4 เยาวชนไทยได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปศึกษาที่ศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐ ฯ และดูงานครั้งประวัติศาสตร์ที่ ศูนย์การบินอวกาศมาร์แชลของนาซา
โครงการทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทย (DTAS - Discover Thailand’s Astronauts Scholarship Program) ประกาศผลอย่างเป็นทางการ ณ วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ (IAAI) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ว่า 4 เยาวชนไทยที่ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปศึกษาที่ศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐ ฯ และดูงานครั้งประวัติศาสตร์ที่ ศูนย์การบินอวกาศมาร์แชล (Marshall Space Flight Center) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ณ มลรัฐแอละแบมา ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 4-12 เมษายน 2563
นายกฤษณ์ คุนผลิน ผู้แทนศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐฯ และ ศูนย์ข้อมูล NASA ประจำประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับการแข่งขัน STEM CAMP ในครั้งนี้เยาวชนที่ผ่านเข้ารอบ 24 คนสุดท้ายที่ผ่านการสอบข้อเขียน จะต้องสอบวัดความสามารถพื้นฐานด้านอวกาศ (SCAT – Space Camp Aptitude Test) ไปจนถึงความเข้มข้มทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ และ ศิลปะโดยผู้แข่งขันต้องผ่านการทดสอบในการสร้างเกราะกันความร้อนสำหรับยานอวกาศ (Venus Landing Mission) ภารกิจเก็บกู้ยานอวกาศ (Spacecraft Rescue Mission) การสร้างยานอวกาศจำลองที่สามารถทนแรงกระแทกสูง (Deep Impact Challenges) และ การกล่าวสุนทรพจน์แสดงวิสัยทัศน์การนำความรู้ที่ได้จากทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทยมาพัฒนาประเทศไทย การคัดเลือกในรอบสุดท้ายนี้ใช้ระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ฯ โดยที่คะแนนเสียงเลือกตั้งจากเพื่อนร่วมค่าย (Popular Vote) คิดเป็นร้อยละ 40 คะแนนที่ทำได้ในภาระกิจทั้ง 3 คิดเป็นร้อยละ 30 และ คะแนนเสียงเลือกตั้งจากคณะกรรมการทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทย (Electoral Vote) คิดเป็นร้อยละ 30
ผลการแข่งขันในครั้งนี้ได้เยาวชนไทยที่ได้รับทุนได้แก่
นักเรียนทุนอันดับที่ 1 นางสาวชนิศา พร้อมพัฒนภักดี จากโรงเรียนกำเนิดวิทย์ รับทุนการศึกษาจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า (Gistda)
นักเรียนทุนอันดับที่ 2 นักเรียนนายเรืออากาศ จิรภัทร คำนิล จากโรงเรียนนายเรืออากาศ รับทุนการศึกษาจาก บริษัท Frasers Property (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
นักเรียนทุนอันดับที่ 3 นายถิรวัฒน์ บุญสร้าง โรงเรียน เบญจมราชรังสฤษฎิ์ รับทุนการศึกษาจาก บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)
นักเรียนทุนอันดับที่ 4 นายกันตพิสิฐ ลิ้มศุภพุฒิกุล รับทุนการศึกษาจาก บริษัท OnDemand Education จำกัด
นักเรียนทุนสำรองอันดับที่ 1 นายภูวิศ เชาวนปรีชา โรงเรียนสาธิตประสานมิตร และ
นักเรียนทุนสำรองอันดับที่ 2 นายคณธัช คูสุวรรณ โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม
ทางด้านนางสาวปราณปริยา วงค์ษา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกิจกรรมค่าย STEM Camp ในครั้งนี้ เป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่งในการทดสอบทักษะความสามารถในหลายๆ ด้านของเยาวชนไทย อนาคตข้างหน้าเยาวชนเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะเป็นผู้ที่มีความสามารถในด้านวิทยาศาสตร์ ความเข้าใจในเทคโนโลยี ความสามารถในการแก้ปัญหาทางวิศวกรรม การคำนวณ การทำงานเป็นทีมตลอดจนมีความสามารถในการเป็นผู้นำ
"เด็กๆ จะได้เกิดการเรียนรู้สะเต็มอย่างเต็มที่ทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติในภาระกิจต่างๆ เช่น การขับยานอวกาศไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ การซ่อมแซมระบบวิศวกรรมของสถานีอวกาศนานาชาติ การวางดาวเทียมเข้าวงโคจร การทำงานในสภาวะไร้น้ำหนักร่วมกับทีมงาน การควบคุมภารกิจอวกาศของศูนย์อวกาศภาคพื้นดิน"
นายโสภณ ราชรักษา ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย มีความภาคภูมิใจที่ได้ให้การสนับสนุนโครงการ ‘ทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทย ปี 3’ ซึ่งสอดคล้องตามเจตนารมณ์ของบริษัท ฯ ที่ให้ความสำคัญด้านการพัฒนาชุมชนและสังคมที่เราดำเนินธุรกิจอยู่ ทุนนี้คือโอกาสครั้งสำคัญที่จะได้สัมผัสประสบการณ์ตรงซึ่งหาไม่ได้ง่าย ๆ ในการศึกษาเทคโนโลยีขั้นสูงด้านการบินและอวกาศจากองค์กรระดับโลก ณ ศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐ ฯ (U.S. Space and Rocket Center – USSRC) บริษัท ฯ เชื่อว่าความรู้และประสบการณ์ที่เด็ก ๆ ได้รับจะเป็นประโยชน์กับการศึกษาและการประกอบอาชีพของพวกเขาต่อไปในอนาคต
ด้านนายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทยปี 3 นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อเยาวชนไทยในแง่ของการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของเยาวชนในด้านสะเต็ม ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักสูตรพื้นฐานของระบบการศึกษาทั่วโลก และเป็นทักษะที่มีความจำเป็นสำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์แล้ว ภารกิจในการสนับสนุนเยาวชนไทยในครั้งนี้ ยังสอดคล้องกับวิสัยทัศน์และพันธกิจของ อสมท ในการส่งเสริมสังคมฐานความรู้ซึ่งเป็นฐานรากในการพัฒนาศักยภาพของคนและสังคมอย่างยั่งยืน
"อสมท ในฐานะองค์กรสื่อมวลชนของรัฐ เราพร้อมสนับสนุนโครงการดีๆ เช่นนี้ เพื่อสร้างเยาวชนไทยให้มีทักษะด้านวิทยาศาสตร์ให้มีความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต และขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0"
“ผมขอร่วมต้อนรับและแสดงความยินดีกับน้องๆ ที่ผ่านการทดสอบรอบ STEM CAMP ในครั้งนี้ ซึ่งจะทำให้น้องได้มีโอกาสฝึกฝนและเรียนรู้ทักษะ STEM พร้อมการพัฒนาทักษะ EQ จากองค์กร STEM ระดับโลก ซึ่งถึงแม้ว่าน้องที่ร่วม CAMP ครั้งนี้ จะได้ผ่านหรือไม่ก็ตาม แต่เชื่อว่าทักษะและประสบการณ์ที่ได้รับไปจากค่ายนั้น จะเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ เป็นการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่น้อง ๆ หาไม่ได้จากที่อื่น และจะเป็นทักษะที่สามารถติดตัวไป เพื่อให้น้องๆ สามารถต่อยอดผลสำเร็จได้ในอนาคตอย่างแน่นอน” นายสุธี อัสววิมล ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ออนดีมานด์ เอ็ดดูเคชั่น กล่าว