xs
xsm
sm
md
lg

"ประเทศไทย" ได้อะไรจากเวทีรัฐมนตรีวิทย์ที่ญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์
เดือน ต.ค.ของทุกปีเป็นช่วงเวลาที่รัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ ผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ ผู้บริหารทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ไปรวมตัวกันที่ญี่ปุ่น เพื่อระดมความคิดในการแก้ปัญหาสังคมด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ตัวแทนจากประเทศไทยตั้งแต่ระดับรัฐมนตรีทางด้านวิทยาศาสตร์ ผู้บริหารองค์กรทางด้านวิทยาศาสตร์ของไทยได้เข้าร่วมการประชุมประจำปีของ STS Forum (Science and Technology in Society Forum) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของญี่ปุ่น ต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 แล้ว

สำหรับปี พ.ศ.2562 นี้ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวเป็นปีที่ 2 แล้ว โดยปีที่ผ่านได้เข้าร่วมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

การประชุมประจำปี STS Forum ครั้งล่าสุดนี้จัดขึ้นระหว่าง 6-8 ต.ค.62 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเกียวโต (Kyoto International Conference Center: ICCK) ณ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง ดร.สุวิทย์เปิดเผยกับทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ถึงการประชุมดังกล่าวว่า เป็นการระดมสมองเพื่อตอบโจทย์สังคมโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

การประชุมดังกล่าวเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ได้ไปเจอกัน โดยมีประเด็นแยกย่อยหลายประเด็น เช่น การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศกำลังพัฒนาเป็นอย่างไร จะสร้างระบบนิเวศทางนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนสังคมอย่างไรโดยที่มีโจทย์ว่าแต่ละประเทศมีความพร้อมไม่เท่ากัน ประเด็นโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมอย่างระบบคมนาคมสำหรับคนในเมือง รวมถึงประเด็นทางด้านพลังงาน น้ำ และอาหาร

“สำหรับปี 2562 นี้จะเน้นเรื่องความยั่งยืน ผมมีโอกาสได้พูดบนเวทีในเรื่องการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะตอบโจทย์สังคมในอนาคต โดยโลกตอนนี้เผชิญความท้าทายหลายเรื่อง เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ปัญหาขยะ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งในสังคมที่สุขด้วยกัน ทุกข์ด้วยกัน เราจะใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตอบโจทย์อย่างไร” ดร.สุวิทย์กล่าว

ทั้งนี้ ดร.สุวิทย์ได้เข้าร่วมใน 3 ส่วนสำคัญ ส่วนแรกคือการได้ร่วมหารือกับ นายชินโซ อาเบะ (Shinzo Abe) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น พร้อมกับรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่นที่รับผิดชอบในด้านอวกาศ รัฐมนตรีวิทยาศาสตร์จากไต้หวัน อิสลาเอล สวีเดน สหรัฐฯ และสภาพยุโรป รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลอีก 13 คน

“ในการประชุมส่วนนี้เรื่องที่ทุกคนพูดเหมือนกัน คือ การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ด้านนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลก็เสนองานที่เชี่ยวชาญว่าจะช่วยตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างไร บางเรื่องก็ไม่ใช่ประเด็นทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องการปรับพฤติกรรมของมนุษย์” ดร.สุวิทย์กล่าว

ในส่วนดังกล่าวนายอาเบะได้กล่าวถึงจุดสำคัญของการใช้นวัตกรรมคือการบริหารจัดการที่ดี ตัวอย่างเช่นพลาสติกที่มีประโยชน์แต่กลายเป็นปัญหาขยะในทะเลเพราะการจัดการไม่ดี พร้อมทั้งประกาศโครงการใหม่ชื่อ “โครงการมารีน” (MARINE) ซึ่งเป็นโครงการที่จะญี่ปุ่นจะถ่ายทอดนวัตกรรมและความรู้เพื่อสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการบริการจัดการขยะเพื่อความยั่งยืน ซึ่ง ดร.สุวิทย์กล่าวว่า จากส่วนนี้จะได้กลับมาสำรวจงานวิจัยไทยที่สอดคล้องกับโครงการดังกล่าว รวมทั้งร่วมมือกับญี่ปุ่นในการจัดการไมโครพลาสติก

ระหว่างการหารือกับนายอาเบะนั้นประธานจากสถาบันวิจัยมิตซูบิชิ (Mitsubishi Research Institute) ได้เสนอเรื่องการเชื่อมโยงนวัตกรรมและแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนเข้ากับชีวิตประชาชน ซึ่งจะแสดงให้เห็นในการจัดงานโอลิมปิก 2020 โดยการนำขยะและวัสดุเหลือทิ้งกลับมาใช้ใหม่ เช่น เหรียญรางวัลที่ผลิตจากโทรศัพท์มือถือเก่า และการวางแผนก่อสร้างก่อสร้างเพื่อเอาวัสดุที่ใช้ในงานโอลิมปิกกลับไปใช้ตามเมืองต่างๆ การรักษาความสะอาดทะเลและแม่น้ำ รวมทั้งเอาวัฒนธรรมท้องถิ่นและวิถีชีวิตเป็นองค์ประกอบของงาน

ส่วนต่อมาคือการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 16 ซึ่งเป็นส่วนที่จัดขึ้นคู่ขนานกับการประชุมประจำปี STS Forum และเป็นเวทีหารือของรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์และผู้บริหารจากประเทศต่างๆ โดย ดร.สุวิทย์ระบุว่า ความเห็นจากแต่ละประเทศไม่ได้แตกต่างกันมาก และมุ่งเน้นที่การสร้างความร่วมมือกัน

สำหรับประเทศไทย ดร.สุวิทย์ได้นำเสนอการผนึกกำลัง 4 ภาคส่วน คือ มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย ภาคเอกชน และเครือข่ายต่างประเทศ และไทยยังมีนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) หรือบีซีจี (BCG Economy) ที่จะนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ร่วมกับศาสตร์ในแขนงอื่นๆ เพื่อพัฒนาสังคมไทยในทุกระดับ ซึ่งเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เป็นประเด็นสำคัญของการประชุม STS Forum

อีกส่วนที่สำคัญคือ ดร.สุวิทย์ได้รับเชิญให้ร่วมเสวนาในเวที Plenary Session โดยได้กล่าวถึงความสำคัญของการศึกษาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ต้องสร้างสมดุลให้เกิดสังคมที่เท่าเทียมและยั่งยืน โดยมี 4 เรื่องที่ขับเคลื่อน คือ ภูมิปัญญามนุษย์ที่ต้องสร้างทัศนคติให้คนคำนึงถึงโลกและสังคมก่อนตัวเอง การเปลี่ยนสังคมจากการมองแต่ตัวเองไปสู่สังคมที่ดูแลใส่ใจกัน การสร้างความตระหนักว่าโลกคือทรัพยากรที่ต้องดูแลและพัฒนาร่วมกับความก้าวหน้าของสังคม และสุดท้ายคือการเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากการผลิตเพื่อการขาย เป็นการใส่ใจและแบ่งปันเพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจที่ทุกภาคส่วนร่วมมือเพื่อเติบโตไปพร้อมกัน

นอกจากนี้ ดร.สุวิทย์ได้ร่วมประชุมหารือทวิภาคีตัวแทนจากประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ เช่น การหารือกับรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านอวกาศของญี่ปุ่นในเรื่องการสร้างเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ซึ่งประเทศไทยมีเมืองที่มีศักยภาพ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต และกรุงเทพฯ และการหารือกับตัวแทนจากสวีเดนโดยเน้นประเด็นเศรษฐกิจหมุนเวียนในเรื่องการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่สวีเดนมีความเชี่ยวชาญ

สำหรับ STS Forum นั้น เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของญี่ปุ่น มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานเพื่อสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และผู้บริหารประเทศ ผู้บริหารองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ เช่น นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับความต้องการปละผลกระทบจากการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีต่อสังคม โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นหลัก และจัดประชุมประจำปีในเดือน ต.ค. ณ ประเทศญี่ปุ่น
นายชินโซ อาเบะ เปิดการประชุม STS Forum
บรรยากาศในการประชุม STS Forum
ผู้ร่วมนำเสนอบนเวที Plenary Session ระหว่างการประชุม STS Forum


กำลังโหลดความคิดเห็น