xs
xsm
sm
md
lg

ปั้นหมอเป็นวิศวกรเปิดหลักสูตร "แพทย์นวัตกร" ครั้งแรกในไทย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

บรรยากาศพิธีลงลงนามเปิด หลักสูตรร่วมแพทย์–วิศวะ (พ.บ. - วศ. ม.)

ครั้งแรกในไทย เปิดหลักสูตรผลิต "แพทย์นวัตกร” ปั้นคุณหมอให้เป็นวิศวกร ใช้เวลาเรียน 7 ปี เพราะมีแนวโน้มนำดิจิทัลและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในทางการแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แพทย์จึงจำเป็นต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง


คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล ร่วมมือกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล เปิดหลักสูตรร่วม “แพทยศาสตรบัณฑิต - วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์” เมื่อวันที่ 15 ต.ค.62 พร้อมลงนามข้อตกลงความร่วมมือ ณ ห้องประชุม 910 อาคารเรียนและปฏิบัติการรวมด้านการแพทย์และโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อผลิต "แพทย์นวัตกร” เพิ่มศักยภาพใหม่ของคนไทยและประเทศไทยในการก้าวเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ในอนาคต

ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ได้มีการมุ่งสร้าง "แพทย์นวัตกร” เนื่องจากแนวโน้มการนำดิจิทัลและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในทางการแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แพทย์จึงจำเป็นต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น นอกจากความรู้ด้านการแพทย์ที่ดีแล้ว ทักษะและความเข้าใจทางด้านวิศวกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับแพทย์ยุคใหม่ อีกทั้งคนรุ่นใหม่มีความสามารถและความสนใจทั้งในด้านการแพทย์และวิศวกรรม


ดังนั้น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัวหลักสูตรร่วม “แพทยศาสตรบัณฑิต - วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์” หลักสูตรเรียน 7 ปี สองใบปริญญาบัตร เพื่อช่วยดึงศักยภาพและเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ในการสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ จากความรู้ทางด้านแพทย์และวิศวกรรม

"จุดเด่นของหลักสูตรร่วมแพทย์–วิศวะ (พ.บ. - วศ. ม.) นักศึกษาจะเรียนรู้และพัฒนาทักษะทางการแพทย์และความรู้ทักษะพื้นฐานทางวิศวกรรม ได้รับประสบการณ์ในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ร่วมกับนักวิจัยและอาจารย์ทั้งในคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ใช้เวลาเรียนทั้งหมด 7 ปี โดยปีที่ 1 - 3 มีการเรียนการสอนทางด้านพรีคลินิกเช่นเดียวกับหลักสูตรแพทย์ปกติ ในชั้นปีที่ 4 จะเป็นช่วงของการพัฒนาทักษะด้านวิศวกรรมและลงมือพัฒนางานวิจัยหรือนวัตกรรม หลักจากนั้นในปีที่ 5 - 7 จึงกลับมาเรียนชั้นคลินิกเช่นเดียวกับหลักสูตรแพทย์ปกติ พร้อมทั้งทดลองและต่อยอดนวัตกรรมที่ได้พัฒนาขึ้นในช่วงเวลานี้ด้วยเช่นกัน"


ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าวเสริมกล่าวว่า เมื่อนักศึกษาจบการศึกษาสามารถทำงานเป็นแพทย์ที่เป็นได้มากกว่าแพทย์ โดยมองเห็นปัญหาและโอกาสในการแก้ปัญหาด้วยหลักการทางวิศวกรรม มีการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบมากขึ้น เป็น “แพทย์นวัตกร” ที่ได้รับการปูพื้นฐานพร้อมที่จะต่อยอดเพื่อพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ และเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ที่มีโอกาสสูงขึ้นในการได้รับเลือกให้เรียนต่อเฉพาะทางหรือหลักสูตรปริญญาเอกทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากมีประสบการณ์ทำงานวิจัยและผลงานตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงรูปแบบการเรียนทางด้านวิศวกรรมและความเชื่อมโยงทางด้านการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้รับยกย่องว่ามีเป็นประเทศหนึ่งที่มีระบบสาธารณสุขที่ดีต่อประชาชน ขณะที่ไทยเรากำลังก้าวเป็นสังคมสูงวัย อีกทั้งการเติบโตของบริการสุขภาพการแพทย์และแนวโน้มเฮลท์เทค ในปีหนึ่งๆ มีชาวต่างชาติที่เดินทางมาใช้บริการรักษาพยาบาลในประเทศไทย จำนวน 1.05 ล้านคนต่อปี และหากรวมผู้ติดตามด้วยจะมีจำนวนเป็น 3 ล้านคนต่อปี หลักสูตรร่วมแพทย์–วิศวะ (พ.บ. - วศ. ม.) จะเป็นอีกพลังในการสร้าง “คน”ที่จะร่วมสร้างประเทศฐานนวัตกรรม นำมาซึ่งสุขภาพดี คุณภาพชีวิตและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ประเทศ และภูมิภาคอาเซียนซึ่งมีประชากร 650 ล้านคน

ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ กล่าวต่อว่า การเรียนในรายวิชาทางด้านวิศวกรรม ผ่านหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์ (Biomedical Engineering) ในการสร้างแพทย์ที่เชี่ยวชาญในการรักษาและมีความรู้ความเข้าใจทางด้านวิศวกรรม ทำให้สามารถมองเห็นปัญหาและโอกาสในการแก้ปัญหา รวมทั้งสร้างนวัตกรรมให้เชื่อมโยงกับวิศวกรชีวการแพทย์ได้ จะเป็นลักษณะ Project Based Learning (PBL) โดยเน้นการทำ Project เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองและการลงมือปฏิบัติจริง ให้เกิดทักษะการทำงานวิจัย เกิดกระบวนการคิด การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ มุ่งส่งเสริมให้มีการทำงานวิจัย นวัตกรรม การตีพิมพ์ผลงานระดับนานาชาติในวารสารวิชาการต่างประเทศ ผ่านการทำวิทยานิพนธ์ ภายใต้การดูแลจากอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์


"ผู้เรียนสามารถเลือกแนวทางการทำวิจัยในด้านต่างๆ ได้ เช่น วิศวกรรมเนื้อเยื่อและระบบส่งยา ชีวสัญญาณและการประมวลผลภาพ วิศวกรรมฟื้นฟูอวัยวะประดิษฐ์ อุปกรณ์รับรู้ทางชีวภาพและอุปกรณ์ชีวการแพทย์ การคำนวณขั้นสูงทางการแพทย์ รวมทั้งหุ่นยนต์และศัลยกรรมบูรณาการคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ เชื่อว่าโครงการหลักสูตรร่วมแพทย์–วิศวะ (พ.บ. - วศ. ม.) จะสามารถผลิต “แพทย์นวัตกร” บุคลากรทางการแพทย์ที่มีศักยภาพในการทำงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลง และสร้างคุณประโยชน์ให้แก่วงการสาธารณสุขไทยและประชาคมโลกได้เป็นอย่างดี"
พิธีลงลงนามเปิด หลักสูตรร่วมแพทย์–วิศวะ (พ.บ. - วศ. ม.)  ณ ห้องประชุม 910 อาคารเรียนและปฏิบัติการรวมด้านการแพทย์และโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
กำลังโหลดความคิดเห็น