“สุวิทย์ เมษินทรีย์” รมว.การอุดมศึกษาฯ เผยผลิตชุดตรวจโควิด – 19 สำเร็จ เตรียมส่งมอบ 1 ล้านชุด ภายใน 6 เดือน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจง่ายขึ้น เสนอปิดมหาวิทยาลัย 2 สัปดาห์เรียนออนไลน์ 1 เม.ย.นี้ พร้อมให้ปรับ เลื่อนหรือยกเลิกการสอบ การฝึกงาน ส่วนบุคลากรให้ทำงานที่บ้าน สั่งโรงเรียนแพทย์เตรียมเปิดโรงพยาบาลสนาม ในโรงยิม และ หอประชุมมหาวิทยาลัย
เมื่อวันที่ 17 มี.ค.63 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยว่า อว.เสนอ 6 มาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาตรการแรก ได้แก่ มาตรการการบริหารจัดการดูแลนิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัย โดยให้มีการปรับรูปแบบการเรียนการสอนจากระบบปกติเป็นระบบออนไลน์และให้ปิดมหาวิทยาลัยภายใน 2 สัปดาห์ โดยใช้การเรียนการสอนออนไลน์ ภายในวันที่ 1 เม.ย.นี้ และให้ปรับ เลื่อนหรือยกเลิกการสอบ การฝึกงาน งดกิจกรรมเพื่อลดการสัมผัสเชื้อ
มาตรการที่สอง ให้มีการทำงานที่บ้านสำหรับบุคลากรของ อว.เพื่อลดการเดินทางและลดการสัมผัสเชื้อให้มากที่สุด สำหรับงานที่ต้องมีการปฏิบัติการ ให้ปฏิบัติการด้วยประสิทธิภาพเท่าเดิม แต่ปรับเปลี่ยนวิธีการหรือ บริหารจัดการให้มีความเหมาะสมตามที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศ และงดกิจกรรมของทุกหน่วยงานที่ต้องมีคนจำนวนมาก
มาตรการที่สาม เตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ โดยสั่งการให้เครือข่ายโรงพยาบาล กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ประสานงานกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในเรื่องขั้นตอนและแนวปฏิบัติที่เหมาะสม ตั้งแต่ผู้ป่วยเข้าสู่โรงพยาบาลไปจนถึงการรักษา แผนการส่งต่อผู้ป่วย การดูแลผู้ป่วย การลดผู้ป่วยที่สามารถรอการรักษา การเตรียมหอผู้ป่วย การเตรียมไอซียู(ICU) เครื่องช่วยหายใจ จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ และห้องแยกพิเศษ พร้อมเตรียมการรองรับกรณีเกิดการระบาดในวงกว้าง เตรียมพื้นที่รองรับเพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เช่น โรงยิม และหอประชุมของมหาวิทยาลัย เป็นต้น
รมว.อว.กล่าวต่อว่า มาตรการที่สี่ จัดทำระบบบริหารความเสี่ยงด้วยนวัตกรรม เพื่อรองรับสถานการณ์ในระยะยาว อาทิ การพัฒนาระบบการติดตามและตรวจสอบ การใช้ระบบการแพทย์และสุขภาพทางไกล การจัดทำระบบแสดงตำแหน่งและจัดส่งสิ่งจำเป็นทางการแพทย์
มาตรการที่ห้า การสนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับโควิด – 19 โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดเตรียมกรอบงบประมาณ 250 ล้านบาท ในการจัดสรรทุนวิจัยใน 4 ประเด็นสำคัญเร่งด่วน ตั้งแต่ การศึกษาทางพันธุกรรมและทางชีววิทยาของไวรัสเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของเชื้อ การใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อวิเคราะห์การแพร่กระจายของเชื้อ การผลิตชุดตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคที่แม่นยำ รวดเร็ว โดยขณะนี้ ร่วมกับบริษัทสยามไบโอไซน์ ในการผลิตชุดตรวจโควิด เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจง่ายขึ้นและเพียงพอต่อความต้องการ โดยจะส่งมอบทั้งหมด 1 ล้านชิ้น ภายในระยะเวลา 6 เดือน จากปัจจุบันที่มีความต้องการในการใช้เฉลี่ย จำนวน 4,000 ชิ้นต่อวัน และคาดว่าจะสามารถลดต้นทุนการผลิตเฉลี่ยประมาณ 40% เหลือเพียงประมาณ 1,000 บาท จากเดิมราคาประมาณ 4,000 บาท
สุดท้ายมาตรการที่หก การสนับสนุนในด้านอื่นๆ โดยมุ่งเน้นในการสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์เป็นหลัก อาทิ หน้ากากอนามัยจากแผ่นกรองเส้นใยสมบัติพิเศษต้านเชื้อไวรัสและฝุ่น PM 2.5, หน้ากากผ้าแบบซักได้ หุ่นยนต์ช่วยประเมินผู้ป่วย