“เครื่องเอกซเรย์” ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือทางการแพทย์ที่สำคัญ ในการเป็นเครื่องมือช่วยวินิจฉัยภายในร่างกายของผู้ป่วย เพื่อให้แพทย์ได้ทำการรักษาอย่างถูกวิธี แต่เนื่องจากมีราคาแพงและต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้โรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลบางแห่งไม่มีเครื่องเอกซเรย์สำหรับไว้ใช้งาน ผู้ป่วยต้องเสียเวลาเดินทางมารักษา และเป็นภาระหนักของคนไข้ที่อยู่ห่างไกล
ด้วยเหตุนี้ ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโสและผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้เล็งเห็นถึงความเหลื่อมล้ำในการใช้เครื่องเอกซเรย์ในการรักษา และความยากลำบากในการเข้าถึงเครื่องเอกซเรย์ของผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกล จึงได้ทำโครงการวิจัยประดิษฐ์ “เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบรังสีทรงกรวย” ขึ้น เพื่อแก้ไขความเหลื่อมล้ำในการใช้เครื่องเอกซเรย์ในการรักษา และลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเครื่องเอกซเรย์จากต่างประเทศ
ศ.ดร.ไพรัช กล่าวว่า ทำโครงการวิจัยประดิษฐ์ “เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบรังสีทรงกรวย” ในฐานะผู้อำนวยการโครงการ มาตั้งแต่ปี 2560 โดยมีผู้ร่วมวิจัยคือ ดร.เสาวภาคย์ ธงวิจิตรมณี นักวิจัยอาวุโส สวทช. เป็นหัวหน้านักวิจัยระบบซอฟท์แวร์ และ ดร.กฤษณ์ไกรพ์ สิทธิเสรีประทีป นักวิจัยอาวุโส สวทช. เป็นหัวหน้านักวิจัยระบบฮาร์ดแวร์ และคณะวิจัยรวมทั้งสิ้น 19 คน
ในช่วงแรกของโครงการนั้น ดำเนินงานเริ่มจากการวิจัยและประดิษฐ์เครื่องเอกซเรย์ในด้านทันตกรรมเป็นอันดับแรก โดยเป็นเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบลำรังสีทรงกรวย โดยรังสีเอกซ์จะถูกฉายหลอดเอกซเรย์ ทะลุผ่านอวัยวะของผู้ป่วยที่ทำการตรวจ เข้ามายังอุปกรณ์รับรังสี และคำนวณด้วยระบบคอมพิมพ์เตอร์และสร้างภาพการวินิจฉัยแบบสามมิติ ที่มีรายละเอียดโครงสร้างอวัยวะของผู้ป่วยที่ชัดเจน
การวิจัยและพัฒนาเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบลำรังสีทรงกรวย ถือได้ว่าเป็นโครงการที่สร้างเครื่องมือเอกซเรย์ได้สำเร็จเป็นรายแรกที่สร้างโดยฝีมือนักวิจัยไทย และผลิตในประเทศไทย โดยได้ประดิษฐ์ออกสามลักษณะ คือ “เครื่องเดนตีสแกน” (DentiiScan) เน้นงานทันตกรรมและศัลยกรรมบริเวณช่องปากและใบหน้า , “เครื่องโมบีสแกน” (MobiiScan) เน้นการแก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ สามารถเคลื่อนย้ายได้ และ “เครื่องมินีสแกน” (MiniiScan) เน้นการตรวจหาขอบเขตทางรังสีของก้อนเนื้อเต้านมในห้องผ่าตัด เครื่องเอกซเรย์ทั้งสามแบบนั้นได้รับการทดสอบคุณภาพของภาพด้วยมาตรฐาน แฟนทอม (Phantom) ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยทางรังสีตามหลักสากล และได้รับรองมาตรฐานสากล ISO 13485 (ระบบการบริหารจัดการคุณภาพอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์) และนำเครื่องเอกซเรย์ไปใช้งานจริงกับผู้ป่วย โดยกระจายไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศไทย และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
“เครื่องเดนตีสแกนนั้น ใช้สแกนใบหน้าตั้งแต่บริเวณดวงตาและช่องปาก โดยส่วนมากจะใช้ในงานทันตกรรม เช่น การทำรากฟันเทียม, การฝ่าตัดฟันคุด และยังสามารถใช้วินิจฉัยโรคอื่นๆ ได้อีกด้วย เช่น ขากรรไกรหักเนื่องจากอุบัติเหตุ, มะเร็งกรามช้าง และไซนัสอักเสบ เครื่องนี้ได้ผลตอบรับจากผู้ใช้งานว่าภาพวินิจฉัยแบบสามมิตินั้นมีรายละเอียดโครงสร้างอวัยวะของผู้ป่วยที่ชัดเจน เช่น กรณีผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุบริเวณขากรรไกร รูปสแกนที่ได้จากเครื่องเอกซเรย์แบบสามมิติ จะเห็นโครงสร้างอวัยวะต่างๆ ของผู้ป่วยอย่างชัดเจน ภาพไม่ทับซ้อนเหมือนแบบสองมิติ ช่วยให้แพทย์สามารถตัดสินใจและรักษาผู้ป่วยได้ตรงจุดและถูกวิธี ย่นระยะเวลาในการรักษาได้อย่างมาก” ศ.ดร.ไพรัช กล่าวเสริม
สำหรับ “เครื่องโมบีสแกน” จะช่วยงานในด้านการศัลยกรรมเพื่อแก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ รวมทั้งผู้ป่วยโรคปากแหว่งเพดานโหว่ และยังสามารถสแกนอวัยวะอื่นๆ นอกจากกะโหลกศีรษะได้อีกด้วย เช่น มือ แขน เท้า ที่สามารถวางบนเครื่องเอกซเรย์ได้โดยไม่ติดขัด และ “เครื่องมินีสแกน” ก็จะช่วยวินิจฉัยก้อนเนื้อมะเร็ง ซึ่งเครื่องนั้นมีขนาดไม่ใหญ่มาก สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยก้อนเนื้อได้เลยในห้องผ่าตัด ช่วยลดระยะเวลาในการผ่าตัดและการดมยาสลบของผู้ป่วย ส่งผลให้การผ่าตัดเร็วขึ้น เพราะไม่ต้องรอผลวินิจฉัยและผ่าตัดเพื่อรักษาซ้ำอีก และช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยได้
ด้วยความห่วงใยในสวัสดิภาพของผู้ป่วย และช่วยลดการเหลื่อมล้ำในการใช้เครื่องมือเพื่อรักษา และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงของผู้ป่วยที่มีงบน้อยและอยู่ห่างไกลความเจริญ อีกทั้งยังลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ประหยัดเงินงบประมาณในด้านการแพทย์ให้กับประเทศ จึงทำให้ ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ และคณะนักวิจัยในโครงการวิจัย “เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบรังสีทรงกรวย” ได้รับรางวัล “นักเทคโนโลยีดีเด่น 2562” จากสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) และมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นรางวัลเพื่อเชิดชูเกียรติและแสดงความยินดีต่อนักเทคโนโลยีไทยที่สร้างผลงานด้านการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยี