“สุวิทย์” สั่งทำ “ระบบสุขภาพทางไกล” สู้โควิด-19 ให้บริการคัดกรอง วินิจฉัยเบื้องต้น และตอบคำถามผ่านระบบตอบการสนทนาอัตโนมัติ (Chat bot) สำหรับประชาชนที่สงสัยว่าจะติดเชื้อและผู้ป่วยโรคเรื้อรังแต่ไม่ติดเชื้อที่ต้องมาโรงพยาบาลเพื่อตรวจตามนัดหรือรับยา ใช้ได้ปลาย มี.ค.นี้ ชี้ช่วยลดจำนวนผู้ที่ต้องมาโรงพยาบาลลงอย่างน้อย 20% เผยจับมือ 50 พันธมิตรจัดหาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
เมื่อวันที่ 16 มี.ค.63 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ตนได้สั่งการให้สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(สนช.) จัดทำระบบสุขภาพทางไกลหรือ telehealth เพื่อให้บริการคัดกรอง วินิจฉัยเบื้องต้น และตอบคำถามผ่านระบบตอบการสนทนาอัตโนมัติ (Chat bot) สำหรับประชาชนที่สงสัยกว่าจะติดเชื้อ และยังใช้ระบบการแพทย์ทางไกลสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังแต่ไม่ติดเชื้อ (NCDs) ที่ต้องมาโรงพยาบาลเพื่อตรวจตามนัดหรือรับยา โดยระบบดังกล่าวช่วยรับโทรศัพท์เก็บประวัติและติดตามอาการรองรับได้ประมาณ 1.5 ล้านคนต่อวัน ทั้งนี้ ตั้งเป้าจะช่วยลดจำนวนผู้ที่ต้องมาโรงพยาบาลลงอย่างน้อย 20% หรือ 750,000 ครั้ง ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการเดินทางไปยังสถานพยาบาล ลดความเสี่ยงและป้องกันการติดเชื้อแล้ว ยังช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ได้อีกด้วย
“ระบบสุขภาพทางไกล จะเป็นแอปพลิเคชันใช้ผ่านระบบโทรศัพท์มือถือ โดยจะมีการรวบรวมทุกแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องให้อยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกัน เช่น ระบบแนะนำเบื้องต้นด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI โดยสตาร์ทอัพที่เข้าร่วม ได้แก่ ใกล้มือหมอ, Agnos และ Deverhood ระบบปรึกษาแพทย์ผ่าน Telehealth โดยสตาร์ทอัพที่เข้าร่วม ได้แก่ แอปชีวี และ OCCA ระบบ AI ช่วยรับโทรศัพท์เก็บประวัติและติดตามอาการ โดยสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมได้แก่ CovidCareBot ระบบ AI อ่านภาพเอกซเรย์ทรวงอกเพื่อคัดกรองผู้ป่วย โดยสตาร์ทอัพที่เข้าร่วม ได้แก่ Inspectra และระบบดูแลผู้ป่วย NCDs โดยสตาร์ทอัพที่เข้าร่วม ได้แก่ Diamate และ Pharmasafe โดยคาดว่าจะสามารถพร้อมให้บริการอย่างเต็มรูปแบบได้ภายใน 2 สัปดาห์ หรือ ปลายเดือนมี.ค.นี้ บนเว็บไซต์ https://ymid.or.th/ ซึ่งจะเชื่อมกับเว็บไซต์ย่านนวัตกรรมสวนดอกต่อไป และสามารถเข้าไปติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ในไลน์แอด @YMID” ดร.สุวิทย์ กล่าว
รมว.อว.กล่าวด้วยว่า ที่สำคัญ เพื่อลดความตื่นตระหนกของคนในสังคม และสร้างความเชื่อมั่น ด้วยการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ทั้งในแง่การติดตามและตรวจสอบกลุ่มเสี่ยง การลดการบริหารจัดการวัสดุอุปกรณ์รวมไปถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต โดยอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตรทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี ฯลฯ กว่า 50 ราย เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมและแนวทางการกู้วิกฤต การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วย