xs
xsm
sm
md
lg

6 ทางออกยางพาราเมื่อถูกกีดกันด้วยมาตรการจัดการสวนป่า

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นักวิจัยไทยเสนอ 6 ทางออกสำหรับสวนยางพาราไทย เพื่อรองรับการกีดกันทางการค้าด้วยข้ออ้างตามมาตรฐานสากล FSC ที่ไม่รับซื้อยางพาราจากสวนที่ไม่ผ่านการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดงานแถลงข่าว จับตาวิกฤตยางพาราไทย : ยางและไม้ยางพาราไทยกับการถูกกีดกันทางการค้าด้วย “มาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี เมื่อวันที่ 22 ต.ค.62 ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 15 สกสว. เพื่อสรุปสถานการณ์ของยางพาราไทยในปัจจุบันและนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาหลังไทยถูกกีดกันทางการค้าด้วย “มาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี”

ศ.ดร.ขวัญชัย ดวงสถาพร หัวหน้าภาควิชาการจัดการป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิจัยที่มีผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาศักยภาพของผู้ทำสวนยางพาราและผู้ประกอบธุรกิจให้ได้รับการรับรองการจัดการป่าไม้ในระดับนานาชาติ ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก สกสว. และ วช. อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 จนถึงปัจจุบัน ได้กล่าวว่า วิกฤตการข้อมูลปี 2561 ระบุว่าตลาดส่งออกยางพาราไทยอันดับ 1 คือ "จีน"

ศ.ดร.ขวัญชัยระบุว่า ขณะนี้จีนสร้างมาตรฐาน FSC ซึ่งเป็นมาตรฐานการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืนเสร็จแล้ว และเมื่อจีนประกาศใช้มาตรฐานดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยทันที ในขณะที่ประเทศไทยมีพื้นที่สวนยางพาราที่มีการจัดการได้รับการรับรองตามมาตรฐานเพียง 122,658 ไร่ หรือ 0.5% เท่านั้น แต่มีสวนยางที่ไม่ผ่านมาตรฐานสากลถึง 99.5%

“ปัญหาหลักๆ ในการรับรองมาตรฐานการจัดการสวนยางพาราในประเทศไทย 6 ข้อด้วยกัน ได้แก่ 1.ผลสืบเนื่องจากปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมโลกที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นส่งผลต่อการเร่งให้มีมาตรฐานการจัดการสวนยางพารา 2.สถานการณ์การส่งออกผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพาราในระยะยาวอยู่ในสถานภาพที่มีความเสี่ยงสูง 3. ประเทศไทยมีพื้นที่สวนยางพาราที่มีการจัดการและได้รับการรับรองตามมาตรฐานการจัดการป่าไม้ในระดับนานาชาติเพียงร้อยละ 0.5 ของพื้นที่สวนยางพาราทั้งประเทศ 4.มาตรฐานการรับรองการจัดการป่าไม้ในระดับนานาชาติตามเงื่อนไขของผู้ซื้อมีหลายมาตรฐาน 5.ผู้ทำสวนยางพาราและผู้ประกอบธุรกิจไม้ยางพาราส่วนใหญ่ไม่เข้าใจในมาตรฐานการรับรองการจัดการป่าไม้ในระดับนานาชาติที่ดีพอ และ 6.มีการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการรับรองของ FSC จากเวอร์ชั่น 4 เป็น เวอร์ชั่น 5 ในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งมีเงื่อนไขเพิ่มมากขึ้นในการปฏิบัติให้สอดคล้องกับมาตรฐาน”

ผศ.ดร.ขวัญชัย ได้เสนอแนะแนวทางเพื่อตอบโจทย์เร่งด่วนของวิกฤตยางพาราไทยบนพื้นฐานงานวิจัย 6 ประการ ได้แก่

1.กำหนดเป็นวาระแห่งชาติเร่งด่วนในการพัฒนาศักยภาพของการทำสวนยางพาราทั้งระบบเพื่อให้ได้รับการรับรองการจัดการป่าไม้ในระดับนานาชาติ

2.กำหนดหรือสร้างองค์กรที่มีภารกิจในการรับมือ เจรจา และสร้างการรับรู้กับผู้เกี่ยวข้อง เช่น การยางแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ มหาวิทยาลัย

3.พัฒนาศักยภาพและสร้างความพร้อมของผู้ทำสวนยางพารา ผู้ประกอบธุรกิจไม้ยางพารา และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ให้ได้รับการรับรองการจัดการป่าไม้ในระดับนานาชาติโดยด่วน

4.สร้าง Forest Management Standard for Thailand บนพื้นฐานของงานวิจัย ที่ได้รับการรับรองจาก FSC หรือ PEFC

5.เร่งวิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบที่เหมาะสมของการจัดการสวนยางพาราที่มีอยู่หลากหลายรูปแบบในประเทศไทย เช่น การปลูกเชิงเดี่ยว และการปลูกพืชร่วมยางพารา เพื่อรองรับการตรวจมาตรฐาน ภายใน 1-2 ปี

6.ผลักดัน เร่งรัด และเพิ่มศักยภาพให้สวนยางพาราไทยผ่านมาตรฐานการรับรองการจัดการป่าไม้ในระดับนานาชาติตามปริมาณและความต้องการของผู้ซื้อภายใน 2 ปี
ศ.ดร.ขวัญชัย ดวงสถาพร


กำลังโหลดความคิดเห็น