สดร. เตรียมตั้งกล้องโทรทรรศน์ชวนส่องดาวเสาร์ - ราชาแห่งวงแหวน เข้าใกล้โลกที่สุดในรอบปี 21 ก.ค.นี้
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผย 21 กรกฎาคม 2563 "ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ปรากฏสว่างทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ นานตลอดคืนถึงรุ่งเช้า หากฟ้าใสไร้ฝนสังเกตได้ด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคทั่วไทย
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่า วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม 2563 ดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ โดยจะมีดวงอาทิตย์ โลก ดาวเสาร์ เรียงกันในแนวเส้นตรง ส่งผลให้ดาวเสาร์มีระยะใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี (Saturn Opposition) ห่างประมาณ 1,346 ล้านกิโลเมตร
ในวันดังกล่าวเมื่อดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า จะมองเห็นดาวเสาร์สว่างอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และจะสังเกตได้ยาวนานตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า หากดูดาวเสาร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 4 นิ้ว หรือมีกำลังขยายตั้งแต่ 50 เท่าขึ้นไป จะเห็นวงแหวน A และวงแหวน B แยกกันอย่างชัดเจนโดยมีช่องแบ่งแคสสินีอยู่ตรงกลางระหว่างวงแหวนทั้งสอง
“คืนดังกล่าวยังสามารถสังเกตเห็นดาวพฤหัสบดี ปรากฏสว่างใกล้กับดาวเสาร์ในช่วงเวลาเดียวกันอีกด้วย หากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์จะเห็นแถบเมฆบนดาวพฤหัสบดีและดวงจันทร์บริวาร 4 ดวงได้อย่างชัดเจน”
นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สดร. เตรียมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ “ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ในวันอังคารที่ 21 กรกฎาคม 2563 ที่จะถึงนี้ ตั้งแต่เวลา 18:00 - 22:00 น. ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง ในรูปแบบนิวนอร์มอลฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ได้แก่
1.เชียงใหม่ : อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โทร. 081-8854353
2.นครราชสีมา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา โทร. 086-4291489
3.ฉะเชิงเทรา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา โทร. 084-0882264
4.สงขลา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา โทร. 095-1450411 ตั้งแต่เวลา 18:00 - 22:00 น.
“ขอเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมในวันและเวลาดังกล่าว และพิเศษสุด พบกับ Night at the Museum เปิดให้เข้าชมนิทรรศการดาราศาสตร์และท้องฟ้าจำลองรอบพิเศษ” นายศุภฤกษ์เชิญชวน โดยค่าเข้าชมท้องฟ้าจำลอง ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก 30 บาท
หลังจากนี้ ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์จะปรากฏบนท้องฟ้าใกล้กันมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งในช่วงวันที่ 20-23 ธันวาคม 2563 ดาวพฤหัสบดีจะปรากฏเคียงดาวเสาร์ ใกล้กันที่สุดในรอบ 397 ปี ห่างกันเพียง 0.1 องศา จนมองเห็นราวกับว่าเป็นดาวดวงเดียวกัน เรียกว่า “The Great Conjunction”
“หากใช้กล้องโทรทรรศน์กำลังขยายไม่เกิน 100 เท่า จะเห็นดาวเคราะห์ทั้งสองปรากฏอยู่ในช่องมองภาพเดียวกันได้ สังเกตได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ บริเวณระหว่างกลุ่มดาวคนยิงธนูและกลุ่มดาวแพะทะเล ถือเป็นปรากฏการณ์ที่หาชมได้ยาก น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง” นายศุภฤกษ์ กล่าวปิดท้าย