xs
xsm
sm
md
lg

ช่วงหัวค่ำกลางเดือนเมษา ออกตามล่าดาวหาง ATLAS

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์


ภาพถ่ายดาวหาง C/2019 Y4 (ATLAS) บันทึกโดยกล้องโทรทรรศน์ควบคุมระยะไกลอัตโนมัติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ณ ยอดดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ภายใต้โครงการเฝ้าระวังวัตถุใกล้โลกและวัตถุอวกาศ (ภาพโดย : สิทธิพร เดือนตะคุ / Camera : FLI CCD camera / Telescope : PlaneWave CDK700 / Focal length : 4540 mm / Aperture : f/6.5 / Exposure : LRGB : 300sec x 20 Images )
กลางเดือนเมษายนนี้เราอาจมีโอกาสได้เห็นดาวหาง (C/2019 Y4) ATLAS ด้วยตาเปล่า ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ (หากฟ้าใส และไม่มีแสงไฟรบกวน) โดยตำแหน่งดาวหาง ATLAS ในเดือนเมษายนนี้จะอยู่ในทางทิศเหนือใกล้บริเวณกลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa Major) สามารถถ่ายภาพได้ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายนเป็นต้นไป (ในช่วงต้นเดือนยังมีแสงดวงจันทร์รบกวน)

ดาวหางดวงนี้เป็นดาวหางที่กำลังโคจรเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน และมีค่าความสว่างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยนักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่ามีโอกาสสว่างจนสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก คาดว่าดาวหาง C/2019 Y4 (ATLAS) อาจจะสว่างได้ถึงระดับ แมกนิจูด -2 (ดวงจันทร์เต็มดวงมีค่าความสว่างที่แมกนิจูด -12.6) นั่นหมายความว่าดาวหางดวงนี้อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะออกไปเก็บภาพดาวหางดวงนี้กัน

ข้อมูลเกี่ยวกับดาวหางดวงนี้

ดาวหาง (C/2019 Y4) ATLAS เป็นดาวหางคาบยาวที่มีวงโคจรเกือบจะเป็นพาราโบลา (Near-Parabolic) คือ มีค่าความรีสูง คาบการโคจรประมาณ 5,500 ปี จะเดินทางเข้ามาในระบบสุริยะชั้นในแต่ละครั้งใช้เวลาหลายพันปี ทำให้การเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ครั้งนี้เป็นครั้งเดียวในช่วงชีวิตของเราที่จะได้เห็น

ความน่าสนใจของดาวหางดวงนี้คือ มีโอกาสที่เราจะสามารถมองเห็นได้ง่ายด้วยตาเปล่า คาดการณ์ว่าอาจจะสว่างได้ถึงระดับ แมกนิจูด -2 เช่นเดียวกับดาวหางเฮล-บอปป์ (Hale-Bopp) ที่เคยเข้ามาใกล้โลกในอดีต ช่วงปี พ.ศ. 2539 ซึ่งมีค่าแมกนิจูด -1.3 ที่สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน

โดยสีเขียวของดาวหางนั้นเกิดจากชั้นโคมาของดาวหางที่ประกอบด้วยแก๊ซไซยาโนเจน (CN) เมื่อได้รับแสงจากดวงอาทิตย์ก็จะปรากฏแสงเรืองสีเขียวนั่นเอง

ภาพกราฟแสดงความสว่างของดาวหาง C/2019 Y4 (ATLAS) ที่คาดการณ์ไว้ (เส้นสีแดง) เทียบกับผล การสังเกตการณ์จริง (จุดสีดำ) โดย เซอิจิ โยชิดะ นักล่าดาวหางชื่อดังของญี่ปุ่น (ภาพจาก www.aerith.net)
การถ่ายภาพดาวหาง
สำหรับการถ่ายภาพดาวหางนั้น ในช่วงที่ดาวหางกำลังเริ่มเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ การดูด้วยตาเปล่าจะยังไม่สามารถมองเห็นได้ แต่การถ่ายภาพด้วยกล้องโทรทรรศน์แบบตามดาวนั้น สามารถทำได้ โดยมีวิธีการค้นหาตำแหน่ง และการถ่ายภาพดาวหาง ดังนี้

A. เทคนิคการหาตำแหน่งดาวหาง

1. เริ่มต้นจากการใช้โปรแกรม Stellarium ในการหาตำแหน่งได้ ด้วยการเพิ่มรายชื่อดาวหางเข้าไปในโปรแกรม (รายละเอียดการใช้งานโปรแกรมในการหาตำแหน่งดาวหาง ตามลิงก์ : https://bit.ly/2wQ9mZT)

ตำแหน่งดาวหาง C/2019 Y4 (ATLAS) ในช่วงเดือนเมษายน ในช่วงหัวค่ำ ทางทิศเหนือ บริเวณใกล้กับกลุ่มดาวหมีใหญ่  (Ursa Major) จากโปรแกรม Stellarium
2. สำหรับคนที่มีกล้องโทรทรรศน์ที่มีระบบพิกัด R.A. และ Dec. ก็สามารถใช้วิธีการ Setting Circle ในการหาตำแหน่งดาวหางได้


โดยวิธีนี้มีเทคนิคดังนี้

2.1 ให้ชี้กล้องไปยังตำแหน่งดาวฤกษ์อ้างอิงบนท้องฟ้าที่ทราบพิกัด (R.A Dec.) ที่อยู่ใกล้กับตำแหน่งดาวหาง ATLAS โดยกล้องโทรทรรศน์ต้องทำการ Polar alignment เรียบร้อยแล้ว

2.2 จากนั้นปรับสเกล พิกัด (R.A Dec.) ของกล้องโทรทรรศน์ ตามพิกัดของดาวอ้างอิง ที่กล้องชี้ ซึ่งพิกัดของดาวสามารถดูค่าได้จากโปรแกรม Stellarium หรือโปรแกรมดูดาวทั่วไป

2.3 ปลดล็อกแกนของกล้องโทรทรรศน์แล้ว โยกไปยังพิกัดของดาวหาง

2.4 เช็คตำแหน่งดาวหางจากกล้องเล็ง (ปกติหากทำ Polar alignment แม่นยำ และกล้องโทรทรรศน์หลักกับกล้องเล็ง ตรงกัน จะเห็นดาวหางอยู่ในช่องมองภาพของกล้องเล็ว) และปรับให้ตำแหน่งของดาวหางอยู่กลางกล้องเล็งแบบละเอียดอีกครั้ง ภาพดาวหางก็จะอยู่ในกล้องโทรทรรศน์หลัก ก็สามารถถ่ายภาพดาวหางได้แล้ว

3. การตรวจสอบตำแหน่งแบบ Real-time จากหน้าเว็บไซต์ https://theskylive.com/ ที่สามารถเข้าไปดูตำแหน่งที่เปลี่ยนไปในแต่ละวันได้ แค่เพียงกรอกชื่อดาวหางที่ต้องการค้นหาเข้าไป เมื่อทราบตำแหน่งแล้ว อาจให้การหาตำแหน่งจากการอ้างอิงดาวฤกษ์พื้นหลังได้

ตัวอย่างหน้าเว็บไซต์ https://theskylive.com/ ที่สามารถเข้าไปดูตำแหน่งที่เปลี่ยนไปในแต่ละวัน แบบ Real-time
4. ตรวจสอบแนวทางการเคลื่อนที่ในแต่ละวัน จากโปรแกรม Stellarium โดยสามารถศึกษารายละเอียดได้ตามลิงก์ : https://bit.ly/2UGsNxh

ตัวอย่างการแสดงแนวทางการเคลื่อนที่ของดาวหาง C/2019 Y4 (ATLAS) ตั้งแต่วันที่ 10 – 30 เมษายน 2563 จากโปรแกรม Stellarium
B. เทคนิคการถ่ายภาพดาวหาง
สำหรับเทคนิคการถ่ายภาพดาวหางในช่วงกลางเดือนเมษายนนั้น จะขออนุญาตแนะนำการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอล ถือเป็นการถ่ายภาพที่ค่อนข้างสะดวกที่สุด เนื่องจากดาวหางจะมีการเคลื่อนที่ตลอดเวลา การถ่ายภาพด้วย CCD ด้วยการถ่ายแยก Filter นั้นค่อนข้างซับซ้อน ดังนั้นการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอลจะสะดวกและง่ายกว่า โดยมีเทคนิคดังนี้

1. หาตำแหน่งดาวหางจากข้อมูลเว็บไซต์ Theskylive.com หรือ Stellarium หรืออาจใช้การ Setting circle จากกล้องโทรทรรศน์ก่อนเป็นอันดับแรก

2. ควรถ่ายภาพบนอุปกรณ์ตามดาว หรือถ่ายผ่านกล้องโทรทรรศน์ เนื่องจากดาวหางช่วงนี้ยังคงจะมีความสว่างค่อนข้างน้อย จึงจำเป็นต้องถ่ายภาพโดยการเปิดหน้ากล้องที่นานหลายวินาที

3. เวลาในการเปิดหน้ากล้องถ่ายภาพ ไม่ควรนานเกิน 5 นาที เนื่องจากดาวหางมีการเคลื่อนที่ตลอดเวลา ซึ่งหากใช้เวลาถ่ายภาพนานเกินไป ภาพดาวหางจะยืด (ดังภาพตัวอย่างด้านล่าง)

ตัวอย่างภาพถ่ายดาวหาง ที่ใช้เวลาในการถ่ายภาพนาน จะทำให้ดาวหางยืดเป็นเส้น
4. ใช้ความไวแสงสูง เช่น ISO 3200 ขึ้นไปเป็นค่าต้น ซึ่งสามารถปรับตามสภาพท้องฟ้า เพื่อให้เห็นรายละเอียดของหางดาวหางได้ชัดเจนที่สุด เนื่องจากบริเวณหางของดาวหางจะมีความสว่างค่อนข้างน้อย

5. ใช้รูรับแสงกว้าง เพื่อให้กล้องมีความไวแสงมากที่สุด

6. เปิดระบบลดสัญญาณรบกวน (Long Exposure Noise Reduction) เพื่อจัดการกับสัญญาณรบกวนที่มักเกิดจากการถ่ายภาพที่ใช้ ISO สูง และใช้เวลาถ่ายภาพนาน ๆ


7. สุดท้ายคือ ไฟล์ RAW เพื่อความยืดหยุ่นในการปรับภาพในภายหลัง

สำหรับใครที่ต้องการจะถ่ายภาพดาวหางดวงนี้ ควรแยกกันไปถ่ายภาพนะครับ ต่างคนต่างถ่าย บ้านใครบ้านมัน ซึ่งเวลาที่สามารถถ่ายภาพเริ่มตั้งแต่ช่วงหัวค่ำเป็นต้นไป ซึ่งหากความสว่างของดาวหาง มีความสว่างเพิ่มขึ้นตามคาดการณ์ สวนหลังบ้านทางด้านทิศเหนือที่ไม่มีแสงรบกวนก็พอจะสามารถใช้ถ่ายภาพดาวหางกันได้แล้วครับ แต่หากจะออกไปหาสถานที่มืดๆ ถ่ายภาพ ก็อย่าลืมเผื่อเวลาเดินทางกลับให้ถึงบ้านก่อน 4 ทุ่ม กันด้วยนะครับ (เดี๋ยวโดนจับปรับ 30,000 บาท) แต่ถ้าจะให้ดีก็ควร อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติกันก่อนนะครับ


เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์" โดย ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน



กำลังโหลดความคิดเห็น