไก่ด้วย เพื่อหาข้อมูลพันธุกรรมของไก่ซึ่งมี DNA ประมาณ 1,000 ล้านคู่เบส และมียีนตั้งแต่ 20,000-23,000 ตัว (DNA คนมีประมาณ 3,000 ล้านคู่เบส) ยีนของไก่จึงมีมากพอๆ กับยีนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ดังนั้นการเข้าใจจีโนมของไก่ ก็จะทำให้เราสามารถเข้าใจวิวัฒนาการของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้ ในปี 2004 ก็ได้มีการพบว่า จีโนมของไก่มี DNA ที่เป็นขยะน้อยกว่าของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และหลังจากที่ได้แยกเส้นทางวิวัฒนาการกันเมื่อ 310 ล้านปีก่อน ไก่ได้เริ่มมียีนผลิตขนและจะงอยปาก ส่วนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก็ได้สูญเสียยีนในการสร้างไข่ไป
Erasmus Darwin ซึ่งผู้เป็นปู่ของ Charles Darwin และเป็นบุคคลแรกที่เสนอความเห็นว่า ไก่ป่าแดงคือบรรพสัตว์ของไก่บ้าน (Gallus gallus domesticus) ด้าน Charles Darwin หลังจากที่ได้ใช้ไก่เป็นสัตว์ตัวอย่างในการสร้างทฤษฏีวิวัฒนาการแล้ว ก็ได้เสนอความเห็นว่า คนอินเดียน่าจะเริ่มเลี้ยงไก่เป็นชนชาติแรก จากนั้นความนิยมเลี้ยงไก่ก็ได้แพร่หลายไปทั่วโลก
นักชีววิทยาที่ได้ศึกษาไก่ป่าแดง (Gallus gallus) ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในดินแดนทางทิศตะวันตกของเทือกเขาหิมาลัยไปจนถึงเกาะสุมาตรา ได้พบว่าตัวผู้มีขนปีก และขนหางที่มีสีสันสวยงาม แต่ตัวเมียมีหงอนที่ไม่สวยโดดเด่น โดยทั้งตัวผู้ ตัวเมียมีขาสีคล้ำ และสามารถบินได้ดี ลำตัวมีขนาดใหญ่ประมาณครึ่งหนึ่งของไก่ Leghorn ขาว แต่การนำไก่ป่าแดงมาเลี้ยงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะมันเป็นสัตว์ขี้อาย ไม่ชอบเข้าใกล้คน ดังนั้นในระยะแรก ในเวลากลางวัน มันจะคุ้ยหาอาหารกิน เช่น แมลง ผลไม้ป่า เมื่อพลบค่ำมันจะหลบไปนอนตามคบไม้เพื่อหนีศัตรู ครั้นถูกจับมาเลี้ยงในเล้า มันจึงได้ปรับนิสัยให้เข้ากับชีวิตในเล้า และกินอาหารไม่เลือกชนิด
ในปี 1994 เจ้าชาย Akishinomiya Fumihito แห่งราชวงศ์ญี่ปุ่นได้ศึกษา mitochondria DNA (mtDNA) ของไก่ป่าแดงและพบว่า คนไทยโบราณเริ่มเลี้ยงไก่เป็นครั้งแรกก่อนชนชาติใด และการศึกษา mtDNA ของไก่บ้านในจีนในอีก 4 ปีต่อมา ก็ให้ข้อมูลที่สอดคล้องกับข้อสรุปของเจ้าชาย
ลุถึงปี 2006 ทีมวิจัยจาก Kunming Institute of Zoology ในจีนได้ศึกษา mtDNA ของไก่ ในจีนและอินเดีย และพบว่า ผู้คนในหลายพื้นที่ของโลกได้เริ่มเลี้ยงไก่ในเวลาไล่เรี่ยกัน ข้อสรุปนี้เป็นที่น่าสนใจ เพราะแสดงให้เห็นว่า ไก่บ้านได้ถือกำเนิดในหลายพื้นที่ของโลกพร้อมๆ กัน
ความยากลำบากในการหาแหล่งกำเนิดของไก่บ้าน เกิดจากการที่ไก่ต่างสายพันธุ์มักผสมพันธุ์กัน ดังนั้น ยีนไก่ที่ได้จึงไม่บริสุทธิ์ เพราะมียีนสายพันธุ์อื่นเข้ามาปะปนมาก ถึงวันนี้เราก็ยังไม่มียีนของไก่ป่าแดงที่บริสุทธิ์เป็นยีนมาตรฐานเลย
เมื่อ mtDNA ไม่สามารถตอบปัญหานี้ได้ นักชีววิทยาจึงหันไปวิเคราะห์กระดูกไก่ เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม และพบว่า ในกรณีของสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ เช่น แกะ แพะ การวิเคราะห์อายุของกระดูก โดยใช้รูปทรงแสดงให้เห็นว่า ตะวันออกกลางคือแหล่งกำเนิดของแกะบ้าน และแพะบ้าน เพราะสัตว์ทั้งสองชนิดมีกระดูกโบราณให้นักสัตว์ศาสตร์ได้ศึกษามากมาย แต่กระดูกไก่หรือกระดูกนกมีขนาดเล็ก จึงมีให้ศึกษาได้ยาก เพราะแตกหักง่าย กระนั้น การวิเคราะห์กระดูกไก่ที่พบในจีนก็แสดงให้เห็นว่า ชาวจีนได้เริ่มนำไก่ป่าแดงมาเลี้ยงเมื่อ 6,000 ปีก่อนคริสตกาล แต่ข้อมูลนี้ก็มีปัญหาอีก เพราะได้พบว่า กระดูกมีสารอื่นปนเปื้อนที่ทำให้การวัดอายุมีความโบราณกว่าที่เป็นจริง
จึงสรุปเป็นว่าแหล่งกำเนิดของไก่บ้านยังไม่มีข้อยุติ แต่ก็มีข้อมูลหนึ่งที่สามารถสรุปได้ คือ คนเราเริ่มเลี้ยงไก่เพื่อความสนุกสนาน โดยการให้มันชนกัน (ก่อนที่จะพบว่ามันมีประโยชน์โดยการให้ไข่และเนื้อ) และความนิยมในลักษณะนี้ก็ยังมีอยู่จนวันนี้ เช่นในเวียดนาม ไก่ชนตัวผู้อาจมีราคาตัวละหลายหมื่นบาท
ในปี 2015 Lee Perry-Gal ที่มหาวิทยาลัย Haifa ในประเทศอิสราเอล ได้วิเคราะห์กระดูกไก่ที่พบในพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศอิสราเอล และพบรอยมีดกรีดที่กระดูกไก่ตัวเมียเป็นจำนวนมากกว่ากระดูกไก่ตัวผู้ ในอัตราส่วน 2 : 1 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การเลี้ยงไก่ในอิสราเอลได้มีการกระทำกันอย่างแพร่หลาย เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่เมื่อ 2,300 ปีก่อน แล้วจากดินแดนในตะวันออกกลาง การเลี้ยงก็ได้แพร่ไปสู่ยุโรป รายงานนี้ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ใน Proceedings of the National Academy of Sciences, pnas/150423, 6112
คำถามหนึ่งที่น่าสนใจอีกคำถามหนึ่ง คือ ถ้าโลกนี้ไม่มีไก่ ผู้คนและสภาพแวดล้อมของโลกจะเป็นอย่างไร
ในกรณีสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขหรือแมว ถ้าสัตว์เหล่านี้ตายหมดโลก เจ้าของก็จะรู้สึกเสียใจมากและอาจร่ำไห้ บางคนอาจจะตรอมใจเป็นโรคซึมเศร้าไปนาน หรือถ้าวัวควายล้มตายหมดโลกบ้าง ประเทศที่มีการเลี้ยงวัวมาก เช่น อเมริกัน ออสเตรเลีย และอาร์เจนตินา ก็จะประสบความวุ่นวายมาก เพราะขาดความมั่นคงทางอาหารในทันที แต่ถ้าไก่อันตรธานไปจากโลกอย่างสมบูรณ์ ประชากรทั่วโลกก็อาจจะเผชิญภาวะอาหารขาดแคลน เพราะคนบริโภคเนื้อไก่เป็นอาหารถึง 1/3 ของเนื้อทุกชนิด และนั่นหมายความว่า ถ้าไม่มีเนื้อไก่ ความวุ่นวายก็จะเกิด เพราะคนหลายล้านคนจะไม่ได้กินเนื้ออย่างเพียงพอ และทุกคนจะไม่ได้กินไข่ไก่เลย
คำถามต่อมาคือ เพราะเหตุใดแหล่งอาหารสำคัญประเภทเนื้อ จึงต้องเป็นไก่ ไม่ใช่เป็ดหรือแกะ คำตอบคือ เพราะไก่เป็นสัตว์ที่ปรับตัวได้ง่าย และเมื่อจีโนมของไก่ป่า ได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมและจากไก่สายพันธุ์ต่างๆ มาก ความหลากหลายทางพันธุกรรมจึงเกิดขึ้นได้มาก นอกจากนี้การเลี้ยงไก่ก็ยังมีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะถ้าจะได้เนื้อวัวมาบริโภคในปริมาณเท่ากับไก่ เกษตรกรจะต้องการพื้นที่เลี้ยงวัวประมาณ 10,000 เท่าของพื้นที่เลี้ยงไก่ นั่นคือต้องใช้โลกทั้งโลกในการให้เนื้อวัวได้มากเท่าไก่ นอกจากนี้ การเลี้ยงไก่ก็ยังทำให้เกิดแก๊สเรือนกระจกน้อยกว่าการเลี้ยงวัวหรือแกะ ประมาณ 4 เท่า เพราะแก๊สมีเทนที่ออกมาจากหญ้าที่วัวกินจะไม่มี และถ้าจะเปรียบเทียบกับการเลี้ยงไก่กับเป็ดหรือไก่งวงแล้ว เป็ดนั้นต้องการพื้นที่ๆ เป็นสระ และไก่งวงก็วางไข่น้อย ดังนั้นจึงไม่สามารถเทียบเท่าไก่ในฐานะสัตว์ปีกที่สำคัญทางเศรษฐกิจได้ และเมื่อเนื้อไก่และไข่เป็นสารอาหารที่อุดมสมบุรณ์ด้วยกรด amino, สาร lysine และ threonine ที่ร่างกายคนผลิตไม่ได้ ดังนั้นคนจึงต้องกินเนื้อไก่ไปอีกนาน
ในอดีตเมื่อ 15 ปีก่อน ที่ไข้หวัดนกระบาดหนัก ไก่ในเอเชียได้ถูกฆ่าไปประมาณ 100 ล้านตัว และเมื่อ 5 ปีก่อน ไข้หวัดนกก็ระบาดอีก จึงเป็นที่คาดหวังว่า ไข้หวัดนกคงไม่หายไปจากโลกในเร็วๆ วัน เพราะไข้นี้มีไก่เป็นพาหะ แต่ไก่ก็จะยังคงอยู่คู่โลก และคู่คนไปอีกนาน เหมือนดังที่ได้เคยใช้ชีวิตอยู่ใกล้คนมานานร่วมหมื่นปีแล้ว โดยให้ประโยชย์ที่มีค่ามากมหาศาล และให้โทษที่น้อยนิด มันจึงเป็นสัตว์ปีกที่สำคัญที่สุดในโลก
อ่านเพิ่มเติมจาก “Why did the Chicken Cross the World ? The Epic Saga of the Bird that Powers Civilization” โดย Andrew Lawler จัดพิมพ์โดย Atria Books ปี 2014
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์