นักวิจัย มทส.ใช้เทคโนโลยี 3 มิติพัฒนาเครื่องฉีดขึ้นรูปชิ้นงานดินด่านเกวียน ยกเป็นพรีเมี่ยมโอท็อปกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน
ผศ.ดร.ปภากร พิทยชวาล และ ผศ.ดร.สุขเกษม วัชรมัยสกุล นักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เปิดเผยว่า มทส.ร่วมกับสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) ได้ได้พัฒนาสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมขึ้นได้แก่ เครื่องฉีดวัสดุขึ้นรูปชิ้นงานจากดินวัสดุดินด่านเกวียน
สิ่งประดิษฐ์นี้มีจุดเด่นคือ การประยุกต์ใช้เทคนิคการสร้างชิ้นงานด้วยการเติมเนื้อวัสดุ (Additive Manufacturing) โดยเทคโนโลยีการขึ้นรูป 3 มิติ ขึ้นรูปผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาดินด่านเกวียนที่มีโครงสร้างซับซ้อน และสามารถขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ที่มีลวดลายที่ไม่สามารถขึ้นรูปด้วยวิธีแบบเก่าได้ จึงส่งผลให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาดินด่านเกวียนได้หลากหลายรูปแบบ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มลูกค้าใหม่ที่ต้องการผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผารูปทรงต่างจากแบบเดิมหรือรูปทรงที่มีลักษณะเฉพาะ
ผศ.ดร.ปภากรระบุว่า งานวิจัยนี้สามารถยกระดับผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาดินด่านเกวียนจากสินค้าโอท็อป (OTOP) แบบดั้งเดิมให้เป็นสินค้าพรีเมี่ยมโอท็อป (Premium OTOP) ได้ ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ จากเดิมที่ถูกซื้อไปเพื่อนำไปตกแต่งสวน แต่งรอบบ้านหรือเป็นของชำร่วย ของฝาก มาเป็นของตกแต่งภายในบ้าน หรือสร้างงานสถาปัตยกรรมต่างๆ อีกทั้งการขึ้นรูปด้วยการขึ้นรูป 3 มิติ ยังสามารถขึ้นรูปในลักษณะต่างๆ ตามที่ลูกค้าต้องการ
"สิ่งเหล่านี้จะทำให้เครื่องปั้นดินเผามีตลาดที่กว้างขึ้น มีมูลค่าที่สูงขึ้น ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่และชุมชนตลอดจนเป็นการตอบสนองต่อนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของประเทศ" ผศ.ดร.ปภากรระบุ
ด้าน น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผอ.สอว.กล่าวว่า สอว.เปิดโอกาสให้ทีมนักวิจัยคิดค้นสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมต้นแบบต้นทุนต่ำ ที่ส่งเสริมให้ประชาชนหรือผู้ประกอบการระดับชุนชน สามารถประกอบอาชีพที่เป็นรากเหง้าของตนเองได้ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ตอบโจทย์แพลตฟอร์ม 4 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ ประเด็นย่อย P13 นวัตกรรมสำหรับเศรษฐกิจฐานราก และชุมชนนวัตกรรม ตามนโยบายของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้นำเสนอแนวทางใหม่ของการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ มุ่งสู่การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของประเทศสู่ศตวรรษที่ 21 ที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ตอบโจทย์ 4 ด้าน คือ ความอยู่ดีกินดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสิ่งแวดล้อมที่ดี และใช้ศักยภาพคนอย่างเต็มที่ โดยจะให้มหาวิทยาลัยเป็นด่านหน้าของไทยแลนด์ 4.0