xs
xsm
sm
md
lg

“เอนอีซ” เอนไซม์รักษ์โลก สำหรับคนรักผ้า

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ดร.ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ ผู้คิดค้น “เอนอีซ เอนไซม์ทำความสะอาดผ้าฝ้าย ที่ช่วยลดการใช้สารเคมี



“ผ้าฝ้าย” เป็นผ้าที่อยู่ในคู่สังคมไทยมาแต่โบราณ ไม่ว่าในยุคสมัยใดผ้าฝ้ายก็ได้รับความนิยมอย่างไม่เสื่อมคลาย แต่ในปัจจุบันการนำมาผ้าฝ้ายมาผลิตเป็นสิ่งทอนั้นไม่เหมือนกับเมื่อครั้งอดีต จากเมื่อก่อนชาวบ้านปลูกต้นฝ้ายและเก็บฝ้ายมาปั่นเป็นด้ายทำผ้าฝ้ายเพื่อทอผ้าเอง


ปัจจุบันนี้ผ้าฝ้ายส่วนใหญ่ที่ได้มานั้นได้จากการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม และมีการใช้สารเคมีในกรรมวิธีการผลิต ซึ่งต้องมีการนำมาทำความสะอาดก่อนจะนำมาผลิตเป็นสิ่งทอ จึงทำให้ผู้ผลิตสิ่งทอจากผ้าฝ้ายต้องสัมผัสกับสารเคมีอยากหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งขั้นตอนในการทำความสะอาดผ้านั้น ยังต้องใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง และได้น้ำเสียหลังจากการทำความสะอาดนั้น หากไม่มีการบำบัดที่ดีและปล่อยลงสู่สิ่งแวดล้อมแล้วก็อาจจะก่อให้เกิดปัญหาด้านมลพิษตามมาได้


ด้วยเล็งเห็นถึงปัญหาและคำนึงถึงผลกระทบจากสารเคมี ของการทำความสะอาดผ้าฝ้าย ดร.ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีเอนไซม์ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ จึงได้คิดค้น “เอนอีซ” (EnZease) เอนไซม์สำหรับใช้ในการทำความสะอาดผ้าฝ้าย ที่ช่วยลดสารเคมีที่ใช้ในขั้นตอนการทำความสะอาด


ดร.ธิดารัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ก่อนที่จะได้ผ้าฝ้ายมาทอเป็นผ้าผืนงาม หรือตัดชุดสวยนั้น ผ้าที่ใช้ต้องผ่านหลากหลายขั้นตอนทำความสะอาด เพื่อกำจัดแป้ง แว็กซ์และสิ่งสกปรกในผ้า เช่น การนำผ้าฝ้ายไปต้มในน้ำร้อนที่อุณหภูมิสูงซ้ำไปซ้ำมา การนำผ้าฝ้ายไปแช่ในน้ำผสมผงซักฟอกเป็นเวลานานๆ หรือในอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ต้องทำความสะอาดผ้าในปริมาณมากๆ ก็จะมีการใช้ สารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ และโซดาไฟ เพื่อขจัดแป้งและแว็กซ์ออกจากเส้นใยผ้า ก่อนที่จะนำมาผลิตเป็นสิ่งทอ ในการทำความสะอาดยังใช้น้ำและเชื้อเพลิงในการต้มน้ำในปริมาณที่มาก


"หากเป็นชาวบ้านที่ประกอบอาชีพด้านสิ่งทอแล้ว ก็ถือว่าเป็นการใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลืองมาก และยังต้องสัมผัสกับสารเคมีอยากหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อช่วยลดต้นทุนในการผลิตสิ่งทอจากผ้าฝ้าย ทางทีมงานจึงได้วิจัยเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ จนกระทั่งได้พัฒนาเทคโนโลยีเอนไซม์ และได้ผลงานวิจัย คือ “เอนอีซ” หรือเรียกอีกชื่อว่าเอนไซม์ทูอินวัน เพราะสามารถขจัดแป้ง แว๊กซ์ และทำความสะอาดสิ่งสกปรกในผ้าฝ้ายไปพร้อมๆ กัน โดยไม่ต้องทำความสะอาดหลายขั้นตอนด้วยวิธีเดิมๆ”




“เอนอีซ เอนไซม์จากจุรินทรีย์ธรรมชาติ

ทีมวิจัยต้องการจุลินทรีย์ที่สามารถผลิตเอนไซม์ย่อยทั้งแป้ง ทั้งแว็กซ์และทำความสะอาดผ้าฝ้ายได้ในเวลาเดียวกัน เนื่องจากโดยทั่วไปจุลินทรีย์บางชนิดผลิตเอนไซม์ย่อยแป้งได้แต่ไม่ย่อยแว็กซ์ หรือบางชนิดทำความสะอาดผ้าได้ตามที่ต้องการแต่ผลิตเอนไซม์น้อย ทีมวิจัยจึงได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บตัวอย่างเชื้อจุลินนทรีย์หลากหลายสายพันธุ์ในธรรมชาติ เช่น ตามลำคลองหรือบ่อบำบัดใกล้กับการโรงงานผลิตแป้ง


เมื่อได้จุลินทรีย์แล้วจึงนำมาเพาะเลี้ยง วิจัยและทดสอบว่าจุลินทรีย์ผลิตเอนไซม์ได้ตามต้องการ จนกระทั่งได้พบเชื้อจุลินทรีย์ที่สามารถผลิตเอนไซม์ตามที่ต้องการและผลิตได้ในปริมาณมาก และได้ตั้งชื่อว่า “เอนอีซ” แล้วได้กลายมาเป็นเอ็นไซม์สัญชาติไทย ที่ได้นำไปใช้ทดแทนการใช้สารเคมีในกระบวนการทำความสะอาดผ้าฝ้ายในอุตสาหกรรมสิ่งทอ


ปัจจุบัน มีการใช้งานเอนไซม์เอนอีชในกลุ่มชาวบ้านผู้ผลิตสิ่งทอ กลุ่มวิสาหกิจสิ่งทอ ร้านอวิกาหม้อห้อมแฟชั่น ที่ ต.เวียงทอง อ.สูงเม่น จ.แพร่ ทางกลุ่มได้ทดลองใช้และได้รับผลตอบรับในด้านดี เนื่องจากมีวิธีการใช้ที่ไม่ยุ่งยาก ด้วยการผสมเอนไซม์เอนอีชกับน้ำสะอาดที่จะใช้ทำความสะอาดผ้าฝ้าย จากนั้นนำผ้ามาแช่ทิ้งไว้ ประมาณ 9 – 10 ชั่วโมง


โดยปกติชาวบ้านจะแช่ผ้าไว้ข้ามคืน โดยเอนไซม์เอนอีซจะทำปฏิกิริยาแบบจำเพาะเจาะจงขจัดเพียงแค่แป้ง แว็กซ์และสิ่งสกปรก ต่างจากสารเคมีทำความสะอาดอื่นๆ ที่ทำลายเส้นใยผ้า ผลที่ได้คือผ้าสะอาดโดยไม่ต้องนำไปต้มในน้ำร้อนซ้ำไปซ้ำมา หรือล้างในน้ำผสมผงซักฟอกด้วยวิธีเดิมๆ ช่วยลดต้นทุนและทำให้ชาวบ้านผู้ผลิตสิ่งทอไม่ต้องสัมผัสกับสารเคมี อีกทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไปในตัวด้วย


ด้วยงานวิจัยที่คำนึงถึงต่อการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ดร.ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ หัวหน้าทีมวิจัยเอนไซม์เอนอีซ จึงกลายเป็น 1 ใน 5 นักวิจัยผู้หญิงที่ได้รับทุนจากโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ประจำปี 2562 (L’OREAL For Women in Science 2019) สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life sciences)


ทุนวิจัยดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กับสำนักเลขาธิการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ความมุ่งมั่นในการร่วมเชิดชูเกียรติสตรีในสายงานวิทยาศาสตร์และสนับสนุนงานด้านการค้นคว้าและวิจัยเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย


ดร.ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ บรรยายผลงานวิจัย เอนอีซ ในงาน L’OREAL For Women in Science 2019
กำลังโหลดความคิดเห็น