วว.โชว์นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ “กล่องเก็บกลิ่นทุเรียน" ล็อคกลิ่นได้ 100% สะดวกต่อผู้ขาย ถูกใจต่อผู้บริโภค อีกทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกหนึ่งผลงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย เปิดตัวผลงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ “กล่องเก็บกลิ่นทุเรียน” ช่วยกักเก็บกลิ่นไม่ให้ออกสู่ภายนอกได้อย่างสมบูรณ์แบบ 100%
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า ทุเรียนเป็นราชาแห่งผลไม้ที่เป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างประเทศ แต่เรื่องกลิ่นของทุเรียนสามารถสร้างปัญหาได้ไม่น้อยเช่นกัน เมื่อต้องเก็บทุเรียนรวมกับอาหารชนิดอื่นหรือน้ำดื่มในตู้เย็น เมื่อต้องขึ้นรถ ขึ้นเครื่องบิน หรือลงเรือ
"โดยเฉพาะเมื่ออยากซื้อทุเรียนเป็นของฝาก เพราะกลิ่นอาจสร้างปัญหารบกวนคนอื่นหรือแม้แต่ตัวเองได้ หรือแม้กระทั่งโรงแรม ที่พักเกือบทุกแห่งในบางจังหวัดยังมีกฎห้ามผู้เข้าพักนำทุเรียนเข้าห้องพักเลยทีเดียว” ดร.ชุติมากล่าว
ทั้งนี้ ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย (ศบท.) วว. ประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนา บรรจุภัณฑ์เทอร์โมฟอร์ม ใช้บรรจุทุเรียนสดตัดแต่ง ร่วมกับ บริษัท เซฟเฟอร์แพค ประเทศไทย จำกัด ภายใต้ โครงการ “STIM เพื่อ เอส เอ็ม อี” (ปีงบประมาณ 2561) ที่มีประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาจากกลิ่นทุเรียนได้อย่างสมบูรณ์แบบ 100%
บรรจุภัณฑ์สำหรับทุเรียนดังกล่าวออกแบบและพัฒนาขอบล็อคเป็นพิเศษ ช่วยป้องกันการผ่านเข้าออกของก๊าซและไอน้ำได้ จึงสามารถกักเก็บกลิ่นไม่พึงประสงค์ไม่ให้ออกสู่ภายนอกได้ และยังสามารถป้องกันความชื้นจากสภาพแวดล้อมภายนอกไม่ให้เข้าสู่ภายในได้
“นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ กล่องเก็บกลิ่นทุเรียนนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งงานวิจัยด้านบรรจุภัณฑ์ของ วว. ที่สามารถใช้งานได้จริง โดยเมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทเซฟเฟอร์แพคฯ ได้นำแบบโครงสร้างที่พัฒนาขึ้นจากโครงการดังกล่าวไปผลิตเพื่อวางจำหน่ายในเชิงพาณิชย์โดยใช้แผ่นพลาสติก PET ชนิดป้องกันการเกิดฝ้า เพื่อให้มีคุณลักษณะที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดมากขึ้น”
ผลจากการพัฒนาได้เป็นกล่องเก็บกลิ่นทุเรียน Ozone Box ภายใต้แบรนด์ SAFER PAC ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้าทั้งผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีกทุเรียนภายในประเทศทั้งแบบวางจำหน่ายที่ร้านและแบบบริการส่งถึงบ้าน และผู้ส่งออกทุเรียน
"นับเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของ วว. ที่งานวิจัยดังกล่าวได้ถูกนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ เพื่อสนองตอบความต้องการของผู้ประกอบการและผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ด้าน ดร.ศิริวรรณ ตั้งแสงประทีป นักวิจัยอาวุโส ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การออกแบบและพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ดังกล่าว ใช้แนวคิดในการออกแบบแบบองค์รวม (Holistic Design and Development) โดยคำนึงถึงปัจจัยหลายประการประกอบกัน ได้แก่ ความสะดวกในการบรรจุและใช้งาน กล่องที่พัฒนาขึ้นจึงเปิดง่าย-ปิดสนิท และ เปิด-ปิดซ้ำได้
“ทำให้สามารถเก็บทุเรียนที่เหลือไว้รับประทานต่อได้สะดวก รวมถึงปัจจัยความสวยงามในการแสดงสินค้าขณะวางจำหน่าย (Display) กล่องจึงมีความใสเป็นพิเศษสามารถเห็นพูทุเรียนได้รอบด้านอย่างชัดเจน และไม่ลืมปัจจัยสำคัญคือ ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามหลักการ Eco-Package Design ทำให้กล่องแข็งแรงขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มความหนาของแผ่นพลาสติก” ดร.ศิริวรรณกล่าว
ดร.ศิริวรรณ ระบุด้วยว่า ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีด้านบรรจุภัณฑ์แห่งชาติ มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีด้านบรรจุภัณฑ์ และงานบริการวิเคราะห์ทดสอบด้านบรรจุภัณฑ์อย่างครบวงจร เพื่อรองรับความต้องการของทุกภาคส่วน
ผู้สนใจขอรับบริการโปรดติดต่อได้ที่ ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย วว. (บางเขน) เลขที่ 196 ถ.พหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร 2579 1121 ต่อ 3101, 3208 , 081 702 8377 E-mail : TPC-tistr@tistr.or.t