ประเทศไทยมีวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรปริมาณมหาศาล ซึ่งเปลี่ยนเป็นพลังงานได้ แต่ที่ผ่านมาถูกเผาทิ้งอย่างไร้ค่า และกลายเป็นปัญหาฝุ่นละเอียด PM 2.5 ขณะที่เทคโนโลยีเปลี่ยนชีวมวลเป็นพลังงานก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ และมีใช้กันหลากหลายในยุโรป แต่เราจะซื้อเทคโนโลยีต่อไปเรื่อยๆ ได้นานแค่ไหน?
คณะรัฐมนตรีเพิ่งเห็นชอบอนุมัติจัดตั้ง “ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ” (National Energy Technology Center) หรือ ENTEC ให้เป็นหน่วยงานเฉพาะทางในสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เมื่อ 9 มิ.ย.63 ซึ่ง ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. ระบุว่า พร้อมเดินหน้าจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวตามแผนกลยุทธ์ สวทช. ฉบับที่ 6.2 (2562 - 2566) เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการสร้างความเป็นเลิศในการเป็นผู้นำด้านพลังงานของประเทศ
ดร.ณรงค์ระบุว่า ENTEC จะเชื่อมโยงงานวิจัยและพัฒนาของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่มีบทบาทเกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนแผนพลังงานไปสู่การปฏิบัติ พร้อมเกิดฐานองค์ความรู้ที่บูรณาการร่วมกันมากขึ้น เพื่อนำประเทศสู่อิสรภาพทางด้านเทคโนโลยี และความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ เพราะเป็นหนึ่งในทรัพยากรที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจการท่องเที่ยว จนถึงการเกษตร
“แต่เราไม่สามารถที่จะมีความมั่นคงทางพลังงานได้เลย ตราบที่เราไม่มีเทคโนโลยีที่เพียงพอ จะสังเกตได้ว่าในสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยต่างๆ ทำวิจัยทางด้านพลังงานมาโดยตลอด แต่การศึกษาเหล่านั้นไม่ได้ไปด้วยกันกับนโยบาย การเป็นกลุ่มเป็นก้อนยังไม่เกิด ยังกระจัดกระจายเป็นรายโครงการ จึงเกิดแนวคิดตั้งศูนย์กลางรวมงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัย เป้าหมายหลักคือเราจะต้องมีอิสรภาพทางด้านเทคโนโลยีพลังงาน” ดร.ณรงค์กล่าว
ดร.ณรงค์ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยนำเข้าพลังงานประมาณ 70% และส่งออกพลังงานชีวมวลไปจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย เพราะเรามีชีวมวลจำนวนมาก ตั้งแต่ปศุสัตว์ การทำก๊าซชีวภาพ หรือแม้กระทั่งในภาคเกษตรกรรม ที่สามารถนำส่วนหนึ่งของชีวมวลเหล่านี้มาใช้ในเรื่องของพลังงานได้ รวมถึงต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการรวบรวมแหล่งของพลังงานชีวมวล ในด้านเชิงนโยบายและโลจิสติกส์ เพราะเรามีพื้นที่ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก
“ไทยยังมีเทคโนโลยีทางด้านพลังงานอีกมากที่อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย อย่างพลังงานชีวมวลนั้นก็เกิดจากการใช้น้ำ แสงแดด คลอโรฟิลด์เพื่อสังเคราะห์แสง ซึ่งเราก็มีเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์แสง หรือเทคโนโลยีด้านเซลล์แสงอาทิตย์ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะยังไม่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง และปัจจุบันการนำเข้ามีราคาถูกกว่า แต่ยังต้องทำต่อเพราะอนาคตข้างหน้าอาจจะมีเทคโนโลยีที่มากกว่าในปัจจุบัน ซึ่งเราอาจจะสามารถเป็นผู้นำอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ได้ในอนาคต” ดร.ณรงค์กล่าว
นอกจากเทคโนโลยีผลิตพลังงานโดยตรงแล้ว เทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน เพื่อเก็บพลังงานที่ผลิตได้และใช้ไม่หมดก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน ไม่เช่นกันเราอาจต้องทิ้งพลังงานที่ผลิตได้โดยเปล่าประโยชน์ ซึ่ง ดร.ณรงค์ให้สัมภาษณ์ต่อว่า ระบบกักเก็บพลังงานที่เรามักนึกถึงคือแบตเตอรี ซึ่งใช้ในยานยนต์ไฟฟ้า โทรศัพท์มือ อุุปกรณ์เคลื่อนที่ต่างๆ แต่การผลิตแบตเตอรีต้องใช้ “แร่หายาก” ซึ่งไม่มีอยู่ในประเทศไทย เราจึงต้องนำเข้า
ดร.ณรงค์ระบุว่า ในประเทศไทยมีแร่จำนวนหนึ่ง คือ สังกะสี ซึ่งมีการใช้งานหลากหลายมาตั้งแต่โบราณ เช่น นำมาทำเป็นภาชนะ ผลิตเป็นหลังคา ซึ่งสังกะสีนี้เป็นส่วนหนึ่งของวัตถุดิบที่ใช้ผลิตเป็นแบตเตอรีได้ การวิจัยที่ผ่านมา สวทช.ได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาแบตเตอรีจากสังกะสีให้มีความเสถียร และไม่ระเบิด การพัฒนาดังกล่าวจะสร้างเสถียรภาพได้ยามเกิดวิกฤต ทำให้เราสามารถผลิตแบตเตอรีชดเชยในประเทศได้
“ฉะนั้นการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ และสิ่งเหล่านี้เมื่อผลิตแล้วต้องมีการบริหารจัดการ ในตัวแบตเตอรีที่เราเห็นเป็นก้อนภายในจะมีแบตเตอรีก้อนเล็ก เรียกว่า “แบตเตอรีเซลล์” เมื่อนำแบตเตอรีเซลล์มาเกาะรวมกัน จะเรียก “แบตเตอรีแพ็ค” ที่เป็นก้อนแบบที่เราพบเห็น พวกนี้เป็นก้อนขนาดเล็กเมื่อมีการเสื่อมต้องมีการบริหารจัดการ มีซอฟท์แวร์ในตัวเองว่าจะชาร์จไปที่แบตเตอรีเซลล์ใด ปล่อยจากแบตเตอรีเซลล์ใด เพื่อยืดอายุการใช้งานของเซลล์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การจัดตั้งศูนย์ ENTEC จึงเป็นเรื่องที่ต้องลุกขึ้นมาทำอย่างจริงจัง เพราะเรื่องความมั่นคงทางด้านพลังงาน จะเป็นโจทย์ท้าทายในอนาคต” ดร.ณรงค์กล่าว
ทางด้าน ดร.จุลเทพ ขจรไชยกุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. และในฐานะผู้บริหารที่ดูแลการจัดตั้งศูนย์ ENTEC ในเบื้องต้น กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายของศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ ในช่วงระยะแรกจะเป็นตามแนวทางตามหลักคิดของ สวทช. ในเรื่องการสร้างเทคโนโลยีขึ้นมา แล้วพยายามทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคมเห็นว่า สิ่งที่เราลงทุนสร้างขีดความสามารถทางเทคโนโลยีต่างๆ ผลผลิตจากงานวิจัยที่จะสร้างผลกระทบให้เกิดมูลค่า 4 - 5 เท่าขึ้นมาจากที่ทำงานลงไป
“ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีพลังงานชีวมวล ต้องใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบ้านเราในการแปลงวัตถุดิบต่างๆ มาเป็นพลังงานหมุนเวียน ในรายละเอียดจะหารือให้สอดรับกับแผนนโยบายของประเทศซึ่งกระทรวงพลังงานดูแลอยู่ รวมถึงในเรื่องอื่นๆ เช่น จะใช้สัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเท่าใด แนวทางเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร การสร้างเทคโนโลยี สร้างอุตสาหกรรมและสร้างกิจการขึ้นมารองรับ ตลอดจนเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานที่เหมาะกับประเทศเขตเมืองร้อนและร้อนชื้นสูง เพื่อให้เรามีเทคโนโลยีที่เหมาะสมมากขึ้น ส่วนไหนที่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นเป็นวัสดุประกอบได้ จะเพิ่มมูลค่าให้วัตถุดิบเหล่านั้น” ดร.จุลเทพระบุ
ดร.จุลเทพซึ่งจะดูแล ENTEC ในระยะแรกกล่าวอีกว่า ความมั่นคงทางพลังงานเป็นสิ่งสำคัญในอนาคต เพราะหากเกิดปัญหาขึ้น อย่างกรณีโควิด-19 ที่เราได้เห็นเป็นตัวอย่าง ความสามารถในการฟื้นตัวและสามารถผลิตพลังงานขึ้นมาใช้เองในภาวะวิกฤตต่างๆ จะเป็นหัวใจในการรักษากิจกรรมทางเศรษฐกิจในทุกภาคส่วนให้เดินต่อไปได้ โดยเบื้องต้นจะนำบุคลากรวิจัย สวทช.มารวมกันในศูนย์ฯ ซึ่งเป็นแกนหลักในการบูรณาการงานภายใต้กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่มีบทบาทเกี่ยวข้องต่างๆ และมีองค์ความรู้ในหลากหลายสาขาวิชา ทั้งวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เคมี ฟิสิกส์ วิศวกรรมไฟฟ้า ที่จะบูรณาการกันมากขึ้น